ห่างหายไปนานกว่าเกือบ 2เดือน เพราะผมเองต้องปั่นวิจัยน้อย ๆ ป.โท ใด ๆ คือเดดไลน์จี้หลังสุด ๆ จนในที่สุดก็จบเทอม 1 ไปด้วยความราบรื่น และเพิ่งเริ่มเทอม 2 แล้ว การรีแคปงานเสวนาครั้งนี้มาจากรุ่นใหญ่เลย "พี่กบ Big Ass" ที่เพิ่งออกผลงานล่าสุด "เรื่องโง่ขอให้บอก"
และหวังว่าการบันทึกความรู้เรื่องงานเสวนานี้น่าจะมีประโยชน์มาก ๆ สำหรับใครที่กำลังจะมีผลงานเพลงเป็นของตัวเองไม่มากก็น้อยเลย
-
1. The Early Years - ยุคแรกสุด
จุดเริ่มต้น
พี่กบ เริ่มต้นตั้งวงทำเพลงเองและเอาเดโม่ไปแสดงที่งาน Pirate Rock (เทียบเท่างานไทยในวันนี้ก็คืองาน Cat Expo) ที่มีกติกาว่า “ต้องทำเพลงของตัวเองจึงจะเล่นเวทีนี้ได้” และวิธีเขียนเนื้อของวงคือร้องเพลงภาษาฝรั่งมั่ว ๆ ไปก่อน แล้วสมาชิกในของวงบิ้ว “กบ เขียนเนื้อดิ เห็นว่าเอ็งชอบเขียนกลอนอ่านหนังสือได้” แล้วเดโม่งานนั้น กลายเป็นเดโม่แรกของวง Big Ass ที่จะไปนำเสนอค่ายเพลงต่าง ๆ
ทั้งวงเสนอไปยังค่ายเบเกอรี่และโซนี่มิวสิคในช่วงแรก ๆ แต่โดนปฏิเสธ (กล่าวคือ เปิดเพลงนึงกรออีกเพลงนึง แล้วก็ตีตก) แม้แต่แกรมมี่ก็เคยเอาไปเสนอด้วย แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่า “พบกันครึ่งทาง (คือค่ายทำให้ครึ่ง วงตัวเองทำครึ่ง”) เลยปฏิเสธไปก่อน ในที่สุดก็มาลงตัวที่มิวสิคบั๊กส์ ซึ่งไม่กรอเทปแม้แต่เพลงเดียว (อุตสาหกรรมเพลงในเวลานั้น ศิลปินเป็น Presenter ล้านตลับธรรมดาไป สองล้านเมื่อไหร่ค่อยโม้ และเต้อ ๆ อะไรนั่นไม่มีสิทธิ์ทำเพลงเองเลย มีคนทำเพลงให้พร้อมอยู่แล้ว)
การทำเพลงแบบเดโม่ร่างแรกในเวลานั้นของวงคือ อัดสุดเต็มที่ และไม่มีการวางโครงว่าเพลงช้ากี่เพลง ขึ้นอยู่กับค่าย เช่น ทางค่ายขอเพลงช้า 2 เพลง เพื่อเป็นการประนีประนอม ซึ่งงานชุดแรกสุดนั้น (Not Bad ปี 2540) เพลง “ทางผ่าน” คือเพลงที่ต่อลมหายใจให้วงนี้ในยุคแรกสุดแม้จะไม่ดังก็ตาม และเวลานั้น พี่กบออกจากงานไปรษณีย์แล้ว โดยค่าแต่งเพลงตอนนั้นคือ 5,000 บาท ช่วงที่แป๊กนั้น พ่อของพี่กบแกก็บิ้ว “ไปให้สุดทาง” เลยเป็นอย่างที่เรารู้จักกันจนวันนี้
ในเวลาเดียวกัน พี่กบไปของานพี่เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ (เจ้าของค่ายมิวสิคบั๊กส์) เพราะว่าไม่มีรายได้ จึงเริ่มเรียนแต่งเพลงกับแก ซึ่งตอนนั้นไม่มีหลักสูตรตายตัว แต่เป็นแบบ “แบบนี้จะดีกว่านะ”
จุดเปลี่ยน
เวลาเดียวกันนั้นเอง พี่เอกเป็นกรรมการ Hotwave Music Awards และชวนพี่กบไปดูงานด้วย เจอวงดนตรีสามคนสวมชุดลูกเสือ ไม่ได้แชมป์ แต่ ติด 1 ใน 10 และมีดนตรีสไตล์แขก ๆ เลยพาไปคุยกันในค่ายจนรับเข้าสังกัด
