เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
whatfilmbehoramiji
Talk: Call Me By Your Name หนังรัก ทำด้วยรัก เพื่อความรัก
  • ***บทความนี้มีสปอยล์อ่อน ๆ 
    และสปอยล์หนักตอนท้ายมีคำเตือนอีกที***


    จริง ๆ ไม่รู้จะเขียนอะไรเท่าไร เพราะรู้สึกเลยว่ามันคงไปซ้ำกับคำที่บรรยายตอนรีวิวหนังสือไปแล้ว แต่สักหน่อยแล้วกัน เพราะจนถึงตอนนี้ภาพในหนังก็ยังวนเวียนอยู่ในหัวไม่จางไปไหน เนื้อเพลง Visions of Gideon เองก็คอยแต่จะแวบเข้ามาเล่นซ้ำบรรเลงทุกขณะที่ห้วงความคิดว่าง

    ขอระบายความคิดให้หัวไม่วุ่นวายนิดนึง :)

    __________

    ก็อย่างที่เกริ่นไว้ มันน่าจะซ้ำกับคำบรรยายตอนรีวิวหนังสือ เพราะตัวบทได้ถอดเอาคำประพันธ์จากหนังสือมาเรียงร้อยเป็นภาพในหนังได้อย่างหมดจด ครบถ้วนกระบวนความ งดงามสมศักดิ์ศรีกันทุกอย่าง ราวกับเอลิโอที่นั่งแกะโน้ตเพลงและบิดพลิ้วเล่นละเลงให้แตกต่างไปเพียงนิด เพราะแม้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จะถูกปรับเปลี่ยน เช่น กีฬาที่เล่นกันเป็นวอลเลย์บอลแทนเทนนิส, กางเกงว่ายน้ำที่เอลิโอลอบเข้าไปสูดดมแทนเสื้อคลุมอาบน้ำสีเหลือง แดง น้ำเงิน เขียว แต่ใจความสำคัญของเรื่องราวได้ถูกถ่ายทอดลงบนจอเงินอย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุด

    Call Me By Your Name เป็นภาพยนตร์รักที่ถูกสร้างด้วยความรักในการทำภาพยนตร์ ถ่ายทอดถ้อยความคิดของตัวละครด้วยนักแสดงที่รักการแสดง เรื่องราวทั้งหมดอุทิศทุกวินาทีให้กับสิ่งที่เรียกว่า 'ความรัก' อย่างจริงใจ

    จนทำให้เรารู้สึก 'รัก'

    โดยไม่ต้องมีคำว่ารักสักคำ แค่สารภาพความรู้สึกทั้งหมดที่รวมกันเป็นคำว่ารักออกมาเหมือนอย่างตอนที่เอลิโอสารภาพความในใจกับโอลิเวอร์

    ถ้าและความรักเป็นสิ่งสากล
    Call Me By Your Name ก็เฉกเช่นกัน

    รักไม่เลือกสถานที่ เวลา เชื้อชาติ ภาษา อายุ หรือว่าเพศ เรารักคนที่ต้องจากไปอยู่ห่างกันสุดปลายฟ้าได้ เรารักใครบางคนเมื่อแรกพบได้ เรารักคนต่างชาติได้ เรารักคนที่พูดกันคนละภาษาได้ เรารักคนแก่หรืออ่อนกว่าหลายปีได้ เราหลายคนรักเพศไหนก็ได้ รักถูกรับรู้และเข้าใจได้เหนือมิติความแตกต่างทั้งปวง แม้แต่ชาติภพ เพราะบางครั้ง เรายังสามารถรักคนที่ตายไปแล้วได้

    ฉันใดก็ฉันนั้น Call Me By Your Name ไม่เลือกมิติใดใดในการมีอยู่และดำเนินไป เราสามารถเข้าถึงและเข้าใจสารของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แม้ว่าเราจะไม่เคยรักชอบคนเพศเดียวกัน แม้ว่าเราไม่เคยชอบคนต่างเชื้อชาติหรือภาษา หรือไม่เคยชอบคนที่อายุต่างกับเราเป็นรอบ ๆ แต่เราสัมผัสแก่นแท้ของ Call Me By Your Name ได้เหมือนกัน เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว คงไม่มีใครไม่เคยมีประสบการณ์ของรักครั้งแรก (หรืออย่างน้อยก็อะไรที่ใกล้เคียงกัน)

