เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatfilmbehoramiji
Talk: Ad Astra เอื้อมถึงยากกว่าดาวดวงใด คือจิตใจของเราเอง
  • *** FULL SPOILERS ALERT ! เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์แทบทั้งหมด*** 



    .
    .


    น้ำตาในอวกาศไม่อาจร่วงหล่น

    นั่นคือกฎของจักรวาล เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งพิสูจน์แล้ว ของเหลวในภาวะไร้แรงดึงดูดจะรวมตัวกันเป็นหยด น้ำตาของคนเราไม่ใช่ข้อยกเว้น

    หากคุณร้องไห้ในอวกาศ หยดน้ำตาที่เอ่อล้น, ปริ่มพ้นขอบตาอันร้อนผ่าว...จะยังคงเป็นหยดน้ำยึดเกาะผิวหน้าอยู่อย่างนั้น ยิ่งร้อง, ยิ่งขยายใหญ่จนบดบังการมองเห็น

    แล้วเหตุใด น้ำตาของ ‘รอย แม็คไบรด์’ จึงรินไหลเฉกเช่นคนอยู่บนผืนโลก?

    ใช่ มันผิดหลักการข้างต้น

    แบรด พิตต์ชี้ให้ผู้กำกับอย่างเจมส์ เกรย์เห็นแล้วเสียด้วย แต่เขาจำเป็นต้องปฏิเสธการตบแต่งภาพในหนังให้ถูกต้องสมจริง

    เพราะ “การแสดงของพิตต์ดีเกินไป”

    ซึ่ง, ก็เถียงไม่ได้จริงๆ นั่นแหละ

    การสวมบทนักบินอวกาศผู้เงียบขรึม เย็นชาฝังลึกใน Ad Astra นับเป็นหนึ่งในการแสดงที่ดีที่สุดตลอดชีวิตการเป็นนักแสดงของพิตต์ มันช่างสอดประสานและช่วยเสริมสร้างมิติด้านอารมณ์ให้กับคอนเซปต์ของเรื่องได้เป็นอย่างดี


    ชื่อภาพยนตร์ Ad Astra (To the stars — สู่ดวงดาว) มาจากวลีในภาษาละตินว่า 'Per aspera ad astra’ (Through hardships to the stars) อาจแปลตรงตัวได้ว่า ‘อุปสรรคต้องฟันฝ่า เพื่อไขว่คว้าหมู่ดาว’ แต่ความหมายโดยนัยของมันก็คือ

    ‘ความยากลำบากจะนำไปสู่ความสำเร็จ’

    ในภารกิจของแม็คไบรด์ การเดินทางจากดาวดวงที่เขาเรียกว่าบ้าน สู่ดาวอีกดวงหนึ่ง อีกดวง...และอีกดวง อาจต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ไม่ว่าจะขับรถมูนโรเวอร์หนีการไล่ล่าของโจรสลัดอวกาศ ฟาดกับลิงทดลองหิวโหด หรืองัดฝาเหล็กเป็นโล่ลอยฝ่าวงแหวนเนปจูนเพื่อขึ้นยานกลับบ้าน

    แต่ไม่มีอะไรยากเย็นไปกว่าการเดินทางผ่านสมรภูมิอารมณ์ข้างในจิตใจตนเองอีกแล้ว

    นั่นเอง, หัวใจของ Ad Astra

    หนังที่ตั้งใจพาเราไป ‘แตะ’ ดวงดาวอันไกลโพ้น เพียงเพื่อกระตุ้นให้เรากล้ามองย้อนกลับเข้ามาถึงแก่นแท้ตัวตนส่วนลึกข้างใน ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่หลายครั้งเรามักเก็บงำซ่อนไว้ รวมถึงความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้าง ซึ่งบ่อยครั้งจนถึงเป็นประจำ เราหลงลืม หรือจงใจละเลย —ด้วยเห็นแก่ตัว แค่กลัว ขี้ขลาด ฯลฯ อะไรก็ตาม— ทิ้งไว้ให้เป็นปริศนา ดุจดวงดาวพราวแสงวิบวับอยู่แสนไกลสุดห้วงเวิ้งว้างในอวกาศ

    ลึกลับ ซับซ้อน เอื้อมถึงยากกว่าดาวดวงใด
    คือจิตใจ, ชาชินปิดกั้นความรู้สึก, ของเราเอง

