*บทความนี้สปอยล์ทุกอย่างเท่าที่จะสปอยล์ได้*
เป็นหนังที่ดูจบแล้วหมกมุ่นอยู่พักใหญ่ แถมยังมีอะไรให้ขบอีกมากจนต้องขอบ่นยาวๆ ทั้งที่ไม่ได้จะว่าง ฮือ แต่ขอนิดนึง แบบคร่าวๆ ละกัน ความแย่คือสามารถดูได้ใน Netflix เนี่ยแหละ ติดใจอะไรก็วนกลับไปดูย้ำซ้ำๆ เวรเอ๊ย งานการไม่ทำ โมโห ขุดหาจนกว่าจะได้คำตอบ (หัวเราะเสียสติ)
"Annihilation" เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือชื่อเดียวกันของเจฟฟ์ แวนเดอร์เมียร์ โดยฉบับหนังสือนั้นเป็นไตรภาค มีภาคต่อคือ Authority และ Acceptance แต่ในฉบับภาพยนตร์ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ผู้กำกับและเขียนบทตั้งใจให้มันเป็นหนังเดี่ยวจบในตัวเองเท่านั้น เขาเขียนบทภาพยนตร์ขึ้นจากประสบการณ์เท่าที่จำได้หมายรู้จากการได้อ่านหนังสือ แทนที่จะกลับไปอ่านหนังสือซ้ำ เพื่อให้เข้าถึงบรรยากาศความรู้สึก 'เหมือนฝัน' อย่างตอนที่เขาอ่าน มันจึงไม่ได้ดำเนินเรื่องเหมือนหนังสือเท่าไร เรียกได้ว่าเป็นการดัดแปลงที่อาศัยดีเอ็นเอตั้งตนเดียวกัน ธีมเดียวกัน แต่ต่อยอดแตกแขนงออกเป็นอะไรที่ใหม่กว่า และลึกซึ้งไปคนละทาง
Annihilation นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ลึกลับในม่านสีรุ้งวุ้งวิ้งๆ ซึ่งเรียกกันว่า "Shimmer" (เน็ตฟลิกซ์ไทยแปลว่า ม่านรุ้ง) อันเกิดขึ้นหลังจากดาวตกพุ่งชนหอประภาคารในพื้นอุทยานแห่งหนึ่ง กลุ่มสำรวจรวมถึงโดรนหรืออุปกรณ์ใดก็ตามที่ส่งเข้าไปไม่เคยได้กลับออกมา จนกระทั่งสิ่งแรกที่กลับออกมาคือ "เคน" (ออสการ์ ไอแซค) สามีของ "ลีน่า" (นาตาลี พอร์ตแมน) นางเอกของเรา เคนจากเธอไปเข้าร่วมภารกิจนี้นับปี อยู่ๆ เขากลับมาบ้าน และแสดงอาการป่วย ตกเลือดจนต้องพาไปโรงพยาบาล ระหว่างทางกลับถูกดักชิงตัว ทั้งเขาและเธอถูกพาไปยัง "Area X" อันเป็นสถานที่ตั้งศูนย์วิจัย Southern Reach เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเจ้าปรากฏการณ์ Shimmer ที่ว่านี้ ลีน่าตัดสินใจเข้าร่วมกับทีมสำรวจที่กำลังจะเข้าไปในม่านรุ้ง เผื่อว่ามันจะทำให้เธอได้พบคำตอบที่จะช่วยรักษาสามีของเธอได้
Note: ในหนังสือไม่เคยเอ่ยชื่อตัวละครใดเลย เรื่องราวบรรยายจากมุมมองของนางเอกที่เป็นนักชีววิทยา และเรียกคนอื่นในทีมตามอาชีพ ปูมหลังความเป็นมาของแต่ละคนก็แทบไม่เคยถูกแตะถึงเลยเช่นกัน ในขณะที่ภาพยนตร์อธิบายเรื่องราวที่มาที่ไปของคนในทีมนิดหน่อย และเน้นหนักกับตัวนางเอกอย่างลีน่า
การเดินทางเข้าไปสำรวจม่านรุ้งในภาพยนตร์ Annihilation โดยฝีมือของอเล็กซ์ การ์แลนด์ จึงเป็นเหมือนการเดินทางเข้าสำรวจลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์มากเสียยิ่งกว่าการศึกษาค้นคว้าปรากฏการณ์จากนอกโลก...
________________________
“It’s about how hard it is to be,
how hard it is to be a person.”
- Alex Garland -
หลายคนที่ดูจบคงแชร์ความรู้สึกแรกคล้ายๆ กันว่า WHAT THE FUCK? เมื่อกี้เราดูอะไรไปวะ? หนังจะสื่ออะไรกับเรา เพราะในความไซไฟ วิทยาศาสตร์ ชีวศาสตร์ การก่อกำเนิด กลายพันธุ์ ดำรงอยู่และสูญสิ้นไปของสรรพชีวิต เราต่างรู้สึกได้ว่ามีปรัชญาชีวิตลึกล้ำมากมายสอดแทรกอยู่ในนั้น และหนังไม่ได้ให้คำตอบอะไรที่ชัดเจนกับเรา ตรงกันข้าม มันตั้งคำถามมากกว่า ทำไมลีน่าถึงทำลายชีวิตคู่ตัวเองแบบนั้น ? ทำไมมนุษย์จำนวนมากทำแบบนั้น? การ์แลนด์ตั้งใจทำหนังเรื่องนี้มาเพื่อสำรวจและศึกษาถึงแรงขับลึกๆ ในเงามืดของจิตใจมนุษย์ อะไรทำให้เราชอบมีพฤติกรรมทำลายตัวเอง?
