เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
หลังชั้นหนังสืออ่าน-คิด-เขียน
หลังชั้นหนังสือ ตอน แผ่นดินของเรา ของ แม่อนงค์ EP.01-03
  • เมื่อเราชวนนักเรียนวรรณกรรมมาอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน จึงก่อเกิดเป็น 3 Podcast 3 แว่นมุมองที่จะพาคุณไปสัมผัสแนวทางการวิเคราะห์วรรณกรรมที่หลากหลาย รอบด้าน เพื่อมองเห็นมิติที่ซับซ้อนของการอ่านนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา ค่ะ


    อ่านนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา เต็มเรื่องฉบับ ebook ได้ ฟรี ทางแอพพลิเคชั่น Meb 




    EP.01 

    รายการ "หลังชั้นหนังสือ" ตอนนี้ เป็นการนำนวนิยายชื่อดังเรื่อง แผ่นดินของเรา ของแม่อนงค์ (นามปากกา) หรือคุณมาลัย ชูพินิจ มาชวนคิดถึง "ตัวละครสำคัญ" ในเรื่อง โดยนำตัวละคร        "นเรนทร์" มาเป็นคู่เทียบกับตัวละครต่างๆ เพื่อย้อนมองว่าความแตกต่างของตัวละครเชื่อมโยงกับชะตาชีวิตที่ดำเนินไปอย่างไรบ้าง
    .
    ความทุกข์ระทมของตัวละครทั้งหลายนั้นเกิดจากปัจจัยภายในคือความเชื่อและชุดคุณค่าที่ตัวละครยึดถือ หรือเกิดจากปัจจจัยภายนอกซึ่งอาจมี "ใครบางคน" กำหนดเส้นทางชีวิตของตัวละครให้ต้องเดินไปแบบนี้กันแน่ ติดตามชมได้ในคลิปนี้นะคะ (กระซิบดังๆ ว่ามีภาพวาดประกอบให้ได้ฟังและดูจนเพลินเลยค่ะ)

    .
    สร้างสรรค์ผลงานโดย..ณัฎฐณิชา เจริญพร ชนินท์ บุญเหลือง และสมรทอง พูลภักดี (กราฟิก) 
    นิสิตภาควิชาภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ
    .
    ขอบคุณที่มาเพลงประกอบ
    Music : She’s the moon
    Musician : Carl Storm
    .
    .


    EP.02

    เกิดมาครั้งหนึ่ง หัวเราะ ร้องไห้ บนแผ่นดินของใคร แผ่นดินของเรา….
    .
    Podcast นี้จะพาทุกคนไปสำรวจบรรยากาศในเรื่อง แผ่นดินของเรา ผลงานนวนิยายของปรมาจารย์แห่งการประพันธ์ “มาลัย ชูพินิจ” ชวนคิดเกี่ยวกับเรื่องราวความรักของชายต่างวัยสองคนที่มีต่อหญิงคนเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศของอารมณ์แห่งยุคสมัยในช่วงปลายของการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตลอดจนความไม่เท่าเทียมกันในเชิงอำนาจของเพศสภาพ
    .

    วรรณกรรมเรื่องนี้ได้บันทึกอารมณ์แห่งยุคสมัยไว้อย่างไร มาร่วมหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันนะคะ
    .
    สร้างสรรค์ผลงานโดย..กนก อริยะพัฒนกุล อจลญา เนตรทัศน์ และนัฐธิดา หลวงแนม (ทำกราฟิก) นิสิตภาควิชาภาษาไทย อักษรฯ จุฬาฯ
    .
    บรรณานุกรม
    - กฤษณ์พชร โสมณวตัร. (2558). นักกฎหมายไทยในวรรณกรรมหัวก้าวหน้าพ.ศ. 2475-2500. วารสารมนุษยศาสตร์สาร, 16(2), 68-111. สืบค้นจาก http://journal.human.cmu.ac.th/ojs//files/journals/1/articles/127/public/127-592-1-PB.pdf
    - กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. (2558). ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์: วิวัฒนาการรัฐไทย. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
    - คำ ผกา. (2560). คำ ผกา อ่านใหม่ ‘แผ่นดินของเรา’ : ว้าเหว่ ว่างเปล่า เสื่อมถอย. สืบค้นจากhttps://www.the101.world/reading-again-pan-din-kong-rao-book/
    - ม.ป.ก. (2554). เรื่องย่อละครไทย: แผ่นดินของเรา. สืบค้นจาก https://drama.storysiam.com/แผ่นดินของ
    เรา/
    - มาลัย ชูพินิจ. (2558). แผ่นดินของเรา (พิมพ์รั้งที่ 8). นนทบุรี: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์.
    - สรณัฐ ไตลังคะ. (2558). นวนิยายเราลิขิตและแผ่นดินของเรา:วาทกรรมเกี่ยวกับสตรีไทยในช่วงทศวรรษ 2480-2490. สืบค้นจาก http://annualconference.ku.ac.th/cd53/13_040_O308.pdf
    .
    .
    .


