เรื่อง พุทธิชาต, ปาณิสรา
● “เปิดใจเจ้าหญิง กับสีที่แปดของรุ้งกินน้ำที่เธอใฝ่ฝัน การหย่าร้างของพ่อแม่แม้จะเลวร้าย
แต่สุดท้ายก็หล่อหลอมให้เด็กเอาแต่ใจกลายมาเป็นเธอที่แข็งแกร่งในวันนี้”
● “ขลุ่ยร่ำไห้ ระบายถึงความอัดอั้นในวัยเยาว์และต้นไม้ประหลาดที่กัดกินใจเขา
แม้บางครั้งจะมีความรุนแรงบ้าง แต่เพื่อแลกกับคำว่า ‘ครอบครัว’ ก็ยอมได้ทุกอย่าง”
● “ศรีนวลตัดพ้อ ทนไม่ไหวแล้วกับสามีเทวดา ขอเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนอยู่ก่อนแต่ง
เพราะความรักมันเริ่มง่ายแต่จบยาก”
___________________________________________________________________________
ยินดีต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่นิตยสาร a Fam นิตยสารครอบครัวที่จะพาผู้อ่านเข้ามาทำความเข้าใจกับประเด็นต่าง ๆ ในชีวิตครอบครัวว่า “ครอบครัว” แท้จริงคืออะไร ต้องแลกด้วยอะไรถึงจะได้มันมา หรือแท้จริงแล้วมันไม่จำเป็นต้องแลกด้วยอะไรเลย
a Fam ฉบับนี้จะพาผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสามท่านที่ล้วนต้องประสบชีวิตอันหวานอมขมกลืนเนื่องมาจากครอบครัว
มาดูกันว่า ครอบครัวในทัศนะของทั้งสามท่านจะเป็นแบบไหน และครอบครัวมีอิทธิพลหรือส่งผล กระทบต่อชีวิตจิตใจของทั้งสามท่านอย่างไร โดยทางเราจะขอตัดส่วนที่เป็นคำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ออก และนำเสนอประเด็นด้วยการใช้เรื่องราวในชีวิตจริงของผู้ให้สัมภาษณ์ เพื่อให้บทสัมภาษณ์นี้เป็น ‘พื้นที่’ ในการบอกเล่าเรื่องราวของผู้ให้สัมภาษณ์อย่างแท้จริง
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอเชิญพบกับผู้ให้สัมภาษณ์ท่านแรก “เจ้าหญิง” จากเรื่องสั้น “สีที่แปดของรุ้งกินน้ำ” ในรวมเรื่องสั้นชุด เจ้าหงิญ ของ คุณบินหลา สันกาลาคีรี ได้เลยค่ะ
เจ้าหญิง : หญิงเชื่อว่า ทุกท่านคงจะเคยอ่านหรือเคยดูเทพนิยายแนวเจ้าหญิงเจ้าชายกันมาบ้าง ซึ่งเทพนิยายเหล่านี้มักจะมีฉากจบว่า “แล้วเจ้าหญิงเจ้าชายก็แต่งงานกัน และอยู่ครองรักกันอย่างมีความสุข” หากแต่ในความเป็นจริง ฉากแต่งงานที่อบอวลไปด้วยความรักความโรแมนติกนั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของอะไรหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะชีวิตครอบครัว
พ่อกับแม่เริ่มต้นชีวิตคู่หลังจากที่ พ่อ เจ้าชายวัยรุ่นผู้เป็นที่ 1 ในวังของคุณปู่ จุมพิตกับ แม่ เจ้าหญิงวัยรุ่นผู้ซึ่งก็เป็นที่ 1 ในวังของคุณตา ทั้งคู่ต่างถือว่าเคยเป็นที่หนึ่งในวังของตนมาก่อน จึงไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้แก่กัน เมื่อไม่มีใครยอมปรับจูนเข้าหากัน การแยกกันอยู่จึงเป็นทางเลือกที่พ่อกับแม่ใช้แก้ปัญหาความระหองระแหงที่เกิดขึ้น แบ่งครึ่งทุกอย่างที่ท่านมีร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเมือง ประชาชน รวมไปถึงเวลาที่จะได้อยู่กับหญิง โดยให้หญิงนั่งเรือข้ามไปมาระหว่างวังของทั้งสององค์
เจ้าหญิง : พ่อกับแม่เลือกทางออกของปัญหากันเองโดยไม่ถามหญิงสักคำว่าสิ่งที่ทั้งสองเลือกให้หญิงนั้น หญิงโอเคหรือเปล่า แต่ละวันที่หญิงต้องนั่งเรือเทียวไปเทียวมาระหว่างพระราชวังของพ่อกับปราสาทของแม่ มันเหนื่อยและไม่สนุกเอาเสียเลย