ตอนนั้นค่ายนี้อยู่ในสภาวะใกล้เจ๊ง เวลาทำเพลงทีมแต่งเพลงตอนนั้นคือพี่กบเอง พี่เหนือวงศ์ ต่ายประยูร และ อ.กวาง-กันตภพ พรหมสุนทรสกุล (คนแต่ง “คิดถึงเธอแทบใจจะขาด” ในตำนาน) เพียงสามคน และให้ทางวงแต่งเองเพลงนึง โดยวงนี้คือจะเป็นวงสุดท้ายและงานชิ้นสุดท้ายของค่ายก่อนปิดตัว (ตอนนั้นอยู่ในวิกฤตต้มยำกุ้ง)
แต่แล้ว งานชุดนั้นของวงดนตรีสามคนประสบความสำเร็จอย่างสูง และค่ายก็รอด พี่กบได้เงิน 100,000 บาท ไปกลับบ้านหาพ่อแม่ จากนั้นคือประวัติศาสตร์ของวงดนตรีที่เป็นขุมทองแรกสุดของค่ายแมลงดนตรีในชื่อชุด “นมสด” ของวงดนตรีที่ชื่อ… “ลาบานูน”
เมื่อชายจากแดนศิวิไลซ์ “ดัดนิสัย” กบตัวน้อยที่พองตัว
ช่วงที่ลาบานูนดัง พี่กบเหลิงจัดมาก คิดว่าสำเร็จแล้ว และพี่เอกมาเห็นอาการนั่นพอดี เลยดัดนิสัยโดยให้แกแต่งเพลงให้วง Girl (ในเวลาต่อมาคือ Instinct) เขียนแก้แล้วแก้อีกจนไม่ผ่านเลยสักเพลง จึงกลับมาทบทวนตัวเองว่า “พยายามน้อยไป”
ปัญหาในเวลานั้นคือ มองวงไม่ขาด คอนเทนต์น้อยไป และกลับไปปรับแนวทางการแต่งเพลง “ให้แต่งเพลงให้ทุกวัน”
2. Write with Kob (Feat. Clockwork Motionless) - มาแต่งเพลงกันเถอะ
การแต่งเพลงไทยมีกี่ประเภท
การแต่งเพลงไทยโดยทั่วไปมีอยู่ 3 แบบ ดังนี้
“เนื้อมาก่อนทำนอง” กลอนมาตั้งไว้แล้วใส่ทำนอง แต่โน้ตเพี้ยนไม่ลงตัว
“เพลงดิบ” เนื้อร้องมาพร้อมกับทำนอง เช่นเพลงของพี่เสก โลโซเป็นหลักใหญ่ และเพลง “ทางผ่าน” ของวงเอง
“ทำนองมาก่อนแล้วเขียนเนื้อ”
ซึ่งพี่กบใช้วิธีหลังสุดมาตั้งแต่แรก กล่าวคือ ทำนองฮัมเป็นยังไงก็ได้ แต่หาคำไทยลงโน้ตมันยาก พอทำได้แล้วจะคุ้มค่าพยายาม เช่น เพลง “เล่นของสูง” เพราะ พี่กบมีแนวทาง “ทำยังไงก็ได้ให้เพลงไทยมีโครงสร้างเหมือนเพลงฝรั่ง” เลยใช้วิธีนั้นมา โดยช่วงหลัง ๆ มีวิธีแต่งโดยการทำตัวดนตรีก่อน เมโลดี้ตามมา และเนื้อมาทีหลัง ซึ่งวง Clockwork Motionless ใช้วิธีนี้
ค่านิยมการแต่งเพลง
ค่านิยมการแต่งเพลงเป็นไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สมัยก่อนฮุคต้องแรง สมัยนี้แปรผันไปตามสังคมเพลงเวลานั้น ไม่มีถูกผิด มีแต่ “ชอบแบบนี้”
คอนเทนต์การแต่งเพลง
คอนเทนต์ในการแต่งเพลง “ยิ่งใช้ยิ่งลด” ต้องเติมเต็มตลอดเวลา การมีนิสัยรักการอ่านถือว่าสำคัญมาก เช่น เพลง ”ใจกลางเมือง” ของวงลาบานูน ได้แรงบันดาลใจจากโฆษณาป้ายคอนโด และมีแนวคิดตั้งมาก่อนว่า “ใจที่อยู่กลางเมือง”
คิดไม่ออก ทำไงดี