อย่างที่การ์แลนด์ว่า "มันเป็นเรื่องราวความลำบาก...ว่ามันยากแค่ไหนที่จะเป็นคนสักคน"
Cancer: The Immortal Cells
เพื่อศึกษาทดลองตอบคำถามข้างต้นที่กล่าวมานั้น Annihilation ใช้วัฏจักรชีวิตของเซลล์มาเปรียบเทียบกับกลไกอันซับซ้อนในจิตใจของคนเรา กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงคือใช้ "เซลล์มะเร็ง" หนังเปิดเผยชีวิตประจำวันของลีน่าในฐานะอาจารย์ของสถาบันการแพทย์จอนส์ฮอปกินส์ เธอกำลังบรรยายเรื่องการแบ่งตัวของเซลล์กับนักศึกษา โดยเซลล์นั้นเป็นเซลล์ที่นำมาจากเนื้อร้าย จากปากมดลูกของหญิงวัย 30 ปี
คงไม่ใช่ความบังเอิญที่ข้อมูลของเจ้าของเซลล์มะเร็งศึกษาซึ่งลีน่ากำลังบรรยายนั้นจะตรงกับ
เฮนเรียตตา แลกส์ (Henrietta Lacks) เจ้าของเซลล์อมตะแรกๆ ของโลก เซลล์ซึ่งได้ชื่อมาจากชื่อจริงและนามสกุลของเธอผสมกัน เรียกว่า
HeLa Cell (อ่านว่า ฮีลา) ต้องอธิบายก่อนว่า เฮนเรียตตา แลกส์ เป็นหญิงวัย 30 ปี ซึ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
จอนส์ฮอปกินส์ เมื่อปี 1951 และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก เธอเสียชีวิตในวัย 31 ปี แต่เซลล์มะเร็งของเธอยังมีชีวิตอยู่ ดำเนินกิจกรรมภายในเซลล์เป็นปกติ และแบ่งตัวเจริญเติบโตอย่างไม่ส่ิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน ยังผลให้เกิดปาฏิหาริย์ในวงการแพทย์มากมายนับไม่ถ้วน -ตัวอย่างเช่น วัคซีนรักษาโรคโปลิโอ- ด้วยการศึกษาวิจัยจากเนื้อเยื่อที่หลงเหลือจากการผ่าตัดพิสูจน์ชิ้นเนื้อมะเร็งของเธอ
เหตุที่เซลล์มะเร็งดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น "เซลล์อมตะ" เพราะมันคือ Continuous Cell Line หรือเซลล์ที่มีคุณสมบัติแบ่งตัวได้ไม่สิ้นสุด ทำให้สามารถเพาะเลี้ยงต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่มีวันตาย ข้อเสียก็คือมันอาจมีการกลายพันธุ์อยู่บ้าง
ฉากย้อนเหตุการณ์ตอนท้ายๆ ของเรื่อง ลีน่ากับเคนนั่งอยู่ด้วยกันบนโซฟาเดียวกัน แต่ต่างคนต่างนั่งอ่านหนังสือ สื่อให้เห็นระยะห่างระหว่างทั้งสองคนที่อาจก่อให้เกิด(หรือเป็นผลมาจาก?)ช่องว่างในความสัมพันธ์ แต่สิ่งที่จะให้สังเกตก็คือในมือของลีน่า ใช่แล้ว...เธออ่าน "The Immortal Life of Henrietta Lacks" หนังสืออัตชีวประวัติของเฮนเรียตตา แลกส์ เจ้าของเซลล์อมตะนั่นเอง
"มะเร็ง" เป็นกลุ่มของโรคเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเซลล์อย่างผิดปกติ โดยเซลล์จะแบ่งตัวและเจริญอย่างควบคุมไม่ได้ มีศักยภาพรุนแรงกับบริเวณใกล้เคียง และสามารถลุกลามไปยังส่วนอื่นของร่างกายที่อยู่ไกลออกไปได้ด้วย
ฟังดูคุ้นๆ ไหม?
"Shimmer" หรือ ม่านรุ้ง ใน Annihilation เป็นปรากฏการณ์จากต่างดาว ซึ่งแผ่ขยายจากหอประภาคารและเจริญเติบโตกินอาณาเขตออกไปอย่างควบคุมไม่ได้ มีศักยภาพก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ต่อสิ่งมีชีวิตในละแวกใกล้เคียงอย่างรุนแรง และลุกลามไปยังส่วนที่ไกลออกไปเรื่อยๆ ด้วย
ในบทภาพยนตร์ร่างหนึ่งของ Annihilation มีฉากซึ่งไม่มีในภาพยนตร์ตัวที่ฉาย ลีน่าบรรยายกับนักเรียนของเธอเกี่ยวกับมะเร็งเอาไว้:
"เราอาจอธิบายได้ว่ามะเร็งคือการกลายพันธุ์ระดับยีนซึ่งก่อให้เซลล์เจริญเติบโตอย่างไม่อาจควบคุม แต่การกลายพันธุ์ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เราดำรงอยู่ได้เช่นกัน มิฉะนั้นเราคงไม่อาจวิวัฒนาการจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เป็นต้นกำเนิดเราได้
ฉันว่ามันเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมเราจึงกลัวมะเร็งกันนัก ไม่เพียงแต่ทำให้เราเจ็บปวดและฆ่าเราเท่านั้น มันเปลี่ยนแปลงเราด้วย"
ขณะเดียวกันในตัวหนัง เมื่อโลแมกซ์ (เบเนดิกต์ หว่อง) สรุปว่ามันคือเอเลี่ยน และเชื่อว่ามันมีจุดประสงค์อะไรสักอย่างในการมาที่โลก ลีน่ากลับไม่คิดอย่างนั้น "แต่มันทำให้สิ่งแวดล้อมเราผิดเพี้ยนกลายพันธุ์ มันทำลายทุกอย่าง" เขาว่า แต่เธอกลับคิดว่ามันไม่ได้ทำลายอะไร มันแค่ "เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง" และ "สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ"
กล่าวในแง่กายภาพ โลกอาจเปรียบได้กับร่างกาย ม่านรุ้งจากต่างดาวจึงเปรียบเสมือนมะเร็งที่กำลังลุกลามออกไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศโลกตั้งแต่สิ่งแวดล้อมระดับมหภาคลงไปจนถึงระดับพันธุกรรมของสรรพชีวิต ทีมสำรวจก็เป็นดั่งภูมิคุ้มกัน หรือความพยายามทางการแพทย์ที่จะหยุดยั้งมะเร็ง และหากในตอนสุดท้ายลีน่าไม่ได้ทำลายมันเข้า เชื่อว่ามันคงกลืนกินเปลี่ยนแปลงโลกของเราอย่างต่อเนื่องไปจนหมดทั้งใบ อย่างที่ดร.เวนเทรส (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) กล่าวเอาไว้ก่อนเธอจะกลายเป็นดวงแสงวาววาบวิ้งวับวะแวบวุ้ง(?)ว่า "มันจะเติบโตขึ้นกระทั่งมันกลืนกินทุกส่วน ร่างกายและจิตใจของเราจะแตกสลายกลายเป็นเศษเสี้ยวเล็กๆ ของมัน จนเราไม่เหลือซาก"
(แต่ว่าเธอหยุดยั้งมันได้แล้วจริงๆ หรือ? - เดี๋ยวเราจะมาพูดถึงในตอนท้ายอีกที)
สิ่งที่น่าสนใจก็คือทุกคนคงสงสัยแหละว่าน้องสายรุ้ง เจ้าสิ่งเอเลี่ยนเนี่ย ตกลงมันต้องการอะไร? โลแมกซ์ผู้สอบสวนลีน่าคิดว่ามันมีจุดประสงค์เป็นภัย ลีน่าคิดว่ามันแค่กำลังเปลี่ยนแปลง และไม่คิดว่ามัน 'ต้องการ' อะไร (เธอไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันรู้ตัวว่าเธออยู่ที่นั่น) ดร.เวนเทรสเองก็ไม่รู้ว่ามันมีความต้องการไหมด้วยซ้ำ หากใครจะอกแตกตายกับเรื่องนี้ก็ขออนุญาตแนะนำให้ดึงสลักระเบิดฟอสฟอรัสฆ่าตัวตายเลย เพราะจุดประสงค์ของเอเลี่ยนในเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเข้าใจได้ กล่าวได้อีกอย่างว่า เราไม่สมควรและไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจความต้องการของเอเลี่ยน
ไหงงั้น?
