เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
12—4—48SALMONBOOKS
คำนำ




  • ประเทศญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่ทำให้เราฉงนฉงายได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ การละเล่น ประเพณี หรืออะไรต่อมิอะไรที่บางทีดูแล้วอาจจะเลยเส้น ‘ความสร้างสรรค์’ ไปอยู่หลายสเต็ป แต่ทั้งหลายทั้งมวลก็ประสบความสำเร็จและถูกพูดถึงกึ่งยกย่องอยู่ตลอดเวลา

    ก่อนหน้านี้เราอาจเห็นบทบาทของพวกเขาในฐานะนักประดิษฐ์ อุปกรณ์ไฮเทคทั้งหลายก็ล้วนเกิดมาจากที่นี่ หลังจากนั้นเมื่อเขาเอาจริงเอาจังเรื่องการส่งออก Soft Power หรือเน้นไปในเรื่องการเผยแพร่วัฒนธรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ยิ่งพบว่านอกจากเทคโนโลยีแล้วพวกเขายังเก่งกาจในเรื่องอื่นๆ ซึ่งในหลายเรื่องนั้นก็ทำให้เราฉงนฉงายได้อยู่เรื่อยๆ

    หนึ่งในนั้นคือการผลิตวงเกิร์ลกรุ๊ปที่ชื่อ AKB48 (เอเคบีสี่สิบ-แปด)

    และความน่าสนใจของ 12—4—48 หนังสืออ้วนๆ ที่กำลังนอนอุ่นอยู่ในมือของคุณ คือมันพูดถึงการสร้างวัฒนธรรมป๊อปของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะการกำเนิดวง AKB48 นี่แหละ

    คุณผู้อ่านอาจงงว่า AKB48 คืออะไร? บางคนอาจเคยได้ยินอยู่บ้างจากรายการบันเทิงต่างประเทศ หรือเห็นผ่านๆ ตาเวลาไปเยือนเมืองญี่ปุ่น

    เล่าอย่างย่อ—พวกเธอเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ปที่แตกต่างจากวงที่มีอยู่เดิมๆ ด้วยการมีสมาชิกจำนวนมากเกินพอดี (90 กว่าคน!) และเป็นวงที่ ‘พลิกโฉม’ อุตสาหกรรมดนตรีประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในสองของเมืองที่นักดนตรียังคงมีชีวิตดีๆ ได้จากกลุ่มคนฟังที่ ‘สนใจ’ และอุดหนุนสินค้าจริงๆ

    พีรพิชญ์ ฉั่วสมบูรณ์ ผู้ปวารณาตัวเป็น ‘ติ่ง’ ของวง AKB48 ใช้เวลาจำนวนมากไปกับการขุดคุ้ยแนวคิดทางการตลาด (ที่จริงสะสมรูปถ่ายของสาวๆ สมาชิกวง) ศึกษาผลลัพธ์ของการนำเสนอ (ที่จริงเซฟภาพวิดีโออย่างหื่นๆ) ทำไมพวกเธอเป็นวงหญิงล้วนอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น มีจำนวนแฟนคลับมากที่สุด สร้างรายได้ถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ พลิกวิธีคิดในการทำวงดนตรีจากแบบเดิมๆ สู่ท่ายากๆ ที่เห็นแล้วต้องเกาหัวแกรกๆ แต่ทว่าสำเร็จ!

    จากที่นั่งเนิร์ดหาข้อมูล เสพข่าวสารตามประสาติ่งของวงอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ สู่ 12 วันสุดทุลักทุเลในประเทศญี่ปุ่น กับเพื่อนร่วมทางรวมแล้ว 4 ชีวิตที่ต่างคนต่างก็มีภารกิจส่วนตัวในการเยือนประเทศญี่ปุ่น และมิชชั่นตามรอยโลเคชั่น ณ ถิ่นกำเนิดของวง AKB48 ของพีรพิชญ์จึงเกิดขึ้นจนกลายเป็นหนังสือเล่มอ้วนๆ เล่มนี้ที่จะค่อยๆพาเราไปเรียนรู้เรื่องโมเดลการ ‘สร้างคน’ ที่สร้างสรรค์ หวือหวาและบ้าบิ่น จนกลายเป็นแนวคิดการทำวงหญิงล้วนที่ระบาดไปในหลายๆ เขตในญี่ปุ่นและหลายๆ ประเทศ

