เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Friendly WindMister Tok
รำพึงถึง "Omnivisions (ออมนิวิชั่น)" และปกเทปอัลบั้มทั้งหลายในไทย / ฉบับปรับปรุง


  • เขียนครั้งแรก -  12 กันยายน 2564

    เผยแพร่ครั้งแรก - 13 กันยายน 2564


    อัปเดตครั้งล่าสุด "กว่า" - 4 มกราคม 2567
    เรียบเรียงข้อมูลโดย : มิสเตอร์ ต๊ก (Mister Tok)


    ขอบคุณเป็นพิเศษ


    "น้อง James TNK." จากเพจ CrazyGroovy - เครซี่กรูฟวี่ ที่เอื้อเฟื้อภาพและข้อมูลหายากนี้ด้วยครับ(ถ้าอยากได้สาระดนตรีดี ๆ เพจนี้ยินดีต้อนรับเสมอ เพราะที่นี่ "คุยกัน สารพันเพลง")
    "พี่เต๋า Raidisa" ที่เอื้อเฟื้อภาพปกเทปชุดห้ามจอดควายและก้นบื้งครับ


    และขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง:

    "อ.สถิตย์ เลิศในเกียรติ" ที่ให้เกียรติตรวจทานข้อมูลในบทความนี้ครับผม ขอแสดงความนับถือเสมอมา


    -


    Notice and Disclaimer: บทความนี้ผมเองเขียนมาจากความทรงจำและฐานข้อมูลที่ผมมีอยู่ หากขาดตกบกพร่องประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

    นี่คือบทความเกี่ยวกับปกเทปเพลงไทยสมัยก่อนที่มีการอัปเดตเนื้อหาใหม่ในเดือนตุลาคมปีนี้ เนื่องจากผมได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาช่วงกลางเดือนนี้ ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ


    อะไรที่ทำให้เพลง ๆ หนึ่งล่ะ น่าสนใจ เอ็มวีก็ใช่ดนตรีก็ใช่ เสียงร้องก็ใช่ แต่จะมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เพลง ๆ นั้นมีความน่าสนใจ และจำภาพลักษณ์ได้ดีนั่นคือ “ปกอัลบั้มนี่เอง”


    งานศิลป์ในปกอัลบั้ม (หรือซิงเกิล) มีผลต่อภาพลักษณ์ศิลปินเอง และผู้ที่ซื้อเพลงมาฟัง กล่าวคือ ผู้ฟังได้จำภาพลักษณ์และดนตรีโดยร่วมได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดเป็นความประทับใจครั้งแรกระหว่างคนฟังเพลงกับศิลปินคนนั้น ๆ ได้  (เทคนิคสร้างปกอัลบั้มให้ศิลปินโดยเปลี่ยนเสียงเพลงให้เป็นภาพเหนือจินตนาการ, ม.ป.ป.) ยกตัวอย่าง ปกอัลบั้มของพี่เต๋อ เรวัต ทั้ง 4 ชุด (1-2-3-ชอบก็บอกว่าชอบ) แสดงถึงเพลงที่มีเนื้อหาปรัชญาทั้งชีวิตและความรักในแนวคิด “พี่ชายใจดีมีหนวด” (อนึ่ง คนวาดลายเส้นจมูกและหนวดพี่เต๋ออันเป็นเอกลักษณ์คือ อ๊อด-กิตติศักดิ์ ช่วงอรุณ ผู้บริหารแกรมมี่ตั้งแต่วันก่อตั้งจนวันนี้ / ข้อมูลจากนิตยสาร a day ฉบับที่ 148 เดือนธันวาคม 2555)


    ย้อนกลับไปในช่วงปี 2527 ช่วงที่วงการเพลงไทยเริ่มเฟื่องฟู มีบัณฑิตจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขานิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อว่า “สถิตย์ เลิศในเกียรติ” พร้อมกับเพื่อน ๆ เข้ามาพลิกโฉมการออกแบบปกอัลบั้ม จากเดิมที่ถ่ายเห็นตัวศิลปินกับงานแอร์บรัซในเวลานั้น มาเป็นการสื่อความหมายตามเพลงและศิลปิน กับผลงานประวัติศาสตร์ของวงคาราบาว “เมดอินไทยแลนด์”


    (https://th.wikipedia.org/wiki/เมด_อิน_ไทยแลนด์_(อัลบั้ม))

    ด้วยรูปลักษณ์ปกเทปและปกแผ่นเสียงรูปใบตอง ทำให้ภูมิปัญญาไทยได้แสดงเป็นตัวแทนความร่วมสมัยไปกับบทเพลงสร้างสรรค์สังคมทั้งอัลบั้มชุดนี้ (ในเวลานั้น) ของวงเขาควายได้กลมกลืน 


    พวกเขาคือ “Ommivisions (ออมนิวิชั่น)” ทีมออกแบบกราฟฟิกที่ได้แจ้งเกิดจากงานออกแบบครั้งแรกของพวกเขานี้แหละ