เจ้าหญิง : ตอนนั้นหญิงอยากได้รุ้งจริง ๆ ค่ะ แค่เห็นว่ารุ้งเขาสีสวย อยากรู้ว่าเขากินน้ำอะไรตัวถึงได้เป็นสีอย่างนั้น สายรุ้งที่หญิงหมายถึงตอนนั้นก็คือรุ้งกินน้ำเจ็ดสีธรรมดา ๆ นี่แหละค่ะ หญิงพูดไปแบบไม่ได้คิดอะไร แต่พอหญิงเห็นว่าพ่อกับแม่กระตือรือร้นที่จะหารุ้งมาให้ เพราะหญิงแกล้ง ๆ ขู่ไว้ว่าถ้าใครหามาให้ไม่ได้จะย้ายไปอยู่กับอีกคน หญิงก็เริ่มรู้สึกว่า หญิงชอบการที่พ่อกับแม่ทำเพื่อหญิงมากกว่าสายรุ้งเสียอีก แต่ถ้าจะให้พอใจที่สุด คือหญิงอยากให้พ่อกับแม่ทำเพื่อหญิงมากกว่านี้อีกสักหน่อย หญิงอยากดูสายรุ้งเคียงข้างท่านทั้งสองพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่แค่ดูพร้อมคนใดคนหนึ่ง หญิงว่านี่แหละคือความหมายของสายรุ้งที่หญิงต้องการจริง ๆ มันคือการที่หญิงอยากให้ครอบครัวเราอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตามากกว่า พอคิดได้แบบนั้น หญิงก็ไม่ได้สนใจสายรุ้งของจริงแล้วค่ะ 5555 รู้สึกเหมือนตัวเองเติบโตขึ้นอีกขั้น เลยบอกคุณพ่อไปว่าไม่ได้อยากได้รุ้งแล้ว แต่บอกความต้องการไปตรง ๆ เลย ว่าอยากดูสายรุ้งใกล้ ๆ กับทั้งสองคน
เจ้าหญิง : ก็ตามนั้นแหละค่ะ คุณพ่อคุณแม่ดับฝันหญิง ท่านทั้งสองคนบอกว่าคงกลับมาหากันไม่ได้หรอก คงต้องรอให้มีสายรุ้งสีที่แปดเกิดขึ้นก่อน หญิงว่าพ่อกับแม่เขานิสัยเหมือนกันเกินไปอะค่ะ เอาแต่ใจทั้งคู่ ไม่ยอมกัน ถือทิฐิไว้ในใจทั้งคู่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่รู้เลยว่าใครจะยอมวางก่อน หญิงเองก็ว่ายน้ำเหนื่อย 5555 ข้ามฝั่งไปข้ามฝั่งมาอยู่นั่นแหละ
จากประโยคที่พ่อกับแม่พูดมาแบบนั้น คุณคิดว่าสีที่แปดของสายรุ้งคืออะไรคะ ความหวัง ปาฏิหาริย์ หรือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ พ่อกับแม่ก็คงคิดแบบนั้น แต่สงสัยพวกท่านคงใจแคบเกินไป เกินกว่าที่จะมองเห็นว่าสีที่แปดของสายรุ้งก็อยู่ตรงหน้าพวกท่าน ก็หญิงนี่ไง หญิงคือสีที่แปดของรุ้งกินน้ำ เพราะสีที่แปดของรุ้งกินน้ำที่เป็นสีชมพูงามระเรื่อมันออกมาจากแก้มของหญิง พ่อกับแม่เห็นไหมคะ หญิงเกิดมาจากความรักของพ่อกับแม่ไม่ใช่เหรอ แล้วตอนนี้ทำไมหญิงต้องมารับผิดชอบในสิ่งที่หญิงไม่ได้ก่อ พ่อกับแม่ไม่ได้รักกันแล้วก็จริง แต่พ่อกับแม่ก็ยังรักหญิงอยู่นี่ หญิงมีค่าพอจะเป็นเหตุผลให้ทั้งสองคนกลับมายืนเคียงข้างกันอีกครั้งได้ไหม
เจ้าหญิง : ค่ะ ก็จากตอนนั้นที่หญิงเป็นเด็กน้อยอายุแค่สี่ขวบ จนถึงตอนนี้ที่หญิงเติบโตมากขึ้นพอสมควร หญิงได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว หญิงได้รู้ว่าชีวิตคนเรามันไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างในเทพนิยายเสมอไป ตราบใดที่ตัวละครในเรื่องยังเป็นมนุษย์ นั่นแปลว่า เขาหรือเธอคนนั้นก็ยังต้องประสบพบเจอกับความสุขและความทุกข์ปะปนกันไป และในตอนสุดท้ายที่เจ้าหญิงและเจ้าชายครองรักกัน ก็ไม่ได้มีอะไรมายืนยันว่าคำว่า ชั่วนิจนิรันดร์ มันจะเป็นความจริง เมื่อพลิกถึงหน้าสุดท้ายของเรื่องที่ระบุไว้ว่า ทั้งสอง แต่งงานและครองรักกันอย่างมีความสุข นั่นต่างหาก ที่เป็นหน้าแรกของนิยายเรื่องถัดไป รุ้งที่หญิงเคยอยากได้นักอยากได้หนา ตอนนี้หญิงก็ไม่ต้องการมันแล้ว หญิงโตพอที่จะยอมรับได้ว่า สายรุ้งมันไม่ใช่อะไรที่ได้มาง่าย ๆ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้มัน นอกจากหญิง ก็ยังมีเด็กคนอื่น ๆ บนโลกอีกมากมายที่ไม่มีสายรุ้งเหมือนกัน แทนที่จะเศร้า ร้องไห้แง หรืออาละวาดเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการเหมือนตอนเด็ก ๆ หญิงเรียนรู้ที่จะมองมันอย่างมีความสุขโดยที่ไม่ต้องครอบครอง หญิงชอบรุ้งมากก็จริง แต่แค่ได้เห็นหญิงก็พอใจแล้ว และถึงแม้ตอนท้ายของเรื่องนี้ หญิงยังคงต้องว่ายน้ำข้ามไปมาระหว่างสองพระราชวังทุกวัน ถึงแม้หญิงจะเปลี่ยนใจพ่อกับแม่ไม่ได้ แต่หญิงเปลี่ยนมุมมองตัวเองได้ หญิงเชื่อว่าจากประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดที่หญิงได้รับมา มันจะหล่อหลอมให้หญิงกลายเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่งขึ้นได้ในวันข้างหน้า :)