ก็เพราะมันเป็นเอเลี่ยนไงโว้ย! การ์แลนด์บอกเองว่าเขาต้องการให้เอเลี่ยนในเรื่องเป็นเอเลี่ยนจริงๆ เนื่องจากหนังเอเลี่ยนทั่วไปฮอลลีวูดมักออกแบบให้มันต้องการทรัพยากรเราบ้าง ต้องการมายึดโลกเราอาศัยบ้าง ต้ัองการเข่นฆ่าทำลายล้างเผ่าพันธุ์ปัญญาด้อยต้อยต่ำดาวอื่นให้หมดบ้างอะไรบ้าง ซึ่งเขารู้สึกว่ามันเป็นวิธีคิดแบบมนุษย์เอง เราจึงคุ้นเคยกับเอเลี่ยนที่มีชุดความคิดแบบมนุษย์ กับ Annihilation เขาต้องการให้เอเลี่ยนแตกต่าง เป็นเอเลี่ยนที่มีความเอเลี่ยนแท้จริง ไม่ได้ต้องการอะไรเหมือนเรา เราไม่ควรจะรู้หรือเข้าใจว่าเอเลี่ยนคิดยังไงต้องการอะไรสิ ก็ถ้ามันเป็นเอเลี่ยนน่ะ ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์หัวกะทิระดับไหนที่ส่งเข้าไป ก็คงไม่เข้าใจว่ามันต้องการอะไร เพราะมันเอเลี่ยนเก่งงงงงง
สิ่งที่มันทำต่างหากสำคัญกว่า
เพราะในความเป็นปริศนาของการมาและปักหลักอยู่ในโลกของเรานั้น สิ่งที่มันทำคือสังเกต ศึกษา เลียนแบบ ทำซ้ำ และเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในม่านรุ้ง ดังนั้น หากเราจะมองว่าม่านรุ้งกำลังทำลายล้างสิ่งแวดล้อมของเราด้วยการหักเหกลายพันธุ์ทุกสิ่ง (อย่างที่โลแมกซ์คิด) ก็ต้องบอกเลยว่า นั่นเป็นเพราะมันกำลังลอกเลียนพฤติกรรมเรา อย่างที่มันลอกเลียนท่าทางของลีน่าในตอนท้ายของเรื่องยังไงล่ะ
Annihilation กำลังสื่อว่า มนุษย์นั่นแหละกำลังทำลายโลกของตัวเอง
ตบมาตบกลับ ไม่โกง - น้องสายรุ้งไม่ได้กล่าวไว้
เป็นเรื่องที่จะพูดให้ฟังก็คงซ้ำซากน่าเบื่อ แต่มันกำลังเกิดขึ้นจริงๆ และส่งผลต่อโลกที่เราอาศัยอยู่ในทุกๆ วัน เผ่าพันธุ์มนุษย์เจริญรุ่งเรืองบนโลกด้วยการล้างผลาญทรัพยากร เบียดเบียนธรรมชาติ ทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อมลพิษ เปลี่ยนให้ดาวอันสวยงามดวงนี้ค่อยๆ บิดเบี้ยวไปอย่างไม่น่าให้อภัย สภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลกก็ฟ้องอยู่ทุกวัน ยังไม่นับการบ่อนทำลายกันเองระหว่างมนุษย์ในสังคม อาชญากรรม เหตุกราดยิง การใช้อำนาจบาตรใหญ่กดขี่ผู้ด้อยกว่า ฯลฯ สารพัดสารเพ มนุษย์เรานี่แหละมีศักยภาพสูงสุดในการทำลายล้างโลก มนุษย์เรานี่แหละมีศักยภาพสูงสุดในการทำลายล้างตัวเอง
มนุษย์เรานี่แหละเป็นมะเร็งของโลกใบนี้
และเราก็เป็นเซลล์มะเร็งที่ฆ่าไม่ตายจริงๆ เสียด้วย เราลุกลามด้วยการขยายเผ่าพันธุ์ออกไปเรื่อยๆ ทำลายโลกของเราเองไปเรื่อยๆ Annihilation สะท้อนความจริงอันน่าเจ็บปวดและไม่อาจเยียวยานั้นกลับมาหาเราโดยอาศัยเจ้าสิ่งเอเลี่ยนสีรุ้งที่เลียนแบบพฤติกรรมเรามาแสดงให้เราดู แต่หนังไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่นั้น นอกจากชี้ข้อบกพร่องของพวกเราในระดับมนุษยชาติแล้ว มันยังพาเราดำดิ่งลึกลงไปสำรวจมะเร็งร้ายในจิตใจตัวเองเช่นกัน
________________________
Life: The Immortal Cycle
ความสลับซับซ้อนของจิตใจมนุษย์ยังเป็นอะไรที่เราไม่อาจหยั่งถึงได้อย่างครบถ้วนแท้จริง ดังเช่น
ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้เปรียบเปรยจิตใจของคนเราเป็นดั่งภูเขาน้ำแข็ง ส่วนที่ลอยพ้นน้ำถูกแสงแดดส่อง คือ
'จิตสำนึก' เป็นความรู้สึกนึกคิดในขณะที่เรารู้ตัว ควบคุมได้ เป็นไปตามหลักศีลธรรมและเหตุผลเพื่อการอยู่ในสังคม แต่
'จิตใต้สำนึก' ซึ่งเปรียบดั่งภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้น้ำลงไปในความมืดมิด เกิดจากการสั่งสมของแรงจูงใจ ความฝัน สัญชาตญาณต่างๆ มันยังเป็นอะไรที่เราเข้าใจน้อยมาก และมักถูกกดทับเอาไว้ลึกแสนลึก ไม่ค่อยมีโอกาสได้แสดงออกมา เพราะส่วนใหญ่มันเป็นแรงกระตุ้นที่ด้านมีเหตุผลในตัวเราไม่อาจยอมรับ และสังคมไม่อาจยอมรับ
และจิตใจที่ซับซ้อนของคนเราก็ทำให้ชีวิตเรากลายเป็นเรื่องซับซ้อน