    ทั้ง 48 ตอน นอกจากจะเป็นกิมมิกที่ทำให้พีรพิชญ์ปวดหัวไปกับสำนักพิมพ์เพราะงงว่านี่มึงจะให้กูเขียนอะไรเยอะแยะแล้ว มันยังน่าจะเป็นความแปลกใหม่ในการเรียนรู้เรื่องของนวัตกรรมในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเพื่อส่งออกของประเทศญี่ปุ่นได้บ้าง ซึ่งเราคิดว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลึกซึ้ง มีประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ยังสนุกสนานไปด้วยพร้อมกัน เพราะคนเขียนมันเล่นมุกระดับเรี่ยราด

    เป็นรสชาติใหม่ๆ ที่เรานำเสนอสำหรับหนังสือแดนปลาดิบที่ตอนนี้มีอยู่เกลื่อนแผง
    ซึ่งเราหวังว่าคุณจะอร่อย


  • ป๊อกกี้

    ผมรู้จัก AKB48 แค่ว่ามันเป็นวงดนตรีเจป๊อปที่มีนักร้อง 48 คน
    แค่ โน้ต-ตูน นิว-จิ๋ว กอล์ฟ-ไมค์ กูยังแยกไม่ออก นี่มึงมีตั้ง48 คน…วงอะไรวะ จะบ้าเรอะ (พอตอนหลังมารู้ว่าที่จริงไม่ใช่ 48 คนแต่มัน 90 กว่าคน ยิ่งกลุ้มใจหนักเข้าไปใหญ่)
    และนั่นคือทั้งหมดที่ผมรู้จัก AKB48…

    ผมรู้จักป๊อกกี้—พีรพิชญ์ จากการที่มันเป็นทีมเขียนหนังสือ วันก่อนครับ

    ป๊อกกี้มีเอกลักษณ์เป็นชายไทยตัวสูงใหญ่ ใส่แว่น มีเอกลักษณ์คือ ผมยาวฟูยุ่ง (ครั้งหนึ่งมันไปตัดผม วิชัยต้องใช้เวลาประมวลผลประมาณหนึ่งถึงจะจำได้ว่าชายคนนี้คือป๊อกกี้)

    เอกลักษณ์อีกอย่างของป๊อกกี้คือ ป๊อกกี้ว่างตลอดเวลา เวลาจะไปปาร์ตี้กินเลี้ยง มีงานเปิดตัวหนังสือ เปิดตัวสินค้า เราจะเห็นป๊อกกี้อยู่ตรงนั้นเสมอ ตอนนั้นผมสันนิษฐานได้ว่าป๊อกกี้มันคงขโมยเวลาว่างของทุกคนบนโลกมาเป็นของมันเองหมดแล้ว มันก็เลยว่างมากขนาดนี้

    เอกลักษณ์อีกอย่างของป๊อกกี้ (ครับ…นอกจากมันจะมีเวลาว่างเยอะแล้วมันมีเอกลักษณ์เยอะอีกด้วย) เวลาที่เราจะให้มันเลือก จะตัดสินใจอะไรก็ตาม ป๊อกกี้จะพูดอย่างเดียว... “อะไรก็ได้ครับพี่”

    คือ…บ.ก. บอกให้ผมเขียนคำนิยมให้ป๊อกกี้หนึ่งหน้ากระดาษเอสี่ ปัญหาคือไม่รู้ว่าจะเขียนอะไรถึงป๊อกกี้ดี ก็เลยโม้ๆ ผลาญๆ บรรทัดไปเรื่อยๆ น่ะครับ...