___________________________________________________________________________
ต้องขอขอบคุณ คุณเจ้าหญิงมาก ๆ เลยนะคะที่ให้เกียรติมาร่วมเปิดใจกับเราในวันนี้ ต่อไปจะเป็นบทสัมภาษณ์จากผู้ให้สัมภาษณ์ท่านที่สอง วิญญาณของคุณ “ขลุ่ย” จากเรื่องสั้น “เด็กชายกับต้นไม้ประหลาด” ในรวมเรื่องสั้นชุด ร่องรอยเล็กๆ ในจักรวาล ของ คุณอุเทน พรมแดง ค่ะ
* Trigger Warning: บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence)
ขลุ่ย : ก่อนที่ผมจะเริ่มเปิดใจถึงเรื่องราวที่ผมประสบพบเจอมาในชีวิต ผมอาจจะต้องขอเกริ่นให้ทุกท่านได้ทราบก่อนว่า ทำไมขณะนี้ผมถึงได้พูดจาได้ชัดถ้อยชัดคำ ในเมื่อก่อนหน้านี้ผมเป็นผู้บกพร่องทางสติปัญญา พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง มักจะโดนพ่อดุด่าทุบตีอยู่เสมอ
สาเหตุที่ตอนนี้ผมพูดชัด เป็นเพราะว่าตอนนี้ผมไม่ได้เป็นขลุ่ยคนเก่า คนเดิม ในร่างอันบกพร่องทางสติปัญญาอีกต่อไป หากแต่เป็นขลุ่ยในร่างวิญญาณ เป็นขลุ่ยที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ ขลุ่ยในร่างวิญญาณที่ผมกำลังเป็นอยู่ ณ ขณะนี้ ก็คือขลุ่ยที่หลุดพ้นออกจากพันธนาการของร่างกายอันบกพร่องซึ่งเปรียบเสมือนกรงขังจิตวิญญาณของผม เมื่อผมหลุดพ้นจากพันธนาการแห่งความบกพร่องนั้นแล้ว จิตวิญญาณของผมที่ไม่ได้บกพร่องไปกับร่างย่อมโลดแล่น เป็นอิสระ สามารถพูดสิ่งใดตามที่ใจปรารถนาได้ เฉกเช่นจิตวิญญาณของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปมากกว่านี้ ผมขอเข้าประเด็นเกี่ยวกับชีวิตของผมเลยก็แล้วกันนะครับ
ขลุ่ย : ผมเป็นเด็กชายวัยสิบหกปีเศษ ทุกคนเรียกผมว่าเป็นคนพิการ รูปลักษณ์เลวร้ายแถมยังมีสมองตีบตัน เรียนรู้อะไร ๆ ช้ากว่าเพื่อนคนอื่นในวัยเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่เป็นปัญหาอะไรสำหรับผมมากนัก เพราะพ่อและแม่ของผมขยันทำมาหากิน รักและเมตตาผมเป็นอย่างดี ดุด่าน้อยมากจนแทบจะนับจำนวนครั้งได้ แต่ทุกอย่างในชีวิตผมก็เปลี่ยนไป เมื่อแม่ของผมเสียชีวิต และพ่อก็แต่งงานกับผู้หญิงคนใหม่ ผู้หญิงที่เข้ามาเป็นแม่คนใหม่แทนที่แม่ของผม
ความจริงแล้วประเด็นนี้มันค่อนข้างอ่อนไหว แต่ผมก็เข้าใจได้ แต่ดูเหมือนว่าพ่อกับแม่เลี้ยงของผมจะไม่เข้าใจ ผมอยากฝากถึงคนเป็นพ่อเป็นแม่บ้านอื่น ๆ นะ จริง ๆ แล้วการแต่งงานใหม่ทั้งที่มีลูกติดไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญและใส่ใจมากที่สุดคือสภาพจิตใจและความคิดของคนเป็นลูก เพราะจิตใจของพวกเขายังอ่อนไหวกับการสูญเสีย และอาจจะยังไม่พร้อมกับสิ่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เรื่องของพ่อแม่เลิกกัน พ่อหรือแม่เราจะทิ้งเราไปมีลูกใหม่ เรื่องพวกนี้ยิ่งทำให้คนเป็นลูกกังวลใจ แล้วถ้าบางครอบครัว ยิ่งคนที่เข้ามาใหม่พยายามจะเข้ามาแทนที่พ่อหรือแม่จริง ๆ จะมีเด็กสักกี่คนที่ยอมรับได้ทันที มีแต่ยิ่งทำให้เด็กไม่พอใจและต่อต้าน ถ้าเป็นเรื่องของผม ผมไม่ต่อต้านหรอก ใช่ ผมทนมือทนเท้าเขาได้อยู่แล้ว แต่ผมพูดเผื่อไปถึงลูกบ้านอื่น อย่าให้ลูกคนไหนต้องมาบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างผมอีกเลย