    เจาะจงกว่านั้น, Ad Astra มุ่งขุดค้นซอกหลืบจิตใจของผู้ชายคนหนึ่ง, รอย แม็คไบรด์, นักบินอวกาศ (และทหาร) ที่เก่งกาจ คะแนนทดสอบดีเลิศทุกด้าน ทั้งยังมีสภาพจิตใจแข็งแกร่ง ทำภารกิจเสี่ยงตายเพียงใดชีพจรก็ไม่เคยเต้นเร็วเกิน 80 เรียกว่าลอยเด่นแตะเพดานความคาดหวัง —แบบดั้งเดิม— ที่สังคมมีต่อผู้ชาย

    ลูกผู้ชายต้องเข้มแข็ง ห้ามอ่อนแอ
    ต้องเก็บอารมณ์ ห้ามแสดงความอ่อนไหว

    ในช่วงต้นเรื่อง เราเห็นรอยแสดงออก —ถึงความรู้สึกแท้จริง— น้อยมาก ถ้าไม่มีเสียงพูดของแบรด พิตต์ผู้แสดงคอยบรรยายควบคู่กันไป ผู้ชมคงรับรู้เพียงว่าเขาเป็นผู้ชายเงียบขรึม ใจเย็น ตั้งใจทำหน้าที่คนหนึ่งเท่านั้น เสียงความคิดภายในของรอยจึงเป็นเหมือนสปอตไลท์ที่ฉายแสงให้เราได้สัมผัสตัวตนส่วนอื่นซึ่งเขา—เรียนรู้ที่จะ— ปกปิดเก็บงำซ่อนเร้นไว้จากสายตาคนนอกตลอดเวลา

    ตั้งแต่นิสัยสันโดษ รำคาญผู้คน (ระหว่างเดินไปที่ประตูทางออกในฉากเปิดเรื่อง เขารู้จักยิ้มน้อยๆ ทักทายเพื่อนร่วมงาน แต่เอ่ยในใจว่า ‘อย่ามาแตะ’) ความถือดี ยโส ในหลายๆ ครั้ง (ตอนที่ยานซิฟีอัสได้รับสัญญาณช่วยเหลือ รอยสังเกตแล้วว่าสแตนฟอร์ดไม่พร้อม 'เขากลัว'  จึงอาสาไปช่วยกัปตันแทน, อาจมองได้ว่าทำด้วยความเห็นใจ เสียสละ แต่ในขณะเดียวกันก็ทำเกินบทบาทตัวเองที่เป็นแค่ผู้โดยสาร เพราะตัดสินในใจไปแล้วว่าอีกฝ่ายอ่อนหัดเกินไป แถมยังทำตัวเป็นวีรบุรุษผู้กอบกู้เช่นนี้ซ้ำ ๆ ตอนช่วยสแตนฟอร์ดเอายานลงจอด และตอนลักลอบขึ้นยานภารกิจทำลายโครงการลิม่าอีกต่างหาก)

    ในด้านหนึ่ง คุณสมบัติความเป็นชายที่สังคมหล่อหลอมขึ้นมานั้นเอง ส่งผลให้รอยรักษาความสัมพันธ์กับภรรยาของตนเอาไว้ไม่ได้

    ทำให้เขาปล่อยความรักหลุดลอยหายไป เพียงเพราะเป็นคนไม่ค่อยแสดงความรู้สึกที่แท้จริง ไม่ถนอมรักษาน้ำใจเมื่อยังอยู่ใกล้ แล้วยังไม่ไขว่คว้าไม่ยอมอ่อนข้อง้อขอคืนดีทั้งที่มีโอกาสทำได้อยู่ — การตัดสินใจลบข้อความทิ้งทั้งที่อุตส่าห์เอ่ยออกมาได้แล้วว่า แท้จริง... ‘ผมไม่อยากให้คุณไป’  มันเป็นอะไรที่ทั้งร้าวรานและน่าสมเพชในคราวเดียวกัน


    ยิ่งเมื่อหนังค่อย ๆ คลี่คลายเปิดเผยความจริงว่า ปัจจัยหล่อหลอมสำคัญไม่ใช่(เพียง)สังคม แต่คือ ‘พ่อ’ (ซึ่งก็แบกความคาดหวังของสังคมและครอบครัวไว้อีกที) ที่ควรเป็นแบบอย่างของเขา มันจึงน่าเศร้าและน่าเจ็บปวดที่สุด

