เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เล่าหนังสือSaLinsiree
เล่าหนังสือ : มีดของท็อดด์ THE KNIFE OF NEVER LETTING GO
  • มีดของท็อดด์ THE KNIFE OF NEVER LETTING GO 
    ผู้เขียน : PATRICK NESS 
    ผู้แปล : วรรธนา วงษ์ฉัตร 
    สนพ. Words Wonder 


    หนังสือเล่มนี้จะบอกเล่าเรื่องราวในโลกที่มีชื่อว่า นิวเวิลด์ 
    เดินเรื่องโดย ท็อดด์ ฮิววิตต์ เด็กชายอายุ 12ปี กับอีก 12เดือน ที่อาศัยอยู่ในเมือง เพรนทิสทาวน์ และยังเป็นเด็กชายคนสุดท้ายที่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ในอีก 1เดือน ตามเวลาที่เมืองนี้กำหนด (13เดือน = 1ปี) 


    เพรนทิสทาวน์ มันเป็นสถานที่-ที่ทุกคนสามารถได้ยินความคิดของคนอื่น (รวมถึงสัตว์) เป็น ‘เสียงคิด’ ที่ท็อดด์เข้าใจเพราะถูกบอกเล่า-ปลูกฝัง ว่ามันคือ ‘เชื้อโรคเสียงคิด’ ที่สแป็คเกิลปล่อยออกมาในช่วงสงคราม เชื้อโรคเหล่านี้ได้ฆ่าผู้ชายไปเกือบครึ่ง และฆ่าผู้หญิงทุกคน รวมถึงแม่ของท็อดด์ และท็อดด์เข้าใจทุกอย่างแบบนี้ และเบนกับคิลเลียนผู้ที่รับท็อดด์มาเลี้ยงดูก็บอกกับเขาแบบนี้  ท็อดด์ไม่รู้หรอก ว่าอะไรคือเรื่องจริงบ้าง แต่เขาก็ 'อยู่' กับความเชื่อในเรื่องเหล่านี้ 


    และเติบโตมากับเสียงคิดที่ดังอย่างมันไม่มีวันหยุด แม้ในยามที่ทุกคนหลับสนิท ที่นี่ไม่มีความลับ ไม่มีความเป็นส่วนตัว ทุกอารมณ์จะถูกส่งเป็นกระแสผ่านคำนึกคิด แล้วถูกปล่อยออกมาเป็นเสียงคิด มันไม่สนุกหรอก ที่ต้องได้ยินเสียงคิดเหล่านี้ มัน มะง่ายสักนิดที่ต้องเติบโตมาในสถานที่ ‘เน่าเฟะ’ แบบนี้ อย่างที่ท็อดด์เองก็ไม่สนุก รวมถึงไม่สุขใจด้วยเช่นกัน เขามักจะเหนื่อยหน่ายเสียงของผู้คนกับความคิดที่พวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองคิดแม้ในขณะที่ทุกคนได้ยิน ท็อดด์มักจะคิดเสมอว่าพวกเขาทนกันและกันได้ยังงัย… 


    'มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เสียงดังหนวกหูมาก' 


    บางครัั้งท็อดด์ใช้เวลากับแมนชี่ (หมาพูดได้ของท็อดด์) ออกไปเดินที่บึงน้ำทางป่าตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง มันเป็นที่เดียวที่อยู่ไกลจากเมือง ดังนั้นมันจึงห่างไกลจากเสียงคิดที่วุ่นวายไม่รู้จบ สำหรับท็อดด์ บึงน้ำเปรียบเสมือนห้องขนาดใหญ่แสนสบายที่ไม่มีเสียงคิดดังเท่าไรนัก ‘มันมืดแต่มีชีวิต มีชีวิตแต่เป็นมิตร เป็นมิตรแต่ไม่ครอบครอง' 


    และที่บึงน้ำนี่เอง… ที่ทำให้ชีวิตของท็อดด์เปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อเขาได้พบกับความเงียบงันที่แสนประหลาด มันคือช่องโหว่ในเสียงคิด เป็นความเงียบงันแรกในชีวิตที่ท็อดด์ได้สัมผัส มันทำให้ท็อดด์เจ็บปวด และสับสนราวกับร่วงหล่นสู่ความเคว้งคว้างที่เขาไม่มีวันรู้จัก


