เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
booker loggerweawfah
Why grow up? ทำไมจึงเติบโต
  • "ความขุ่นเคืองนั้นเป็นเรื่องชอบธรรมทีเดียว นิทเช่บอกว่านี่คือบาดแผลแห่งอภิปรัชญาที่อยู่ตรงใจกลางจักรวาล สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่มันพึงเป็น และคุณก็ไม่มีทางกำจัด สิ่ง ที่ พึงเป็น ออกไปจากหัวใจได้ด้วย" 
    (p.89)


    ทุกการเติบโตล้วนเต็มไปด้วยคำถาม 

    เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนที่อยู่ในวัยเดียวกับเรา (ช่วงต้น 20) ล้วนต้องเคยคิดหวาดกลัวการเป็นผู้ใหญ่มาก่อน เพราะเราถูกพร่ำบอกมาตลอดว่า วัยเด็กสบายสุดแล้ว/มหาลัยคือช่วงที่สนุกที่สุดแล้ว/โตไปชีวิตมันไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก 

    แม้กระทั่งตอนที่เราใกล้เรียนจบ ยังได้ของขวัญรับปริญญาเป็นหนังสือ "เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด" เลย แล้วอย่างนี้จะไม่ให้เรากลัวการเติบโตได้อย่างไร? ไหนจะความเครียดเรื่องการงานการเงิน ความรู้สึกที่จู่ ๆ ก็เคว้งคว้างทั้ง ๆ ที่เหมือนมีทางเลือกมากมายอยู่ตรงหน้า แต่ก็ใช่ว่าเราจะเลือกได้ตามใจฝัน ไหนจะความรับผิดชอบที่มากขึ้น พ่อแม่ที่คาดหวังจะพึ่งพิงเรา และสังคมที่ขยันถามเราเหลือเกินว่า ทำงานอะไร เงินเดือนเท่าไหร่ มีแฟนยัง?

    โลกเหมือนเหวี่ยงเราออกจากอ่างปลาไปยังมหาสมุทรที่พายุโหมกระหน่ำ 
    ไม่ใช่ไม่มีการเตือนล่วงหน้า แต่สิ่งที่ได้คือคำเตือนอันน่าหวาดหวั่นมากกว่าคำสอนวิธีเตรียมพร้อมรับมือนี่ต่างหากที่ไม่ช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นเลย

    วัยรุ่นทุกคนได้รับเรือพร้อมคำเตือนเรื่องพายุ
    แต่ไม่เคยมีใครสอนวิธีการบังคับเรือที่ถูกต้อง
    เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราควรกางใบเรือ เมื่อไหร่ควรเก็บ
    เราไม่รู้ว่าดาวเหนือคือดวงไหน อ่านกระแสน้ำอย่างไร และเราจะต้องไปที่ใด

    เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรามาอยู่บนเรือลำนี้ทำไม

    ท้ายที่สุดแล้ว เราเติบโตขึ้นไปเพื่ออะไรกันแน่? 

    นี่เองคือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ชักชวนเรามาพิจารณาใคร่ครวญว่า "การเติบโต" โดยตัวของมันเองคืออะไร Susan Neiman (ผู้เขียน) ใช้แนวคิดทางปรัชญาค่อย ๆ กระเทาะการเติบโตออกทีละชั้น แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ก้อนใหญ่ ๆ นั่นคือ ปูพื้นประวัติศาสตร์ - วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น - โตเป็นผู้ใหญ่ - ทำไมต้องเติบโต


    **คำเตือน - เนื้อหาต่อไปกล่าวถึงประเด็นในหนังสือ ใครอยากไปอ่านเอง อย่าเพิ่งอ่านนะ


    - ปูพื้นประวัติศาสตร์ -

    ในบทนี้ ผู้เขียนชี้ให้เห็นกลไกอันสลับซับซ้อนในการมองและคิดวิเคราะห์โลกของมนุษย์ เรามีความสามารถในการมองเห็นโลกที่แตกต่างหลากหลาย และหากทบทวนประวัติศาสตร์ในแต่ละวัฒนธรรม แนวคิดและการปฏิบัติเรื่องการเติบโต/ความเป็นผู้ใหญ่ก็ยิ่งแตกต่างกันไป วัยรุ่นในหมู่เกาะซามัวกับวัยรุ่นในสังคมตะวันตกมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่างกัน มนุษย์อายุ 10 ในยุคสงครามโลกกับมนุษย์อายุ 10 ปีในโลกปัจจุบันล้วนถูกมองต่างกันสิ้นเชิง 

