ฉันเดินออกมาจากโรงภาพยนตร์พร้อมน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม...
เปล่า ฉันไม่ได้อินไปกับดราม่าหรือซาบซึ้งไปกับหนังรักโรแมนติก แต่เป็นความตื้นตันใจที่เอ่อล้นจากการได้ดูสารคดีที่มีชื่อว่า “อัศจรรย์ตลาดปลาสึคิจิ” ที่เรียกน้ำตาของฉันให้ไหลออกมาโดยตัวฉันเองก็ไม่ทันได้ตั้งตัว
ตลาดปลาสึคิจิ...ตลาดปลาอันมีชื่อเสียงมายาวนาน ตลาดปลาที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกที่เปิดมาแปดสิบปีที่กำลังจะต้องถูกปิดตัวลง
ด้วยความที่เป็นคอซูชิตัวยง ตอนที่ฉันได้ยินว่าจะมีสารคดีเรื่องนี้ฉันจึงไม่ลังเลเลยที่จะรีบจองตั๋วรอบปฐมทัศน์เพื่อจะได้เกาะขอบจอฟังเรื่องราวของสถานที่ที่นำพาความสุขมาให้ฉันทุกครั้งที่ได้ลิ้มรสซูชิที่ถูกบรรจงปั้นขึ้นอย่างประณีต
แม้กระทั่งการได้ไปเห็นสถานที่จริงต่อคิวจริงมาเป็นเวลาสี่ห้าชั่วโมงเพื่อจะกินซูชิร้านดังฉันก็ทำมาแล้ว แต่สิ่งที่ฉันได้มีโอกาสสัมผัสยังเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความเป็นไปในตลาดปลาที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของคนมากมายหล่อหลอมและหล่อเลี้ยงมันอยู่
สารคดีเรื่องนี้เล่าถึงเรื่องของตลาดปลา บรรยากาศวุ่นวายในยามเช้า ความตื่นเต้นในการประมูลปลา การเสาะแสวงหาปลาที่ดีที่สุดอันเป็นความท้าทายของทั้งพ่อค้าและพ่อครัว เรื่องราวอาจจะฟังดูธรรมดาแต่เมื่อสารคดีดำเนินไป เราจะได้เห็นการสอดประสานของหลายหมื่นชีวิตที่ผูกพันอยู่กับสถานที่เหล่านี้ ถ้อยคำสัมภาษณ์ของแต่ละคนนั้น เรียบง่าย จริงใจ แต่สื่อให้เห็นถึงแก่นแท้ของวิถีการดำรงชีวิต ความรักที่มีต่องานที่ทำและที่โดดเด่นเกินใคร...การทำทุกอย่าง “ด้วยใจ”
งานในตลาดปลาเป็นงานหนัก ทั้งทางกายและทางใจ ทุกคนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำกันแต่เช้า ไม่สิสำหรับบางคนบางทีก็เริ่มงานตั้งแต่ยังไม่เที่ยงคืนเสียด้วยซ้ำ หยาดเหงื่อแรงกายที่ทุ่มเทลงไป ไม่ใช่เพื่อเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อคนรอบข้างที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อแสดงความ “เคารพ” ในสิ่งที่แต่ละคนได้ตั้งอกตั้งใจทำอย่างสุดความสามารถ
ช่างทำน้ำแข็งต้องมีกะทำงานตลอด 24 ชม.เพื่อผลิตน้ำแข็งจำนวนมากให้เพียงพอแก่การใช้ในตลาดปลาเนื้อที่กว้างใหญ่ที่มีการขนส่งกันปริมาณมากถึงขนาดมีรถวิ่งเข้าออกวันละ 19,000 คัน คนขายน้ำแข็งต้องเริ่มงานตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อจำหน่ายน้ำแข็งให้พ่อค้าปลาเพราะน้ำแข็งปัจจัยสำคัญที่จะรักษาคุณภาพของปลาดีๆ ที่เข้ามาสู่ตลาดแห่งนี้ ปลาดีจะมีค่าอะไรหากไม่สามารถรักษาความสดไว้จนถึงมือผู้บริโภคได้