    ความรู้สึกที่หวั่นไหว แต่มุ่งมั่นแน่ใจ
    มัวเมาหลงใหลคลั่งไคล้ ทั้งที่ยังรู้สติ
    ปรารถนาจะไขว่คว้า ทว่าก็ยังยื้อยุดฉุดรั้ง

    สับสนปนเปว้าวุ่นไปหมดอย่างที่เอลิโอเป็น

    ในหนังสือ เด็กหนุ่มลูกครึ่งอิตาลี-อเมริกัน "เอลิโอ" เป็นผู้บรรยายความคิดทุกอย่างในหัวออกมาให้เราได้ละเลียด เรารู้จักเอลิโอผ่านเอลิโอ รู้จักพ่อแม่ของเอลิโอผ่านเอลิโอ รู้จักมาร์เซียผ่านเอลิโอ

    รู้จัก โหยหา ปรารถนา และตัดพ้อต่อว่าโอลิเวอร์ผ่านเอลิโอ

    ตอนอ่านหนังสือก็ยังจินตนาการไม่ออกเหมือนกัน ว่านักแสดงผู้รับบทเอลิโอจะถ่ายทอดความคิดทั้งหมดในหัวตัวละครออกมาได้ยังไง ในเมื่อไดอะล็อกต่าง ๆ จะมีก็เท่าที่สำคัญ และอากัปกิริยาบางอย่างก็ช่างแฝงซ่อนความรู้สึก หรือไม่ก็น่ากระอักกระอ่วนใจ (อย่างฉาก 'พีช') เช่นนั้น

    แต่ทิโมธี ชาลาเมต์สอบผ่านทุกอย่าง


    นักแสดงหนุ่มหน้าใหม่วัยย่าง 22 คนนี้ แสดงได้เหมือนมีผู้วิเศษร่ายมนตร์ดลบันดาลให้เอลิโอเดินออกมาจากหนังสือ ความละเอียดของสีหน้า รอยยิ้ม และสายตาที่ทั้งพยายามปิดบังแต่ก็อยากให้รู้ พยายามไม่สนใจแต่ก็อ้อยอิ่งให้อีกฝ่ายต้องเข้าหา การยื้อยุดฉุดดึงในบทสนทนาด้วยน้ำเสียงและท่าทีเล่นหูเล่นตาอันเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องปั้นแต่ง แต่กลับน่ารักจับใจ หลายฉากจับจ้องแค่แววตาของน้องนาน ๆ น้องก็สามารถถ่ายทอดร้อยพันความคิดในหัวเอลิโอออกมาให้เราเข้าใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ แบบแทบจะนึกถึงความรู้สึกต่าง ๆ ของเอลิโอจากหนังสือในฉากนั้น ๆ ขึ้นมาได้เป็นประโยค แถมน้องยังเป็นคนร้องไห้เงียบได้บีบหัวใจมากอีกต่างหาก ทั้งหมดนั่นทำให้ทิมมี่เป็นนักแสดงที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งในตอนนี้

    ขณะเดียวกัน เรื่องราวความรักของเอลิโอย่อมจะสมบูรณ์ไม่ได้ หากไร้ซึ่งโอลิเวอร์ที่เล่นเข้าขากัน

    และอาร์มี่ แฮมเมอร์ก็เป็นใครคนนั้นให้เราเชื่อได้อย่างสนิทใจ 


    ชายหนุ่มผู้ต้องตาเอลิโอ แต่ชวนให้หงุดหงิดใจกับมารยาททื่อ ๆ อย่างการตัดบทสนทนาด้วยคำว่า "Later." ทว่าก็ยังกลายเป็นที่รักของผู้คนได้ตั้งแต่เดินเข้าประตู ว่ากันด้วยเรื่องของเสน่ห์แบบนั้น และรูปร่างหน้าตา ยังไงอาร์มี่ก็เหมือนเดินออกมาจากหนังสือเช่นกัน แต่สำคัญกว่านั้นคือการแสดงของเจ้าตัวที่ละเอียดอ่อนและพิถีพิถันขึ้น ทั้งอุทิศตัวและเปิดรับความรู้สึกของนักแสดงที่เล่นประกบมากขึ้นเหมือนอย่างที่โอลิเวอร์ยอมพ่ายแพ้ให้กับเอลิโอ การแสดงที่ใส่รายละเอียดสายตาท่าทีเล็ก ๆ น้อย ๆ บอกใบ้ให้เราพอรับรู้ได้จากไกล ๆ ว่าโอลิเวอร์ก็สนใจเอลิโอทั้งที่ทำเป็นเฉยเมย อาร์มี่, พร้อมด้วยการขัดเกลาและกำกับของลูกา กัวดาญีโน ได้เนรมิตโอลิเวอร์ตัวเป็น ๆ ที่เข้าถึงได้มากกว่าในหนังสือ -ซึ่งเราจะรับรู้ถึงเขาผ่านมุมมองของเอลิโอเท่านั้น- ขึ้นมา นี่จึงกลายเป็นบทบาทที่ดีที่สุดของอาร์มี่ตั้งแต่เข้าวงการมาจนถึงปัจจุบันไปอย่างไม่ต้องสงสัย