    ต่อนะ ผมมารู้จักป๊อกกี้อีกที ก็ตอนที่มันส่งลิงก์อะไรก็ไม่รู้มาให้ช่วยกดไลก์กดแชร์ รบเร้าว่ามันอยากเป็นผู้ชนะ ช่วยมันหน่อย เดี๋ยวมันจะเลี้ยงโออิชิ...

    ลิงก์ที่ว่าเป็นข้อความให้กำลังใจวง AKB48 ในการเลือกตั้งของวงที่ทำโดยตัวมันเอง

    และไอ้การแข่งที่ว่ามันได้อันดับ 1 ของประเทศไทยด้วยนะ!

    ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ป๊อกกี้เหมือนติดเข็มสวมมงกุฎเป็นกูรูแฟนพันธุ์แท้ของวง AKB48 รู้ไปหมดว่าวงนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ใครชื่ออะไร ชอบอะไร กินอะไร ไปทำอะไร จนคิดว่ามันรู้เรื่อง AKB48 มากกว่ามันรู้เรื่องตัวมันเองเสียอีก...

    แต่ผมรู้สึกตื่นเต้นเสมอเวลาที่รู้ว่าใครสักคนมีความชื่นชอบอะไรบางอย่างถึงขั้นหัวปักหัวปำ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ดี มนุษย์เราควรจะมีเรื่องที่เราสนใจอย่างบ้าบอคอแตกอย่างน้อยก็หนึ่งเรื่องในช่วงอายุที่แตกต่างกัน

    โอเค ครึ่งหน้าเอสี่ละ เข้าเรื่องดีกว่า

    ผมเคยไปญี่ปุ่นก่อนหน้านี้แล้วรอบนึง กลับบ้านด้วยอาการบอบช้ำทางจิตใจ เสี้ยนอยากกลับไปอีก วันหนึ่งด้วยแรงบ้าของตัวเองผมเช็กราคาตั๋วเครื่องบิน โทร.ชวนป๊อกกี้ไปญี่ปุ่น
    “เฮ้ย พี่ ผมไม่มีตังค์ครับ”
    “เชี่ยมึง กูก็ไม่มี เราซื้อตั๋วก่อนไง เป็นไฟต์บังคับ พอมีตั๋วปุ๊บมึงก็ต้องเริ่มเก็บเงินแล้วไง ไม่งั้นมึงก็เสียค่าตั๋วเครื่องบินฟรีนะเว้ย”
    “นี่มันหลักการอะไรของพี่วะ”
    หลังจากนั้นอีกสามวินาที ป๊อกกี้ก็ตอบตกลงไปญี่ปุ่น
    เรื่องก็แค่นี้ครับ...ผม มยุรี โจ้บองโก้ และป๊อกกี้ไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยกัน
    ผม มยุรี และโจ้บองโก้ไปเที่ยวญี่ปุ่นกันชิลๆ
    แต่อีป๊อกกี้มันไปตามรอย AKB48

    การไปญี่ปุ่นครั้งนี้ เปลี่ยนไปจากครั้งที่แล้วตรงที่ผมเริ่มสังเกตว่า AKB48 มันอยู่ในทุกที่ที่เรากวาดสายตามองจริงๆ เอาง่ายๆ ว่าเราเห็นสมาชิกวงนี้บ่อยพอๆ กับหน้านักการเมืองไทยในช่วงหาเสียงน่ะครับ

    เอาล่ะ เหลืออีกย่อหน้านึงจะเต็มหน้า A4 ละ ต้องสรุปแบบหล่อๆ แล้วแหละ...อืม เริ่มท่าไหนดี?