เราเกิด มีชีวิตอยู่ มีความสัมพันธ์ เจ็บปวด ผิดหวัง เสียใจ ทำลายตัวเอง และประกอบร่างสร้างตัวตนจากเศษซากที่เหลือขึ้นใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะได้มีชีวิต และทำลายตัวเองด้วยเหตุผลใหม่ ที่บางครั้งเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไม วนเวียนไปอย่างนั้นไม่จบสิ้น
เป็นวงจรทำลายล้าง
สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ แต่ไม่มีตัวละครใดในเรื่องพูดถึงมันเลยสักแอะ คือ "รอยสักอูโรโบรอส" งูที่ขดตัวเป็นเลขแปด (หรือสัญลักษณ์ Infinity) กินหางตัวเอง ที่ปรากฏบนท่อนแขนล่างของลีน่า ซึ่งมันไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอดเวลา และอันย่าก็มีมันเหมือนกัน เช่นเดียวกับทหารที่ถูกเคนผ่าเปิดหน้าท้อง
"อูโรโบรอส" (Ouroboros) หรือ งูกินหาง เป็นสัญลักษณ์ของความไม่สิ้นสุด ความเป็นอมตะ การก่อกำเนิดจากตัวเองและจบชีวิตลงด้วยการกินตัวเอง เกิดและดับไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
ขอนอกเรื่องนิด เพราะซีรีส์จากเน็ตฟลิกซ์อย่าง Altered Carbon ก็เพิ่งจะใช้รอยสักอูโรโบรอสไปเหมือนกัน ทาเคชิ โคแวทช์ (โจล คินนาแมน) พระเอกของเรื่อง มีรอยสักอูโรโบรอส - งูกินหาง คู่กับน้องสาวของเขา โดยในเรื่องนั้น โลกอนาคตราว 300 ปีข้างหน้า คนเราสามารถมีชีวิตอมตะได้โดยเก็บ "จิตสำนึก" ที่เป็นตัวเราไว้ในสแตคส์ (Stacks) และเปลี่ยนเปลือกร่างภายนอกหรือสลีฟ (Sleeve) ได้ตามต้องการ(และตามกำลังเงิน) โดยกระบวนการย้ายจิตไปยังร่างอื่นดังกล่าวถูกเรียกว่าการ "รีสลีฟ" (Resleeve) โคแวทช์ถูกปลุกจากการจำศีล 250 ปี ขึ้นมาในร่างใหม่ของใครก็ไม่รู้ จึงเหมือนอูโรโบรอสที่เกิดใหม่ นอกจากนี้ เหล่ามหาเศรษฐีในเรื่องที่อยู่มาเป็นสามร้อยปีด้วยการรีสลีฟเข้าร่างโคลนของตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่มีวันตาย ก็สามารถเปรียบกับความเป็นอมตะของอูโรโบรอสได้ด้วยเช่นกัน
Altered Carbon แสดงให้เห็นว่าการมีชีวิตอยู่นานดุจชั่วนิรันดร์ขนาดนั้นมันกัดกินความเป็นมนุษย์ในตัวคนเรายังไง เราไม่มีทางต่อต้านความบิดเบี้ยวและเงามืดดำของจิตใต้สำนึกได้เลย แม้ว่าเริ่มต้นเราจะเป็นคนดีแค่ไหน ซึ่งเอาเข้าจริงไม่ต้องถึงร้อยๆ ปีหรอก ทุกวันนี้แค่เราแก่ตัวขึ้นอีกปีๆ จิตใจเราก็หยาบกร้านด้านชาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว นับประสาอะไรกับเหล่ามหาเศรษฐีในเรื่องที่อยู่มาหลายร้อยปี โดยที่จะทำอะไรก็ได้ เป็นอะไรก็ได้เหมือนตัวเองเป็นพระเจ้า จิตใจมันย่อมบิดเบือนผิดเพี้ยนไปหมด ในทำนองเดียวกับการอยู่ใน Shimmer นานๆ ของทีมสำรวจใน Annihilation ที่ยิ่งอยู่จิตใจยิ่งแกว่งไกวไขว้เขวไม่เป็นตัวเองเพราะถูกหักเหไปเรื่อย
________________________
กลับมาที่ Annihilation: มาดูกันว่าคุณตาไวแค่ไหน
เราเห็นรอยสักครั้งแรกที่แขนของลีน่า ในห้องสอบสวน ระหว่างเธอตอบคำถามของโลแมกซ์ ขณะที่เธอกำลังพูดถึงระดับความรุนแรงของการกลายพันธุ์ของสิ่งต่างๆ ในม่านรุ้ง
ตอนนั้นลีน่ากำลังอธิบายรูปแบบการกลายพันธุ์ "การบิดเบือนของรูปร่าง การจำลองซ้ำรูปร่าง เงาสะท้อน..." แล้วเธอก็มองไปที่รอยสัก ซึ่งในเส้นเรื่องช่วงที่เธออยู่กับเคนที่บ้าน เธอยังไม่มีรอยสักนี้ เธอเพิ่งมีมันทีหลัง เราจะเห็นว่าหลังเธอช่วยโจซี่จากจระเข้ เธอได้รอยช้ำตรงท้องแขนตำแหน่งเดียวกันนั้น ต่อมาเธอเอาตัวอย่างเลือดจากแขนตรงนั้นมาส่องกล้องและพบการแบ่งเซลล์ของเอเลี่ยนรุ้งในตัวเธอ รอยสักเพิ่งมาปรากฏขึ้นจริงๆ หลังจากเธอเหลือตัวคนเดียว (ลองเร่งแสงดูนะ)
ซึ่งความจริงแล้วรอยสักนั้น มีอยู่บนแขนของอันย่า (จีน่า โรดริเกซ) ตั้งแต่ก่อนเข้าไปใน Shimmer !