นอกจากนี้ ผมยังอยากฝากให้พ่อแม่ทุกคนได้พึงระวังว่า หากจะแต่งงานใหม่ อาจจะต้องคิดทบทวนคนรักคนใหม่ที่จะพาเข้าครอบครัวสักนิดนึงนะครับ ว่าเขารักใคร่เมตตาลูกของเราประหนึ่งเป็นลูกของเขาเองหรือไม่ เพราะหากเขาไม่เมตตาลูกของเรา เขาก็คงไม่ได้ให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูกของเรา มันก็คงจะเป็นสิ่งที่สร้างความทุกข์ทรมานในชีวิตเด็กคนหนึ่งเลยครับ เหมือนที่ผมเคยเจอมา…
ขลุ่ย : ผู้หญิงคนใหม่ของคุณพ่อทำให้ชีวิตของผมเปลี่ยนไป จากเด็กชายที่ได้รับความรักความอบอุ่น กลายเป็นเด็กชายที่โดนทำร้ายตลอดเวลา ทั้งทางกาย - ยามที่พ่อหรือแม่เลี้ยงจิกผม บิดหู หวดด้วยไม้ ชกต่อยทำร้ายผม ทางวาจา - ที่พ่อหรือแม่เลี้ยงดุด่า ตวาด และ ทางใจ - ทั้งสองไม่ได้ให้ความรักแก่ผมเลย ความอบอุ่นที่ผมเคยได้รับสมัยที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่มันหายไปหมดสิ้น แต่ผมก็ไม่โกรธพ่อกับแม่เลี้ยงหรอกนะครับ
ก็คนไทยกล่าวกันอยู่เสมอไม่ใช่หรือครับ ว่าพ่อแม่จะทำอะไรกับลูกก็ได้ เพราะเป็นผู้มีพระคุณที่ให้ข้าวให้น้ำเรามา ให้ที่ซุกหัวนอนแก่เรา ผมจะไปโกรธท่านได้อย่างไร สมัยนี้ ต่อให้เป็นยุคโลกาภิวัตน์แล้วก็เถอะ พ่อกับแม่หลาย ๆ บ้านยังเชื่ออยู่เลยว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูหรืออบรมเด็ก โดยเฉพาะ Asian parents ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม แล้วยิ่งในสังคมไทยนะ ความรุนแรงทางร่างกาย เช่น การทุบตี ยังคงถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติอยู่เลย ถ้าจะสร้างวินัยให้กับเด็กก็ต้องใช้วิธีนี้ และแม้ว่าการลงโทษทางร่างกายจะถูกสั่งห้ามในโรงเรียนแล้ว แต่ก็ยังเห็นออกข่าวกันโครม ๆ อยู่ ทั้ง ๆ ที่เมืองนอกเขาก็มีงานวิจัยออกมาบอกว่าความรุนแรงใช้ไม่ได้ผลในระยะยาว แต่สังคมไทยก็คือสังคมไทย ต่อให้ 2022 แล้วก็เถอะ เรื่องพวกนี้มันมีมานานแล้ว อย่างสำนวนไทยที่ว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี นั่นไงครับ แต่จริง ๆ เราต้องแยกก่อนนะ ระหว่างการทำโทษกับ Domestic Violence น่ะ คุณรู้ไหมว่าทุก ๆ วัน จะมีผู้หญิงและเด็ก ไม่น้อยกว่า 7 คนถูกทำร้ายร่างกายจากคนในครอบครัว ซึ่งเหยื่อผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน ตั้งแต่อายุ 5-20 ปี ยังไงก็แล้วแต่ เลิกเถอะครับ ความรุนแรงในครอบครัวเนี่ย เขารณรงค์กันทั่วโลกแล้ว ผมไม่อยากให้มีใครต้องมาทนเจ็บแบบผมเลย
ขลุ่ย : แน่นอนว่าใครจะอยากเล่นหรือพูดคุยกับคนที่มีลักษณะอย่างผม ผมรู้ตัวเองดีว่ามีร่างกายที่ไม่เหมือนวัยรุ่นชายทั่วไป ผมไม่โกรธพวกเขาหรอก ยอมรับความจริงข้อนี้ได้ แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ถึงชีวิตในอนาคตของตัวเองและคนที่เป็นเหมือนกันกับผม ผมไม่อยากให้เราถูกผลักออกจากเส้นทางอีกแม้แต่นิดเดียว เพราะการที่คนอื่นมองไม่เห็นหัวเรา มันก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอยู่เหมือนกัน