    เขาออกตามหา ‘ความเงียบ’ 
    แต่มันว่างเปล่า 


    และความเงียบนี้คือจุดเริ่มต้น เมื่อมีเหตุให้ท็อดด์ต้องหนีออกไปจากเมือง ไปจากสถานที่เดียวที่เขารู้จักมาตลอดชีวิต เพียงเพราะเบนกับคิลเลียนบอกว่าเขาอยู่ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มันอันตราย และเขาจะไม่มีวันได้กลับมา… ท็อดด์ผู้มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ (แม่ม! ไม่ยุดติทำ) และพยามจะบอกว่า เขาไม่รู้เรื่อง ห่า' อะไรเลย แต่… ก็ไม่มีใครบอกอะไรเขา 'ความรู้เป็นเรื่องอันตราย' เบนบอกอย่างนั้น 


    พร้อมกับยื่นสมุดบันทึกของแม่ท็อดด์ แผนที่ ที่ท็อดด์ไม่มีวันเข้าใจเพราะอ่านหนังสือไม่ออก และยังให้มีดล่าสัตว์เล่มใหญ่ที่ท็อดด์อยากได้เป็นของขวัญในวันเกิดที่จะถึงนี้... ‘เธออาจต้องใช้มัน’ เบนพูด 


    ท็อดด์กับแมนชี่มุ่งตรงไปไล่ล่าความเงียบงันกันอีกครั้ง และในครั้งนี้พวกเขาได้เจอ 'ไวโอล่า' เด็กหญิงเจ้าของความเงียบ ที่ยานอวกาศของเธอมาตกไกล้กันกับเมืองนี้ ท็อดด์กับแมนชี่ประหลาดใจมากที่ได้เห็นผู้หญิงเป็นครั้งแรก รวมถึงไวโอล่าเองก็ประหลาดใจระคนหวาดกลัวสุดขีดไปกับสถานที่แปลกประหลาด และเสียงคิดมากมายร้อยแปดที่พุ่งเข้าใส่เธอ เธอกลัว เธอไม่เข้าใจ เธอสับสน และเธอไม่พูด… ท็อดด์เองก็ไม่เข้าใจว่าทำไม.. เธอ …ถึงไม่พูด 


    และพวกเขาจะไม่เข้าใจมากขึ้นไปอีก เมื่อทั้งท็อดด์ แมนชี่ และไวโอล่า มีเหตุให้ต้อง 'หนี' ไปด้วยกัน พวกเขาต้องหนีจากการไล่ล่าของนายกเทศมนตรีเพรนทิสกับกองทัพของเขา และหนีจากนักบวชแอรอนผู้บ้าคลั่ง เน่าเฟะ และโคตรจะ 'บัดซบทางจิตใจ'


    และการหนีของทั้งสามนี้ คือ จุดสำคัญของเรื่อง


    Patrick Ness ได้สร้างเด็กชายท็อดด์ขึ้นมาเดินเรื่องของผู้ใหญ่ ดังนั้นจากมุมมองในความเป็น 'เด็กชาย' ของท็อดด์อาจย้อนแย้งและขัดใจนักอ่านบางคน (หนึ่งในนั้นคือฉันเอง..) เนื่องจากคุณต้องอ่านความคิดของท็อดด์ไปตลอดทั้งเรื่อง (หงุดหงิดโว้ย...) มันก็ต้องมีบางเรื่องที่คุณหงิดหงิดกับความคิดของเด็กชายท็อดด์ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าคุณค่อยๆทำความเข้าใจ คุณจะรู้ว่าผู้เขียนได้สร้างตัวเอกที่เป็นเพียงเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งเติบโตมากับสิ่งที่เขาคิดว่าควรเชื่อ โดยไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ามีอะไรบ้างในสิ่งที่เขารู้นั้นคือความจริง และยังมีความจริงอะไรอีกบ้างที่เขายังไม่รู้ 