ต้องซูมดีๆ จะเห็นรอยนิดหนึ่ง (แต่ในบทภาพยนตร์ร่างก่อนหน้ามีฉากที่เขียนไว้เลยว่ารอยสักเป็นของอันย่า)
เมื่อเข้าไปใน Shimmer แล้ว ก็จะเห็นรอยสักเธอได้ชัดเจนขึ้นในแสงกลางวัน
ในโซเชียลมีเดียมีคนพูดคุยกันถึงทฤษฎีมากมายว่ารอยสักนี้สำคัญยังไง หรือมีหลักการกลไกยังไง ทำไมมันโดดจากอันย่าไปโผล่ที่ลีน่า แต่ยังไม่เจอทฤษฎีไหนที่ลงตัวเลยสักอัน ตอนแรกเราเคยสันนิษฐานว่า มันเป็นการจำลองซ้ำอย่างหนึ่งที่ Shimmer กระทำกับสิ่งที่อยู่ข้างใน (คือบางที่มันก็สำเนาอะไรซ้ำไปเรื่อยเปื่อย และอย่างที่การ์แลนด์ว่าเขาต้องการให้ในนั้นรู้สึกเหมือนฝัน มันเลยไม่มีเหตุผลหรือตรรกะที่จะอธิบายบางอย่าง มันก็แค่เกิดขึ้น เราไม่ควรเข้าใจว่าปริซึมเอเลี่ยนมีหลักการหักเหสิ่งต่างๆ ยังไง ทำไมจระเข้มีฟันฉลาม ทำไมหมีร้องเป็นเสียงคนที่มันฆ่า ทำไมกวางมีดอกไม้บนตัวและบนเขา ทำไมต้นไม้เป็นรูปร่างมนุษย์ ทุกอย่างแค่ซึมซับและสะท้อนกันและกันไปมา ทำนองนี้)
ทฤษฎีเรา: รอยสักเป็นของอันย่าก่อน เมื่ออันย่าถูกหมีตะปบตาย รอยสักจึงถูกจำลองซ้ำมาโผล่ที่ลีน่า เพื่อจะสื่อถึงการเกิดและดับไม่รู้จบ (ของอะไรไม่รู้นะ อาจจะของเอเลี่ยนที่เข้าไปในตัวทุกคน?) บางคนคิดว่า แต่รอยสักไม่ใช่สิ่งที่กำหนดโดยดีเอ็นเอนะ? ตรงนี้ขอตอบว่า เสื้อผ้าก็ไม่ใช่เหมือนกันโว้ย แต่ร่างจำลองซ้ำของเคนก็จำลองเสื้อผ้าของเคนออกมาได้เหมือนกัน เพราะงั้นช่างมัน อีเอเลี่ยนนี่มันจะก๊อปอะไรก็ได้ ก๊อปเก่ง!!!
แต่!!! นายทหารในหน่วยเดียวกับเคนที่ถูกผ่าเปิดท้อง ก็ดันมีมันเหมือนกันอีก!!!!
ทหารคนนั้นกับอันย่าจะบังเอิญมีรอยสักเหมือนกันเป๊ะโดยไม่ตั้งใจก็ได้เรอะ? ตอนนี้ทฤษฎีเลยไม่ลงตัวสักอัน นอกจากว่าเรา(และอีกหลายคน)จะคิดมากเกินไปเอง และรอยสักงูกินหางคงเป็นแค่ลูกเล่นในเชิงสัญญะที่ตัวหนังใส่ไว้เป็นประมาณอีสเตอร์เอ้ก ทำนองเดียวกับที่ซีรีส์
Altered Carbon ใช้ ก็คือจะสื่อถึงคอนเซปต์ ถึงธีมของเรื่องที่เกี่ยวกับการเกิด การตาย และการถือกำเนิดใหม่ คือการใช้ชีวิต การทำลายตัวเอง และการกลายเป็นคนใหม่ของมนุษย์เราเท่านั้นแหละ ซึ่งถ้าเราลองพิจารณาควบคู่ไปกับตัวละครอื่นในทีมสำรวจ ก็จะพบว่ามันสอดคล้องกันดีทีเดียว
แคส: สูญเสียคนที่รัก ก็เหมือนตาย
ตอนที่แคส (ตูวา โนโวตนี) เล่าให้ลีน่าฟังว่าแต่ละคนในทีม 'พัง' ยังไงบ้าง ถึงได้ตัดสินใจมาเข้าร่วมภารกิจที่ไม่น่าจะได้กลับบ้านแบบนี้ แคสเล่าว่าเธอสูญเสียลูกสาวที่ป่วยเป็นโรคลูคีเมีย (มะเร็งอีกแล้ว - แต่เม็ดเลือดขาว) และในทางหนึ่งมันก็เหมือนสูญเสียคนสองคนไปพร้อมกัน นั่นคือลูกสาวของเธอ และ 'คนที่เธอเคยเป็น'
เป็นประโยคที่สะเทือนอารมณ์มาก นักแสดงก็ถ่ายทอดได้เรียบง่ายแต่เจ็บลึกเหลือเกิน การสูญเสียใครสักคนมัน 'เปลี่ยน' คนเราได้จริงๆ มนุษย์เราเมื่อรักและผูกพันกับใครมากๆ มันเหมือนเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เป็นส่วนหนึ่งของเรา เมื่อเขาตาย เราก็เหมือนสูญเสียตัวเองไปด้วย เราไม่มีทางเป็นเหมือนเดิม กลับเป็นคนเดิมได้อีก เราได้จำยอมให้การสูญเสียเขาทำลายตัวเราเองไปพร้อมกันแล้ว และเธอที่มานั่งคุยอยู่กับลีน่านี่ก็ไม่ใช่คุณแม่คนเดิม แต่เป็นใครสักคนที่ก่อกำเนิดจากเศษซากที่เหลือของคนใจสลายเท่านั้น
มันน่ากลัวมากเมื่อมาคิดถึงตอนที่หมีร้องเป็นเสียงขอความช่วยเหลืออย่างทรมานของแคส ส่วนหนึ่งของเธอที่หลงเหลืออยู่ในวินาทีสุดท้ายก่อนชีวิตจะดับสูญไป กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหมีตัวที่ฆ่าเธอ ตอนเธออยู่ เธอรู้สึกเหมือนตายไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเสียลูกสาว ตอนเธอตาย เสี้ยวสุดท้ายของเธอกลับได้ดำรงอยู่ในตัวสัตว์ร้ายที่ทำลายเธอ ความเจ็บปวดเกิดและดับ วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่รู้จบ
