เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
booker loggerweawfah
Basement Moon
  • เรื่องย่อจากปกหลัง

    3 ตุลาคม ค.ศ. 2016,  นักเขียนไทยวัยกลางคนชื่อ ปราบดา หยุ่น ได้รับข้อความประหลาดผ่านโทรศัพท์มือถือบงการให้เขาเดินทางไปยังตึกร้างในย่านเก่าของกรุงเทพฯ. แม้ไม่เข้าใจอะไรนัก, และมีความเป็นไปได้ที่จะเสียสติเพราะความหดหู่ของบรรยากาศสังคม, เขายอมทำตามคำสั่งลึกลับนั้น. การสื่อสารปริศนาเกลี้ยกล่อมให้ปราดาคิดว่าการกระทำของเขาจะมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น.

    ...

    ความคิดเห็นหลังอ่านจบ

    หนังสือเล่มนี้ค่อนข้างน่าดึงดูดในตอนต้น ตื่นตาแต่ยืดยาดในตอนกลาง และฉงนงงงวยในตอนท้าย.
    ผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้จบ ฝ่ายหนึ่งเพราะถูกดึงดูดด้วยเรื่องราว ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งจะเพราะหลงรักในกลวิธี.

     โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นงานเขียนของคนไทยที่ดีมาก ๆ เล่มหนึ่ง เพราะงานเขียนไทยที่ผสมผสานระหว่างแฟนตาซี-ไชไฟ ปรัชญา และการเมือง เป็นงานเขียนที่หาอ่านได้ยากยิ่ง.

    ข้อแนะนำประการเดียว คือ ขอให้อ่านด้วยใจเปิดกว้างและเมื่อจบแล้ว ขอให้นั่งนิ่ง ๆ สักครู่ แล้วคิดว่าหนังสือเล่มนี้ได้หย่อนเมล็ดพันธ์อะไรมาไว้ในหัวเรากันแน่. 


                     Basement moon 
                     ปราบดา หยุ่น
                     สำนักหนังสือไต้ฝุ่น


    **คำเตือน - เนื้อหาต่อไปนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อ่านจบแล้ว 


    สิ่งที่สะท้อนออกมาจากการดำเนินเรื่องของ basement moon คือ การเล่นกับแนวคิดการปลูกฝังความคิด โดยใช้กลไกของความจริง-ความลวงของเรื่องเล่า

    Key หลักของเรื่องนี้ คือ "เรื่องเล่า" ในฐานะของสิ่งที่ทรงพลังอย่างมาก เพราะมันไม่ได้ยึดโยงอยู่กับผู้เล่า ไม่สนใจว่าผู้เล่าจะเป็นใคร นับถือศาสนาใด มีนิสัยหรืออุดมการณ์ใด "เรื่องเล่า" โดยตัวของมันเองเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวอันฝังลึกอยู่ในจิตสำนึกสากลของมนุษยชาติ ตัวมันเองได้แตกออกและใช้ผู้เล่าเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดและสื่อสารสิ่งที่หลบซ่อนอยู่อย่างเป็นปริศนาเท่านั้น เพื่อให้ท้ายที่สุด เรื่องเล่าทั้งหลายจะถูกเชื่อมต่อสู่เครือข่ายข้อมูล (เรื่องเล่า) มหาศาล 

    แท้จริงแล้ว "เรื่องเล่า" จึงเป็นสิ่งที่อยู่ยงเหนือกาลเวลาและรอคอยที่จะเชื่อมต่อเมล็ดพันธุ์แห่งจิตสำนึกสากลเหล่านั้นสู่ผู้รับสาสน์อีกเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าคนผู้นั้นจะอยู่ในยุคสมัยหรือดำรงอยู่ ณ ตำแหน่งแห่งหนใด