ผมอยากตั้งคำถามกับมาตรฐานของสังคมและมุมมองของมนุษย์ที่มองมาที่คนแบบเรา ทำไมต้องผลักผู้พิการไปเป็นคนชายขอบ (Marginal people) หรือมากไปกว่านั้นคือการผลักให้ไปเป็นคนอื่น (Otherness) แค่เพราะผมเกิดมามีร่างกายไม่สมประกอบ ผมจึงควรโดนผลักออกจากสังคมอย่างนั้นหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสายตาดูถูกเหล่านั้นมันมาจากคนในครอบครัวของเราเอง ในสมัยที่ผมยังเป็นแค่วัยรุ่น ผมก็ไม่มีเพื่อนแล้ว ยิ่งตอนโตยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยครับ ถ้าแค่สังคมเพื่อนยังไม่ยอมรับเรา สังคมโลกที่ไหนเขาจะมายอมรับเรา ระบบการศึกษาที่รองรับคนพิการแบบผมก็มีน้อยมาก ยิ่งด้านการทำงานยิ่งยากเลย แต่ที่ยากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละ ถ้าโครงสร้างสวัสดิการรัฐของประเทศเราดีกว่านี้ ถ้ารัฐไม่เพิกเฉยต่อผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสติปัญญา ถ้าสังคมและชุมชนไม่ผลักเราเป็นคนชายขอบ ป่านนี้เราก็คงมีทางเดินผู้พิการที่ไม่ชนเสาไฟฟ้า มีทางสโลพ (slope) ให้ผู้ใช้วีลแชร์ มีบ้านพักหรืออาคารรองรับผู้พิการแบบต่างประเทศ โดยที่เราก็ไม่ต้องรู้สึกผิดที่เกิดมาเป็นภาระของครอบครัว แต่มันคงเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะยังมีบางคนพูดว่าที่ผมเกิดมาพิการแบบนี้เป็นเพราะกรรมเก่าอยู่เลย จริง ๆ แล้วที่ผมพิการมันอาจจะมาจากยีนด้อยของพ่อผมก็ได้ หรือมาจากอะไรก็ตามที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ และไม่ว่าความบกพร่องของผมมันจะมาจากสาเหตุอะไร จะวิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์ แต่ผมก็คือมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่หรือครับ
ขลุ่ย : นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลงแบบรวดเร็วมากเลยครับ ถ้าจะให้อธิบายเป็นเนื้อเพลง คงเป็นท่อนที่บอกว่า “นับเป็นช่วงชีวิตที่ดีที่สุดแม้เป็นแค่เพียงเวลาสั้น ๆ” นั่นล่ะครับ ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับที่บ้านเลย ผมใช้คำว่า ‘ที่บ้าน’ เพราะผมรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้มองผมเป็นครอบครัวอะครับ เพราะแม่เลี้ยงก็ไม่เคยรักผมอยู่แล้ว ก็แหงสิ ผมไม่ใช่ลูกเขานี่ แม้แต่พ่อแท้ ๆ ของผมยังไม่เคยมองว่าผมเป็นลูก แต่หลังจากที่ผมตัดสินใจกินผลไม้ประหลาดและกลืนเม็ดมันลงไปด้วยในวันนั้น ชีวิตของผมก็เปลี่ยนไป ผลจากรากไม้ที่มันออกมาจากปากผม มันทำให้พ่อกับแม่เลี้ยงลืมตาอ้าปากได้ พ่อกับแม่เลี้ยงทั้งกินเอง ทั้งเก็บขาย ใบหน้าของพวกเขาช่างเปี่ยมด้วยความสุข ความสุขสบายอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อนตกมาอยู่กับครอบครัวผม คราวนี้ผมใช้คำว่า ‘ครอบครัว’ แล้วนะครับ เพราะผมสร้างผลประโยชน์ให้กับพวกเขา คราวนี้พ่อกับแม่เลี้ยงเลยมองเห็นผมเป็นครอบครัวสักที ตลกร้ายใช่ไหมล่ะครับ พวกเขาดูแลผมดีมาก หาของกินดี ๆ มาป้อนให้ถึงปาก อาบน้ำให้ กางมุ้งให้ ไม่โดนด่าไม่โดนตีเลยสักแอะ ถึงแม้จะพูดลำบาก กินลำบาก แต่แลกกับความอบอุ่นที่ผมไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนเลย แค่นี้ทนไหวครับ
แต่ในหัวของผมกลับคิดถึงเรื่อง ๆ หนึ่งตลอดเวลา โดยที่ไม่เคยเล่าให้ใครฟังเลย นั่นก็คือ ความหมายของครอบครัว แท้จริงแล้ว คำนี้มันมีความหมายว่าอย่างไรกันแน่นะครับ ผมเคยคิดว่ามันคือการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ แม่ ลูกอย่างมีความสุข แต่ผมคงจะคิดผิด จริง ๆ มันคือการที่ผมต้องมอบผลประโยชน์ให้กับพวกเขาต่างหาก พวกเขาคาดหวังอะไร ผมต้องทำให้ได้ พวกเขากดดันอะไรมาผมต้องแบกให้ไหว เขาเสนออะไรให้ผมต้องสนอง แม่ตีแปลว่าแม่รัก พ่อด่าแปลว่าพ่อห่วงครับ ต้องใช่แน่ ๆ นี่แหละคือครอบครัวในความหมายของผม….
