เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
12—4—48SALMONBOOKS
01 ข้อมูลพื้นฐาน



  • เรานัดกันตื่นตอนหกโมงเช้าแล้วนั่งรถไฟจากสนามบินไปฝากของกับที่พักที่จองเอาไว้ แต่ผมดันตื่นตั้งแต่ตีสี่ จะนอนต่อก็ลำบาก โชคดีที่สนามบินมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้ฟรี (แรงยิ่งกว่าแบบจ่ายเงินในเมืองไทย) ผมเลยหยิบคอมพ์มาเล่นฆ่าเวลา สองชั่วโมงผ่านไป ก็ถึงเวลาออกไปเผชิญโลกภายนอกกันแล้วครับ

    สถานีรถไฟของญี่ปุ่นไม่ได้แยกเป็นรถไฟฟ้ากับรถไฟฟ้าใต้ดินเหมือนไทย แต่แบ่งออกเป็นรถไฟทั่วไปกับรถไฟด่วน ตัวสถานีตั้งอยู่ในสนามบินไม่ต้องเดือดร้อนนักท่องเที่ยวให้เดินลากกระเป๋า แกรกๆ ไปขึ้นรถไฟอย่างยากลำบากเหมือนบางประเทศ ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติมีขั้นตอนการซื้อตั๋วบรรยายเป็นภาษาอังกฤษอย่างละเอียดยิบให้ชาวต่างชาติ ผมใช้เวลาเพียงสองนาทีก็ได้บัตร PASMO ราคา 10,000 เยน มาไว้ในครอบครอง (ในบัตรมีเงินอยู่ 9,500 เยน ส่วนอีก 500 เยนเป็นค่ามัดจำ จะได้คืนตอนเอาบัตรมาแลกคืนที่สนามบิน)

    ความดีงามของเจ้าบัตรนี้คือ สามารถใช้ผ่านประตูรถไฟได้ทุกประเภท ทุกสถานี ทุกบริษัทในโตเกียว (ยกเว้นชินคันเซ็น) แถมเอาไปใช้ซื้อของตามร้านค้าบางร้านได้อีก ถือเป็นบัตรเทพที่ใครมาญี่ปุ่นควรจะมีไว้ (นอกจากนี้ยังมีบัตร Suica ที่แปลว่าแตงโม แต่ดันมีมาสคอตเป็นนกเพนกวิน ซึ่งการใช้งานก็เหมือนกัน แค่ผลิตคนละบริษัท)

    ความประทับใจแรกที่ผมมีต่อรถไฟญี่ปุ่นคือที่นั่งนุ่มตูดมาก เบาะผ้าอย่างดีกับฮีตเตอร์อุ่นๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้ที่นั่งช่วยเยียวยาอาการปวดหลังจากเมื่อคืนได้ดี รถไฟสายนี้มีสถานีต้นทางอยู่ที่สนามบิน ไม่ได้วิ่งผ่านแหล่งธุรกิจ จำนวนผู้ใช้บริการจึงไม่หนาแน่น แต่ก็ยังมากพอจะสังเกตเห็นว่าชาวญี่ปุ่นมีกิจกรรมบนรถไฟอยู่ไม่กี่แบบ

    แบบแรกคือหลับ อันนี้ไม่ต้องอธิบายคอนเซ็ปต์อะไร ก็กูง่วงไง ง่วงแล้วก็ต้องนอน แบบต่อมาคือเล่นมือถือ เหมือนสังคมก้มหน้าบ้านเราแหละ แต่ด้วยระบบที่ก้าวไกลไปกว่าไทยหลายปีแสง ทำให้คนที่นี่เขาก้มหน้ากดมือถือกันมานานกว่าเราเยอะ

    แบบสุดท้ายคือการอ่านหนังสือ
    อย่างที่ร่ำลือกันว่าคนญี่ปุ่นมีนิสัยรักการอ่าน เราสามารถพบเห็นคนญี่ปุ่นอ่านหนังสือบนรถไฟ ร้านอาหาร สวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่งขณะเดินไปมาได้อย่างชินตา พวกเขาไม่ได้ทำเป็นแฟชั่น แต่เป็นพฤติกรรมแสวงหาความรู้ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมแห่งการอ่านได้อย่างทุกวันนี้ นั้น เป็นเพราะสภาพภูมิประเทศครับ

    ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินมีที่ราบสำหรับทำการเกษตรไม่มากนัก แล้วไหนจะโดนพวกภัยธรรมชาติทั้งพายุ แผ่นดินไหว หิมะตก น้ำท่วม สึนามิ ฯลฯ (เป็นแหล่งแฮงเอาต์ของเหล่าภัยพิบัติว่าอย่างนั้นเถอะ) ทำให้การเพาะปลูกบนพื้นที่แห่งนี้เป็นเรื่องยาก จะปลูกข้าว อ้าว น้ำท่วม เจ๊ง! ปลูกใหม่จนข้าวออกรวง พายุเข้า เจ๊ง! หรือบางทีปลูกเสร็จแล้ว เก็บเกี่ยวได้อย่างงามโดนแผ่นดินไหวเสียหายกันทั้งบาง เจ๊งอีก! จะอพยพไปที่อื่นก็ลำบากเพราะว่าประเทศเป็นเกาะ

    ทางเดียวที่จะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่กับภูมิประเทศที่แสนยากเข็ญนี้ได้คือ ต้องหันหน้าเข้าสู้เท่านั้น

    ความที่มีช่วงเวลาในการเพาะปลูกจำกัด เวลาปลูกอะไรสักอย่างคนญี่ปุ่นเลยมีเป้าหมายว่าต้องปลูกให้ได้ผลผลิตมากพอจะกินจะใช้ไปจนถึงช่วงที่เพาะปลูกไม่ได้ด้วย คนยุคนั้นจึงค้นคว้าหาความรู้ด้วยการลองผิดลองถูก หาวิธีปลูกข้าวให้รอดตายจากช่วงน้ำท่วม ต้องเพาะปลูกช่วงไหนถึงจะไม่เจอพายุ ช่วงฤดูหนาวมีอะไรที่เอามากินได้บ้าง หรือสร้างยุ้งฉางอย่างไรให้ทนต่อแผ่นดินไหวคนญี่ปุ่นนำความรู้จากประสบการณ์เหล่านี้มาขีดเขียนเป็นตัวหนังสือ กลายเป็นตำราสำคัญที่สอนวิธีเอาตัวรอดในดินแดนแห่งนี้ให้แก่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน และกลายเป็นหนึ่งในแนวทางสร้างคนให้เป็นใหญ่ เพราะในยุคที่การเพาะปลูกเป็นเรื่องยาก คนที่ผลิตอาหารได้มากก็จะกลายเป็นผู้ยิ่งใหญ่ไปด้วย

    ด้วยเหตุนี้ สังคมญี่ปุ่นจึงกลายเป็นสังคมที่ยึดถือข้อมูลเป็นหลัก ใครที่มีข้อมูลน่าเชื่อถือมากกว่าก็เป็นผู้ชนะ และมีแนวโน้มที่จะชี้นำผู้คนในสังคมให้ไปในทิศทางเดียวกันได้

    แม้ว่าสังคมของญี่ปุ่นในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่ได้พึ่งพาการเกษตรเป็นหลักเหมือนเมื่อก่อน แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังติดนิสัยแสวงหาข้อมูล และยังชอบศึกษาในเรื่องต่างๆ อย่างลึกซึ้งอยู่

    อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมที่นี่ถึงมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่มากมาย ตั้งแต่เรื่องยากๆ อย่างวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ งานช่าง ไปจนถึงเรื่องที่ไม่รู้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญไปทำไม อย่างการ์ตูน ขนม หรือตู้เกม แล้วก็อาจเป็นคำถามต่อได้ว่า ทำไมบ้านเราถึงไม่มี?

    โชคดีที่รถไฟเที่ยวแรกของเราไม่ต้องไปวิ่งเปลี่ยนขบวนที่ไหน นั่งชมวิวกันได้ยาวๆ จะเสียดายอยู่หน่อยก็ตรงที่ทริปนี้ไม่ได้พกหนังสือมาอ่านด้วย ระหว่างทางก็เลยได้แต่นั่งหลับเนียนๆ ไปกับเขาเท่านั้นเอง   
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in