    แรกเริ่ม สถิตย์เป็นพนักงานออกแบบคนหนึ่งของบริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้งของ อากู๋-ไพบูลย์ ดำรงค์
    ชัยธรรม ในเวลาต่อมาอากู๋หันมาทำธุระกิจบันเทิงในชื่อ"แกรมมี่"(สิทธิ์ เสียงอดีต, 2559) ได้
    ออกแบบปกอัลบั้มดีๆให้ศิลปินฝั่งแกรมมี่ยุคแรกๆหลายชุด ก่อนจะได้รับงานออกแบบปกให้ทางฝั่ง
    นิธิทัศน์, รถไฟดนตรี (ฝ่ายศิลป์ที่นั่นตอนนั้นร่วมออกแบบกับทีมนี้ด้วย) ไนต์สปอต, ครีเอเทีย, คีตา
    แม้กระทั่งอาร์เอส หรือมิวสิคไลน์/ท็อปไลน์ไดมอนด์ (อยู่แล้ว) ก็ยังใช้บริการทีมนี้ถ่ายภาพ และ/หรือ
    ออกแบบปก (ยิ่งสองค่ายแรกที่กล่าวมานี่จะเป็นช่วงพีค ๆของทีมนี้ที่ได้ออกแบบอัลบั้มให้ ช่วง
    ประมาณปี 2529 - 2531 / ส่วนอาร์เอสใช้บริการทีมนี้ถ่ายภาพให้ครั้งแรกเมื่อปี 2532 กับอิทธิ พลาง
    กูร ชุดไปต่อไป)


    ยิ่งยุค 90s ทีมงานนี้ก็ยังทำ Digital Art ปกเทปให้ โดยที่เลย์เอาท์ปกเทป (เครดิตคน
    ทำเพลง เนื้อเพลงข้างใน) ฝ่ายศิลป์ของค่ายนั้นๆ ออกแบบเองได้

    -

    เส้นทางของ Omnivisions (อ่อนนุช 33, 2533)



    จุดเริ่มต้นของงานออกแบบปกอัลบั้มของคุณสถิตย์ เลิศในเกียรติ เริ่มต้นจากการออกแบบปกแผ่น
    เสียงชุด "ลูกทุ่งดิสโก้ ชุดที่ 1" ของวงแกรนด์เอ็กซ์ ซึ่งพัฒนาจากวิทยานิพนธ์ที่เป็นปกหนังสือรูปมือ
    จับดาว แล้วผู้จัดการวงดังกล่าวเกิดสนใจ จึงมาพบที่สวนแก้ว คณะมัณฑนศิลป์ เพื่อให้ทำปกแผ่น
    เสียงชุดดังกล่าว (ปกรูปแผ่นเสียงดำลอยเอียงๆ พื้นหลังสีเงินไล่โทน อักษรสีชมพูนีออน และเครดิต
    หลังปกเขียนว่า "แบบปก : สถิตย์") หลังจากนั้นเขาเองก็ได้ไปทำงานที่สิงคโปร์อยู่ร่วม 4 ปี โดยได้
    ออกแบบปกแผ่นเสียงของวงศิลปินชาวมาเลเซีย แล้วกลับมากรุงเทพฯ เปิดบริษัทของตนเอง

    และงานแจ้งเกิดทีมงานนี้ก็เกิดขึ้น คือปกแผ่นเสียง "เมด อิน ไทยแลนด์" ของคาราบาว ปี 2527 ซึ่งมา
    ในแนวคิดที่ว่า "การห่อของแบบไทย ๆ ด้วยการใช้ใบตองตามแม่ค้าเรือพายขายขนม ก็สามารถห่อ
    สินค้าร่วมสมัยอย่างแผ่นเสียงและเทปได้ และช่วงนั้นใกล้ปีใหม่ (เข้าปี 2528) เลยเอาตอกมาพันเป็น
    ริบบิ้นเหมือนห่อของขวัญทั่ว ๆ ไป" แม้ว่าเขาเองจะไม่เคยทราบข้อมูลเกี่ยวกับคาราบาวมาก่อน งาน
    นี้ทำให้มีงานออกแบบเข้า Omnivisions เรื่อยมา

    อนึ่ง ช่วงหลังของการทำงานของทีมงานนี้คือออกแบบ ถ่ายรูป ทำอาร์ตเวิร์คและส่งโรงพิมพ์ ไม่เกี่ยง
    ค่ายเพลงเลย ทำทุกค่าย



    (https://www.discogs.com/master/809138-คาราวาน-1985-8th-May)


    งานเด่น ๆ ช่วงแรก ๆ ของทีมงานนี้ เช่นปกอัลบั้ม 1985 ของวงคาราวาน ได้ออกแบบในแนวคิดที่ว่า "รอยสักคือศิลปะของคนชนชั้นกรรมาชีพ เช่นเดียวกันวงคาราวานที่บุกเบิกแนวเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมา รอยขีดตามผนังหินไม่เจ็บ แต่สักตามผิวหนังคนเจ็บแสบ เช่นเดียวกับเพลงที่เนื้อหาเข้มข้นของคาราวานเช่นกัน" โดยเขาเองเคารพวงพี่ใหญ่ของเพื่อชีวิตวงนี้ และงานปกลายสักด้านหลังก็เป็นเหมือนภาคต่อของคาราบาว เมด อิน ไทยแลนด์อีกด้วย


    (https://tewarumpa.lnwshop.com/product/169//เทป-มิติ-เก่าเก่า)