(จนถึงตอนนี้ หลังจากพูดจบ อยู่ดี ๆ คุณขลุ่ยก็ร้องไห้ออกมาระหว่างให้สัมภาษณ์ เราจึงต้องหยุดการสัมภาษณ์ เพื่อให้คุณขลุ่ยได้พักหายใจและระบายความอัดอั้นทั้งหมดของเขาออกมา)
___________________________________________________________________________
ทีมผู้สัมภาษณ์อยากขอบคุณคุณขลุ่ยมาก ๆ ที่ออกมาเปิดใจเรื่องราวที่ปวดร้าวเกินกว่าจะบรรยาย ทางนิตยสาร a Fam จะขอเป็นกำลังใจให้คุณขลุ่ยก้าวต่อไป
ต่อไปก็ถึงเวลาของผู้ให้สัมภาษณ์ท่านสุดท้ายแล้วค่ะ ไปพบกับคุณ “ศรีนวล” จากเรื่องสั้น “ศรีนวลกับผัวเทวดาผู้ถูกสวรรค์ทิ้ง” ในรวมเรื่องสั้นชุด เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก ของ คุณมหรรณพ โฉมเฉลา กันเลย
* Trigger Warning: บทสัมภาษณ์ต่อไปนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence)
ศรีนวล : เมื่อผู้อ่านทุกท่านได้รู้เรื่องที่ฉันพยายามลงมือฆ่าเขา เขาที่เป็นสามีของฉัน ถึงสองครั้ง ก็คงจะมีแอบคิดกันในใจว่าฉันเป็นคนโหดเหี้ยมอำมหิตใช่หรือไม่คะ หากแต่ดิฉันอยากให้ผู้อ่านลองเปิดใจ ฟังเรื่องราวของฉันสักนิด ก่อนจะตัดสิน
ฉันเป็นสาวโรงงาน ส่วนเขาเป็นพ่อค้าเร่ขายเครื่องสำอางราคาถูก เราเจอกันเพราะเขามายืนขายของหน้าโรงงานที่ฉันทำงานอยู่ เขาตามจีบฉันอยู่ไม่กี่วัน รู้ตัวอีกที ฉันกับเขาก็ลงเอยกันเป็นสามีภรรยา ฉันหายหน้าจากที่บ้านไปอยู่กับเขาสามสี่วัน ก็ตัดสินใจพาเขาเข้ามาร่วมชายคาบ้านในฐานะสามีของฉัน และลูกเขยของพ่อกับแม่
ศรีนวล : ใช่ค่ะ เขาเคยพูดแบบนั้น และประโยคคล้าย ๆ แบบนั้นอีก 2-3 ครั้ง พูดประมาณว่า ไม่ต้องห่วง เขาจะหาทางให้ครอบครัวมีความสุขให้ได้ มันเป็นหน้าที่ของเขา บางครั้งก็พูดแปลก ๆ ว่า “สวรรค์ส่งฉันมาช่วยเธอและพ่อแม่” ฉันเองก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าคำว่าเทวดาที่เขาเปรียบกับตัวเองมันแปลว่าอะไร แต่ในความคิดฉัน เดาว่าเขาคงอยากจะทำหน้าที่ลูกผู้ชายตัวจริง เช่น เรื่องการแบกรับภาระหน้าที่ของครอบครัวทั้งหมด เขาคงคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของผู้ชาย เป็นหน้าที่ของเขาคนเดียว เหมือนเขาตั้งใจจะบันดาลทุกอย่าง จะเสกทุกอย่างให้ออกมาเป็นในแบบที่หวังประมาณนั้น
บางครั้งก็ให้ฉันออกจากงานไปช่วยธุรกิจเขา แต่พอธุรกิจมันพังฉันก็ต้องกลับไปทำงานที่โรงงานเหมือนเดิม มาถึงจุดนี้ฉันไม่รู้ว่ามันจะเรียกว่าปิตาธิปไตยได้เต็มปากหรือไม่ แต่พ่อฉัน แม่ฉัน และตัวฉันเอง ก็ยอมฟังและเชื่อคำของเขามาหลายครั้งแล้ว ทำตามเขาทุกอย่าง ปล่อยให้เขาจัดการธุรกิจและจัดแจงชีวิตพวกเรา แม้มันจะไม่สำเร็จเลยสักครั้งแต่ฉันก็เป็นฝ่ายยอมเอง เลยไม่รู้ว่าจะพูดอะไรไปมากกว่านี้ได้ นอกจากปลงและเสียดายที่รีบร้อนใช้ชีวิตกับผู้ชายคนนี้
ก็นั่นแหละค่ะ ตอนแรกฉันคิดว่าคำว่าเทวดาที่เขาพูดถึงมันเป็นประมาณนี้ แต่อยู่ ๆ ไปสักพัก คำว่าเทวดามันก็มีอีกความหมายหนึ่งโผล่ขึ้นมา คือหลังจากที่ธุรกิจทั้งหลายของเขาพังไม่เป็นท่า เขาก็เริ่มปล่อยปละละเลยตัวเอง น้ำท่าไม่อาบ ผ้าผ่อนไม่ซักจนฉันต้องถอดซักให้ ข้าวก็ไม่ลงมากินต้องประเคนไปให้ถึงที่ การงานก็ไม่ยอมทำ ตอนนั้นก็เลยได้รู้ว่า อ๋อ นี่สินะเทวดาที่หมายถึง วัน ๆ คุณชายเธอไม่ทำอะไรเลย นั่งนอนเฉย ๆ รอสาธุชนประเคนให้ เจริญจริง ๆ แล้วคุณล่ะคะ คิดว่ายังไง สัญญะของเทวดาที่สามีของฉันพูด ปิตา หรือว่า ขี้เกียจ
