เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
The Friendly WindMister Tok
แรกเมื่อมี Bedroom Studio / Home Studio ในสยาม : ชาว Bedroom Pop ควรอ่าน
  • นี่คือ The Friendly Wind รวมบทความดนตรีร่วมสมัยที่อ่านแล้วเพลินใจ เหมือนได้ตากสายลมเย็น ๆ ในอากาศที่เป็นใจบ้าง ไม่เป็นใจบ้าง อาจจะเล่าเรื่องต่าง ๆ นานา รีวิวอัลบั้มเพลงอะไรบ้าง ประมาณนี้

    และนี่คือบทความชิ้นแรกของผมกับซีรีย์ The Friendly Wind ครับ

    ช่วงนี้ที่โควิดอาละวาดไปทั่วโลก (เป็นหลายละรอกเลย) ทำให้คนทุกคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันไปอย่างสิ้นเชิง นับจากวันที่เขียนและลงบทความนี้ ทุกคนต่างรอฉีดวัคซีนบ้าง อยู่บ้านบ้างเป็นดาวติ๊กตอกอะไรบ้าง รวมไปถึงเหล่าคนดนตรีส่วนใหญ่ที่ต่างไม่มีงานและต้องทำอาชีพเสริมเพื่อเลี้ยงชีวิตรอด ในขณะเดียวกันคนดนตรีบางส่วนหันมาทำเพลงเองในบ้าน แทนที่จะจองสตูดิโอบันทึกเสียงนอกบ้านเหมือนแต่ก่อน เพื่อการประหยัดค่าใช้จ่าย และได้งานเพลงตามความต้องการของตัวเอง


    ที่เมืองนอก เขานิยมทำเพลงแนว Bedroom Pop / Lo-fi (ไม่ใช่ Low-file แบบน้าเบื้อก ขุนสมานนะ ไม่ได้จะดิสเครดิตแกเลยนะ / มันย่อมาจาก low-fidelity ต่างหากเล่า แปลว่า “การอัดเสียงด้วยระบบคุณภาพต่ำ” นั่นแหละ) แนวเพลงแบบ DIY Music ที่เริ่มงานที่ห้องนอนแล้วก็จบในห้องนอนที่บ้านตัวเอง ซึ่งแนวเพลงดังกล่าวตอบโจทย์คนกลุ่ม Gen Z (คนที่เกิดปี 2540 - 2555) เป็นอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีการทำเพลงได้ย่อจากห้องบันทึกเสียงใหญ่ ๆ มาสู่ที่บ้าน (โดยเฉพาะห้องนอน) ขอแค่มีเครื่องดนตรีกี่ชนิดก็ได้ มือถือหรือคอมพิวเตอร์สักเครื่อง ซาวด์การ์ด หูฟังมอนิเตอร์ และซอฟท์แวร์ทำเพลงเท่าที่มี (อย่าง Garageband ไปจนถึง FL Studio หรือโปรแกรมอะไรก็ได้ตามถนัดเลย) ก็สามารถสร้างบทเพลงของตัวเองได้แล้ว


    แนวเพลงดังกล่าวเริ่มบูมในช่วงปี 2562 แล้วพอทุกคนบนโลกต่างอยู่สภาวะที่ต้องกักตัวอยู่บ้านเมื่อปีที่แล้ว (2563) แนวเพลงนี้ก็ได้รับความนิยมเข้าไปอีก เนื่องจากมีเพลงแนวนี้ลงสตรีมมิ่งอย่าง Spotify ให้คนฟังเพลงได้เลือกสรรกัน เนื่องจากทางแอปเองต้องการเลือกเพลงฟังสบาย ๆ ให้คนฟังนั่นแหละ (Yong Le Man, 2020) ไม่ว่าคุณจะทำแนวเพลงไหน ป๊อป ร็อก ฮิปฮอป อาร์แอนด์บี หรือสัปเพเหระ ขอแค่ผสมผสานกันกับแนว Lo-fi ก็ได้ความ Bedroom Pop ไปเกินครึ่งแล้ว (Priewpan Saenlawan, 2020)


    สตูดิโอส่วนตัวของ Girl In Red (บน) Fenneas (กลาง) และ Cavetown (ล่าง)

    ที่ต่างสร้างงานเพลงจากห้องนอนในบ้านตัวเอง

    แหล่งที่มา: https://diymag.com/2021/01/21/girl-in-red-debut-album-2021-interview

    https://www.soundonsound.com/people/billie-eilish

    https://www.youtube.com/watch?v=2RKqIaCdQp8&t=191s


    ส่วนศิลปินที่มาเขย่าวงการเพลงแนวนี้มีหลายคนนะ อย่างน้อง Billie Eilish กับเพลง Bad Guy (ที่เธอทำเพลงนี้กับพี่ชายเธอ Finneas ในห้องนอนของสองพี่น้องนี้) จนได้รางวัลเพลงแห่งปีเวทีแกรมมี่ และกลายเป็นไอคอนดนตรีของวันนี้ (Roos, 2020) รวมถึงวงอินดี้อย่าง Boy Palbo แม้กระทั่งหนุ่มสาวชาวป๊อปห้องนอนอย่าง mxmtoon Girl in Red Clairo หรือ Cavetown (สองคนหลังนี่เกิดปีเดียวกันกับผู้เขียนเลยนะ)