    ปกอัลบั้ม "เก่า เก่า" ของวงมิติ White Support ปี 2529 (เจ้าของเพลง "เธอสวมเสื้อเก่า ๆ เขาสวมเสื้อขาด ๆ" และเพลง "โง่อวดฉลาด / โง่ โง่ โง่ยังอวดฉลาด ฉลาดแต่เรื่องโง่ ๆ") ทางทีมงานได้ข้อมูลจากวงมาว่า "เก่าที่ว่าคือเก่าแบบใช้แล้ว (Used)" และออกแบบมาในแนวคิด "สังกะสีขึ้นรอยสนิมมาห่อแผ่นเสียง เหมือนที่เคยเอาใบตองห่อปกแผ่นเสียงในอัลบั้มในตำนานของวงเขาควาย" 


    (https://www.discogs.com/release/7495954-รอคเคสตรา-เปลยนทกวน-)


    ปกอัลบั้ม "เปลี่ยนทุกวัน" ของร็อกเคสตร้า ปี 2529 (ที่มีเพลงอย่าง "พระจันทร์สีส้ม" "ชอบอีกแล้ว" "คิดกันเอาเอง") เป็นเทคนิคเอาภาพถ่าย 4 ภาพ 4 ฟิล์มแต่ละชิ้นแยกจากกัน แล้วเอาไปรวมไว้ในฟิล์มสไลด์เดียว

    Note by ผู้เขียน: ไตเติลแทร็คของอัลบั้มนี้ "คนสี่ขา" ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเนื้อหาว่าด้วยพิษภัยของสุราที่เสกคนให้เมาเหมือนหมา (โดยเฉพาะท่อนก่อนโซโล่กลางเพลงที่ว่า "แหมเพื่อนกู งานฝรั่งมันก็มา มันเมาได้ทุกงานเลย!" ยิ่งทำให้เพลงนี้มีเนื้อหาชัดเจนมาก)


    การทำงานออกแบบ และ/หรือ ถ่ายภาพของทีมงานนี้ จะขึ้นอยู่กับค่ายเพลงนั้น ๆ ให้อะไรมา เช่น ศิลปินนั้นแต่งหน้าทำผมและมีเสื้อผ้าพร้อมแล้ว ก็อาจจะให้ถ่ายภาพอย่างเดียว แล้วให้ทางค่ายออกแบบปกเอง เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างค่ายเพลงและทีมออกแบบเอง


    ส่วนอัตราราคาในการทำโปรดักชั่นออกแบบในเวลานั้น (คือ ปี 2533) ถ้าถ่ายภาพอย่างเดียวตกอย่างต่ำ 10,000 บาท (ลุคต่าง ๆ ของตัวศิลปิน ค่ายต้องเตรียมมาเอง) แต่ถ้าทั้งออกแบบและถ่ายภาพให้ ราคาจะอยู่ในช่วง 20,000 - 25,000 บาท ถ้าเป็นงานของอาร์เอส จะถ่ายภาพอย่างเดียว แต่ถ้าเป็นนิธิทัศน์กับงานตระกูล "ซูเปอร์ฮิต - หยิบสิบ" ก็รับทำเช่นกัน โดยมีจุดขายชัดเจนกับแนวเพลงลูกทุ่งคลาสสิก การที่ถ่ายรูปแบบ Symbolic (เชิงสัญลักษณ์) อาจจะไม่เหมาะกับงานดังกล่าว


    -


    เมื่อมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องทุ่นแรง


    แรก ๆ ในกระบวนการออกแบบต้นฉบับเลย์เอาท์ปกอัลบั้มนั้น จะเขียนด้วยมือหรือสั่งตัวเรียงแล้วนำมาปะจับฉาก แต่ด้วยงานที่เร่งรีบ คุณสถิตย์จึงเอาเครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วยทำอาร์ตเวิร์กในอัลบั้มด้วย เพราะจะได้เห็นงานออกแบบในจอภาพ และเครื่องมือช่วยทำงานก็มีพร้อมครบครัน สามารถออกแบบโลโก้และตัวอักษรได้ อย่างตัวอักษรชื่ออัลบั้ม "แจ้ ที่สุดสุนทราภรณ์" ที่เป็นตัวอักษรสไตล์ยุคล่าอาณานิคมโบราณ ก็ออกแบบผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ (แทนที่จะเขียนด้วยมือและตัดฉลุอักษรซึ่งจะกินแรงกินเวลานานมาก)



    งานเด่นในยุคออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์นั้น ก็จะมีอัลบั้ม "ห้ามจอดควาย" ของคาราบาว เมื่อปี 2533 (ชุดที่มีเพลง "สัญญาหน้าฝน" เพลงเครื่องหมายการค้าของพี่เขียว คาราบาว) เป็นการเอาป้ายห้ามจอดที่มีอยู่เดิมแล้วมาใส่กราฟิกรูปควายลงไป ภายใต้แนวคิด "ควายอย่ามาจอด"


    (บน : ภาพร่างในคอมพิวเตอร์ / ล่าง : แบบที่วางขายจริง)


