"แขวนกระแส" เป็นรายการใน “โลกสมมุติ” ที่ชวน “ตัวละครในโลกวรรณกรรม” มาสนทนากับ “แขกรับเชิญในโลกเสมือนจริง” Podcast โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น “เด็กสาวกับชุดนักเรียน” ของ กล้า สมุทวณิช และ รายการ “โหนกระแส”
ผลงานสร้างสรรค์จากรายวิชา “นวนิยายและเรื่องสั้น” ปีการศึกษา 2564
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางศึกษาเท่านั้น
ถึง รายการแขวนกระแส
ดิฉันเป็นชาวบ้านตัวน้อย ๆ คนหนึ่งที่ได้รับชมรายการไปเมื่อวันก่อน เกี่ยวกับประเด็นพบเสื้อปริศนาในบ้านจนทำให้พี่สาวต้องแอบติดกล้องวงจรปิดในห้องของน้องชายน่ะค่ะ เรื่องนี้เนี่ย ดิฉันฟังแล้วรู้สึกร้อนใจจนอยากส่งจดหมายมาบอกทางรายการเพราะเป็นห่วงพี่น้องคู่นี้มาก ๆ ค่ะ
ช่วงที่รายการกล่าวถึงประเด็นละเมิดความเป็นส่วนตัว ที่พี่สาวมีการเปิดจดหมายหรือเข้าห้องส่วนตัวน่ะค่ะ ที่นักสังคมสงเคราะห์กล่าวว่า การเข้าไปในพื้นที่หรือหยิบจับสิ่งของของคนในครอบครัวเป็นเรื่องที่ผิด และไม่มีสิทธิ์ทำเลย จริง ๆ แล้วเนี่ย ดิฉันคิดว่า มันขึ้นอยู่กับการตกลงกันของแต่ละบ้านมากกว่านะคะ ยิ่งถ้ามีการตกลงกันแล้วในบ้านก็ไม่นับว่าเป็นความผิดเลยค่ะ ส่วนเรื่องที่คุณนักสังคมสงเคราะห์กล่าวว่า เพราะน้องชายไม่ได้พูดอะไร ไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึก สิ่งนี้เห็นด้วยเป็นอย่างมากค่ะ แต่ถ้าหากมองในด้านการรับรู้ของพี่สาว การที่อีกฝ่ายไม่ได้ตอบโต้หรือมีการถกเถียงเรื่องความเป็นส่วนตัวกัน ก็ถือว่ายังมีสิทธิ์กระทำตามที่พวกเขาเคยตกลงกันไว้ทีแรกอยู่นะคะ ยิ่งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยเนี่ยยิ่งทำให้การกระทำของพี่สาวนั้นชอบธรรมมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุการณ์พบเสื้อผ้าปริศนา ไม่ใช่ประเด็นที่อาจนิ่งนอนใจได้เลยค่ะ
ดิฉันเป็นกังวลว่าทั้งทางนักสังคมสงเคราะห์และทางพิธีกรรายการ รวมถึงผู้ชมทางบ้าน จะนิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าวและใส่ใจกับเรื่องในบ้านที่เราแทบไม่รับรู้ตื้นลึกหนาบางมากจนเกินไปค่ะ หากตัดเรื่องความเป็นส่วนตัวออกไป ดิฉันคิดว่าคุณอาจพบกับประเด็นอื่น ๆ ที่น่าเป็นกังวลกว่านะคะ เช่น การที่บุพการีทอดทิ้งบุตรให้อยู่ตามลำพัง หรือการที่เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงโปรแกรมสอดส่องผิดกฎหมายได้อย่างง่ายดายน่ะค่ะ สิ่งนี้เป็นภัยที่ร้ายแรงกว่าเรื่องความการเปิดซองจดหมายหรือเข้าห้องนอนและจำเป็นต้องได้รับการจัดการโดยด่วนนะคะ ยังไงก็ฝากทีมงานรายการแขวนกระแสช่วยผลักดันให้ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงในวงกว้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไปค่ะ
อีกประเด็นที่อยากเสนอต่อทางรายการ คือในสัปดาห์ถัดไป อยากให้รายการเชิญน้องชายและพี่สาวมาออกรายการพร้อมกันค่ะ อยากให้พวกเขาเจรจากันให้ชัดเจนเกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องความเป็นส่วนตัว ว่าใครสามารถทำอะไรได้บ้าง มีสิทธิ์ในพื้นที่หรือสิ่งของของอีกฝ่ายมากแค่ไหน เพราะว่าการไม่มีผู้ปกครองดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเนี่ย บางครั้งก็อาจทำให้ปัญหาที่เคยเป็นเรื่องเล็ก ๆ ระหว่างพี่น้อง กลายเป็นเรื่องบาดหมางยิ่งใหญ่ในอนาคตได้ค่ะ ดิฉันสังเกตเห็นว่า ตอนน้องชายให้สัมภาษณ์ เขามีความโกรธเคืองพี่สาวอยู่มากเลยนะคะ ส่วนพี่สาวก็มีความเป็นกังวลและเป็นห่วงมากไม่แพ้กัน ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็เป็นสิ่งที่สำคัญนะคะ ยิ่งไม่มีผู้ปกครองใกล้ชิดยิ่งควรจะต้องรักษาความสัมพันธ์ให้ดี ดิฉันคิดว่ารายการสามารถช่วยในส่วนนี้ได้ค่ะ ขอบคุณรายการที่นำประเด็นน่าสนใจมานำเสนอนะคะ จะติดตามใน ตอนต่อ ๆ ไปค่ะ