    ในสังคมที่ยังไม่หลุดพ้นจากบริบทการแบ่งบทบาทในชีวิตของชายและหญิงนั้น,

    ‘พ่อ’ ส่งผลต่อ 'ลูกชาย' เสมอ
    ทั้งตอนอยู่ด้วย, และไม่อยู่

    เราอนุมานได้ว่าลึก ๆ ในใจของรอยยอมรับว่าเขาเองไม่ค่อยรู้จักพ่อดีเท่าไรนัก ก่อนหายสาบสูญ พ่อก็ไม่เคยให้ความรักความอบอุ่นเขาอยู่แล้ว ภาพแฟลชแบ็คที่สาดแทรกเข้ามาซ้ำ ๆ ในห้วงจิตใจยามวอกแวกของรอยจึงมีแต่ภาพตนเองในอ้อมกอดแม่ ยามที่พ่อต้องจากไปทำภารกิจนอกโลก ความจริงนั้นเป็นตะกอนนอนนิ่งอยู่ก้นบึ้งหัวใจเขามาเนิ่นนาน อาจเพราะเขาไม่สามารถยอมรับออกมาตรง ๆ ได้ว่าพ่อที่เขา(คิดว่า)เทิดทูนนั้น ก็เป็นแค่ชายเห็นแก่ตัวคนหนึ่ง ทำแต่งานที่ตนรักจนละเลยครอบครัว (และการละเลยนั้นแทบจะกล่าวได้ว่าโดยตั้งใจเสียด้วย)

    ตอนประเมินสภาพจิตใจระหว่างภารกิจ เกราะป้องกันตนเองของรอยเริ่มกะเทาะออก เราเริ่มเห็นแล้วว่า แรงผลักดันแท้จริงที่ผลักให้เขาดิ้นรนพาตัวเองออกเดินทางไปหาพ่อ ณ ดวงดาวแสนห่างไกล คือโทสะ คือความขุ่นเคืองขึ้งโกรธที่ลูกชายคนหนึ่งมีต่อพ่อ มากกว่าความรักและคิดถึง ‘ทำไมพ่อถึงมักทิ้งเขาไป?’ ทั้งชีวิตที่ผ่านมา รอยอาจแสดงออกเหมือนทำใจได้แล้วว่าคงไม่มีวันได้รู้ แต่ลึก ๆ เขาก็ยังโหยหาคำอธิบาย ไม่อย่างนั้นจิตใจคงไม่มีวันสงบลงได้ เมื่อรู้ข่าวว่าพ่ออาจยังมีชีวิตอยู่ เขาจึงตกลงทำภารกิจในทันที ภยันตรายต่าง ๆ ที่ต้องเจอระหว่างทางไม่อาจหยุดยั้งความปรารถนาอันรุนแรงนี้ได้เลย

    รอยไม่รู้เสียด้วยว่าจะหยุดตัวเองอย่างไร


    หลังถูกสเปซคอมหลอกใช้และทิ้งขว้างจากภารกิจ รอยดึงดันหาทางไปเผชิญหน้าพ่อให้ได้ เขาเห็นพ่อเป็นความรับผิดชอบของตนเอง และเชื่อว่าเขาต้องเป็นคนหยุดหายนะต่อโลกที่พ่อกำลังก่ออย่างต่อเนื่อง เป็นอีกครั้งที่อัตตา (ego) เข้าครอบงำรอย และนับเป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่งของตัวหนังที่ถ่ายทอดด้านมืดของตัวเอกออกมาในรูปแบบนี้ —โดยไม่ปล่อยให้ผลของภารกิจที่สำเร็จในภายหลังมาฟอกหรือย้อมการกระทำนั้นให้พระเอกของเรื่องดูน่ายกย่อง

    การดึงดันจะขึ้นยานของเขาทำให้ลูกเรือยานซิฟีอัสทั้งลำเสียชีวิต

    อีกครั้งหนึ่ง เราได้เห็นรอยยึดถือตนเองมากเกินไปจนมันทำลายคนอื่น

    เขาหลุดลอยจากอดีตภรรยามาแล้วหนหนึ่ง
    (ไม่น่าแปลกใจอะไร, ในเมื่อพ่อก็ทิ้งขว้างเขาและแม่เช่นกัน)

    เขาเป็นต้นเหตุให้ลูกเรือทั้งสามต้องตาย เพราะมุ่งมั่นจะไปจัดการกับพ่อโดยไม่สนอะไร
    (พ่อของเขาก็มอบความตายให้แก่ลูกเรือของโครงการลิม่าที่ต่อต้านตนเอง เพื่อสนองความหมกมุ่น คลั่งกระหายในความรู้)

