เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Friendly WindMister Tok
[รีแคปงานเสวนา] Home Studio ไม่อยากจะโม้…ว่าง่ายนิดเดียว โดย เชษฐพัฒน์ จวบสมัย



  • ผมเองได้เขียนบทความความรู้เกี่ยวกับ Home Studio ในเชิงประวัติศาสตร์ว่า ในไทยเริ่มจากใคร (ซึ่งอ่านได้จากตรงนี้ครับ) คราวนี้มาอ่านความรู้เชิงปฏิบัติกัน

    การบันทึกความรู้ครั้งนี้ มาจากงานเสวนาออนไลน์ที่ชื่อ "ดนตรียุคดิจิตอล ศิลปินไวรัลทั่วเมือง“ ซึ่งสาขาธุรกิจดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้จัดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 ซึ่งก็จะมีเรื่องการโปรโมทงานเพลงออนไลน์ การขายงานเพลงทาง NFT และก็เรื่องนี้ครับ "การทำ Home Studio แบบเบื้องต้น"

    เอาภาพโปรโมทเสวนามายืนยันว่าเสวนานี้มีจริง ไม่มโนเอง (ที่มา Facebook: MSBU Project)

    โดยคนที่ให้ความรู้เรื่องนี้ก็คือ พี่พัฒน์-เชษฐพัฒน์ จวบสมัย มือกลองวง Scarlette ที่คอเพลงหนังแปลงร่างและหนัังการ์ตูนญี่ปุ่นน่าจะคุ้นเคยดี เพราะวงนี้มีผลงานเด่นเรื่องการ Cover เพลงต้นฉบับมาเป็นภาษาไทยครับ (ถ้าสมัยก่อนจะเป็นแบบ "เพลงดังหนังเด็ก" ของห้องอัดเสียงทอง)
    นอกจากนี้ พี่เขายังเป็นคนทำเพลง (แต่งเพลง เรียบเรียง มิกซ์มาสเตอร์ และควบคุมการผลิต) รุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง การันตีด้วยผลงานเบื้องหลังกับวงไอดอลไทยอย่าง AKIRA-KURØ ShiningStars หรือ Habita Land 
    และงานล่าสุดของเขาสด ๆ ร้อน ๆ กับการเป็น Tracking Engineer (ช่างเสียงที่ดูแลการอัดเสียงดนตรีแต่ละแทรกแต่ละชิ้น) ในเพลง "อย่าฝืน​ | It’s ok​" ของ tinn ที่ปล่อยออกมาเมื่อวานนี้ (21 ตุลาคม) ที่สำคัญ เขาเป็นเจ้าของห้องอัด Piair's Studio อีกด้วย

    ผมเองจะไม่สืบค้นว่าพี่คนนี้เป็นลูกเต้าเหล่าใคร (เหมือนที่เคยลอกประวัติบุคคลสำคัญด้านนาฏศิลป์ไทยลงสมุดสมัย ม.6) ยกเว้นแต่เพียงสำเร็จการศึกษาจากสาขาดนตรีสมัยนิยม วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเขียนแค่นี้นะ และผมเชื่อว่า เนื้อหาจากการเสวนาไม่เกินครึ่งชั่วโมงของเขา น่าจะมีประโยชน์ต่อใคร ๆ ที่อยากทำเพลงของตัวเอง โดยงดเว้นการเช่าห้องอัดที่อื่นซึ่งมีต้นทุนไม่มากก็น้อย และที่สำคัญ "ทำเองได้ที่บ้าน"

    -

    1. วิธีการทำงานของ
    วง Scarlette
    : เริ่มจากการคัดเลือกเพลงที่จะมานำเสนอก่อนเป็นอันดับแรก แล้วให้พี่โจ (ผู้จัดการวง) เป็นคนแปลเนื้อเพลงจากญี่ปุ่น/อังกฤษเป็นภาษาไทย จากนั้นทั้งวงก็จะตรวจคำในเนื้อว่า "ฟังแล้วโอเคไหม เข้าปากไหม" แล้วเริ่มทำดนตรีจากการอัดกลอง กีตาร์ เบส จัดเสียงซีเควนเซอร์ ไปเรื่อย ๆ จนจบ