จาก ชาวบ้านตาดำ ๆ จังหวัดสมุทรปราการ
ผู้เขียน : ซอแก้ว (นามปากกา)
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
บรรณาธิกรต้นฉบับ: aree.n
กองบรรณาธิการ: J P M T
"แขวนกระแส" เป็น รายการใน “โลกสมมุติ” ที่ชวน “ตัวละครในโลกวรรณกรรม” มาสนทนากับ “แขกรับเชิญในโลกเสมือนจริง” Podcast โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น “เด็กสาวกับชุดนักเรียน” ของ กล้า สมุทวณิช และ รายการ “โหนกระแส”
ผลงานสร้างสรรค์จากรายวิชา “นวนิยายและเรื่องสั้น” ปีการศึกษา 2564
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางศึกษาเท่านั้น
หลังจากได้ฟัง Podcast รายการแขวนกระแสเรื่อง “เด็กสาวกับชุดนักเรียน” ทำให้ได้เห็นทั้งมุมมองจากฝั่งตัวละครนิศราหรือพี่สาวและนิมิตผู้เป็นน้องชาย เชื่อว่าเรื่องราวเช่นนี้ได้เกิดขึ้นกับหลาย ๆ ครอบครัว เช่น เมื่อไม่นานมานี้มีนักเรียนวัยมัธยมศึกษาได้โพสต์ข้อความพร้อมรูปถ่ายลงในทวิตเตอร์ว่า แม่ของเธอได้นำกล้องวงจรปิดมาติดไว้ในห้องนอนของเธอโดยไม่ได้ขออนุญาต โดยแม่ของเธออ้างว่านำกล้องไปติดด้วยความห่วยใย จะได้ดูแลว่าลูกของตนกำลังอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบอยู่หรือไม่ ผู้เขียนจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับประโยคหนึ่งใน Podcast ที่กล่าวว่า
จากบทสัมภาษณ์ของตัวละครพี่สาว ทำให้ได้เห็นแนวคิดจากมุมมองของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในบ้านและความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัว หากเกิดความผิดปกติภายในบ้านในลักษณะนี้ พ่อแม่ของหลาย ๆ ครอบครัวก็คงจะเห็นด้วยกับการกระทำของพี่สาวว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะความปลอดภัยภายในบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด จากกรณีตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่า ผู้เป็นแม่อ้างความหวังดีและอำนาจในการดูแลลูกมาละเมิดพื้นที่ส่วนตัวของลูก โดยไม่ได้ตระหนักว่าการกระทำนั้นจะเป็นการละเมิดพื้นที่ส่วนตัวของลูกหรือจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัย เกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถเชื่อใจคนในครอบครัวได้อีกต่อไป และอาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมาได้ เช่น โรคซึมเศร้า