    จากการยั่วล้อกันระหว่างพฤติกรรมของรอยและพ่อข้างต้นนั้น ส่งผลพวงให้ฉากที่สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจเราได้รุนแรงบาดลึกที่สุดฉากหนึ่ง ได้แก่ ตอนที่รอยต้องเดิน(ลอย?)ผ่านซากศพของเหล่าลูกเรือในโครงการลิม่าซึ่งถูกคลิฟฟอร์ดปิดระบบดำรงชีพ สำหรับคนเป็นลูกชายอย่างรอย มันคงเป็นเหมือนฝันร้ายทั้งตื่น และเป็นความจริงอันเจ็บปวดที่เขาต้องจำยอมแบกรับ

    สำหรับผู้ชม มันคือการนำเสนอภาพอุปมาอุปไมยอันโหดร้ายได้ชัดแจ้งอย่างน่าสลดที่สุด ว่าโดยการหายตัวไปไกลหลายล้านปีแสงนั้น พ่อยังมีอิทธิพลต่อการเติบโตของลูกชายอย่างไร ว่าพ่อคนหนึ่ง...ทิ้งมรดกตกทอดอะไรไว้ให้คนเป็นลูกชายบ้าง

    อัตตาสูงส่ง ความห้าวหาญ ทะเยอทะยาน โทสะ ฯลฯ เป็นกลุ่มคุณสมบัติเดียวที่ผู้ชายควรถ่ายทอดให้กับลูกจริงหรือ?

    มันกระตุ้นความสงสัยและตอกย้ำให้เราตั้งคำถามกับสังคมว่า จะดีกว่าไหม หากเราเลิกแบ่งแยกบทบาทของคนด้วยเพศ? จะดีกว่าไหม หากลูกชายไม่ต้องยึดถือพ่อเป็นแบบอย่างเพียงฝ่ายเดียว แต่แม่ก็ควรมีบทบาทและอิทธิพลต่อลูกชายได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีสังคมมาคอยตีตรากดดันว่าเด็กผู้ชายต้องไม่อ่อนแอ อ่อนโยน อ่อนไหว?

    เราทำให้ลูกชายกลายเป็นพ่อในอนาคตที่ทั้งเข้มแข็งและอ่อนโยนไปพร้อมกันได้ไหม? เราสามารถสอนลูกชายทั้งหลายให้แสดงความรู้สึก ความรัก ความเห็นอกเห็นใจออกมาได้อย่างอิสระ ปลดแอกพวกเขาจากคติล้าหลังว่าน้ำตาเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ให้พวกเขาได้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอารมณ์อ่อนไหวและหัวจิตหัวใจไม่แตกต่าง ให้พวกเขาได้ยึดโยงกับสังคมด้วยความรัก รู้จักเอาใจใส่ในความสัมพันธ์ ไม่โดดเดี่ยวอ้างว้างอยู่ในหลุมดำของจิตใจตนเองเหมือนอย่างรอย แม็คไบรด์,

    ...ได้หรือเปล่า?


    และอีกหนึ่งยาขมที่รอยจำต้องกลืนกินเข้าไปหลังพบหน้าพ่อ คือการได้รู้จักตัวจริงของคลิฟฟอร์ด ได้ประจักษ์แก่สายตาแล้วว่าทำไมพ่อจึงมักทิ้งเขากับแม่ไปอวกาศ การเดินทางไกลในจักรวาลอันเวิ้งว้างอย่างต่อเนื่องยาวนานเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาอื่นนั้น ไม่ใช่เพียงภารกิจหน้าที่ที่ต้องทำ มันคือ 'ชีวิต' ของคลิฟฟอร์ด เขาและแม่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรเทียบเท่ากับมันเลย