พ่อค้าขายส่งเริ่มงานตั้งแต่ราวเที่ยงคืนเช่นกัน การจัดวางปลา การโฆษณาถึงความดีงามของปลาแต่ละชิ้นเป็นไปอย่างแยบยล “ผมมีหน้าที่ต้องขายทำราคาให้ได้ดีที่สุด... ให้สมกับที่ชาวประมงเสี่ยงชีวิตออกไปจับปลาเหล่านี้มา” เขากล่าว และข้อมูลต่างๆ จากชาวประมงไม่ว่าจะเป็นวิธีการจับซึ่งทำให้ปลาเครียดและเนื้อเกิดความแข็งไม่เท่ากันหรือน่านน้ำที่ปลาถูกจับมาก็จะถูกถ่ายทอดต่อให้พ่อค้าคนกลาง ผู้ซึ่งต้องใช้สัมผัสทั้งหมดในการประเมินคุณภาพที่ได้เห็น เรียนรู้ข้อมูลต่างๆ อย่างฉับไว ใช้กลยุทธ์ในการตัดสินใจให้ราคาและประมูลมา ผู้ค้าส่งแต่ละคนตั้งปณิธานว่าจะต้องหาปลาที่ดีที่สุดมาให้ได้เพื่อให้ลูกค้าของเขาได้วัตถุดิบที่ดีที่สุดในการทำอาหาร เขาเล่าว่าปลาที่ดีที่สุดนั้นไม่ได้มีมาตรวัดกันที่สีสันหรือความสด แต่เป็นดีที่สุดสำหรับความชอบความต้องการของลูกค้าแต่ละคน ซึ่งพ่อค้าคนกลางต้องทำความเข้าใจและจดจำความชอบเหล่านั้น บางทีเชฟเองยังต้องเชิญพ่อค้าไปยังร้านอาหารของตนเพื่อให้เขาเหล่านั้นทำความเข้าใจว่าปลาที่ส่งให้นั้นจะถูกใช้ในรูปแบบใด
พ่อค้าคนกลางแต่ละคนจะมีสิ่งที่ตัวเองถนัด พ่อค้ากุ้งก็จะเลือกกุ้งได้อร่อยที่สุด รู้ฤดูกาลว่ากุ้งชนิดไหนเดือนไหนจะอร่อย พ่อค้าปลาไหลสามารถบอกน้ำหนักและความมันของปลาได้เพียงใช้มือสัมผัส พ่อค้าปลาทูนามองสีของเนื้อปลาส่วนหางแล้วจินตนาการว่าข้างในจะไล่สีสดสวยแทรกลายมันงดงามเพียงไร ปลาที่ผ่ามาแล้วดูคุณภาพไม่ได้มาตรฐานแม้จะเสียเงินซื้อมาแล้วเขาก็จะไม่ขาย ด้วยความเชี่ยวชาญและความรักในวัตถุดิบเหล่านี้เองที่ทำให้พ่อค้าเก็บปลาดีๆ ไว้ให้กับเชฟชื่อดัง ไม่ใช่เพราะเชฟเหล่านี้ให้ราคาสูงกว่า แต่เป็นเพราะเขารู้ว่าเชฟจะได้ส่งมอบวัตถุดิบที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ให้แก่กลุ่มลูกค้าที่เข้าใจและเห็นคุณค่าของมันจริงๆ เชฟเองก็เข้าใจและใช้ความรู้สึกขอบคุณที่มีต่อผู้ค้าส่งที่สรรหาวัตถุดิบชั้นเลิศมาให้นั้นมาประยุกต์ศาสตร์แห่งการทำอาหารเพื่อที่จะใช้กรรมวิธีที่ทำให้รสชาติของวัตถุดิบออกมาดีที่สุด ซึ่งเชฟถือว่าเป็นการเคารพชีวิตที่เสียสละมาเพื่อให้เราได้กินอีกด้วย
เหล่านี้เป็นเบื้องหลังของจิตวิญญาณที่หยั่งรากลึกลงในจิตใจคนทำงานทุกผู้ทุกคน ณ ที่นี่เหมือนมีพลังงานที่มองไม่เห็นที่เชื่อมโยงครอบคลุมอยู่ที่ยิ่งดูไปก็ยิ่งชัดเจนขึ้นถึงจริยธรรมการทำงานของผู้คนที่เปี่ยมไปด้วยความซื่อสัตย์ ความเคารพต่อความสามารถของผู้คนที่รายล้อม ความภาคภูมิใจในอาชีพของตนไม่ว่าคุณจะเป็นชาวประมง คนส่งน้ำแข็ง พ่อค้าไปจนถึงพ่อครัว สังคมและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นช่างหล่อหลอมแนวความคิดนี้แก่ผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพเหลือเกินจนฟังแล้วอดสะท้อนใจไม่ได้ จะดีแค่ไหนหากทุกคนในสังคมสามารถรักและภาคภูมิใจในอาชีพของตนฝึกฝนศาสตร์จนเชี่ยวชาญและพิถีพิถันในการทำงานราวกับกำลังบรรจงเสกสรรค์งานศิลป์