    จุดเปลี่ยนของการเติบโต คือ แนวคิดที่เกิดขึ้นมาในยุค enlightenment มนุษย์เริ่มตระหนักรู้ได้แล้วว่าตนเองมีศักยภาพในการทำอะไรได้บ้าง เราเริ่มรับรู้ถึงขีดความสามารถในการเปลี่ยนแปลงและควบคุมของมนุษย์ เราเริ่มคิดพิจารณาถึงความเป็นเหตุเป็นผลของโลกด้วยการตั้งคำถามว่า "ทำไม"

    มนุษย์เริ่มมองเห็นช่องว่างระหว่าง สิ่งที่เป็น กับ สิ่งที่พึงเป็น ในสังคม

    และการมองเห็นช่องว่างนี้นั่นเอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการมองว่า การเติบโตเป็นเสมือนประกายไฟที่กำลังมอดไหม้ด้วยความจำนน

    การรับรู้ถึงช่องว่างนี้ ทำให้มนุษย์ขวนขวายหาหนทางในการขจัดความต่างนั้นออกไป เราเริ่มออกแบบระบบการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้ไปยังจุดที่พึงเป็นในอุดมคตินั้น เราสร้างกฏเกณฑ์ประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ มากรอบทับวิถีการดำเนินชีวิต เราทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "วัยเด็ก" ขึ้นมาก็เมื่อตอนนั้นเอง


    - วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น -

    ปีเตอร์ แพน ไม่มีวันโตเป็นผู้ใหญ่ เราเองที่เคยเพลิดเพลินกับการ์ตูนปีเตอร์ แพน ปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ที่นั่งมองหลาน ๆ หรือลูกตัวน้อยดูการ์ตูนเรื่องเดิมด้วยแววตาเป็นประกายกับเนเวอร์แลนด์ เป็นเราเองที่ไม่ตื่นตาตื่นใจอีกต่อไป 

    เราเลิกตื่นเต้นประหลาดใจไปตั้งแต่เมื่อไหร่หนอ?

    ในวัยทารก โลกเต็มไปด้วยความพิศวง ทารกนอนมองพัดลมเพดานด้วยความสนใจ ทารกคว้าพวงกุจแจไปสำรวจราวกับมันเป็นสิ่งประดิษฐ์แสนมหัศจรรย์ ทารกกวาดตามองสำรวจทุกสิ่งอย่างไร้อคติ และจะร้องไห้เมื่อหิวหรือไม่สบายตัว ไม่ใช่เพราะความไม่ยุติธรรม

    ในวัยเด็กเราเริ่มเรียนรู้แล้วว่า มีคำถามบางอย่างที่ไม่สามารถตอบได้ พอเด็ก ๆ เริ่มพูดจาก็จะถามคำถามเรื่อยไปต้อนให้พ่อแม่จนมุม เด็ก ๆ สงสัยในทุก ๆ อย่างเพราะสายตาของเด็กมองโลกด้วยความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ทำไมพระอาทิตย์ถึงขึ้น? ทำไมใบไม้จึงตกลงมา? คำถามสารพันในวัยเด็กจะนำไปสู่การเรียนรู้ว่า "โลกดำเนินไปเช่นนี้เอง"

    เมื่อนั้นเองที่วัยรุ่นเข้ามาแทนที่ ภายใต้ชนชั้นและระบอบการศึกษาที่เราไม่ได้เป็นคนเลือก วัยรุ่นได้พบเจอกับโลกที่ไม่ได้ดำเนินไปตามที่มันควรเป็น วัยรุ่นจะเริ่มโกรธเคืองเมื่อพบว่าตนเองมีไม่เท่าคนอื่น เศร้าเสียใจเมื่อครูต่อว่าเขาแต่ชื่นชมคนอื่น มันเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในสังคม แล้วเราก็ไม่ได้หลั่งน้ำตาให้กับความหิวหรือไม่สบายตัวอีกต่อไป เราเจ็บปวดร่ำไห้กับความอยุติธรรมและช่องว่างที่ถ่างกว้างสุดตาระหว่าง สิ่งที่เป็น กับ สิ่งที่พึงเป็น ต่างหาก

    แล้วเราก็เลิกตื่นตาตื่นใจกับทุกอย่าง เราเริ่มยอมรับและเฉยเมยต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น
    นี่หรือคือการเติบโตที่เราคาดหวังถึง?