เช่นเดียวกับที่ได้ฟังบทสัมภาษณ์จากมุมมองของน้องชาย จะเห็นได้ว่าน้องชายรู้สึกอึดอัดใจจากการกระทำของพี่สาว และรู้สึกว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ แต่ก็ไม่สามารถพูดหรือแสดงออกมาได้ เพราะพี่สาวอ้างอำนาจของผู้ที่มีหน้าที่ดูแลจัดการทุกอย่างภายในบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในครอบครัว ผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลก็ต้องจำยอมทำตามกฎของผู้มีอำนาจสูงสุดในครอบครัว การที่พี่สาวกล่าวว่าการเปิดดูซองไปรษณีย์ของทุกคนในบ้านเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นว่าน้องชายถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวจนกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการเปิดดูของในซองไปรษณีย์ หรือการเข้าไปค้นข้าวของภายในห้องนอนโดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อการสอดส่องดูแลคนในครอบครัวให้ปลอดภัย แท้จริงแล้วเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของน้องชาย ซึ่งควรจะมีพื้นที่ส่วนตัวโดยเฉพาะห้องนอนที่ไม่ควรมีผู้ใดใช้อำนาจเข้ามาก้าวก่ายพื้นที่ในส่วนนี้ได้ และยังทำให้น้องชายเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยอีกด้วย
การกระทำของพี่สาวจึงไม่ได้ทำให้เกิดความปลอดภัยภายในบ้านอย่างที่พี่สาวได้กล่าวอ้างไว้เลย สำหรับผู้เขียนแล้ว หากการกระทำที่อ้างว่าทำไปเพื่อความปลอดภัย แต่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ย่อมทำให้ผู้ที่ถูกละเมิดเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของความปลอดภัยที่ทุกคนควรจะได้รับ
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาในระดับครอบครัวที่อาจจะสามารถแก้ไขได้ด้วยการเจรจากันด้วยเหตุผล หรือการหาจุดตรงกลางร่วมกัน แต่เมื่อได้ฟังบทสัมภาษณ์ของน้องแยม นักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางสังคมทำให้เห็นปัญหาในระดับที่ใหญ่ขึ้นคือ ในระดับของการเมืองการปกครอง กล่าวคือ นิศรา ตัวละครพี่สาวอาจเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจในการปกครองดูแลประชาชน ส่วน นิมิต น้องชายก็อาจเป็นตัวแทนของประชาชนที่มีอุดมการณ์และแนวคิดซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแนวคิดของรัฐบาล จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยมีผู้เห็นต่างจากรัฐบาลจำนวนมาก และมีบัญชีผู้ใช้นิรนามต่าง ๆ โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งประชาชนควรจะมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี แต่รัฐบาลกลับใช้อำนาจเสาะหาข้อมูลส่วนบุคคลของบัญชีผู้ใช้นิรนามนั้น เพื่อติดตามตัวมาดำเนินคดี โดยอ้างความจำเป็นว่า เป็นสถานการณ์ร้ายแรงที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและกระทบต่อความมั่นคงของชาติ อีกทั้งหลาย ๆ ครั้งยังมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาเปิดเผยผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ อีกด้วย การที่รัฐบาลสามารถยึด เข้าถึงข้อมูล เจาะระบบ หรือคัดลอกสำเนาของประชาชนได้ตามอำเภอใจโดยไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวและคุกคามประชาชน และอาจทำให้ประชาชนเกิดความกลัวจนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งควรจะทำได้ตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยทำให้นึกถึงคำถามจากการประกวด Miss Universe 2019 ที่ถามว่า
(หลายชาติอาศัยการสอดส่องโดยรัฐบาลเพื่อคุ้มครองประเทศและประชาชนให้ปลอดภัย แต่บางคนก็เชื่อว่าการทำเช่นนี้เป็นการล่วงล้ำสิทธิต่อความเป็นส่วนตัว สำหรับคุณแล้ว อะไรสำคัญกว่ากันระหว่างความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย)