    ซึ่งท็อดด์ก็ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองจากการ -หนี

    หนี คือจุดเติบโตของท็อดด์ เพราะโลกมันจะค่อยๆใหญ่ขึ้นสำหรับท็อดด์ที่ต้องออกไปเจอโลกกว้าง นิวเวิลด์ที่ท็อดด์เคยคิดว่ารู้จัก ก็อาจไม่ใช่อย่างที่รู้จักไปตลอดเส้นทาง ทั้งการพบเจอผู้คนใหม่ๆ ถิ่นฐานใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆที่หลั่งไหลเข้ามาหาท็อดด์



    และโดยที่ท็อดด์ยังมีดวามเป็นเด็กชาย ก็อาจต่อต้านความเชื่อใหม่ๆที่เป็นเรื่องจริงด้วยการถกเถียงด้วยความดื้อรั้นว่าตนเองนั้น 'รู้ดี' แม้ลึกๆเขาเองก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าตนนั้นรู้เรื่องจริงอะไรบ้าง นอกจากคำลวงที่ถูกบอกเล่ามาให้จดจำ ซึ่งจุดนี้ที่ทำให้อ่านแล้วรู้สึก 'โคตรหงุดหงิด' ไปกับความ 'งี่เง่า' ของเด็กชายท็อดด์ แต่นั่นคงเป็นจุดที่นักเขียนต้องการบอกเล่า



    เล่าว่า ตัวเอกต้องเริ่มจากการไม่รู้ ห่า-อะไรเลย จากนั้นผู้เขียนจะค่อยๆปล่อยตัวเอกออกไปเจอโลก และไม่ใช่ออกไปเจอโลกเชิง 'ทัดสะนะสึกสา' แต่เป็นการออกไปเจอโลกด้วยการ วิ่งหนี-หนีตาย-หนีเอาตัวรอด แถมด้วยการเพิ่มตัวละครที่อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เด็กชายเป็น คือ เด็กผู้หญิง และเมื่อเด็กผู้หญิงที่มีความเงียบงัน กับเด็กผู้ชายที่มีความคิดเสียงดังตลอดเวลามาพบกัน ร่วมทางไปด้วยกัน สู้ไปด้วยกัน การพัฒนาตัวละครก็จะมีให้เห็นในแต่ละหน้า แม้ว่าเด็กผู้หญิง 'ไวโอล่า' จะทำให้เรารู้ไม่พอใจในช่วงแรกๆ คือ การที่เธอไม่ยอมพูด เอะอะ-รู้สึกไม่ดีอะไร ก็จะไปนั่ง 'โยกตัว' เหมือนเด็กปัญญาอ่อน.. ซึ่งมันเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่เกิดขึ้น แต่พออ่านแต่ละหน้าผ่านไป ไวโอล่าพัฒนาขึ้นและ ''ดี๊ดี'' กว่าท็อดด์เยอะแยะในภายหลัง เราจึงให้อภัยได้ ส่วนท็อดด์ก็เริ่มงี่เง่าน้อยลงบ้างหลังจากยอมรับ 'เรื่องที่เป็นความจริง' ในภายหลัง (คือ มันเหนื่อยแล้วงัย.. ไกล้จบแล้วเอาแต่ใจไม่ไหว.. หิวด้วยแหละ หมดแรง...)



    เรื่องนี้ตัวเอกเป็นเด็กชาย-เด็กหญิง จึงอาจไม่สามารถเล่นบทผู้ใหญ่ได้แบบสุดโต่งเลยดูไม่เข้มข้นสำหรับนักอ่านบางคน กับ บางคนอาจยกตัวเอย่าง-ตัวเอกที่เป็นเด็กในวัยเดียวกันกับท็อดด์จากเรื่องอื่นๆของผลงานนักเขียนท่านอื่นๆว่า ทำไมทีเรื่องนั้นตัวเอกเล่นสายดาร์คได้ดี ฉลาด และเก่งกว่าทั้งที่เป็นเด็กเหมือนกัน ก็ลองคิดว่านี่คือผลงานของ Patrick Ness ไม่ใช่ผลงานของคนนั้น-คนนี้ แต่ละนักเขียนจะมีตัวตนในการสร้างตัวละครที่ไม่เหมือนกัน เช่นจริงๆแล้วน้าแพททริคก็สามารถเขียนท็อดด์ให้เก่งได้ในแต่ละฉากที่ท็อดด์สามารถใช้ 'มีด' ในการฆ่าคนได้-ในหลายๆครั้งที่มีโอกาส แต่กลับไม่ทำ