    ถึงจะจำไม่ได้ว่าวงนี้มันมีใครอยู่บ้าง และแต่ละคนชื่ออะไร แต่ผมว่า AKB48 เป็นตัวอย่างที่ดีของการพูดถึงความเป็นญี่ปุ่น

    การใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจจะไม่สำคัญนักในแง่ของภาพรวม แต่สำคัญสุดๆ ในแง่ของการเติมเต็มความรู้สึก AKB48 ถูกออกแบบให้ใกล้กับคนดู โดยคัดเลือกนักร้องที่หน้าตาดีในระดับที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปตามท้องถนนญี่ปุ่น

    ในขณะที่นักร้องเคป๊อปต้องร้องต้องเต้นในระดับที่เพอร์เฟ็กต์ (หรือ ไม่ก็ดีมากในระดับหนึ่ง) ถึงจะออกสู่สายตาผู้ชมได้ แต่ด้วยความที่ AKB48 มีคอนเซ็ปต์เป็นวงที่มาจากเด็กหญิงข้างบ้าน ทำให้พวกเธอไม่ต้องเต้นเก่งก็ได้ ไม่ต้องร้องเก่งก็ได้ สิ่งเดียวที่ต้องมีคือความมุ่งมั่นที่ทำให้นักร้องได้พยายามและทำให้คนดูเอาใจช่วย เหมือนเชียร์รุ่นน้องตัวเองให้เก่งขึ้นๆ

    ทำให้วงนี้กลายเป็นเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่น และทำให้ผู้ชายอย่างป๊อกกี้ถ่อสังขารไปตามรอย AKB48 ถึงญี่ปุ่นจนได้กลับมาเขียนหนังสือเล่มนี้

    อนึ่ง ตอนเขียนคำนิยม ก็อยากทำตัวคีปคูล ดูมีคอนเซ็ปต์ด้วยการเขียน 48 ข้อ ให้เข้ากับชื่อวง AKB48 แต่มาคิดดูอีกที นี่กูยังเขียนต้นฉบับตัวเองยังไม่เสร็จดี ทำไมกูต้องมาคิดคอนเซ็ปต์เท่ๆ เขียนคำนิยมให้หนังสือของอีป๊อกกี้มันเสร็จก่อนด้วยวะ...

    แม่งเอ๊ย!
    จบแค่นี้แหละ! เล่มนี้สนุกมาก ซื้อ!

    แต่ถ้าซื้อพร้อมหนังสือวิชัยจะสนุกมากกว่านี้ 48 เท่า! (หน้าด้านเนอะ)



  • ผมมีลูกพี่ลูกน้องอยู่คนหนึ่งชื่อ เคน ครับ

    จำได้ว่าตอนเด็กๆ ทุกๆ ปิดเทอม ผมกับน้องชายจะเฮกันไปเล่นกันที่บ้านของเคนเสมอ ความที่เรามีวัยไม่ห่างกันมาก ทำให้เรายังเล่นด้วยกันสนุกอยู่ แถมบ้านของเราก็ไม่ไกลกัน ไปมาหาสู่กันได้ในระดับเดินถึง ซึ่งสำหรับเด็กๆ แล้ว การมีสมาชิกร่วมเล่นด้วยกันเยอะเท่าไหร่ก็หมายถึงความสนุกที่มากขึ้นเท่านั้น

    แต่ปัจจัยสำคัญที่เราตั้งหน้าตั้งตารอไปเล่นที่บ้านของมันทุกครั้งก็เพราะเคนเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นครับจริงๆ แค่ความเป็นลูกครึ่งอาจไม่ใช่สิ่งจูงใจขนาดนั้น

    สิ่งจูงใจที่แท้จริงคือเคนมันเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นที่จะต้องบินไปญี่ปุ่นเพื่อเยี่ยมญาติพี่น้องทางฝั่งนั้นอย่างน้อยปีละครั้งในช่วงปิดเทอม และทุกครั้งที่เคนกลับมา มันก็จะมาพร้อมกับขนมแพ็คใหญ่ ของเล่นกล่องโต หนังสือการ์ตูนเป็นตั้ง และเครื่องเกมชุดใหม่ที่เพิ่งออกได้ไม่กี่เดือน