    2. วิธีการทำงานเพลงทั่ว ๆ ไปของพี่พัฒน์
    2.1 วิธีคิดในการทำเพลง
    : วิธีคิดจะเริ่มต้นจากการบิ้วอารมณ์จากเพลงต้นแบบ (References) เพื่อสร้างเพลงใหม่ออกมา เลยเกิดคลังข้อมูลเพลง (Input) ขึ้นมาจากซาวด์เพลง และ/หรือ ทางคอร์ดนั้น ๆ

    2.2 วิธีการเลี่ยง "ก๊อปปี้"
    : ถ้าชอบโน้ตตัวไหน "ขอให้วิเคราะห์โน้ตนั้นของเพลงต้นแบบ แล้วทำในแบบของเรา" มิฉะนั้นจะนับเป็นการลอกเลียนผลงาน

    2.3 จำเป็นต้องรู้ทฤษฎีดนตรีหรือเปล่า (คำถามโลกแตกของการแต่งเพลงเลยเชียว)
    :ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ทฤษฎีดนตรีก็เป็นได้ แม้เพลงที่แต่งมาจะผิดทฤษฎี แต่ไม่แน่เพลงมีโอกาสที่จะดังได้ อย่างไรก็ดีการรู้ทฤษฎีดนตรีสามารถต่อยอดงานใหม่ได้ดีขึ้น แต่ไม่ต้องเข้าใจเชิงลึกก็เป็นได้

    2.4 ปัญหาระหว่างการทำเพลง
    :ปัญหาตอนทำเพลงจากวันแรกจนวันนี้คือ “ไม่รู้จะทำยังไง ได้ไอเดียมาแล้วไงต่อ" เนื้อทำนองเครื่องดนตรีเอาไง ต่างคนต่างแก้ปัญหายังไง สุดท้ายจ้างเพื่อนมาช่วยมิกซ์มาสเตอร์อัดเสียง กล่าวคือช่วงแรกปรึกษาเพื่อนและช่วยงานให้ 

    2.5 แรงจูงใจในการทำงาน
    : มีเดดไลน์เป็นแรงกระตุ้น กล่าวคือ 1-3 วันงานเสร็จ บางงานมีเดดไลน์ 3 เดือน แต่ขอเดโม่คืนเดียวก็มีมาแล้ว

    3. วิธีการทำ Home Studio แบบเบื้องต้น
    3.1 Way To Start
    : ขอแค่มีใจอยากทำ ก็สามารถทำได้ เริ่มจากการอัดเสียงดนตรีจากมือถือเครื่องเดียวหรือเครื่องอัดเสียงก็ได้ โดยพี่พัฒน์ทำแบบนี้ในช่วงแรก ๆ เลย กล่าวคือ อัดกีตาร์ เบส กลอง ทีละแทรกด้วยมือถือ

    3.2 ควรเล่นดนตรีอะไรเป็นบ้าง (นี่ก็คำถามโลกแตก)
    : ควรสังเกตตัวเองว่าถนัดเล่นเครื่องดนตรีอะไร (กีตาร์ คีย์บอร์ด หรือเครื่องเป่าเครื่องสายวงใหญ่) บางทีไม่จำเป็นต้องเล่นดนตรีได้ก็ทำเพลงได้ อย่างการซื้อบีทมาแต่งเพลงฮิปฮอปเป็นต้น