    นอกจากนี้ ปกอัลบั้มเพลงบรรเลงแซกโซโฟนของพี่แต๋ง-ภูษิต ไล้ทอง ที่ชื่อ "ลูกลิงในดวงใจ /
    Naughty Monkey In My Heart" ใช้เทคนิคถ่ายรูปกล่องซีดีเปล่า ๆ ไปก่อน แล้วซ้อนภาพถ่ายลงไป
    อีกทีนึง ในขณะเดียวกัน ทีมงานครีเอทีฟจากคีตาอยากให้ใช้ "ความเป็นลิง"เป็นลูกเล่นของปก
    อัลบั้มนี้
    ตอนแรกจะเอาลิงตัวเป็น ๆ มาถ่ายปก แต่ด้วยเห็นแก่สุขอนามัยที่ดี เลยเอาแซกโซโฟนมาเป็น
    ตัวแทนของลิง และให้พี่แต๋งป้อนกล้วยให้แซกโซโฟนแทน แค่เห็นชื่อ "ออมนิวิชั่น : ปก (Cover :
    Omnivisions ในภาษาอังกฤษเมื่อพลิกกลับด้านเหมือนเกมเปิดป้ายพลิกล็อค)'' ก็ไว้ใจได้ว่า ปก
    คุณภาพจริง ๆ


    และการใช้งานโปรแกรม Photoshop สำหรับทีมงานนี้ มีการใช้งานครั้งแรก ๆ ในปกเทปของอัสนี - วสันต์ ติ๊ก ชิโร่ และ นีโน่ เมทนี โดยแรกเริ่มเดิมทีนั้น จะใช้โปรแกรม PageMaker ในการเรียงพิมพ์สำหรับงาน Desktop Publishing (การเรียงพิมพ์ระบบตั้งโต๊ะ) และแต่งภาพด้วยโปรแกรม DigitalDarkRoom และ PhotoMac (โปรแกรมแรกนั้นมีลักษณะการใช้งานคล้าย Photoshop และเอาไว้แต่งรูปขาวดำ) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะใช้งานผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ Apple Macintosh (ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นรุ่นไหน แต่การใช้งาน Photoshop ตอนนั้นจะใช้ Macintosh II) (สถิตย์ เลิศในเกียรติ, 2551) 


    Note by ผู้เขียน:

    อนึ่ง โปรแกรม PageMaker แต่เดิมเป็นของบริษัทที่ชื่อ Aldus Corporation เปิดตัวเวอร์ชั่นแรกเมื่อเดือนมกราคม 2528 พัฒนาเรื่อยมาจนค่าย Adobe (ที่ชาวกราฟิกรู้จักดีทุกคน) ก็เข้าซื้อกิจการของ Aldus เมื่อปี 2537 โดยโปรแกรมเก่านี้พัฒนาจนถึงเวอร์ชั่นที่ 7.0 ปี 2544 (และ Adobe ก็ได้พัฒนาโปรแกรมเรียงพิมพ์รุ่นใหม่ของตัวเองในชื่อ InDesign เมื่อปี 2542 และพัฒนาจนถึงปัจจุบัน)  นอกจากนี้ บริษัท Aldus ยังมีโปรแกรมวาดภาพกราฟิกส์เวกเตอร์ (Vector Graphics) ที่ชื่อ FreeHand (โดยมีลักษณะการทำงานคล้าย ๆ Adobe Illustrator ในปัจจุบัน) ซึ่งโปรแกรมวาดรูปนี้จะสามารถใช้ร่วมกันกับ PageMaker ได้อีกด้วย (กล่าวคือ เราสามารถเอางานวาดใน FreeHand มาใส่ใน PageMaker เลย) (Fuller, 2021) 



    Macintosh II

    (https://apple-history.com/ii)


    (https://www.digicammuseum.de/gechichten/erfahrungsberichte/ebv-vor-1987/)


    -


    Aldus PageMaker โปรแกรมเรียงพิมพ์ที่เป็นเสาต้นแรก ๆ ของ Desktop Publishing

    (https://personal.garrettfuller.org/blog/2021/05/24/aldus-pagemaker-a-look-at-early-desktop-publishing/)



    (YouTube - Tech Perspectives)


    -


    Aldus FreeHand โปรแกรมวาดรูป "ยุคบุกเบิก" ที่สามารถใช้งานร่วมกับ PageMaker ได้

    (https://winworldpc.com/screenshot/9b05ce36-377a-11e9-8581-fa163e9022f0/26ad6064-377b-11e9-8581-fa163e9022f0)


    (https://www.macintoshrepository.org/2391-aldus-freehand)




    (YouTube - neconocone)



    -


    Omnivisions และปกเทปค่ายอื่น ๆ

    นอกเหนือจาก Omnivisions แล้ว ยังมีทีมงานที่ออกแบบปกเทปตามค่ายของตัวเอง ซึ่งออกแบบปกได้น่าสนใจมาก อย่างทีมงานฝ่ายศิลป์ของ RS ในยุคโลโก้ดำแดงจนถึงโลโก้ RS Pro สี่เหลี่ยมโค้งมน (และก็ RS Promotion Group ที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาว ๆ) ย่านโคลีเซียม ไม่ว่าจะเป็นสืบชัย บุญมั่น ณรงค์ศักดิ์ นาคพันธ์ ประภาส จันทาพูน จนไปถึงพี่เสือ-ธนพล อินทฤทธิ์ ที่แจ้งเกิดจากการออกแบบปกอัลบั้มชุด “เก็บรัก...มาฝากฝัน” ของวงปุยฝ้าย ต่อมาแต่งเพลง ”เก็บตะวัน” ให้อิทธิ พลางกูร (รวมถึงออกแบบปกเทปประวัติศาสตร์และโลโก้ประจำตัวของพี่อิท ในชื่อชุด “ให้ มัน แล้ว ไป”  กับเพลงร็อกที่จริง ๆ จัง ๆ ครั้งแรกของค่ายอาเฮีย) และฉายเดี่ยวกับ “ทีของเสือ” จนเป็นตำนาน