    ปีเตอร์ แพน ไม่มีวันโตเป็นผู้ใหญ่ เพราะปีเตอร์ แพน ไม่เคยหยุดตื่นเต้นกับความเป็นไปของโลก เขายังคงตระหนกตกใจทุกครั้งที่ความอยุติธรรมมาถึงตัว


    - โตเป็นผู้ใหญ่ - 

    หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ยุยงให้เราลุกขึ้นมาทำการปฏิวัติหรือประท้วงเรียกร้องหาความยุติธรรม การโตเป็นผู้ใหญ่มีมากกว่านั้น 

    "การเติบโตคือเรื่องของการรักษาสมดุลระหว่าง สิ่งที่เป็น กับ สิ่งที่พึงเป็น 
    มันจึงเป็นสถานะที่ไม่แน่นอนมั่นคง สองอย่างนี้จะแข่งกันอยู่เสมอ
    การเติบโตจึงไม่ใช่งานที่จะสำเร็จลุล่วงลงได้" 
    (p.119)

    การโตเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เพียงการยอมรับว่าโลกไม่เป็นไปตามที่ตนคิดและดำเนินชีวิตเรื่อยไปอย่างเฉยเมยต่อทุกสิ่ง นี่เป็นการเติบโตจอมปลอม เป็นสภาวะที่ไม่รู้จักโต เมื่อใดที่เราหยุดอยู่กับที่ เมื่อใดที่เราคิดว่าเราโตแล้ว พอแล้ว รู้มากแล้ว ทำอะไรต่อไม่ได้แล้ว นี่คือการที่เราไม่ยอมเติบโตอย่างแท้จริง

    ประสบการณ์ของกระบวนการเติบโตนั้นไม่เคยหยุดนิ่ง  3 สิ่งหลักที่อยู่ใจกลางนั้น คือ การศึกษา การเดินทาง และการทำงาน หากเรายังใส่ใจกับสามสิ่งนี้ และให้ความสำคัญกับมันมากเพียงพอ เราจะยังเติบโตขึ้นไปได้อีกมาก เราจะสามารถทั้งทลายกรอบออกสู่ด้านนอกและก้าวเข้าสู่ด้านในจิตใจของเราไปได้พร้อม ๆ กัน 

    เรายังยิ่งค้นพบวิธีการรักษาสมดุลระหว่างสิ่งที่เป็นกับสิ่งที่พึงเป็นในแบบฉบับของตัวเราเอง ที่จะไม่ทำให้เราหดหู่ใจที่กลายเป็นเป็นผู้ใหญ่ และมากยิ่งไปกว่านั้น เราอาจสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดช่องว่างเพื่อมุ่งสู่สิ่งที่พึงเป็นก็อาจจะเป็นได้


    - ทำไมต้องเติบโต -

    เพราะแท้จริงแล้ว การเติบโตยากกว่าที่คิด ยากมากเสียจนกลายเป็นการต่อต้านตัวเอง

    "วิธีการที่เราถูกกักอยู่ในสภาวะไม่รู้จักโตนั้นแนบเนียนและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา เราถูกล้อมด้วยความคิดหลาย ๆ แบบผสมกัน ครึ่งหนึ่งคือการกระตุ้นให้เราจริงจัง หยุดฝัน และยอมรับโลกอย่างที่มันเป็น สร้างภาพของความเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องยอมรับสภาพความเป็นอยู่ อีกครึ่งหนึ่งกระหน่ำเราด้วยสินค้าและคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้เรายังเป็นเด็กอยู่เสมอ" 
    (p.165)

    ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่า แนวคิดการเติบโตหรือการโตเป็นผู้ใหญ่ที่อบอวนอยู่ในสังคมปัจจุบันนั้น ไม่ใช่แนวคิดการเติบโตที่แท้จริง การเติบโตไม่ใช่ความเจ็บปวด ไม่ใช่เรื่องที่น่าหวาดกลัวหรือการมอดดับ ภาพลวงตาที่เราเห็นนั้นคือสภาวะไม่รู้จักโตต่างหาก

    "ถ้าคุณไม่หลงทางไปก่อน ชีวิตจะยังทำให้คุณประหลาดใจอยู่
    แต่คุณต้องเรียนรู้ที่จะไว้วางใจการตอบสนองของตัวเองต่อชีวิตด้วย" 
    (p.172)

    ใช่ การเติบโต คือ การไว้วางใจการตอบสนองของตัวเองต่อชีวิต นั่นเอง 

    ผู้ที่เติบโต คือผู้ที่พิศวงกับคลื่นลมและพายุพัดกระหน่ำในมหาสมุทร แต่ก็มองเห็นความสวยงามของมัน
    ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะไว้วางใจในความสามารถทั้งหมดที่ตนมี เพื่อให้เรือของตนยังเดินหน้าสู่เส้นทางที่เราตั้งใจไว้ได้อย่างสมดุลย์


    Why grow up?
    writer: Susan Neiman
    translator: โตมร ศุขปรีชา
    Salt publishing

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in