แม้ว่าความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมการกินของญี่ปุ่นอาจจะค่อยๆ ลบเลือนด้วยความที่คนรุ่นใหม่เลิกใส่ใจการทำอาหาร หรือบ้านที่ทำงานเช่นนี้ต่อกันมาหลายรุ่นหลายสมัยอาจจะไม่มีลูกหลานในตระกูลจะมาสืบต่อ แต่ในสังคมเองก็ยังมีหลายส่วนที่ยังช่วยกันประคับประคองไม่ให้ความงดงามนี้เลือนหาย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายปลาที่ยังคงถ่ายทอดความรู้จากพ่อค้าคนกลางถึงเรื่องราวของปลาชนิดต่างๆ รวมถึงแนะนำวิธีการทำอาหารให้กับคุณแม่บ้านที่มาจับจ่ายซื้อหาวิตถุดิบไปทำกับข้าวให้คนในครอบครัว หรือทางโรงเรียนเองที่ใช้โอกาสในการเสิร์ฟปลาทั้งตัวเป็นอาหารกลางวันสอนสั่งตั้งแต่โครงสร้างกระดูกของปลาไปจนถึงวิธีการใช้ตะเกียบแกะก้าง ทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับรสชาติของปลาโดยไม่หลีกหนีเพียงเพราะกังวลเรื่องก้าง คุณครูใหญ่เองภาคภูมิใจกับการได้สอนให้เด็กๆ เรียนรู้การเอาชนะอุปสรรคเพราะเด็กประถมสี่หลายคนไม่เคยแกะปลากินเองมาก่อน คุณครูนักโภชนาการอยากให้เด็กๆ ได้รู้จักกับการทานอาหารที่มีประโยชน์และหัดรับรู้รสชาติของวิตถุดิบที่แตกต่างก่อนที่สังคมจะกลายเป็นสังคมกินบะหมี่สำเร็จรูปจนแยกแยะรสชาติไม่เป็น ผู้ดูแลการซื้อหาอาหารสำหรับอาหารกลางวันโรงเรียนรัฐดีใจที่หาปลาอร่อยมาให้เด็กๆ ได้ชิม และพ่อค้าปลาเองก็แสนจะภูมิใจที่สามารถสรรหาปลาดีในราคาย่อมเยามาส่งต่อให้เด็กน้อยได้รับประทานกัน
ความรักความทุ่มเทที่ส่งต่อกันมานั้นมันมากมายเอ่อล้นจนทำให้เราตื้นตัน จังหวะการเล่าเรื่อง การจัดเรียงภาพ เสียงดนตรีประกอบ ความจริงใจและมุ่งมั่นในแววตาของทุกๆ คนที่ให้สัมภาษณ์นั้นส่งผ่านออกมากระทบใจอย่างจัง จึงไม่แปลกเลยที่หลายๆ คนต้องถึงกับยกมือขึ้นปาดน้ำตาแม้จะไม่ได้เตรียมใจมาว่าจะต้องมาร้องไห้กับหนังเรื่องนี้ก็ตาม
บทพูดง่ายๆ ไม่ได้เสแสร้งจากผู้ค้าส่งร้านหนึ่งบ่งบอกถึงความรักและทุ่มเทของพวกเขาเป็นอย่างดี
“จำไว้ว่าสิ่งที่เราทำและพูดจะซึมซาบไปสู่ปลาที่เราขาย เราขายปลาด้วยความรักและใส่ใจ ซึ่งถ่ายทอดไปถึงผู้บริโภค เป็นความรับผิดชอบของเราในฐานะผู้ค้าส่งสึคิจิ”
และนี่...คือสิ่งที่ทำให้สึคิจิเป็นตลาดปลาที่พิเศษไม่มีที่ใดในโลกเสมอเหมือน
ทั้งหมดนี้เป็นความสวยงามตรึงใจที่คุณสัมผัสได้ในสารคดี “อัศจรรย์ตลาดปลาสึคิจิ”
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in