และตอนที่โจซี่ แรเดก (เทสซา ทอมป์สัน) พูดถึงเสียงของแคสในตัวหมี "มันน่ากลัวนะ ที่ต้องตายอย่างหวาดกลัวและเจ็บปวด หลงเหลือเพียงความรู้สึกนั้นเป็นส่วนเดียวที่เหลือรอด ตรึงติดอยู่ในจิตของสัตว์ร้าย" มันยั่วล้อกับความทรมานของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ต้องเจ็บปวดทุกข์ทรมานจวบจนวาระสุดท้าย และเสียงร้องขอความช่วยเหลือของพวกเขาก็ยังคงหลอกหลอนคนที่รักซ้ำๆ แม้ว่าพวกเขาจะจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม เหมือนกับที่ลูกสาวผู้ป่วยลูคีเมียจากแคสไป ทิ้งไว้เพียงร่องรอยเสียงสะท้อนซ้ำๆ ในหัวใจคนเป็นแม่ให้แหลกสลายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกวันตลอดชีวิตที่เหลือ
โจซี่ สงสัยด้วยซ้ำว่าเสียงร้องของเธอจะไปติดอยู่ในตัวลีน่าหรือเปล่า (ในบทร่างเก่า เธอขอให้ลีน่ายิงเธอซะ) ในเมื่อม่านรุ้งสะท้อนหักเหทุกอย่างแบบนี้
โจซี่: ตายเพื่อรู้สึกถึงชีวิต
เรารู้ว่าโจซี่เป็นคนเปราะบาง ขวัญอ่อนที่สุดในกลุ่ม เธอมีรอยแผลกรีดตัวเองหลายอันตรงท้องแขน (ตำแหน่งเดียวกับที่บรรดารอยสักอูโรโบรอสปรากฏบนแขนตัวละครอื่นๆ เสียด้วย แต่แทนที่จะมีรอยสัก กลับมีต้นไม้ดอกไม้งอกงามขึ้นมาจากบริเวณนั้น) ซึ่งเราไม่ได้เห็นเลยจนกระทั่งฉากสุดท้ายของเธอ แคสบอกว่าตรงกันข้ามกับฆ่าตัวตาย เธอทำเช่นนั้นเพื่อให้รู้สึกถึงการมีชีวิต
เทสซา ทอมป์สันอธิบายตัวละครของเธอว่า "เธอไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตเท่าไร" (น่าจะใช้ชีวิตยังไม่คุ้มพอ ดูเป็นเด็กเรียน) "การกรีดแขนตัวเองเลยเป็นหนทางเดียวที่จะรู้สึกถึงความเจ็บปวดอย่างมนุษย์บ้าง" นอกจากนี้เธอและการ์แลนด์ยังมองตัวละครนี้เป็นสาวบริสุทธิ์ที่ไม่เคยแม้แต่จูบใครด้วย
เราสัมผัสได้ว่าโจซี่อยากใช้ชีวิต แต่ไม่ดึงดันที่จะยึดติดกับรูปแบบชีวิตที่เธอรู้จัก เธอจึงยอมรับการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอจากเจ้าสิ่งเอเลี่ยนรุ้งในตัวเธอโดยง่าย เพื่อให้เธอได้ถือกำเนิดใหม่เป็นอะไรสักอย่าง เทสซาบอกอีกว่า "คนบางคนไม่อยากยอมรับว่าเราไม่คงอยู่ตลอดไป ขณะที่บางคนเลือกใช้ชีวิตให้คุ้มที่สุด และบางคนยังตัดสินใจไม่ได้ โจซี่ก็เป็นแบบนั้น แต่เมื่อเธอเข้าไปในม่านรุ้ง เธอสัมผัสได้ว่าไม่มีอะไรต้องกลัว เธอยอมรับมัน เป็นเหตุผลว่าทำไมเธอจึงกลมกลืนเข้ากับสถานที่นั้นได้ดีกว่าคนอื่น"
คนบางคนกลัวความตาย ทั้งที่ความจริงแล้วความตายคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีค่า มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การที่โจซี่ยอมรับการตายจากร่างมนุษย์ไปมันให้ความรู้สึกสงบสุขสวยงามมากอย่างบอกไม่ถูก เพราะ ณ จุดใดจุดหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าเต็มใจหรือไม่ เราทุกคนก็ต้องโอบกอดมันเช่นกัน
ที่ท้องแขนโจซี่นั้น ดอกไม้งอกงามและลุกลามกลืนตัวเธอ เพราะเธอน้อมรับมันและปล่อยวางชีวิต
ต่างกับลีน่าที่มีรอยสักงูกินหางโผล่ขึ้นมา อาจเพราะเธอยังต้องติดในวงจรทำลายล้างไม่รู้จบ
ลีน่า: ค่อยๆ ตายจากข้างใน
ในขณะที่แคสกับอันย่าถูกฆ่าตายโดยไม่ยินยอม หรือยินยอมรับความตายแบบโจซี่ รวมถึงเวนเทรสที่กลายเป็นส่วนหนึ่งมัน และอาจต้องนับไปถึงเคนตัวจริงที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยระเบิดฟอสฟอรัสเพราะฝืนทนต่อสู้กับสภาพจิตใจอันบิดเบี้ยวจากการถูกม่านรุ้งหักเหอีกไม่ไหว ลีน่าเป็นคนเดียวที่ไม่ยอมรับการถูกกลืนกินง่ายๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอยังมีเหตุผลให้ต้องกลับไป (นั่นคือกลับไปหาเคน ด้วยความรู้สึกผิดที่ติดค้างในใจเพราะเธอนอกใจเขา) จนต้องมาต่อสู้กับน้องสายรุ้งที่รับดีเอ็นเอของเธอเข้าไป กลายเป็นภาพสะท้อนจิตใจส่วนลึกของเธอที่ออกมายืนตัวเป็นๆ อยู่ต่อหน้าเธอ
มันเป็นฉากคลาสสิกเลยแหละ การต่อสู้กับตัวเอง กับจิตใจของตัวเอง แต่หนังจำลองภาพออกมาให้เราเห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างน่าขนลุก ลีน่าไม่ได้กำลังสู้กับเอเลี่ยนหรอก เธอสู้กับเอเลี่ยนที่เลียนแบบการกระทำของเธอ เธอฟาดมัน มันฟาดเธอกลับ เธอยิ่งหนี มันยิ่งไล่ และยิ่งเธอขัดขืน มันก็ยิ่งต่อต้านเธอกลับ สุดท้ายลีน่าก็ได้เรียนรู้ว่าควรจะผ่อนปรน เพื่อให้มันปล่อยเธอเช่นกัน สุดท้ายเธอก็ได้เข้าใจว่าแท้จริงแล้ว เธอกำลังสู้กับตัวเธอเอง กับด้านมืดที่หลับใหลอยู่ภายใต้ตัวเธอลึกลงไป
