เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Japan Puzzlefungfa
言葉で通じなかった気持ち : ความรู้สึกที่ไม่ได้บอก
  • ประเด็นนี้แม้จะมีความเชื่อมโยง แต่ก็แทบจะไม่เกี่ยวอะไรกับวอลเลย์บอลเลย ว่าเข้าจริงๆ มันเกี่ยวกับภาษามากกว่า แม้ว่าแมตช์นั้นเราจะไม่ได้ดู แต่จากการเห็นมีการพูดถึงในไทม์ไลน์มาอย่างต่อเนื่องน่าจะเกิน 24 ชม. ก็ราวกับว่าได้ดูรีรันไปประมาณแปดรอบแล้ว (แม้สิบปากว่าจะไม่เท่าตาเห็นก็เถอะ) อย่างหนึ่งที่รู้สึกว่าโชคดีที่พอรู้ภาษาญี่ปุ่นคือสามารถเข้าไปอ่านคอมเม้นต์จากต้นฉบับได้ (เผือกจากต้นตอได้ ว่างั้น) มันทำให้เราหายคาใจว่า คนไทยที่แปลมาให้อ่านนั้น ตัดตอน ไดคัท เฉพาะอะไรมาหรือเปล่า มีบริบทอื่นๆ อย่างไร หรือมีความคิดเห็นอื่นที่แตกต่างจากนั้นว่าอย่างไร

    ครั้งนี้ถึงไม่ได้ตามอ่านเอง แต่ก็มีคนแคปหน้าจอส่งต่อกันมาอยู่บ้าง แล้วก็เลยไปสะดุดกับการใช้รูปประโยคที่ว่า "katasetemoratta" กับ "maketekureta" ซึ่งพอเราลองแปลเป็นไทยทื่อๆ แล้วเราว่ามันน่าจะเกิดประเด็นคีย์บอร์ดไหม้กันได้เลยทีเดียว (อาจจะคิดตื่นตูมไปเอง)

    "katasetemoratta" เราแปลตรงๆ ทื่อๆ คือ "(ได้รับการ)ปล่อยให้ชนะ" 
    ส่วน "maketekureta" ก็คือ "แพ้ให้"

    ถ้าเอามาแปลโดยใส่คำว่า ทีมไทย เข้าไปด้วย มันก็จะออกมาในรูปประมาณว่า "ทีมไทยปล่อยให้พวกเราชนะ" (เหมือนจะบอกว่า ทีมไทยไม่เก่งเอง เอาเขาไม่อยู่เอง) หรือ "ทีมไทยมาแพ้ให้เรา" (นี่ก็ไปกันใหญ่)

    ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เลย มันเป็นตัวอย่างที่ดีที่บอกเรา (ที่ทำงานกับภาษาญี่ปุ่น) ว่า การใช้คำประเภท moratta (morau)/ kureta (kureru) ของญี่ปุ่นค่อนข้างเปราะบางในการแปล สองคำนี้ แม้เวลาถูกใช้ในประโยค พอแปลแล้วจะกลายเป็นคำว่า "ให้" แต่ส่วนใหญ่โดยนัยยะ คนรับซึ่งเป็นผู้พูด จะมีลักษณะของการวางตัวเองไว้ต่ำกว่าอีกฝ่ายอยู่แล้ว นั่นหมายความว่า เมื่อใช้ประโยคนี้ เป็นการพูดอย่างเกรงใจว่า คนพูดไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไร อีกฝ่ายจะให้ไม่ให้นั้นแล้วแต่ความเมตตา

    พอคิดอย่างนี้แล้ว ประโยคสองประโยคที่ว่ามาแต่แรก มันก็เปลี่ยนความหมายทันที

    แทนที่ "katasetemoratta" จะแปลว่า "(ได้รับการ)ปล่อยให้ชนะ" ก็กลายเป็นว่า คนญี่ปุ่นมองทีมไทยว่าตัวเองจะชนะก็ได้ แต่ก็ยังปล่อยให้ญี่ปุ่นชนะ

    และ "maketekureta" ที่แปลไปว่า "แพ้ให้" มันก็แฝงความหมายว่า ถ้าฝั่งไทยอยากจะเอาชนะจริงๆ ญี่ปุ่นก็แพ้ไปแล้ว ไทยแค่(ยอม)แพ้ให้เราเฉยๆ

    ทั้งหมดยังอาจจะหมายรวมถึงว่า ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้ความสามารถ ไม่ได้ใช้ฝีมืออะไรเลย เหมือนเข้าไปงงๆ แล้วชนะซะงั้น ซึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นจริงๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่มีศักดิ์ศรี

    พอคิดมาถึงตรงนี้ คำว่า "ไม่ได้ใช้ฝีมืออะไรเลย" พอมาพูดในมุมของบ้านเรากลับเป็นประโยคที่ความหมายดีเสียอีกนะ เพราะมันกลับหมายถึง "เราเก่งจนลอยลำชนะไปสวยๆ ไม่ได้แสดงฝีมือหรือออกแรงสู้อะไรเลย ประหนึ่งมีอิทธิฤทธิ์" หรือในทางกลับกันก็คือ "คู่ต่อสู้อ่อนมาก (โชคดีจริงๆ)" 

    ก็น่าคิดนะว่า สังคมไทยกับสังคมญี่ปุ่นที่ต่างก็ประกาศว่าตัวเองมีศักดิ์ศรี มีประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ ดิ้นรนไม่แพ้กันนั้น ได้ให้ค่ากับการต่อสู้ แข่งขัน แพ้ชนะ หรือแม้แต่ให้อำนาจของการเป็นผู้รับ ผู้ให้ แตกต่างกันอย่างไร

    เราชอบคิดแบบนี้เสมอว่า ภาษามันบอกอะไรในตัวเจ้าของภาษาได้มากมาย ตั้งแต่ชื่อเรียกสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ จนไปถึงการพรรณาความรู้สึกนึกคิด มันน่าสนใจเสมอ ที่ในภาษาหนึ่งมีคำจำกัดความสำหรับสิ่งสิ่งนั้น แต่อีกภาษาหนึ่งไม่มี บางภาษามีชื่อเรียกความรู้สึกบางคำมาแต่โบราณ แต่อีกภาษากลับต้องสร้างคำใหม่ ทั้งที่ก็น่าจะรู้สึกได้ไม่ต่างกันในฐานะมนุษย์ แต่การที่คนในภาษาหนึ่งไม่มีคำเรียกความรู้สึกนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่มีความรู้สึกนี่

    ใช่แล้วล่ะ ภาษาเป็นเครื่องมือที่ทั้งซับซ้อนและเปราะบาง เหมือนมีดที่ทำจากแก้วบริสุทธิ์ นอกจากมันจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือ เป็นอาวุธในแบบของมันแล้ว มันยังอาจแตกละเอียดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ทิ่มแทงทำร้ายทั้งคนอื่นและเจ้าของมันได้ด้วย, เป็นแบบนั้นแหละ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in