    เพราะ 'มีด' คือแกนกลางของเรื่องที่นักเขียนสร้างขึ้นให้เป็นทางเลือกของเด็กชายท็อดด์ ว่าจะทำอย่างไรกับมัน จะเลือกใช้มันในทางไหน มีดไม่ใช่สิ่งของ แต่มันคือทางเลือก มันบอกว่าใช่หรือไม่ใช่ เชือดหรือไม่เชือด ตายหรือไม่ตาย มีดหรือท็อดด์จะเป็นคนตัดสินใจคุณจะได้รู้ (ถ้าได้อ่าน)



    ท็อดด์มันต้องแย่ มันจะได้เจ็บเยอะๆ เรียนรู้เยอะๆ จากความย่ำแย่ที่ศัตรูผู้คอยไล่ล่าทุกคนพยายามยัดเยียดให้ ทั้งความบ้าคลั่งจากนักบวชแอรอนที่อาศัยอยู่ในความเชื่อผิดๆ -บูชายัญ -การยอมทนทุกข์ทรมานของนักบุญ -ถ้าพวกเราคนใดคนหนึ่งกระทำบาป พวกเราทุกคนล้วนบาปด้วย ถือว่าเป็นตัวร้ายที่ป่วยทางจิตคนหนึ่งในเรื่องก็ว่าได้ ก็ในโลกที่มีแต่เสียงคิดนี้ คงไม่แปลกถ้ามันสามารถทำให้ใครบางคนป่วยได้ บางคนอาจต้องหาความเชื่อใหม่ๆเพื่อยึดเหนี่ยว บางคนอาจหาอำนาจจากมันอย่างเช่น นายกเทศมนตรีเพรนทิส ผู้ที่ต้องการตัวท็อดด์ด้วยเหตุผล (บางอย่าง..เฮ้ออ) เป็นบางอย่างที่ทำให้ทั้งสามต้องหนีโดยที่ยังไม่รู้อะไรมากนักในตอนแรก หนี หนี วิ่งๆ หนีๆ 



    ส่วนในเรื่องการหนีของทั้งสาม (สองคน หนึ่งหมา) อาจดูโล่งๆแม้จะมีฉากที่ดูรุนแรงเป็นระยะ แต่มันยังเหมือนสามารถใส่อะไรลงไปได้อีก มันดูยังไม่มีอะไรมากมายระหว่างทางที่ทั้งสามต้องหนี แอบเบื่อและวางหนังสือลงอยู่หลายครั้งเหมือนกันนะ จนพยายามเข้าใจว่าเรื่องนี้พยายามสื่อ การเติบโตทางความรู้สึก ความคิดของตัวละครในเรื่องมากกว่า ทั้งความพยายามในการดิ้นรนที่จะไปต่อแม้ความหวังที่จะไปถึงนั้นไม่ค่อยมี ความเจ็บป่วยที่ต้องเอาชนะ ความหิวที่ต้องทนและอดกลั้น พอมองแบบนี้แล้วก็เออ... มันให้ความคิดที่แตกต่างออกไปนะ ในเรื่องตัวละครจะต้องมีการเรียนรู้ที่เริ่มจาก ศูนย์ คือไม่ว่าคุณจะรู้อะไรมา คุณจะต้องเตรียมพร้อมที่จะไม่รู้อะไรเลย แล้วไปเรียนรู้เอาใหม่ระหว่างทาง 