    บางปกบางอัลบั้ม...คนในวงการศิลปะขนานแท้มาร่วมออกแบบให้ (บางคนเป็นถึงศิลปินแห่งชาติในเวลาต่อมา) เช่น เด็กปั๊ม (ชาติ กอบจิตติ พันธุ์หมาบ้า ออกแบบ / ชุดนี้ดังมากจนสปอนเซอร์เข้าเป็นน้ำมันเครื่องเลยนะ) มาลีวัลย์และชรัส (เสื้อผ้าโดยไข่บูติค สมชาย แก้วทอง / สไตล์ลิสต์โดยพี่หมึก-โรจ ควันธรรม) หรือ ฤทธิพร อินสว่าง ชุดก้าวแรก และ มาโนช พุฒตาล ในทรรศนะของข้าพเจ้า เป็นผลงานออกแบบจากจิตรกรจากรั้วศิลปากร ประทีป คชบัว




    บางปกอัลบั้ม...เล่าถึงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนผ่านจากดนตรี 4 ค่ายใหญ่ (แกรมมี่ คีตา อาร์เอส และนิธิทัศน์) มาเป็นเพลงนอกกระแสอย่างจริงจังกับการมาของค่ายเบเกอรี่ นับตั้งแต่เสาต้นแรกชื่อ “เสริมสุขภาพ” ของโมเดิร์นด็อก ที่เป็นภาพตัดแปะแนวโบราณ ๆ ฝีมือออกแบบของ ทอม-วรุตม์ ปันยารชุน (ผลงานเด่นอีกชิ้นของเขาคือปก Rhythm & Boyd ที่เป็นการขูดภาพถ่ายเด็กขาวดำ) รวมไปถึงปกอัลบั้ม Two Eggs ของซีเปีย ที่ดึงนางแบบดังอย่าง คาร่า พลสิทธิ์ มาถือไข่สองฟอง และมีการติดโลโก้ “Parental Advisory” เป็นครั้งแรก ๆ ของไทย (เป็นผลงานออกแบบของ อนิรุทธ วัณณรถ)

    ที่สำคัญ จะมีจุดสังเกตถ้าใครมีเทปของค่ายขนมปัง เวลาสปอนเซอร์เข้านั้น จะไม่อยู่บนปกตรง ๆ เหมือนปกเทปทั่ว ๆ ไปในเวลาเดียวกัน แต่จะแทรกอยู่ในปกข้างในแทน เช่น อรอรีย์ชุดแรกเป็นนมเปรี้ยว โจอี้บอยชุด Joey Man เป็นหมากฝรั่ง Triumph Kingdom ชุดแรกที่เป็นโบ-จอยซ์ยืนบนพื้นหลังสีขาวและเป็นมุมสูงนิด ๆ ก็เป็นน้ำดื่ม


    หรือถ้าเป็นยุค 2000s เป็นต้นมา ก็จะเป็นทีมออกแบบอย่าง DUCTSTORE the design guru ผลงานเด่น ๆ ของกลุ่มนี้ก็มีอย่าง 2 Days Ago Kids ชุด Time Machine (กลับมาได้หรือเปล่า...) Friday ชุด Magic Moment หรือ Sqweez Animal ชุด อาจยังไม่สาย 


    และช่วงเวลาเดียวกัน ก็ได้มีผู้กำกับศิลป์รุ่นใหม่ที่มาประดับวงการงานศิลป์ตามปกอัลบั้มของวันนี้อย่าง เป๋ง-ชานนท์ ยอดหงษ์ หรีออ๊อด-สุพิชาน โรจน์วณิชย์ แน่นอน ทั้งสองคนไม่ได้ทำหน้าที่ออกแบบปกอย่างเดียว แต่ต้องออกแบบ “แพกเกจจิ้ง” ให้น่าสนใจในยุคที่การซื้อแผ่นเพลงกำลังเปลี่ยนผ่านจากวางขายตามร้านค้ามาเป็นยุคพรีออร์เดอร์


    ทีมงาน Ghost Fac (ที่ออกแบบปก TELEx TELEXs ปกดำ และไทยทศมิตรชุดแรกกับชุดเพื่อชีวิตกู) ก็เช่นกัน


    จากยุคเทปจนถึงสตรีมมิ่ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพหน้าปกเพลงคือสิ่งที่ดึงดูดใจให้คนได้ฟังเพลงข้างใน และแทรกอะไรที่เป็นได้มากกว่าภาพวาดเพียงอย่างเดียว (รวมถึงการฟังเพลงของคนในวันนี้ที่อาจจะดูฉาบฉวยเกินไป และไม่ประทับใจเท่าสมัยเด็กเทป) และงานศิลป์เหล่านั้นอาจมีแทรกแนวคิดจากบทเพลงในอัลบั้มหรือซิงเกิลนั้น ๆ และเจตนารมณ์ของศิลปินเอง