    นี่คือเรื่องราวคร่าว ๆ ของ Bedroom Pop แนวเพลงของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก


    ตัดภาพที่ประเทศไทย ศิลปินไทยเริ่มทำแนวเพลงนี้อยู่บ้าง บางรายเริ่มแมสอย่างคุณ Hinano กับวันพรุ่งนี้ฉันจะมีอายุครบ 22 (เกิดปีเดียวกันกับผมอีกแล้ว) หรือน้อง SAMMii ที่อยู่ในปราสาทวังวนกับดอกทานตะวัน กลับกันที่บางรายและน่าจะเป็นส่วนใหญ่ มักเป็นคลื่นใต้น้ำในแอปฟังเพลงออนไลน์สีเหลือง ชื่อขึ้นต้นด้วย “ฟัง” และลงท้ายด้วย “ใจ” ... ผมเอง (มิสเตอร์ ต๊ก) คือหนึ่งในนั้นครับ


    สำหรับตอนแรกของซีรีย์นี้ จะเป็นการเล่าถึงความเป็นมาของ Bedroom studio / Home studio ในประเทศไทย ว่าเริ่มต้นจากใคร และการทำห้องอัดแบบนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง


    ถ้าพร้อมแล้ว จับตาดูทุกตัวอักษรให้ดีนะ


    เหตุเกิดเมื่อปลายยุค 70s


    “ยูจะเล่นเพลงฝรั่งทำไม มันไม่มีทางเกิดหรอก ที่อเมริกานักดนตรีเขามีห้องอัดส่วนตัวที่บ้าน และแต่งเพลงเองร้องเองกันหมดแล้ว ”


    นี่คือเสียงพูดของชายคนหนึ่งที่ชื่อ จอมณรงค์ วรบุตร เขาคือคนสร้างห้องอัดศรีสยาม ห้องอัด 24 แทรกที่ล้ำสมัยที่สุดในเวลานั้น และเรียนจบสาขาการบันทึกเสียงจากอเมริกา โดยเขาบอกกับชายคนหนึ่งที่ชื่อ... นุภาพ สวันตรัจฉ์ (นามสกุลของเขา อ่านว่า สะ-หวัน-ตะ-หรัด)


    นุภาพ สวันตรัจฉ์ กับ Bedroom Studio ของเขาเอง


    เขาคือคนโฆษณาจากลินตาส เคยเป็นนักเขียนนิยายภาพ และนักดนตรีกลางคืน


    ทันทีที่เขาได้ยินคำ ๆ นั้น เขาก็เริ่มหาอุปกรณ์บันทึกเสียงอย่างเครื่องอัด 4 แทรก (ไปจนถึง 8 แทรก และ 16 แทรก ในเวลาต่อมา) ใช้แผงไข่เป็นวัสดุซับเสียง และห้องนอนของเขาเป็นทำเลในการทำห้องอัด (สัจจะ ศรียุทธไกร, 2555)


    ในเวลานั้น เขาก็ไปเรียนดนตรีเพิ่มเติมกับ​อาจารย์พนัสชัย ศุภมิตร หรืออาจารย์โป๊บ และอาจารย์โกวิท นิลจันทร์ เรียนไปสักพักก็หยุดเรียนไป เพื่อที่จะทำเพลงของตัวเองอย่างเต็มที่

    ช่วงเวลานั้น กรุงเทพจะมีอายุครบ 200 ปี เขาเลยทำดนตรีแบบล้ำสมัย มีขับเสภา มีระนาด มีกีตาร์ เป็น World Music มาก่อนกาล จนกระทั่งเรื่องนี้ไปถึงหูไชยยงค์ นนทสุต ผู้จัดการบริษัทไนต์สปอต (ผู้นำด้านธุรกิจรายการวิทยุและผู้บุกเบิกคอนเสิร์ตศิลปินต่างประเทศในไทยในสมัยก่อน) โดยผู้จัดการคนนี้ชอบงานเดโม่นั่นแล้วจะไปเสนอขายเอง


    “เพลงบ้าอะไรวะ ฟังไม่รู้เรื่องเลย”


    นี่คือฟีดแบคของคุณไชยยงค์ แต่เขาเองก็ได้ปลอบใจชายคนนั้นว่า “ถ้ามีเพลงใหม่ ๆ เอามาให้ฟังเป็นคนแรกก่อนนะ”