    เขาและแม่ไม่เคยเป็นบ้านที่แท้จริงของพ่อ

    (ใจหนึ่งเราสามารถเข้าใจการกระทำของคลิฟฟอร์ดได้นะ ไม่ใช่ทุกคนจะวางครอบครัวไว้เป็นจุดมุ่งหมายของชีวิต มนุษย์เราแต่ละคนถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยประสบการณ์และปัจจัยหลายหลากแตกต่างกัน สำหรับบางคน แค่ความรักหรือความอบอุ่นจากคู่ชีวิตและลูกที่มีด้วยมันอาจไม่พอ ชีวิตยังมีอะไรให้ขวนขวายไขว่คว้าไล่ตามหาอีกมากนัก ไม่ว่าความฝัน ความรู้ หรืออะไรก็ตาม แต่พ่อของรอยก็ไม่มีสิทธิ์หนีหายในครอบครัวที่เขาตกลงปลงใจสร้างขึ้นแล้ว หากบางอย่างสำคัญกว่าในความรู้สึกเขา เขาก็ควรอธิบายและหาทางคลี่คลายแยกทางกับภรรยาด้วยดีมากกว่า ไม่ใช่ปล่อยให้อีกฝ่ายรอคอยซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นคนที่ไม่รับผิดชอบในความสัมพันธ์เอาเสียเลย และผลเสียมันก็ตกที่ลูกชายอย่างรอยนั่นเอง)

    ระหว่างเตรียมตัวออกจากโครงการลิม่าที่ใกล้ระเบิด บทสนทนาสั้น ๆ ระหว่างพ่อลูกแม็คไบรด์สะท้อนให้เห็นอย่างแปลกประหลาดว่าพวกเขาเหมือนกันแค่ไหน ในความมีสติปัญญาและทะเยอทะยานแสวงหาความรู้เพื่อมนุษยชาติ  ในความทระนง โกรธเกรี้ยว และโดดเดี่ยว จนรอยเอ่ยออกมาว่า ‘...เราต่างมีกันและกัน’ อาจเพราะเขาช่างเหมือนพ่อ แม้ไม่เคยรู้จักพ่อจริง ๆ และโลกนี้คงไม่มีใครเชื่อมโยงถึงกันมากกว่าที่พวกเขาเชื่อมโยงกันอีกแล้ว

    ทว่าคลิฟฟอร์ดตัวจริงที่เขาได้สัมผัสอย่างผิวเผิน, ไม่ใช่ —และอาจไม่เคยใช่— ‘พ่อ’ ที่เขารู้จัก

    ที่รอยมีในวัยเยาว์ คือ ภาพจำของคลิฟฟอร์ดซึ่งถูกสร้างขึ้น, คือ ไอเดียของความเป็นพ่อที่ผู้ชายคนนี้ถูกสังคมคาดหวังว่าต้องมีให้เขาเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงมันขาดหาย เลือนราง และไม่เคยจับต้องได้

    แต่รอยก็ยึดติดและพยายามหน่วงเหนี่ยว ‘ไอเดีย’ นั้นเอาไว้จนวินาทีสุดท้าย

    เขาไม่ยอมปล่อยพ่อไป ยื้อยุดฉุดรั้งจนคลิฟฟอร์ดต้องเอ่ยปากร้องขอ
    และอาจเป็นตอนนั้นเอง ที่รอยตระหนักว่าตนต่างกับพ่อตรงไหน

    เหมือนกับพ่อ, เขาอุทิศตนให้กับภารกิจตามหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในดาวดวงอื่น จนหลงลืมความสำคัญของโลก ละเลยคนที่รออยู่ข้างหลัง มองข้ามสิ่งสำคัญที่อยู่ใกล้หัวใจของตนเอง

    แต่ต่างกับพ่อ, เพราะเขาในตอนนี้ไม่ใช่รอยคนเดิมก่อนจากโลกมาเนปจูนอีกแล้ว แต่เป็นรอยที่ได้เห็นโพรงโหวงว่างข้างในหัวใจของตน เห็นว่าหนทางที่จะเติมเต็มมันได้มีเพียงการยอมรับข้อบกพร่อง และเปิดใจเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่ดีขึ้น การเดินทางอันโดดเดี่ยวฝ่าหมู่ดาวทำให้เขาได้รื้อค้นความรู้สึกแท้จริงของตนออกมา ได้ตระหนักว่าที่ผ่านมาตนละเลย ‘โลก’ อย่างไร โดดเดี่ยวตนเองออกจากมันอย่างไร

    ละเลยคนที่อยู่บน ‘นั้น’ มากแค่ไหน

    เขาค้นพบว่าตัวเองยังเห็น ‘โลก’ เป็นบ้าน ยังอยากกลับไป เพราะตัวเขายังเชื่อมโยงกับมันได้อยู่