    แน่นอนว่าผมดีใจทุกครั้งเวลาที่เคนกลับมาจากญี่ปุ่น เพราะนั่นหมายถึงขนมที่เราจะได้กินอย่างจุใจ ของเล่นใหม่ๆ ที่เราจะได้ไปแย่งมันเล่นเสมอ แถมยังได้อ่าน (จริงๆ น่าจะเรียกว่านั่งดูรูป) การ์ตูนเรื่องใหม่ที่ยังไม่เข้าเมืองไทยก่อนใครอีกต่างหาก แต่อีกใจลึกๆก็รู้สึกอิจฉาที่มันได้ไปญี่ปุ่นบ่อยเหลือเกิน อิจฉาขนาดที่ว่าพอกลับมาบ้านก็จะนั่งมโนอยู่บ่อยๆ ว่าถ้าเราได้ไปญี่ปุ่นบ้างเราจะไปอยู่ยังไงกินอะไร อากาศที่นั่นจะเป็นยังไง แล้วก่อนกลับจะซื้ออะไรกลับมาบ้าง บางครั้งก็หนักถึงขั้นเก็บเอาไปฝันตอนนอนด้วย เป็นเรื่องเป็นราวสุดๆ

    แต่มันก็ได้แค่นั้นแหละครับ ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างผมจึงยังไม่ได้ไปญี่ปุ่นสักที และยิ่งนานวัน ฝันที่เคยชัดเจนก็เลือนรางลงเรื่อยๆ เหล่าของเล่น เกม และการ์ตูนจากญี่ปุ่นเริ่มถูกแทนที่ด้วยวงดนตรีบริตป๊อปจากอังกฤษ รองเท้ากีฬาคู่ใหม่จากสหรัฐอเมริกา หรือหนังรางวัลฝีมือผู้กำกับจากบราซิล ความสนใจในดินแดนอาทิตย์อุทัยของผมถูกผลักออกมาเป็นเรื่องรองๆ ของชีวิต

    จนกระทั่งได้มาเจอวงไอดอลที่มีนามว่า AKB48

    ชีวิตของผมพลิกจากหลังมือเป็นหน้าตีน ความฝันที่จะไปญี่ปุ่นกลับมาชัดเจนขึ้นอีกครั้งแม้จะมีเป้าหมายที่แตกต่างออกไปจากวัยเด็กและสุดท้ายมันก็ได้เป็นจริงกับทริป 12 วันที่ทุกท่านกำลังจะได้อ่านในหนังสือเล่มนี้

    ผมออกเดินทางพร้อมเป้าหมายและความรู้สึกที่แตกต่างจากครั้งวัยเยาว์ แต่ทันทีที่ได้เหยียบลงบนแผ่นดินแห่งนี้ เหล่าความฝันในวัยเด็กของผมก็ปะทุออกมาอีกครั้ง ผมกรี๊ดทุกทีเมื่อได้เจอร้านของเล่น ใช้เวลาไม่ต่ำกว่าชั่วโมงในร้านหนังสือการ์ตูน ต้องแวะโฉบทุกครั้งเมื่อผ่านเกมเซ็นเตอร์ ฟินทุกครั้งเมื่อมีอาหารเข้าปาก แม้แต่ตอนเข้านอนผมก็ยังรู้สึกมีความสุขทุกครั้งเมื่อระลึกได้ว่าที่นี่คือญี่ปุ่น ทำให้ผมได้รู้ว่าความฝันตอนเด็กนั้นมันไม่ได้หายไปไหน แค่มันถูกบีบอัดเอาไว้เพื่อรอวันและเวลาที่จะระเบิดออกมาเท่านั้นเอง

    ก่อนจะเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมามีคนถามผมว่า มาเขียนหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมเจป๊อปในวันที่มันไม่ได้เป็นกระแสในบ้านเราแบบนี้หนังสือจะขายได้เหรอ? ที่จริงผมก็ไม่มั่นใจหรอกว่ามันจะขายได้รึเปล่า แต่มันคงดีถ้าจะมีสักที่ที่คอยเก็บความฝันของเราไม่ให้เลือนหายไป


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in