    นุภาพเองได้ประสบการณ์ที่ลูกชายตัวเองจะเข้าเรียน ม.1 ต้องเสียค่าแป๊ะเจี๊ยะ จึงแต่งเพลง ๆ นี้ขี้นมา ในชื่อชุด “แป๊ะเจี๊ยะ” พร้อมชวนกิตติ “กีตาร์ปืน” กาญจนสถิตย์ มาอัดกีตาร์ในงานเดโม่ชิ้นใหม่นี้จนเดโมเทปแป๊ะเจี๊ยะก็เสร็จสมบูรณ์ แล้วก็เอาไปให้ไนต์สปอตฟังอีกครั้ง ซึ่งเวลานั้น ไนต์สปอตเริ่มเปิดค่ายเพลงแล้ว และนุภาพเองเป็นผู้จัดการฝ่ายโฆษณาที่ลินตาส ได้พักร้อน 4 อาทิตย์ (ktjclubs, 2555)


    พอได้ฟังเดโม่ตัวใหม่แล้ว คุณไชยยงค์ก็บอกว่า

    “เก็บพักร้อนไว้ก่อนนะ อย่างเพิ่งพัก เดี๋ยวผมจะเอางานชุดนี้ไปอัดเสียงที่อังกฤษ”

    “ทำไมต้องไปอัดที่อังกฤษล่ะ ห้องศรีสยามก็มี”

    “รายการเราเปิดแต่เพลงฝรั่ง ถ้าเสียงไม่ได้ เพลงยูตายตั้งแต่เกิดนะ”


    แล้วในที่สุดงานชุดนี้ก็ได้ส่งไปอัดเสียงที่อังกฤษ ห้องอัด Woodbine Street Recording Studios เมือง Leamington Spa นักดนตรีในห้องอัดต่างแสดงฝีมืออย่างเต็มที่และเป็นตัวของตัวเอง แม้ว่าช่วงหนึ่งนุภาพบอกให้มือกีตาร์รับจ้างชื่อ  Roger Cornish เล่นในแบบ Eric Clapton ปรากฏว่า Roger วางกีต้าร์ลงแล้วบอกให้นุภาพไปจ้าง Eric มาเล่นแทน (kilroy, 2008) แต่กระไรนั้น งานชุดนี้ก็สำเร็จได้ด้วยดี และวางแผงในปี 2527 โดยนุภาพเป็นศิลปินเบอร์ที่ 2 ของไนต์สปอตที่มาจับตลาดเพลงไทย ต่อจากปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล เจ้าของเพลงฮิต ไปทะเลกันดีกว่า


    (YouTube - Onpa Music)

    และปีต่อมา งาน Bedroom Studio ชุดแรก ๆ ของประเทศไทย อัลบั้ม “ศรัทธา” ของชัคกี้ ธัญญรัตน์ ก็ถือกำเนิดขึ้นที่บ้านของนุภาพเอง


    (YouTube - Undergroundemag)

    งานชุดนั้นเป็นแนวเพลงสไตล์เพื่อชีวิตติดร็อก (ฝรั่งเขาเรียกแนวเพลงนี้ว่า Heartland Rock) โดยได้น้าหงา คาราวาน มาแต่งเพลงตามนี้

    • คน คน (ไตเติลแทรกที่เนื้อร้องสั้น ๆ แต่กีตาร์ดุมาก)

    • ชาวกรุง’85 (เพลงนี้คือสไตล์ Mark Knopler เลย ร้องไปบ่นไป)

    • มาลี (เพลงนี้สะท้อนชีวิตผู้หญิงกลางคืนได้ดี)

    • รั้ว (ชนชั้นในสังคมจากจนถึงรวย)

    • เงาร้าย (กรรมชั่วเหมือนเงาร้ายตามตัว)

    ส่วนชัคกี้แต่งทำนองเอง แต่มีเพลงอื่นแซม ๆ อย่างเคยสัญญา (ปลายปากกา ปานศักดิ์ รังสิพราหมณกุล / หีบเพลงปากโดยน้าหว่อง คาราวาน) รักคุณเท่าฟ้า (น้าแอ๊ด คาราบาวเขียนให้ / แต่ยังถกเถียงว่าเวอร์ชั่นนี้กับเวอร์ชั่นประกอบการบินไทยอันไหนมาก่อนกัน) เดียวดาย สันติภาพ และ Listen to the Sound ปลายปากกาของนุภาพเอง (เพลงแรกเกี่ยวกับสัจธรรมชีวิตและการแสวงหาความสุขใส่ตัวเอง ท่ามกลางโลกที่วุ่นวาย สองเพลงหลังทำนองดนตรีเดียวกัน แต่เล่าถึงสันติภาพโลกจากเนื้อร้องไทยและอังกฤษ