ศรีนวล : จากที่ให้สัมภาษณ์ไปเมื่อสักครู่นี้ ฉันบอกไปว่าเทวดามีสองความหมายใช่ไหมคะ ขอแก้ไขค่ะ ความหมายที่สามมันโผล่ขึ้นมาหลังจากที่ฉันลงมือฆ่าเขาไปแล้วถึงสองครั้ง เทวดา แปลว่า ฆ่าไม่ตายค่ะ อยากจะฆ่าเขา เขาก็ไม่ตาย จะทำยังไงก็ไม่หายไปสักที อยากจะตัดออกจากชีวิตก็ทำไม่ได้ ซึ่งมันก็เหมือนกับความสัมพันธ์ของฉันกับเขาเลยค่ะ มันคือ Toxic Relationship ระหว่างฉันกับเขาที่ตัดกันไม่ขาด และมันจะวนลูปไปมาอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จุดนี้ฉันคิดว่ามันจะเกี่ยวโยงกับสถานภาพทางสังคมของเราทั้งคู่ด้วย พวกเราไม่ได้มีหน้ามีตา ไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดที่แยกย้ายกันไปเติบโตเหมือนที่ใครชอบพูดได้ สถานะของฉันกับเขาต้องใช้คำว่า “แยกกันเสี่ยงตายคู่ รวมหมู่ท็อกซิก” ที่หากแยกกัน สามีเทวดาของฉันก็คงจะตายเพราะวัน ๆ เขาไม่ทำมาหากินอะไรเลย เป็นฉันเสียอีกที่ต้องคอยทำมาหาเลี้ยงเขา ตัวฉันเองหากแยกจากเขา แน่นอนว่าคงจะสบายขึ้นเพราะภาระลดไปหนึ่ง แต่นั่นก็มิได้เป็นหลักประกันว่าฉันจะอยู่รอดไปตลอดรอดฝั่ง แต่หากเราอยู่รวมกัน ก็เป็นความสัมพันธ์ที่สุดแสนจะท็อกซิก เหมือนอยู่กันไปวัน ๆ ไม่มีความสุข อะไรประมาณนั้นค่ะ บนโลกใบนี้ก็คงจะมีคู่รักหลายคู่ที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ได้มีแค่คู่ฉันคู่เดียว
บางครั้งฉันพยายามมองหาสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมความสัมพันธ์ในครอบครัวฉันถึงได้เป็นแบบนี้ แล้วฉันก็มองเห็นอยู่สองปัญหาหลัก ๆ ปัญหาแรก ฉันคิดว่าเป็นเพราะฉันใจร้อน อยากจะเร่งรัดความสัมพันธ์ โดยยังไม่ทันได้ศึกษาดูใจให้ละเอียด ยังไม่ได้ลองคบหากันให้นานกว่านี้ ก็ตัดสินใจหนีตามกันไป แล้วก็ย้ายตามกันมาอยู่ในบ้าน ถึงแม้จะไม่ได้ตบแต่งเป็นเรื่องเป็นราวก็เถอะ จริงอยู่ที่ค่านิยมสมัยฉันมันบีบบังคับให้เราต้องทำตามขนบทุกอย่าง แต่ฉันว่าค่านิยมสมัยนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว อยากฝากถึงคู่รักหลาย ๆ คู่นะคะ หากทำได้ ก็อยากให้ลองอยู่ด้วยกันก่อน ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ชีวิตด้วยกันจริง ๆ เราอยู่ด้วยกันเพื่อเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ให้เห็นมุมมองและทัศนคติ ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต เขาคิดยังไงกับบ้านเรา พ่อแม่เรารับเขาได้ไหม เราเลือกคนนี้แล้ว เขาจะสามารถใช้ชีวิตกับเราไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า เพราะการแต่งงานมันไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่มันคือจุดเริ่มต้นต่างหาก ถ้ามันดี ก็โชคดีไป แต่ถ้ามันแย่ ก็จะโชคร้ายแบบฉัน เมื่อใดก็ตามที่หลุดเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์แล้ว หากคิดจะออกมาคงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่ มันมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เราตัดกันไม่ขาด ความรักน่ะ มันเริ่มง่ายแต่มันจบยากค่ะ
ส่วนปัญหาที่สอง ฉันคิดว่าส่วนหนึ่งมันมาจากโลกทุนนิยมที่คอยกดให้ชนชั้นแบบเราต้องดิ้นรนหาทำ ทุกคนในบ้านตั้งความหวังไว้ที่หัวหน้าครอบครัว พอสิ่งที่พยายามทำมันไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้ ความรู้สึกของคนในครอบครัวมันก็แย่ลงตามไปด้วย มันไม่ได้ทำร้ายแค่ความรู้สึกของคู่สามีหรือภรรยาของตัวเองเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงบุพการีของอีกฝ่ายด้วย พ่อแม่ฉันตั้งความหวังไว้ที่ลูกเขยสูงมาก พอสามีฉันทำพลาดก็ถึงกับบอกให้ไปหาผัวใหม่ ตอนนั้นฉันตอบแม่ไปว่าพูดอะไรแบบนั้น แต่ตอนนี้ถึงอยากจะหาผัวใหม่ก็คงไม่ทันแล้วล่ะค่ะ