ถ้าคิดเพลงไม่ออก หยุดเลยอย่าฝืน ให้คาถาแบบไม่เข้าข้างว่า “สุดแล้วหรือยัง แล้วปิดสวิตซ์” โดยไปหาแหล่งไอเดียใหม่ ๆ เช่นพี่กบเองขับรถไปสวนสัตว์เผื่อได้ไอเดีย ยกเว้นเดดไลน์บังคับ
ไม้บรรทัด “เพลง”
“แรกหรือเปล่า แตกต่างไหม ให้ดีกว่าเก่า (First, Different and Best)” กล่าวคือ เราเป็นคนแรกที่คิดชื่อและแต่งเพลงนี้มาหรือเปล่า ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น “ทำยังให้มันต่างและดีกว่าของเดิม” เช่น เพลง “เล่นของสูง” เป็นชื่อเพลงแรกของโลกใบนี้ สิ่งแรกของโลกคนจะจดจำเสมอ ถ้าเข้าข่าย 1 ใน 3 ข้อ เพลงมีสิทธิ์เป็นที่จดจำมาก ๆ
ตกตะกอนเรื่องเล่า / เขียนให้ใครฟัง / ลงจอดราบรื่น
เวลาแต่งเพลงในปัจจุบันของวง Clockwork Motionless จะเริ่มต้นด้วยการวางแผนจากการตกตะกอนในเรื่องที่อยากเล่ามากที่สุดจนชัดเจนว่ามันคืออะไร เห็นว่าคำไหนเก็บไว้และทำเป็นเพลงได้ก็แต่งมาเลย
ส่วน Big Ass “แต่งอะไรไม่สำคัญว่าแต่งให้ใครฟัง” ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นอย่าเพิ่งแต่ง ระหว่างนั้นควรนึกหน้าคนฟัง (เด็กหรือวัยรุ่น ใช้ภาษาให้เหมาะกับวัย) ถ้าทำได้ ขอให้เขียนยังไงเป็นลำดับต่อไป ถ้านึกหน้าคนฟังไม่ออกระวังจะเขียนไปลอย ๆ เช่น แต่งเพลงให้แฟนเก่าแฟนใหม่ มอบให้เธอเลยนะ โดยจะเน้นเรื่องเล่าที่สำคัญ
ที่สำคัญฟังแล้วต้องรู้สึกอะไรบางอย่าง เหมือนว่าเครื่องบนลงจอดสักที่นึงเพื่อให้เพลงสมบูรณ์ (ไม่จำเป็นว่าฟังเพลงจบแล้ว “ช่วยโลกใบนี้ไว้”) เช่น แต่งเพลงคิดถึง “ต้องจบให้คิดถึงจริง ๆ”
อย่าเข้าข้างตัวเอง (เรื่องแมสไม่แมสน่ะ)
การที่แต่งเพลงแล้วตั้งใจจะให้แมสแต่ไม่แมส ถ้าเชื่อมั่นในตัวงานเองมากพอ “โดยไม่เข้าข้างตัวเอง” คงจะมีที่อื่นค่ายอื่นที่เข้าทางกว่า
“ถ้าไม่ดีพอ กลับมาคิดพิจารณาตัวเองเพื่อพัฒนาต่อไป”
3. The Wide Road ถนนดนตรีที่กว้าง
มีโอกาส “ต้องคว้า”
การทำงานกับศิลปินที่หลากหลาย(เช่น ปาล์มมี่) พี่กบมีวันนี้ได้เพราะ “ยกมืออาสาทำ วิ่งหาโอกาสตลอดเวลา”
อยากเป็นคนคุมคอนเสิร์ต (Music Director) ทำไงดี
จงเป็นนักสังเกตและใส่ใจกับทุกอย่างบนเวที “ความรู้ไม่สำคัญเท่าสังเกตและใส่ใจ รู้เท่าที่รู้ สังเกตและใส่ใจ”
วงการเพลงไทยตอนนี้น่ะเหรอ