    EP.03

    ทัศนะวิจารณ์การเมืองในงานสารคดี อาจสามารถสกัดออกมาได้ง่าย แต่เมื่อทัศนะวิจารณ์นั้นๆ ได้รับการแปรรูปใหม่ในนาม "นวนิยาย" ความสนุกจึงเกิดขึ้น เมื่อเราลองอ่าน นวนิยายเรื่อง "แผ่นดินของเรา" ใหม่ โดยใช้แว่นประวัติศาสตร์การเมือง
    .
    แผ่นดินของเรา จากปลายปากกาของ แม่อนงค์ เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ ‘แคปเจอร์’ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยช่วงสำคัญอย่างการปฏิวัติ 2475 โดยที่ผู้เขียนอาจจะไม่ได้บรรยายออกมาโดยตรง Podcast "หลังชั้นหนังสือ" ตอนนี้จึงขอนำเสนอแนวทางการตีความแบบลงรายละเอียด ที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ว่านวนิยายเรื่องนี้สะท้อนทัศนะวิจารณ์ของผู้เขียนที่มีต่อภาพการเมืองในยุคนั้นผ่านเรื่องราวของครอบครัว "จิระเวศน์"
    .
    งานชิ้นนี้ต่อยอดความคิดจากบทความเรื่อง "อ่านใหม่ ‘แผ่นดินของเรา’ : ว้าเหว่ ว่างเปล่า เสื่อมถอย" ของ คำ ผกา. (2560). สืบค้นจาก https://www.the101.world/reading-again-pan-din-kong-rao-book/ คณะผู้จัดทำขอขอบคุณที่จุดประกายไอเดียการวิเคราะห์มา ณ ที่นี่ค่ะ และรู้สึกยินดีมากยิ่งขึ้นที่ได้พบคำตอบใหม่ๆ จากการอ่านใหม่ครั้งนี้
    .
    สร้างสรรค์ผลงานโดย ณัชชา บริรักษ์วรากร, พุทธิชาต มาแดง, อภิชญา ลี้ละประเสริฐกุล 
    และปานตา ผลบำรุงวัชระ (กราฟิก) นิสิตอักษรฯ จุฬาฯ
    ผลงานในรายวิชา 2201252 “วิวัฒนาการวรรณกรรมไทย” ปีการศึกษา 2563 
    .

    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง 
    .
    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558
    .
    ขอบคุณที่มาของชื่อรายการ "หลังชั้นหนังสือ" ซึ่ง "ณัฐวุฒิ จันทะลุน" เป็นผู้ริเริ่มค่ะ



  • สะท้อนย้อนคิดหลังการชมรายการ "หลังชั้นหนังสือ"   เพราะนี่คือเรื่องราว “แผ่นดินของเรา”



    ขอบคุณที่มารูปภาพ: https://www.mebmarket.com/index.php?action=BookDetails&book_id=95435

    ผมเลือกฟัง podcast ของนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา จาก 3 กลุ่ม การฟังครั้งนี้ได้ต่อยอดความคิดและตอกย้ำความเห็นของผมได้ดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการยืนยันว่า เรื่องราวในนวนิยายเรื่อง แผ่นดินของเรา คือเรื่องราวของแผ่นดินของเรา อันหมายถึงประเทศไทย

    แม้ว่าเรื่องราวของนวนิยายจะเป็นเรื่องราวความรักของชนชั้นสูงในสยามช่วงปลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอาจทำให้เรื่องนี้กลายเป็นวรรณกรรมพาฝัน ทว่า ความจริงแล้วเรื่องนี้กลับแฝงนัยยะทางการเมืองและสะท้อนภาพสังคมแห่งยุคสมัย รวมทั้งแสดงถึงทัศนะทางการเมืองของผู้แต่งอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า “แผ่นดินของเรา” คือบันทึกทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในสมัยที่สังคมอุดมไปด้วยความเปลี่ยนแปลง และการปะทะกันของกระแสแนวคิดต่าง ๆ อย่างรุนแรง

    ในเรื่อง แผ่นดินของเรา สะท้อนถึงยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในช่วงการอภิวัฒน์สยาม และหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและวิถีชีวิตของคนในสังคม เช่น การศึกษาในต่างประเทศ ความเป็นสมัยใหม่ แนวคิดเสรีนิยม เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สังคมเกิดการปะทะกันของกลุ่มคนที่สมาทานแนวคิดอันแตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม

    แต่เดิมนั้น ผมมีความเห็นว่า ผู้แต่งคงจะฝักใฝ่ในความเป็นอนุรักษ์นิยม เนื่องจากตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องโดยเฉพาะฝ่ายเสรีนิยมนั้นจะพบเจอกับชะตากรรมที่เลวร้าย อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ฟังความเห็นจากเพื่อนกลุ่มอื่นแล้วทำให้ตระหนักได้ว่า ผู้แต่งนั้นยังคงฝักใฝ่ในอนุรักษ์นิยม เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้ความพอดีหรือไม่สุดโต่ง