___________________________________________________________________________
ขอขอบคุณคุณศรีนวลที่มาแชร์เรื่องราวและให้คำแนะนำดี ๆ สำหรับการใช้ชีวิตคู่
ทีมผู้สัมภาษณ์นิตยสาร a Fam ต้องขอขอบคุณผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสามท่านอีกครั้ง ที่ให้เกียรติมาเล่าประสบการณ์ชีวิตและแบ่งปันข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต ทำให้ทีมงานและผู้อ่านได้เห็นมุมมองและแนวคิดใหม่ ๆ มากขึ้น
ท่านผู้อ่านที่สนใจติดตามเรื่องราวของคุณเจ้าหญิง คุณขลุ่ย และคุณศรีนวล ฉบับเต็มแบบไม่มีปิดบัง สามารถอ่านได้ที่รวมเรื่องสั้นชุด เจ้าหงิญ ของคุณบินหลา สันกาลาคีรี ร่องรอยเล็กๆ ในจักรวาล ของคุณอุเทน พรมแดง และ เด็กชายสามตาผู้บังเอิญตกลงมาบนโลก ของคุณมหรรพณพ โฉมเฉลานะคะ
พุทธิชาต มาแดง
“อ่านตัวบท 10 ครั้งไม่เคยจำ เจอหน้าเธอ 1 ครั้ง ไม่เคยลืม”
ปาณิสรา โพธิ์ศรีนาค
“อ่านวรรณกรรมไปตั้งหลายหน้า แทบหลั่งน้ำตา เพราะมันจำได้แต่หน้าเธอ”
แนวคิดในการสร้างสรรค์งาน
ผู้จัดทำมองว่า เรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก แต่ละครอบครัวมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป แต่มักจะมีบางแง่มุมที่ยึดโยง เกี่ยวข้องหรือเหมือนกันอยู่ เช่น ความรัก ความสัมพันธ์ การหย่าร้าง และความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีหลายประเด็นที่สามารถหยิบยกมากล่าวถึงได้ ให้เล่าอีกสิบชาติก็ไม่จบ นอกจากนี้ เรื่องครอบครัว ยังเป็นเรื่องที่อยู่เหนือกาลเวลา เพราะต่อให้ผ่านไปอีก 10 ปี 100 ปี โลกใบนี้ก็ยังจะมีสิ่งที่เรียกว่า สถาบันครอบครัว อยู่ ดังนั้นเรื่องครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยเก่าเลย ผู้จัดทำจึงอยากหยิบยกเอาวรรณกรรมแนวครอบครัวทั้งสามเรื่องนี้มาคิดวิเคราะห์ ถกหาประเด็นที่ซ่อนอยู่ และเปรียบเทียบกับสถานการณ์และค่านิยมในปัจจุบัน เพื่อหาส่วนที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
เพราะผู้จัดทำไม่สามารถเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ทั้งสามเรื่องมี key massage ที่แตกต่างกันออกไป แต่ละ Key ก็สื่อสารออกมาได้ดีจับใจทั้งสามเรื่อง ไม่มีเรื่องไหนเลยที่อ่านแล้วผู้จัดทำไม่ร้องไห้ เราอยากที่จะเข้าใจความคิดของตัวละครมากกว่านี้ เราเห็นความอัดอั้นที่อยู่ในใจของพวกเขาทุกคน ทั้งเจ้าหญิง ขลุ่ย และศรีนวล ความรู้สึกของพวกเขามันชัดเจนมาก ๆ จนเราอยากนำมาสานต่อ หากเขาเป็นมนุษย์จริง ๆ หากเขาพูดได้ เราก็คิดว่าพวกเขาคงจะอยากพูดแบบนี้ คงอยากจะระบายออกมาแบบนี้ แม้แต่ตัวละครขลุ่ยที่ถึงแม้ในเรื่องสั้นเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ในความคิดของเรา เขามีคุณค่าเกินกว่าที่จะพบจุดจบเช่นนี้ เราจึงชุบชีวิตให้เขาขึ้นมาอีกรอบ เพื่อที่เขาจะได้มีชีวิตโลดแล่นและมีความสุขอยู่ในชิ้นงานของเรา
การสื่อสารที่ดีที่สุดคือการเปล่งคำพูดออกมา เพราะจะทำให้สัมผัสได้ถึงความคิดและมุมมองของผู้พูด ณ ขณะนั้น บทสัมภาษณ์จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้ผู้อ่านเห็นคำพูดและความคิดของตัวละคร แม้จะไม่ได้ยินเสียงพูด แต่ตัวอักษรกว่า 4,000 คำ ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารแทนคำพูดของตัวละครได้เช่นเดียวกัน ราวกับว่าคนทั้งสามกำลังนั่งให้สัมภาษณ์กับเราอยู่จริง ๆ ส่วนคำถามที่ว่าทำไมต้องเอาบทสัมภาษณ์มาใส่ในนิตยสาร ก็ขอตอบว่า ถ้าเอาไปใส่ในหนังสือเรียนก็จะไม่มีคนอ่านไง แฮร่!!
ผลงานจากรายวิชา "นวนิยายและเรื่องสั้น" ปีการศึกษา 2564
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in