"อะไร ๆ ที่ว่าดี ก็อาจจะไม่เด่น อะไร ๆ ที่ว่าไม่จำเป็น แต่ของมันต้องมี"
สำนวนแทรกยาดำ หรือแทรกเป็นยาดำ ใช้เป็นสำนวนหมายถึงสิ่งหรือบุคคลที่ปรากฏแทรกอยู่ด้วยเสมอ เช่น ไม่ว่าในวงการใด เรื่องที่สนทนากันมักมีเรื่องการเมืองแทรกเป็นยาดำ เป็นต้น
ปัจจุบันเราไม่ค่อยได้ยินหรือได้เห็นการใช้สำนวนนี้สักเท่าไรแล้ว อาจจะพบในข่าว หรือในบทความ แต่ก็น้อยมาก ผู้ใช้สำนวนนี้่ก็น่าจะพอคะเนอายุอานามได้ว่าเลยหลักสี่ไปไกลพอสมควร
แทรกยาดำ เป็นสำนวนที่มาจากตำรับตำราการแพทย์แผยไทยโบราณ ที่เวลาปรุงยาสมุนไพรขึ้นขนานหนึ่งนั้นมักจะแทรก หรือเจือด้วย ยาดำ เสมอ
ยาดำ คือน้ำยางของพืชในสกุลว่านหางจระเข้ ได้จากการกรีดโคนใบตามขวาง เมื่อนำน้ำยางไปเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ จนงวดแล้วผึ่งแดดให้แห้งแข็งจับตัวเป็นก้อน มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เปราะ ผิวมัน ทึบแสง รสขมเหม็นเบื่อ กลิ่นไม่ชวนดม ใช้เป็นตัวยาสำหรับยาแผนโบราณของไทย
เครื่องแทรกยา ยาดำ ที่มา ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=112
สรรพคุณของยาดำเองจะช่วยแก้โรคท้องผูก โดยกระตุ้นลำไส้และทางเดินอาหารให้บีบตัว เป็นยาถ่าย ถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ กัดฟอกเสมหะและโลหิต ถ่ายพิษไข้ แลใช้เป็นยาแทรกในยาระบายหลายตำรับ
ลางแห่งบอกว่า ยาดำ เป็นยาปรับธาตุ เพราะมีรสขม หากผู้ไข้ร่างกายร้อนเกินไป ยาดำก็จะปรับให้เย็นลง หากร่างกายเย็นเกินไป ยาดำก็จะปรับให้ร้อนขึ้น
ดังนั้นยาไทยหลาย ๆ ขนานมักจะแทรกยาดำลงไปด้วยเสมอ แม้ว่าจะไม่มีในตำรับก็ตาม
หากเปรียบในวงอาหารไทย ยาดำ ก็คล้าย ๆ กับ น้ำปลาพริก หรือพริกน้ำปลา ตามแต่จะเรียก กล่าวคือ น้ำปลาพริกเมื่ออยู่บนโต๊ะอาหารไม่ได้ดูโดดเด่นอย่างแกงเขียวหวาน มัสมั่นเนื้อ หรือต้มยำกุ้ง แต่ถ้าขาดหายไป หรือไม่เห็นบนโต๊ะก็ต้องเรียกหาทุกครั้งไป
ในอดีตสำนวนแทรกยาดำ คงจะมีความหมายถึงสิ่งที่ดีแทรกหรือเจือเข้าไป ในปัจจุบันความหมายของสำนวนนี้ก็ดูกว้างออกไปอาจจะเป็นเรื่องที่ดี หรือไม่ดี ก็ได้ อย่างสำนวนข่าวไทยรัฐ ที่พูดถึงเรื่องการลอยกระทง "ยังมีโฟมแทรกเป็นยาดำ โดยเฉพาะ กทม. เก็บกระทงได้รวมกว่า 8 แสนใบ"
ยาดำที่ว่านี้ คือ กระทงโฟม ซึ่งยังคงถกเกียงกันในสังคมว่า มันดีหรือไม่ดีที่จะเอามาลอยกระทงในยุคสมัยนี้
สำหรับผม ขอไม่ตัดสินนะครับ...(^^)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in