    ฉะนั้นแล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับ “ปกเพลง” ทุกครั้งที่ได้ฟังเพลงครับ


    ที่สำคัญ ขอขอบคุณทีมงาน Omnivisions ที่พัฒนาวงการศิลปะในปกอัลบั้มและนำร่องความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลป์ให้คนรุ่นหลังตามรอยครับ....ด้วยจิตคารวะ




    รายชื่อผลงานออกแบบปก และ/หรือ ถ่ายภาพ รวมถึง Digital Art ของทีมงาน Omnivisions บางส่วน “โดยไม่แยกค่าย” (เท่าที่ผมนึกออกและไปค้นมา) และนับเฉพาะที่มีเครดิตว่า "Omnivisions/สถิตย์ เลิศในเกียรติ/ออมนิวิชั่น" เท่านั้น เพื่อความชัดเจนของข้อมูลที่ค้นมา

    อัปเดตล่าสุด 13 ตุลาคม 2565


    - เมด อิน ไทยแลนด์, ห้ามจอดควาย, บัญญัติ 10 ประการ - คาราบาว

    - มายาแฟนตาซี - รอยัลสไปรท์ส

    - ฝันสีทอง (ปกพี่แจ้กับสมาชิกวงพลอยยืนหน้ารถยนต์), ที่สุดของแจ้, แสลงใจ, สัมผัสที่ 6, รักเธอคงกระพัน, สวัสดีบางกอก - ดนุพล แก้วกาญจน์

    - เก่า เก่า - มิติ (White Support)

    - รักไม่รู้จบ, รวมเพลงยอดนิยม ชุดพิเศษสุด 18 เพลงอมตะ - โอเวชั่น *ภาพประกอบสีฟ้า ๆ ชุดรักไม่รู้จบ เป็นฝีมือจิตรกรชื่อดัง อ.เกริกบุระ ยมนาค*

    - เปรี้ยว 2 (Cover เพลงสากล), รวมเพลงยอดนิยม (ชุดนี้มีเพลง Within You Remain และ Girl You Are My Love ภาคภาษาไทย) - ดอน สอนระเบียบ

    - เปลี่ยนทุกวัน - ร็อกเคสตร้า

    - คนดอยทำเอง, ขึ้นเหนือล่องใต้ - เดอะม้ง *ปกชุดนี้น่ารักมากครับ เป็นตุ๊กตาเด็กดอย ผลผลิตของพี่น้องพลางกูร (อุกฤษณ์ - อิทธิ)*

    - อุ๊ย - นกแล

    - จะหาใครเหมือนเธอ/นางพญากับคนป่า - สเตทเอ็กซ์เพรส *ปกที่เป็นภาพวาดผู้หญิงหันข้าง เป็นฝีมือของ อ.เกริกบุระ ยมนาค*

    - ครั้งนี้ของพี่กับน้อง - The Innocent *พี่สัน มือคีย์บอร์ดวงนี้ ต้องการปกที่สื่อถึงว่า “เพลงทุกเพลงในชุดนี้ต้องการความปราณีตละเมียดละไม” จนเป็นปกโครเซนต์ในตำนาน*

    - คนกินแดด - นิรนาม (เครดิตขึ้นชื่อของพี่สถิตย์ครับ)

    - เพ้อเจ้อ - โชคดี พักภู่

    - อยากจะรัก - ฟอร์เอฟเวอร์

    - 18 กะรัต พิเศษ *ภาพประกอบรูปเพชรกับนางฟ้า เป็นฝีมือของ อ.เกริกบุระ ยมนาค เช่นเคย*

    - แมกไม้และสายธาร, รวมเพลงรักยอดฮิต, Because I Love You, Together, ดอกไม้ของน้ำใจ - สาว สาว สาว

    - ด้วยใจรักจริง, จากกันมานาน, ห่างไกล (ปกขาวดำ ฟอนท์เรียว ๆ เอียง ๆ และเป็นปั๊มของคีตา)- เบิร์ดกะฮาร์ท

    - ฝัน...ฝันหวาน - ผุสชา โทณะวณิก

    - The Candle Lights Blues - Infinity

    - พ-วงเดือน - ณัฐ ยนตรรักษ์ 

    - แม่อุ๊ - สุเทพ ประยูรพิทักษ์

    - กับฉัน - มาลีวัลย์ เจมีน่า (ปกสีขาวที่มีเพลง "เก็บหัวใจ" / ส่วนปกสีส้ม ๆ ดำ ๆ เป็นฝีมือของทีมงาน GYA Studio ห้องภาพสายแฟชั่นยุค 80s)

    - ดอกไม้บานเจ้าเอย, แว๊บเดียว - XYZ

    - สายลมกับความรัก - ศิรินันท์ โรจนธรรม

    - อยากให้ความรัก (แก่คนทั้งโลก) - แกรนด์เอ็กซ์

    - ปิ๊ง ติ๊ก ติ๊ก ติ๊ก/อยากรักใครสักคน, From Me To You, Double Harmony - Crystal (Terry - Yolly)