    ดังจะเห็นได้จากการที่ตัวละครในฝ่ายเสรีนิยมแบบสุดโต่ง ทั้งนเรนทร์และภัคคินีล้วนเจอความยากลำบากในชีวิตและความล่มจมที่พรากความสุขในชีวิตแบบเดิมไปเสียสิ้น นอกจากนี้ตัวละครฝ่ายอนุรักษ์นิยมแบบสุดโต่ง อย่างอัจฉราก็พบกับความทุกข์เช่นกัน จนเป็นเหตุให้เกิดการตรอมใจจนชีวิตที่เหลืออยู่นั้นเหมือนจะพังทลายลงไปในทันที แต่ตัวละครทั้ง 2 ฝ่ายที่สมาทานแบบพอดี ได้แก่ สุดา และธำรง หรือเป็นตัวละครที่รู้จักการปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงนั้นล้วนแต่สามารถรอดพ้นจากวิกฤตชีวิตนี้ได้ดีกว่าตัวละคนที่เหลือ

    ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ผู้แต่งต้องการให้ผู้คนในสังคมและประเทศไทยนั้นเลือกปรับตัว โดยนำเอาความเป็นสมัยใหม่ที่เห็นว่าเหมาะสมมาปรับใช้กับความเป็นไทยตามจารีตแบบดั้งเดิม เพื่อคงไว้ซึ่งความงามแบบไทย 

    ส่วนเรื่องอำนาจทางการเมืองของเพศสภาพที่แตกต่างกันในเรื่องนั้น ทำให้ผมสามารถนำไปต่อยอดกับแนวคิดเรื่องวาทกรรมสตรีเพศได้ชัดเจนและเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผลมากขึ้น เพราะสามารถตอบคำถามในใจเกี่ยวกับการปรากฏอย่างเด่นชัดของวาทกรรมในเรื่องนี้ว่า เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อันใด

    เมื่อนำเรื่องวาทกรรมมาวิเคราะห์ประกอบกับการปรับตัวในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจึงทำให้เห็นว่า ความดีงามและความเหมาะสมเกี่ยวกับความเป็นหญิงถูกกล่าวถึงมากกว่าความเป็นชาย โดยเฉพาะเรื่องของ วาทกรรมกุลสตรี ดังในเรื่องที่สุดา ผู้เป็นฝ่ายเสรีนิยมแบบตะวันตก แต่ก็มีชีวิตที่ดีได้จากการประพฤติตัวตามอย่างกุลสตรีไทย แต่ผู้แต่งก็มิได้ต้องการให้ยึดถือมากเกินไปเพราะอาจนำมาซึ่งความทุกข์เช่นเดียวกับอัจฉรา

    การจัดระเบียบในสตรีเพศจากผู้ชายนั้นเกิดจากอำนาจทางสังคมของระบอบชายเป็นใหญ่ที่ทำให้ผู้ชายมีสถานะที่เหนือกว่า จึงมีอำนาจในการกำหนดค่านิยมและความประพฤติอันดีให้แก่ผู้หญิง ซึ่งอำนาจเหนือกว่านี้ก็พบได้ในเรื่อง แผ่นดินของเรา จากการที่ตัวละครสตรีพบกับความทุกข์จนเสียชีวิตด้วยกันแทบทั้งสิ้น แต่ตัวละครชายกลับรอดชีวิตมาได้ โดยอำนาจนี้ก็สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม ดังเห็นได้จากวาทกรรมดอกไม้ของชาติที่ผู้ชายเป็นผู้กำหนดความประพฤติของผู้หญิงไทย
    สุดท้ายนี้ เรื่อง แผ่นดินของเรา จึงเป็นเรื่องของแผ่นดินไทยของเราโดยแท้จริง โดยเป็นเรื่องราวในสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำปัญหาต่าง ๆ จากค่านิยมและความเป็นตะวันตกที่เป็นเรื่องแปลกในสังคมไทย ผู้แต่งจึงเสนอทางออกของปัญหาด้วยการนำเสนอแนวคิดเรื่องการเลือกรับปรับใช้ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความดีงามแบบจารีตและทันสมัยตามสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ผู้หญิงนั้นถูกกำหนดพฤติกรรมให้เลือกรับแนวคิดนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากสถานะของอำนาจที่แตกต่างกันไปตามเพศสภาพ จึงกล่าวได้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องราวของความรักแบบธรรมดา ทว่า เรื่องนี้คือวรรณกรรมที่มุ่งเน้นจะขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีและเอาตัวรอดได้ในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง


    เรื่อง:   ศราวุธ วังหลวง
    เขียนขึ้นขณะอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
    .
    เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ทำซ้ำหรือดัดแปลง 
    .
    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in