    3.3 โปรแกรมทำเพลงสำหรับมือใหม่ถอดด้ามมีอะไรบ้าง
    : ถ้าสายตระกูล "ไอ" คือ IPhone IPad ให้ใช้ Garageband ไปเลย ถ้าเป็นมือถือแอนดรอยด์ก็ใช้ Bandlab ได้เช่นกัน กลับกันถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ของ Mac ขอให้ใช้ Pro Tools หรือถ้าเป็น Windows และตัวเองเป็นมือใหม่ ขอให้ใช้ Studio One Cubase FL Studio โดยฟังก์ชั่นการทำงานขึ้นอยู่กับรุ่นและราคานั้น ๆ ยิ่งแพงออปชั่นยิ่งสูง และที่สำคัญ  “ต้องใช้โปรแกรมลิขสิทธิ์แท้นะ ตักแครกตัวเถื่อนไม่เอา”

    3.4 ต้องมีอุปกรณ์ทำเพลงแบบไหนงานออกมาถึงออกมาดี
    อุปกรณ์ต่าง ๆ (ไม่ว่าจะเป็นซาวด์การ์ด ไมโครโฟน คีย์บอร์ดใบ้ หรือแม้กระทั่งเครื่องดนตรีต่าง ๆ) ไม่สำคัญอะไรมากมายในการทำงานจริง ๆ จนไปถึงการจบงานนั้น ๆ โดยคำว่า “ของมันต้องมี” มันแทงใจว่า "เขาไม่มีไอ้นั่นเหมือนเราก็ทำงานได้ดีกว่าเลย"
    หากนึกประโยคข้างต้นไม่ออก ยกตัวอย่างก็ได้ครับ สมมุติว่าน้องเก๋  (นามสมมุติ) ทำเพลงตัวเองสักเพลง มีกีตาร์โปร่งจากเวียดนามตัวละไม่ถึงพัน ซาวด์การ์ดเครื่องละไม่ถึงพันที่ซื้อจากแอพสีฟ้า กับไมค์มือถือพอกะเทิน (แต่ไม่ถึงกับปุ่มกดเล่นเกมงูนะ ง่าย ๆ คือมือถือจอสัมผัสไร้ปุ่มโฮมนี่แหละ) ก็สามารถทำเพลงได้ดี เผลอ ๆ อาจดังกว่าน้องเอ๋ (นามสมมุติอีกแล้ว) ที่มีกีตาร์ตัวละแสนกว่า ซาวด์การ์ดกล่องแดง ไมค์อัดและคีย์บอร์ดใบ้แถมโปรแกรมทำเพลงแท้ ๆ ในกล่อง " ก็ เ ป็ น ไ ด้ "

    คำถามสุดท้ายแล้วนะ
    3.5 การทำเพลงแบบ Home Studio ควรคำนึงถึงอะไรเป็นพิเศษ
    : ตราบใดที่ทำเป็น Home Studio ทำให้ตัวเองชอบก่อนเป็นอันดับแรก คุณภาพเสียงค่อยตามมาทีหลัง (และไม่ใช่ปล่อยผ่าน) แต่ถ้าทำเป็นอาชีพจริง ๆ ขอให้คำนึงถึงลูกค้าด้วยนะว่างานนั้นมาสเตอร์เสียงแตกไหม ย่านเบสบวมไหม จึงต้องมีคนมาช่วยงานจริง ๆ

    -

    เป็นไงบ้างครับกับความรู้ของเขาคนนี้ น่าจะได้แนวทางในการทำเพลงด้วยตัวเองแบบจบงานด้วยตัวเอง สอดคล้องกับการทำงานแบบ Work From Home อีกด้วย ขอขอบคุณสาขาธุรกิจดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จัดงานเสวนาดี ๆ ครั้งนี้ครับ รวมถึงพี่พัฒน์สุดเท่ด้วย ขอบคุณจริง ๆ

    สัปดาห์หน้าคอยพบกับ "รีแคปงานเสวนา" เกี่ยวกับเส้นทางดนตรีของคนดนตรีของวันนี้ แต่ไม่บอกว่าเป็นใคร เดี๋ยวไม่ขลัง

    คอยติดตามกันนะครับ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in