ด้านมืดที่ทำลายเธอ ทำลายชีวิตแต่งงานของเธอกับสามี จนมันทำลายเขา ทำลายสองเรา
คาร์ล ยุง (Carl Jung) นักบำบัดจิตและจิตแพทย์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ผู้ก่อตั้งสำนักคิดจิตวิทยาวิเคราะห์ ซึ่งสืบทอดแนวคิดต่อยอดมาจากทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ ได้กล่าวถึงด้านมืด หรือ "เงา" ที่ซ่อนเร้นในจิตใจของคนเราเอาไว้ว่า
เมื่อเงามืดครอบงำส่วนลึกของจิตใต้สำนึก มันอาจก่อหายนะให้กับชีวิตคนเรา เข้าควบคุมความคิด อารมณ์ความรู้สึก การตัดสินใจ และการกระทำของเราโดยไม่รู้ตัว นี่เองเป็นสาเหตุของ "พฤติกรรมทำลายตัวเอง" (Self-Destructive Behaviour) ของมนุษย์ ซึ่งคนหลายคนต้องต่อสู้กับมันและควบคุมตัวเองไม่ได้ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดี บางครั้งมันถูกใช้เป็นกลไกในการเผชิญปัญหา (Coping Mechanism) ยามเมื่อเราเสียศูนย์รุนแรง บางครั้งมันอาจไม่มีเหตุผลเลยด้วยซ้ำไป ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น โรคการกินผิดปกติ ติดสุรา ติดยา ติดเซ็กซ์ ทำร้ายตัวเอง ไปถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย
ในกรณีของทีมสำรวจ: เดินทางเข้าร่วมภารกิจที่อาจไม่มีขากลับ
หรือในกรณีของลีน่า: ทำลายชีวิตคู่อันแสนสุขด้วยการนอกใจสามี
คาร์ล ยุงยังกล่าวอีกว่า "ภาระอย่างหนึ่งที่เราต้องเผชิญหน้ากับมันเข้าสักวันในชีวิต คือหลอมรวมรับเอาเงามืดนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนที่รู้สำนึกของตัวเอง ยอมรับมันอย่างเปิดใจ ไม่ใช่ในฐานะด้านที่น่ารังเกียจของเรา แต่เป็นส่วนที่จำเป็นในการเป็นอยู่ของตัวตนเราเอง"
ลีน่าเริ่มเข้าใจว่าน้องสายรุ้งแค่เลียนแบบเธอเท่านั้น เมื่อรู้ซึ้งว่าสิ่งที่เธอกำลังต่อสู้คือ "เงามืด" ในจิตใจของตัวเอง วิธีเดียวที่จะเอาชนะมันได้ก็คือยอมรับมัน ยอมรับว่าสัญชาตญาณดิบนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเรา เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เราเป็น 'เราคนที่เราเป็นอยู่' เช่นเดียวกับการที่ข้อบกพร่องทางพันธุกรรมเป็นส่วนหนึ่งของเซลล์มนุษย์...ที่ทำให้มนุษย์ต้องแก่ตัวลงและมีวันดับสลาย ข้อบกพร่องที่ทำให้เราเป็นมนุษย์
อย่างที่ดร.เวนเทรสย้อนถามลีน่าไว้ "ไม่ใช่ว่าการทำลายตัวเองมันถูกเข้ารหัสไว้ในตัวเรา โปรแกรมไว้ในเซลล์ทุกเซลล์หรือ?"
หลังจากลีน่าจุดระเบิดฟอสฟอรัสเผาน้องสายรุ้งได้สำเร็จ ความน่ารักน่าเอ็นดูก็คือน้องสายรุ้งที่เป็นเหมือนเงาสะท้อนของเธอได้เดินไปสัมผัสศพของเคนที่นั่งอยู่ตรงนั้น คล้ายจะแสดงออกว่าลึกๆ แล้วเธอยังรักเขา และที่ต่อสู้กับความรู้สึกผิดทั้งหมดทั้งปวงมาถึงตอนนี้ก็เพื่อจะกลับไปแก้ไขความผิดตัวเอง(แม้เคนที่รออยู่จะไม่ใช่เคนตัวจริงก็ตาม?) น่าเอ็นดูจัง แต่น้องลืมไปนะว่าตัวเองติดไฟอยู่ ผัวตายแล้วยังเอาไฟไปเผาซ้ำอีก จะฌาปนกิจเขาเหรอลูก: เหมือนเป็นนัยยะแฝงอีกว่าเธอรักเขานะ แต่เธอก็ได้ทำลายเขาเช่นกัน (การทำร้ายทำลายจากคนที่บอกว่ารักเรานี่มันช่างเจ็บปวดเสียเหลือเกิน) สุดท้ายไฟก็ลุกลามไปทั้งประภาคาร เผาทำลายทุกสิ่งให้ราบเป็นหน้ากลอง เหมือนกับความสัมพันธ์ของเธอกับเขา เหมือนกับชีวิตคู่ที่พังทลายของทั้งสองคน
แทนที่จะเลียนแบบพฤติกรรมลีน่าทุกย่างก้าวเหมือนเดิม น้องสายรุ้งกลับคลานลงไปในถ้ำ ใจกลางประภาคาร ทำให้ตัวเองมอดไหม้ไปพร้อมกับทุกสิ่งด้านนอกที่ตัวเองเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์เอาไว้ มันยิ่งชัดเจนว่าเจ้าเอเลี่ยนเรียนรู้พฤติกรรมของจิตใต้สำนึกมนุษย์เข้าแล้วอย่างลึกซึ้ง: ชอบทำลายตัวเอง ไม่ว่าในทางสภาพจิตใจ หรือในระดับมนุษยชาติที่เรากำลังค่อยๆ ทำลายสมดุลระบบนิเวศของโลกเราเองก็ตาม
ชีวิตคือวงจรทำลายล้าง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ เปลี่ยนแปลง แหลกสลาย ดับไป และวนกลับมาอีกครั้ง
บางความสัมพันธ์ก็เช่นกัน