    รอยออกเดินทางไกลเพื่อติดต่อกับพ่อที่หายสาบสูญอีกครั้ง
    แต่ในตอนท้าย เขาได้กลับมาผูกสัมพันธ์กับคนบนโลก

    ตอนเปิดเรื่อง เขาเคยหลีกเลี่ยงความใกล้ชิด ไม่อยากให้คนอื่นมา ‘แตะต้อง’
    ตอนกลับมายังโลก เขายื่นมือไปให้คนที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มใจ


    เพราะอย่างนั้น, แม้บางครั้งมนุษยชาติอาจเผลอลืมนึกไปว่าความจริงแล้ว จักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ อาจมีแค่ ‘เรา’ โดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางหมู่ดาวน้อยใหญ่จริง ๆ ก็ได้ และถึง ‘ข้างนอก’ นั่นไม่ได้มี ‘ใคร’ อื่น เราคงไม่เป็นอะไร เพราะยังมีโลกคอยต้อนรับเรากลับมา

    ต่อให้บางครั้งในชีวิต, เรามัวแต่ไขว่คว้าไล่ตามบางสิ่ง จนเผลอโดดเดี่ยวตัวเองออกจากสังคม เมินเฉยมองข้ามความสัมพันธ์กับคนรอบตัวไป แต่เพียงเราคิดได้ และกล้ายื่นมือออกไปหา เชื่อว่า ใครสักคนก็คงยังคอยอยู่ตรงนั้น

    สุดท้าย...สิ่งที่มนุษย์เรามีก็คือกันและกัน

    และมันคงดีกว่า หากเราหันกลับมาใส่ใจกันตั้งแต่ตอนที่ยังไม่มีใครทนไม่ไหว และถูกบีบบังคับให้ปล่อยมือเดินจากไป เพราะไม่ใช่ทุกคราว, ที่เราจะได้โอกาสจับมือใครสักคนเป็นครั้งที่สอง

    ดีที่สุด, คงเป็นการไม่ปล่อยให้ใครหลุดลอยไปแต่แรก เพียงเพราะความไม่ใส่ใจ ไม่แสดงความรู้สึก หรือใจไม่ ‘อยู่’ กับเขา

    ที่สุดแล้ว Ad Astra เป็นหนังวิทยาศาสตร์-ปรัชญา ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างทิ่มแทง  ใช้ภารกิจสำรวจอวกาศ —ไขว่คว้าดวงดาวเพื่อค้นพบสิ่งมีชีวิตทรงภูมิอื่นนอกจาก ‘เรา’ — เป็นอุปมาโวหาร คู่ขนานเปรียบเทียบกับการเดินทางลึกลงไปในจิตใจของมนุษย์ (โดยเฉพาะ, แต่ไม่จำกัดการตีความเข้าถึงเรื่องราวไว้เพียงแค่, เพศชาย) ทะลวงชั้นหน้ากากที่เราเคลือบฉาบให้สังคมได้เห็น ขุดค้นเข้าไปยังตัวตนที่เราหลบซ่อน ผ่านตัวละครรอย แม็คไบรด์ ซึ่งแบรด พิตต์ได้มอบการแสดงน้อยแต่มากและจริงใจของเขา เพื่อถ่ายทอดสารของเรื่องราวออกมาได้อย่างลงตัว

    ยามเมื่อการเดินทางฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการทั้งในอวกาศและในจิตใจของตนเองไปสู่ดวงดาวจุดหมายปลายทางได้สิ้นสุดลง ด้วยการที่รอย แม็คไบรด์ ตัวเอกของเราเลือกก้าวข้ามผ่านแผลในใจโดยปล่อยคนเป็นพ่อไป เพื่อกลับมาใช้ชีวิต, ด้วยจิตใจที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น, บนดาวซึ่งเขาเรียกว่าบ้านนั้น ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะตีความเพิ่มเติมไปว่า ‘Ad Astra’ (To the stars) นั้น หมายความรวมถึง การเดินทางครั้งสุดท้ายกลับสู่ดาวดวงบ้านเกิดที่ชื่อว่าโลกด้วย

    เพราะไม่ว่ามนุษย์เราจะเหน็ดเหนื่อยเดินทางค้นหาออกไปไกลแสนไกลเท่าไร จุดหมายปลายทางสุดท้ายจริง ๆ ของเรา ก็มักเป็นการกลับไปที่ใดสักที่หนึ่ง ซึ่งใจเราเรียกว่า ‘บ้าน’

    เสมอ.
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in