    สิ่งที่ ปราบดา หยุ่น ต้องการใส่ลงในหนังสือเล่มนี้ จึงไม่อาจบอกได้ว่าเป็นนวนิยายที่เต็มไปด้วยเรื่องในจินตนาการ แต่หนังสือเล่มนี้คือความพยายามในการทดลองกลวิธีในการปลูกฝัง "แนวคิด" บางอย่าง หนังสือเล่มนี้หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือตัวของปราบดา หยุ่น กำลังดำรงอยู่ในฐานะของเครื่องมือที่ใช้ในการถ่ายทอด "เรื่องเล่า" แห่งจิตสำนึกสากลที่เหนือกว่าในระดับปัจเจก เป็นจิตสำนึกที่ไม่ใช่ทั้งจิตสำนึกประดิษฐ์ดั้งเดิม และจิตสำนึกประดิษฐ์ครั้งใหม่

    นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไม ปราบดา หยุ่น ใช้ชื่อของตนเองเป็นตัวเอก (เพราะเขากำลังเล่าเรื่องจริง ๆ) และเป็นเหตุผลว่าทำไมตัวเอกอย่างปราบดา หยุ่น ได้รับคำบอกว่าไม่จำเป็นต้องกระทำการใดเลย ๆ ขอเพียงแต่เป็นผู้ฟังเท่านั้น (แต่แท้จริงแล้ว เขาเป็นผู้กระทำกิจกรรมทุกอย่างในฐานะผู้เล่า) และเป็นเหตุผลของสิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างการใช้รูปแบบการเขียนตามแบบภาษาอังกฤษ ที่มีทั้งเครื่องหมายมหัพภาค (.) เครื่องหมายจุลภาค (,) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการทลายกรอบของโครงสร้างทางภาษาและอาจอนุมานได้ว่าเรื่องเล่า/เรื่องที่เราได้อ่านอยู่นี้มีจุดกำเนิดมาจากต้นทางอันเป็นสากลกว่ากรอบคิดในภาษาไทย หรือแม้กระทั่งที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน 

    ปราดา หยุ่น (หรือต้องเรียกว่าผู้เขียน - เมื่อลดทอนตัวตนของผู้เล่าให้เป็นเพียงเครื่องมือแล้ว) กำลังบอกผู้อ่านว่า เรื่องเล่าที่เรากำลังอ่านอยู่นี้ คือ "เรื่องเล่า" ที่เกิดจากจิตสำนึกร่วมสากล จิตสำนึกที่รู้จักตั้งคำถาม ไม่ยอมจำนน เป็นจิตสำนึกอันเป็นอิสระอย่างแมรี่ ที่อยู่เหนือโซ่ตรวนทางภาษา อยู่เหนือกรอบอ้างอิงทางเวลาของมนุษย์ และอยู่เหนือมายาลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นกรอบทับ ซึ่งแตกต่างจากแชลลี่โดยสิ้นเชิงนั่นเอง

    เราผู้อ่าน อ่านหนังสือเล่มนี้ในฐานะของนวนิยาย แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยลูกเล่นที่ผู้เขียนได้สอดแทรกอยู่ระหว่างการดำเนินเรื่อง ก็ทำให้เราผู้อ่านรู้สึกลังเลใจได้ว่า 

    "สรุปแล้วเรื่องเล่าที่เราอ่านอยู่นี้เป็นความจริงหรือไม่?" 

    หลังจากที่เราอ่านเรื่องนี้จบ ทำให้เราได้รับรู้ "เรื่องเล่า" ที่เป็นส่วนหนึ่งของจิตสำนึกสากล และเราเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันในเครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ที่ดำรงอยู่เหนือกรอบอ้างอิงทางเวลาและโซ่ตรวนทางภาษาเสียแล้ว เช่นนั้น

    "เราในฐานะผู้อ่านจะรับมือและจัดวางพื้นที่ให้กับความรู้ใหม่นี้ได้อย่างไร?"

    แล้วใครกันแน่ ที่เป็นผู้ฝังเมล็ดพันธ์อันเล็กจ้อยแห่งความคิดนี้ลงในห้วงขณะที่เราสำนึกรู้?
    สาสน์ที่เราได้รับมานี้ มาจากใครหรือสิ่งใดกันแน่? ปราบดา หยุ่น หรือ จิตสำนึกร่วมสากลนั้น?


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in