สำหรับผู้เขียนแล้ว ทั้ง ความเป็นส่วนตัว และ ความปลอดภัย ของประเทศและประชาชนมีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน เราสามารถทำให้ทั้งความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันได้ แต่ปัญหาก็คือ รัฐบาลมักอ้างการรักษาความปลอดภัยของชาติเพื่อเป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน และเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่รัฐบาลเอง ไม่ใช่เพื่อความปลอดภัยของประเทศชาติอย่างแท้จริง วิธีการที่จะนำไปสู่ความมั่นคงและความปลอดภัยของชาตินั้นไม่ควรลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และไม่ควรบุกรุกความเป็นส่วนตัวของประชาชน กฎหมายจะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวได้ เช่น เจ้าหน้าที่ต้องมีหมายศาลจึงจะสามารถเข้าตรวจค้นผู้ต้องหาได้ และต้องเปิดเผยแสดงตัวตนพร้อมเจ้าหน้าที่คนอื่น ไม่ใช่ลอบไปตามลำพัง หรือการที่รัฐบาลเจาะข้อมูลส่วนตัวของประชาชนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชนจะไม่สามารถนำข้อมูลที่ได้มาดำเนินคดีกับประชาชนได้ อีกทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวไม่ควรเปิดช่องว่างให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของประชาชน และกฎหมายก็ไม่ควรตีความได้กว้างเกินไป เช่น เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ในกรณีที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงในประเทศ ซึ่งคำว่า “รุนแรง” ก็ต้องระบุนิยามของคำนี้ให้ชัดเจน ต้องรุนแรงในระดับใดจึงจะอ้างสิทธิตามกฎหมายได้ และกฎหมายต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
เรื่องสั้นเรื่อง “เด็กสาวกับชุดนักเรียน” ทำให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคลหรือความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เราทุกคนมีสิทธิที่จะปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในระดับครอบครัวที่ลูกก็ควรได้มีพื้นที่ส่วนตัวเป็นของตนเองโดยที่ผู้ปกครองไม่มีสิทธิอ้างความห่วงใยหรือความปลอดภัยเพื่อเข้าไปละเมิดสิทธินั้น และในระดับประเทศที่รัฐต่าง ๆ ก็ควรมีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของประชาชนที่ยุติธรรม ชัดเจน และไม่มีช่องว่างที่ทำให้ผู้มีอำนาจอย่างรัฐบาลละเมิดสิทธิหรือข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนได้
บรรณานุกรมการค้นคว้า
- Rappler.com. (9 ธันวาคม 2562). TRANSCRIPT: Miss Universe 2019 Q and A segment. เข้าถึงได้จาก Rappler: https://www.rappler.com/entertainment/pageants/246792-transcript-question-and-answer-final-word-2019/
- ลูกสาวเล่า แม่แอบซ่อน 'กล้องวงจรปิด' ในห้องนอน อ้างห่วงลูก-กลัวไม่อ่านหนังสือ. (8 พฤศจิกายน 2564). เข้าถึงได้จาก Khaosod Online: https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6719843
ผู้เขียน : PK (นามปากกา)
เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
บรรณาธิกรต้นฉบับ: aree.n
กองบรรณาธิการ: J P M T
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in