    บรรยากาศการบันทึกเสียงชุด "ศรัทธา" ของชัคกี้ ธัญญารัตน์ ที่บ้านนุภาพ

    (คนเสื้อดำแขนกุด คือ อู๊ด ยานนาวา)


    ถ้าได้ฟังเพลงนี้ทั้งอัลบั้ม เพลงดีทั้งชุดนะ แต่ชัคกี้เองกลับเปิดเผยว่า “งานนี้เป็นงานทดลอง ยังไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ แต่จำเป็นต้องปล่อยออกมา” (Friday I’m In Rock, 2007) เพราะถ้าได้ฟังเสียงกลองดรัมแมชชีน ก็จะฟังดูแปลก ๆ กว่าเพลงอื่น ๆ ทั่วไปในเวลานั้น ซึ่งใช้กลอง LinnDrum กัน (โอกาสหน้าจะมาเขียนถึงดรัมแมชชีนที่เพลงไทยยุคนั้นนิยมใช้กันครับ)


    หลังจากจบจากงานชิ้นนั้น นุภาพมองว่าอุปกรณ์บันทึกเสียงมันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ และห้องอัดห้องนอนแห่งนี้ไม่เพียงพอต่อการทำเพลงในระดับที่สูงขึ้น


    จึงตัดสินใจคุยกับจอมณรงค์ คนเดิม มาทำห้องอัดจริงจังที่ทำเลเดิม และพัฒนามาเป็น Voice Studio ห้องอัด Home Studio 24 แทรก เทียบเท่าห้องชั้นนำในสมัยนั้นอย่างห้องอัดศรีสยาม และเป็นแหล่งกำเนิดงานเพลงหลาย ๆ ชุดในไทย


    ห้องอัด Voice Studio ที่พัฒนาจาก Bedroom Studio ของนุภาพเอง (ภาพปี 2555)
    (YouTube - ktjclubs)


    รายชื่องานเพลงบางส่วนที่บันทึกเสียงที่ Voice Studio
    - จาตุรงค์ จัยสิทธิ์ - รักนั้นแด่เธอ (2530)
    - บิ๊กโบ - ปฏิวัติความเครียด (2530)
    - แกรนด์เอ็กซ์ - ได้ไหม (2531)
    - กิตติ กาญจนสถิตย์ - สายธารแห่งขุนเขา (2532)
    - อลิศ คริสตัน - หุ่นไล่กา (2532)
    - ปฐมพร ปฐมพร - ไม่ได้มามือเปล่า (2532)


    และนี่คือประวัติย่อคร่าว ๆ ของ Bedroom Studio / Home Studio ในประเทศไทยครับ


    “ถ้าอยากทำเพลง ทำเลย อย่าแค่อยาก เพราะถ้าแค่อยาก มันไม่เกิด” - นุภาพ สวันตรัจฉ์


    เจอกันบทความหน้านะครับ


    See you next time
    Love, Mister Tok


    เอกสารอ้างอิง


    สัจจะ ศรียุทธไกร. (2555). Talk Box นุภาพ สวันตรัจฉ์. Overdrive. 14(168). 40-43


    Friday I'm In Rock. (2007, June 10). ชัคกี้ ธัญญรัตน์ ผู้ได้รับสมญานาม "กีตาร์เทพ".        
               https://fridayiaminrock.com/2007/06/10/chuckie/. 

    kilroy. (2008, April). นุภาพ สวันตรัจฉ์. http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=248047. 

    ktjclubs. (2012, June 26). คิดถึงจัง - นุภาพ สวันตรัจฉ์ 3 of 5. https://www.youtube.com/watch?

               v=ynawrNxU0o0. 


    Priewpan, S. (2020, April 13). Bedroom Pop: จากบทเพลงที่ผลิตในห้องนอนสู่กระแสหลักของโลก

              ดนตรียุคปัจจุบัน. https://www.wministry.com/bedroom-pop-จากบทเพลงที่ผลิตในห้/. 


    Roos, O. (2020, February 6). What's bedroom pop? How an online DIY movement created a 

              musical genre. https://www.nbcnews.com/pop-culture/music/what-s-bedroom-pop-

              how-online-diy-movement-created-musical-n1131926. 


    Yong, L. M. (2020). Music during COVID-19: New genres, and the future of the music. 

              https://www.buro247.sg/culture/music/music-during-covid-19-new-genres-and-the-

              future-of-music.html. 


    ปล. ขอขอบคุณคุณนุภาพ สวันตรัจฉ์ ที่อนุญาตเอื้อเฟื้อภาพ Bedroom Studio สมัยนั้นประกอบบทความครับ

    Follow me at
    Instagram: thisismistertok
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in