วงการเพลงเดินทางเป็นวงกลม “ใหม่วันนี้ เก่าวันหน้า เก่าวันนี้ ใหม่วันหน้า” กล่าวคือ เพลงที่มีซาวด์กลองไฟฟ้าสมัยก่อนคือยุคเรา ไม่นานก็จะเก่า เป็นเรื่องของยุคสมัยมากกว่า ยุคนั้นเวลาซ้อมดนตรีห้ามเล่นเพลงร็อกหนัก ๆ เดี๋ยวโดนเจ้าของห้องไล่ จากร็อกเป็นอินดี้ อินดี้กลายเป็นแมส เก่าไปใหม่มา โดยของใหม่อาจเคยเป็นของเก่า ๆ เล็ก ๆ มาก่อน ไม่นานมันก็จะเติบโต ซึ่งพี่กบ “ฟังเพลงทุกแนวและเปิดกว้าง” เลยเข้าใจว่าเพลงคือกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“ซิงเกิล” กับ “อัลบั้ม” / “ไม้ประดับ” กับ “ไม้ยืนต้น”
การทำซิงเกิลคือไม้ดอกที่สวยงาม แต่พอลมแรงอาจล้มได้ (ดังแต่ไม่มีใครจำ และไม่มีใครให้ร่มเงา) ส่วนการทำอัลบั้มคือไม้ยืนต้นที่มีเพลงรากแก้ว (ฟังยากแต่บอกตัวตนของศิลปินเอง ส่วนใหญ่ไม่ฮิต) และการที่ฟังเพลงจากอัลบั้มนั้น ทำให้เรารักศิลปินรายนี้ และที่สำคัญ “ความรักสามารถเปลี่ยนเป็นความศรัทธาได้”
ยกตัวอย่าง แนวทางอัลบั้ม The Lion ชุด 2 ของเจ๋ง-เดชา โคนาโล ทางวงอยากให้่เจ๋งเป็นรากแก้วเป็นของตัวเองในแนวคิด “เชิดสิงโต” กล่าวคือ คนที่หาความฝันมีมากแต่ความจริงมันอยู่ยาก เหมือนกับคนเชิดสิงโตที่ตัวเองกลัวที่จะตกลงมาเวลาเชิด แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่มีจะกิน
4. Pandemic โควิดอาละวาด
Clockwork Motionless มองว่าสิ่งที่น่ากลัวช่วงโควิด นอกจากภาระหน้าที่คือ “หมดแพชชั่นความสนใจที่จะเล่นดนตรี” ซึ่งช่วงนั้นทางวงโฟกัสว่าสิ่งนั้นจะอยู่กับเราตลอดไปหรือไม่ อยากให้มองว่า มองเป็นสองมุมคือ “ดนตรี กับ ชีวิต ทุกปัญหามีทางออก ให้กำลังใจ ปรับตัวด้วยการทำงานออนไลน์มากขึ้น”
ส่วนพี่กบ “โควิดคือคุณครูของชีวิต” แต่ก่อนคือรู้ลึกต้องรู้อย่างเดียว (เช่นเพลง นายไข่เจียว ของวงเฉลียง ที่ทำไข่เจียวได้ดี) แต่วันนี้ “ต้องรู้ลึกและรู้กว้าง” เราไม่สามารถมีอาชีพเดียวและสามารถมีสกิลเดียวในอนาคตได้แล้ว (เช่น เราเป็นนักดนตรี แต่ช่วงว่าง ๆ ทำอาชีพอื่นเช่น ทำกับข้าวขาย) โดยพี่กบมีสกิลตีกลองและแต่งเพลงคุมคอนไปด้วย กล่าวคือ อยู่ในวงการนั้นและกว้างอีกวงการนึง
เพราะไม่แน่อาจใช้สกิลที่สองในอนาคตได้
5. Encouragement กำลังใจ
Clockwork Motionless บอกว่า “พยายามทำให้ตัวเองพร้อมเพื่อให้โอกาสมาถึง เราจะได้พร้อมที่จะเดินทางในทางที่ฝันไว้ ใช้เวลาให้คุ้ม สร้างโอกาสให้ตัวเอง และที่สำคัญ “เป็นคนดี”
พี่กบให้กำลังใจว่า “ทุกคนจะเจอสามปัญหาคือ เรื่องเรียน เรื่องเพื่อน เรื่องความกดดันจากทางบ้าน … ขอให้อดทนเรียนให้จบ ระหว่างทางจงค้นหาตัวเอง” การทำสิ่งนี้มีความหมายต่อชีวิต และหาโอกาสให้มากกว่าคนอื่นก็เช่นกัน
“ทำไปเถอะทำไปก่อน วันหนึ่งเมื่ออายุมากจะไม่เสียดาย”
-
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in