แคสบอกว่าเธอคนที่เคยเป็นได้ตายไปแล้วเมื่อลูกสาวเสียชีวิตไป เคนที่กลับออกไปยังโลกภายนอกก็ไม่ใช่เคนตัวจริง เพียงมีส่วนหนึ่งของเคนที่ตายไปอยู่ในนั้น ส่วนที่ยังทำให้เขาพอจำลีน่าได้
และแม้แต่ลีน่าเองที่รักษา "ตัวตน" ในทางกายภาพของเธอเอาไว้ได้ หากก็ไม่ใช่คนเดิมร้อยทั้งร้อยอยู่ดี ดวงตาของเธอส่องประกายเช่นเดียวกับเคนซึ่งเป็นร่างจำลองซ้ำของเอเลี่ยน และเรารู้ตั้งแต่เธอตรวจเลือดตัวเองดูแล้วว่าเจ้าสิ่งเอเลี่ยนสายรุ้งอยู่ในตัวเธอ และแน่นอนมันกำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเธอในระดับดีเอ็นเอ นับจากนี้ตัวตนของเธอก่อนเข้าม่านรุ้งจะค่อยๆ ตายจากไป จะกลายพันธุ์เป็นอะไรไม่มีใครรู้ และความสำคัญของข้อเท็จจริงนี้มีหลายแง่เสียด้วย
ประการแรก: ในแง่เนื้อเรื่อง ทั้งคู่กลับออกจากม่านสายรุ้งดั่งอดัมกับอีฟที่ถูกขับไล่ออกจากสวนเอเดน โดยพระผู้สร้างก็คือเอเลี่ยนสายรุ้งผู้มากับดาวตกนั่นเอง อย่างที่ตั้งคำถามไว้ตอนต้นว่า เธอทำลายมันไปได้แล้วจริงหรือ? ดูแล้วไม่ใกล้เคียงเลยนะ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร มันก็อยู่ในตัวลีน่า และยิ่งกว่านั้น มัน "คือ" เคนด้วย มันคืองูกินหางที่ให้กำเนิดตัวเองขึ้นอีกครั้ง แล้วถ้าทั้งคู่ได้ออกจาก Area X ไปยังโลกภายนอก มันจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง? การกลายพันธุ์จะกระจายวงกว้างลุกลามมากกว่า Shimmer เดิมหรือเปล่า? สุดท้ายแล้วมันจะกลืนกินโลกเราสำเร็จสมบูรณ์แบบ? เป็นเร่ื่องที่เกินคาดเดาจริงๆ
ประการที่สอง: ในทางจิตใจ มันเหมือนเป็นอุปมาอุปไมยว่า เราไม่สามารถเดินออกจากความสัมพันธ์อันล้มเหลวได้โดยเป็นคนเดิมอีกต่อไป ไม่มีทางเลย เคนรอดกลับออกมาเพียงเศษเสี้ยว(ในร่างของเอเลี่ยนที่จำลองตัวเขา) ส่วนลีน่าก็เปลี่ยนไปแล้วเช่นกัน และทั้งรู้ว่าเคนตรงหน้าไม่ใช่สามีคนเดิม เธอกลับยอมให้เขาสวมกอด บางครั้งเมื่อฝ่ายหนึ่งทำลายความสัมพันธ์ มันเหมือนได้ทำลายตัวตนของอีกฝ่ายลงไปด้วย แต่เศษเสี้ยวบางส่วนที่ยังโหยหากันและกันก็ยังอยากก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ ต่อเติมกันและกันขึ้นมาใหม่ บางครั้งโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในอนาคตเราจะทำลายกันและกันอีกไหม แต่นั่นแหละความซับซ้อนเกินเข้าใจของการเป็นมนุษย์ นั่นแหละวงจรทำลายล้างที่เรียกว่าชีวิต(คู่)
Annihilation: In some type of relationships, we destroy each other, just so we could rebuild again, together
นอกจากรอยสักงูกินหางที่ว่าจะขดเป็นเครื่องหมายอินฟินิตี้แล้ว ภาพเซลล์แบ่งตัวที่คอยโผล่ขึ้นมาตลอดเรื่องตั้งแต่เริ่มก็เป็นรูปแบบเดียวกันด้วย ความเป็นอมตะของงูกินหาง และเซลล์มะเร็ง(รวมถึงเซลล์เอเลี่ยนรุ้ง)ที่แบ่งตัวไม่สิ้นสุดเป็นเหมือนกระจกสะท้อนอุปมาอุปไมยยั่วล้อกันไปมากับวงจรการทำลายตัวเองของมนุษย์เราดีเหลือเกิน
ที่สุดแล้ว Annihilation จัดเป็นภาพยนตร์แนวไซไฟปรัชญาที่ให้อะไรมากกว่าการตอบหรือสรุปลงความเห็นโดยแน่ชัด มันตั้งคำถามทิ้งไว้ให้เราสงสัยมากมาย ทำไมคนเราถึงทำอะไรทั้งที่รู้ว่าไม่ดีต่อตัวเอง? ทำไมคนเราต้องนอกใจทั้งที่ปากบอกว่ารัก? ทำไมเราช่างเปราะบางเหลือเกิน? ทำไม ทำไม และทำไม... แต่ปรัชญาคือสิ่งใดกันเล่าหากมิใช่การตั้งคำถามต่อทุกสิ่ง และตอบคำถามด้วยอีกคำถาม ที่สำคัญ นอกจากการเดินทางท่องไปในแดนเนรมิตอันงดงามแฝงฝันร้ายระทึกขวัญสั่นประสาทโดยปรากฏการณ์ฝีมือเอเลี่ยน Annihilation ยังทำให้เราได้ขุดค้นรากเหง้าความเป็น 'ตัวตน' ของตัวเอง สำรวจลึกลงไปในโพรงจิตใจอันซับซ้อนของมนุษย์ ให้เราได้ตระหนักว่าการเป็นคนสักคนมันยากแค่ไหน?
เผื่อว่าเราจะเริ่มมองเห็นเงามืดที่ซ่อนเร้นในตัวเรา ยอมรับมัน และก้าวผ่านมันไปได้
เผื่อสักวัน...เราจะได้กลายเป็นคนใหม่ โดยหยุดวงจรทำลายล้างตัวเองลงสักที.
หนังเรื่องนี้มันดีพมากจริงๆ นะ ตอนแรกตั้งใจอยากดูแค่หนัง Sci-fi ดีๆ แต่ได้แถมความปรัชญาเข้ามาด้วยนี่มันฟินสุดๆ เบื้องหลังม่านสายรุ้งเหมือนจิตใจคน ยิ่งสำรวจ ยิ่งซับซ้อน
ยังไงก็ขอบคุณนะคะที่เขียนให้อ่าน :))