    - Is It Over - กิตติคุณ เชียรสงศ์

    - หนุ่มคนนี้ชื่อ "เสกสรร" - เสกสรร ทองวัฒนา

    - ขอมีเพียงเธอ, มนุษย์หมาป่า - แซม ยุรนันท์

    - แด่...ที่รัก - วงเพื่อน

    - เพราะเราเข้าใจ - รวิวรรณ จินดา *เครดิตบนปกเทปนี่อ่านไปยิ้มไป เพราะเป็นความรู้สึกที่ขอบคุณคนเบื้องหลังได้อย่างประทับใจมาก*

    - เพียงดวงตาและรอยยิ้ม - พัชรา แวงวรรณ

    - ผักชีโรยหน้า, ฟักทอง, สับปะรด - อัสนี - วสันต์

    - บินไปดวงจันทร์ - ฟรีเบิร์ดส *หมี คาราบาว เคยอยู่วงนี้* 

    - ใคร ๆ ก็รู้, This Old Guitar #3 (มีเพลงใหม่เฉพาะชุดนี้ชื่อ Always แต่งโดย เด่น เดนเวอร์ นฤทธิ์ พันธุเมธา), ตัวแทน, เพื่อนที่แสนดี, This Old Guitar #4ความหมายใหม่จากความในใจ - ภูสมิง หน่อสวรรค์

    - ไม่มีน่้ำตา, บันทึกร็อค หน้า 3 - วงผู้หญิง

    - Mighty Queen *ตุ๊ก-วรัชยา พรหมสถิต พี่สาวพี่ต้อ-กุลวัฒน์ (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) อยู่วงนี้*--

    - Power Band ‘30 - พาวเวอร์แบนด์ *เพลงอายฟ้าดิน เวอร์ชั่นที่คุ้นเคย ดนตรีโดยพี่ปอนด์-ธนา ลวสุตครับ*

    - เขาคือนราธิป - นราธิป กาญจนวัฒน์

    - แกง - แอนนา โรจน์รุ่งฤกษ์ (ออกแบบร่วมกับ พิเศษ ไทยานันท์ เจ้าของผลงานปกอัลบั้ม "เอกเขนก" ของวงเฉลียง)

    - ปริศนา, ต่างกันที่กาลเวลา 2 - พิงค์แพนเตอร์

    - ได้เลย - ดิเรก อมาตยกุล

    - สิ่ง ดี ดี, บ้าน 4 ทะเล - หนุ่มเสก

    - พุ่มพวง ‘31 ภาค 2, พุ่มพวง ‘32 ชุด 1-2 - พุ่มพวง ดวงจันทร์-

    - ดาวสีม่วง, มดคันไฟ, รักต่างมิติ - หรั่ง ร็อกเคสตร้า *เครดิตปกชุดดาวสีม่วงนี้เป็นภาษาอังกฤษครับ*

    - อ๋อเหรอ - ธงชัย ประสงค์สันติ

    - แบกรักไปให้ - โอ ชัยรัตน์ เทียบเทียม

    - บอกมาเลยนะ - อลิศ คริสตัน

    - แหวกฟ้า...คว้าดาว - สมประสงค์ "นายตั้ม" สิงหวนวัฒน์

    สิ่งที่อยู่ในใจ - ฉัตรชัย เปล่งพานิช

    -  Everywhere's Music, วันนี้ดีจัง - บุปผา ธรรมบุตร

    - ไปต่อไป - อิทธิ พลางกูร

    - คนไม่เคย - เฟม

    - ใจสองดวง - พัณนิดา เศวะตาสัย

    - อัปปะยาดอง - จรรยา ปิยะวดี

    - คนอย่างเรา - ประวิทย์ Freebirds

    ไม่ได้มามือเปล่า - ปฐมพร ปฐมพร

    - ก้าวที่สอง, ไฟและน้ำแข็ง - ฤทธิพร อินสว่าง

    - ทำมือ - แอ๊ด คาราบาว

    - สาวโรงงาน (ชุดนี้มีเพลง "ยายแล่ม" ในตำนาน), สามเหลี่ยมทองคำ - คันไถ

    หัวใจใกล้กัน, Love Letters, เพราะขอบฟ้ากว้าง - สุชาติ ชวางกูร

    - คนพันธุ์ร็อก, เจ็บกว่านี้มีอีกไหม - ไฮร็อก

    - สุดยอด มนัส ปิติสานต์ - Tripop & Super Jazz (ไตรภพ สวันตรัจฉ์) 

    - แอบสนุกสนานกับความมุ่งมั่นของชีวิต, ขบวนการโป๊งโป๊งซึ่ง - สามโทน

    มะลิลาบราซิลเลื่ยน, ไม่อ้วนเอาเท่าไร - มะลิลา บราซิลเลี่ยน

    - เดินมา - เฮนรี่ ปรีชาพานิช (พี่แซ่ปั้นมากับมือเลยนะ)

    - หยก - ทัศนีย์ ชลหวรรณ (พี่แซ่ปั้นอีกแล้ว)