    ทั้งการไว้วางใจ ที่ทั้งสามต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ความเชื่อใจที่ต้องสร้างขึ้นจากความลำบากที่มีร่วมกัน เช่นท็อดด์ ที่มองไวโอล่าอย่างไม่มีวันรู้จักเธอในตอนแรก ด้วยความเงียบงันที่แสนเจ็บปวดของไว มันทำให้ท็อดด์ไม่มั่นใจ 'ถ้าคนคนหนึ่งไม่มีเสียงคิด พวกเขาจะเป็นคนได้อย่างไร ถ้าพวกเขาไม่มีเสียงคิด' การมองไว ว่าเป็นคนไร้ค่า ว่างเปล่า ไม่มีอะไร ปราศจากความรู้สึกนึกคิด จนความทุกข์ยากที่มีร่วมกันทำให้ท็อดด์รู้จักไว ไม่ว่ามันจะเงียบงันแค่ไหนพวกเขาก็จะยังคงรู้จักกันในที่สุุด  ส่วนไว ก็พยายามคิดและเรียบเรียงเสียงคิดร้อยแปดจากท็อดด์เพื่อมองหาความเป็นตัวท็อดด์จริงๆ เสียงจริงๆจากข้างในตัวท็อดด์ที่เธอจะรู้จักและจำได้ในที่สุดไม่ว่าเธอจะได้ยินมันที่ไหนท่ามกลางเสียงคิดที่ดังร้อยแปด และ



    ไม่แม้แต่คนที่ต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจกัน เพราะแม้แต่ หมา ก็ยังต้องการให้คนได้เรียนรู้แล้วเข้าใจในความเป็นหมาที่พูดได้และมีเสียงคิด และการปล่อยให้ตัวละครค่อยๆเปิดเผยความรักและเคารพหมาของตนจากความภักดีที่ซื่อสัตย์ที่หมาน้อยแมนชี่มีให้กับท็อดด์ตลอดทั้งเรื่อง คอยอยู่เคียงข้าง คอยย้ำเตือนว่าท็อดด์นั้นเป็นใคร และคอยเรียกให้ท็อดด์กลับมาเสมอยามที่ท็อดด์นั้นหลงทาง ถ้าคุณรักหมา คุณจะรักแมนชี่ในเรื่องนี้มากๆเลยล่ะ



    ทิ้งท้าย : อ่านเรื่องนี้สองรอบ รอบแรกช่วงเดือนเมษายนที่ได้หนังสือมา รอบใหม่ในเดือนกรกฏาคมเพื่อทำความเข้าใจโดยไม่อคติในความไม่ชอบ กับทบทวนความจำ เพราะเมื่อลองนึกแล้วสิ่งที่จำได้ชัดเจนมีเพียงแค่ ''อยากอึ๊แล้ว ท็อดด์'' - ''อึ๊อึ๊ ท็อดด์'' กับ ''อึ๊ดี๊ดี ท็อดด์'' พยายามจินตนาการเสียงของแมนชี่เอานะ



    ส่วนในเล่ม 2 ความเป็นเด็กก็คงจะน้อยลงไปแล้ว เพราะได้โตเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เนื้อเรื่องก็คงจะมีอะไรมากขึ้น เข้มข้นขึ้น เพราะ มีดของท็อดด์ เป็นเพียงเล่มแรกในชุดไตรภาคนี้ มีหลายครั้งที่เล่มแรกทำให้เราไม่อยากอ่านเล่มต่อไปเพราะไม่สนุกไม่ถูกใจ แต่พอตัดสินใจอ่านต่อในเล่มสอง ก็ต้องร้องว้าวอยู่หลายเรื่องจาก 'ปะสบกานส่วนตัว' อย่างไรก็คงต้องติดตามอ่านต่อในเล่มสองแน่นอน ขอให้เล่มสองเป็นเล่มที่ดีนะ 



    **คำที่สะกดผิด คือความตั้งใจ เพราะในหนังสือมีการสะกดผิด หรือมีคำที่ไม่ถูกตามหลักไวยากรณ์ตามที่ผู้เขียนตั้งใจ 'สื่อออกมา' เราเลยเลือกบางคำจากในหนังสือ กับ คิดขึ้นใหม่บางคำมาใช้ในรีวิวนี้ ใครที่อ่านเรื่องนี้แล้วจะเข้าใจ ส่วนใครที่ยังไม่ได้อ่านเดี๋ยวจะงงว่า "คือไรวะ" ฮ่าๆๆ 


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in