    - ปะการังไปไหน - ซูซู

    - กลับมาแล้ว - ดิอิมพอสซิเบิล

    - ลูกลิงในดวงใจ - ภูษิต ไล้ทอง *ปกนี้ 2 ภาษาครับ (ไทย-อังกฤษ) เมื่อพลิกอีกข้าง และเอาปกซีดีมาเป็นลูกเล่นด้วย*

    - เราคือลูกแก้ว, อารมณ์เนี๊ยะ - อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์

    - 9 เพลงพระราชนิพนธ์ ชุดแสงเทียน (รวมศิลปินคีตาปี 2533)

    - ขอเป็นพระเอก, นีโน่คัมแบ๊ก - นีโน่ เมทนี บุรณศิริ

    - เล็ดสะโก - สรพงศ์ ชาตรี

    - ลีลา - ปุ้ม อรวรรณ เย็นพูนสุข

    - วัคซีน - ภุชงค์ โยธาพิทักษ์

    จะร้อนหนาวเพียงใด จะใจดีเหมือนเดิม - จารุณี สุขสวัสดิ์

    - โช๊ะ ไชโย, เต็มเหนี่ยว, ยินดีต้อนรับ, รวมญาติ 1, ซ.ต.พ. - ติ๊ก ชิโร่ (พี่โต้ ชิริก มีส่วนร่วมออกแบบด้วย โดยเฉพาะชุดแรก พี่แอ๊ด-ไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย ออกแบบปกให้ และตอนนั้นเขาเองเรียนถาปัดจุฬา และฝึกงานที่ค่ายนิธิทัศน์)

    - พงษ์พัฒน์ ภาค 3 - พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

    - Jiggo - โก้ นฤเบศร์ จินปิ่นเพชร

    - ผู้ชายที่ไม่ธรรมดา - กิติกร เพ็ญโรจน์

    - อาบ ลม ห่ม ฟ้า - พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร

    เจ้าดอกทิชชู่ - เศก ศักดิ์สิทธิ์

    - อัศเจรีย์ - ไฮดรา *ปกเทปหลักที่เป็นรูปเจาะกระดาษเป็นฝีมือของพี่ตุ้ม สุขสมิทธิ์ ชื่นประสิทธิ์ ในเวลาต่อมาออกแบบปกเทป "ไข้ป้าง"*

    ความรักกับความทรงจำ - เดอะ ฮอทเปปเปอร์ คอรัส

    - ผลิใบ - ไหมไทย (วงออเครสตราของ อ.ดนู ฮันตระกูล)

    - ฟอร์มหล่นไม่ต้องเก็บ - ไฮแจ๊ค

    - YOU-4 - ยูโฟร์

    - รู้แล้วจะหนาว - ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี

    - มหัศจรรย์ - ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง

    - ข้ามเวลา 2 - เรนโบว์

    - หิน เหล็ก ไฟ - หิน เหล็ก ไฟ

    ร็อคตกมันช เอ ณ บางช้าง

    - ฉันทุกที - อั้น สหพล จุลวงศ์ (เจ้าของเสียงร้อง "หัวใจเธอมีหรือเปล่า" ของวง ฟอร์เอฟเวอร์)

    - NOOK - นุ๊ก สุทธิดา เกษมสันต์ ณ อยุธยา

    - ไร้กาลเวลา 1-2 - กำธร ศรวิจิตร

    - ต. กับ จ. - โป้ง วราวุธ บูรพาชยานนท์

    - เหนือกาลเวลา - คาไลโดสโคป

    - The Back Up (ชุดที่มีเพลง "ปั้นปึ่ง")

    บันทึกของเวลา 1-5 - ปุ้ม อรวรรณ เย็นพูนสุข

    - ทอม ตามหา เจอรี่ - ทอม อิศรา (สมัยเด็กมาก ๆ ก่อนจะมาดังในวันนี้)

    -  อยากบอกให้รู้ว่ารัก - กุ้ง ตวงสิทธิ์ เรียมจินดา


    “ยกมาเท่านี้ก่อนนะครับผม ง่าย ๆ คือ เป็นต้นแหละ”


    -


    -

    เอกสารอ้างอิง

    เทคนิคสร้างปกอัลบั้มให้ศิลปินโดยเปลี่ยนเสียงเพลงให้เป็นภาพเหนือจินตนาการ. (ม.ป.ป.).      

           https://number24.co.th/article/album-cover-design-tips.

    สถิตย์ เลิศในเกียรติ. (2551). ย้อนรอยประวัติศาสตร์ Photoshop ภาคเมืองไทย กับสถิตย์ เลิศในเกียรติ.

           MacStyle, 9. 74 - 77.


    สิทธิ์ เสียงอดีต. (3 สิงหาคม 2559). “ปก” ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปกแผ่นเสียง ปกเทป ปกซีดี...มีอิทธิพลต่อยอด

           ขาย เพิ่มเสน่ห์และอรรถรส. Facebook. 

           https://web.facebook.com/groups/605350699545632/posts/1107125456034818.


    อ่อนนุช 33. (2533). ภาพบนปกเทปเพลง. ลลนา, 413. 106 - 113


    Fuller, G. (2021). Aldus PageMaker: A look at early desktop publishing. https://personal.garrettfuller.org/blog/2021/05/24/aldus-pagemaker-a-look-at-early-desktop-publishing/.

Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in