    เคมีระหว่างทั้งคู่ต้องตรงกันอย่างที่ผู้ชมต่างประเทศชมไว้เต็มไปหมดจริง ๆ

    ไม่ว่าฉากพูดคุยสนทนาที่บางครั้งก็ไม่สลักสำคัญ หรือเป็นแค่การอ้อยอิ่งทิ้งความรู้สึกให้อีกฝ่ายได้สัมผัสทีละนิดทีละหน่อย อาร์มี่และทิมมี่ก็รับส่งกันได้ลื่นไหล เป็นธรรมชาติ เพลินตาเพลินใจไปหมด สีหน้า แววตา การสัมผัสตัวแต่ละครั้งมันช่างละมุนละไม หลอมละลายแสงตะวันอันแผดเผาของหน้าร้อนให้นุ่มนวลลงมาได้อย่างง่ายดาย ต้องชื่นชมคนเขียนบทด้วยที่ประโยคต่าง ๆ ในฉากสำคัญ ๆ นั้นแทบจะแกะออกมาคำต่อคำจริง ๆ แล้วพอเข้าปากทั้งทิมมี่และอาร์มี่ก็พูดออกมาได้จริงใจเป็นธรรมชาติเหลือเกิน จนขุดรื้อเอาความทรงจำตอนอ่านแต่ละประโยคในหนังสือขึ้นมาแบบคำต่อคำ ตัวอักษรต่อตัวอักษร เช่น ฉาก "What things that matter?" นั่น

    ในส่วนของฉากเลิฟซีนไม่ว่าบนผืนหญ้า หรือบนเตียงก็ถูกรังสรรค์อย่างประณีต แม้ว่ามองอย่างผิวเผินแล้วจะมีฉากเกี่ยวข้องกับเซ็กซ์เยอะพอสมควร (ในต่างประเทศออกฉายด้วยเรท R ด้วยซ้ำ) ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เอลิโอช่วยตัวเอง หรือมีอะไรกับมาร์เซีย หรือกับโอลิเวอร์ หรือถูกโอลิเวอร์ 'ทำโทษ' หลังได้กันแล้วทำเมินและกลับจากว่ายน้ำ จนอาจทำให้ผู้ชมบางกลุ่มที่ไม่ได้เตรียมใจมารู้สึกอักอ่วน แต่ฉากเหล่านี้สำคัญต่อพัฒนาการของตัวละครเอลิโออย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นหนังรักแล้ว มันยังเป็นหนัง Coming of Age

    เอลิโอ อายุ 17 ปี กำลังอยู่ในช่วงวัยที่อยากรู้อยากลอง ต้องการค้นหาตัวตนของตัวเอง ทั้งในเรื่องเพศวิถีและในทางอื่น ๆ เมื่อความรักและเซ็กซ์เป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ขาด การสำรวจพื้นที่ตรงนี้ในภาพยนตร์ที่เจาะจงเรื่องความรักจึงไม่ควรถูกมองข้าม และผู้กำกับกัวดาญีโนก็ใส่ใจเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพื่อให้มันออกมาเร่าร้อนฉูดฉาดอะไร แต่เพื่อให้มันเป็นแรงเสริมที่จะผูกพันตัวละครหลักทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างแนบแน่นโดยแท้ เพื่อเฉลิมฉลองความรักและเรื่องทางเพศ เชื่อมเอลิโอกับโอลิเวอร์ให้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยสมบูรณ์

    กลายเป็นคนคนเดียวกัน จนสามารถเรียกชื่ออีกฝ่ายด้วยชื่อของตนได้

    ***

    ถึงตรงนี้ ขอแวบไปไกลถึงยุคสมัยกรีกสักเล็กน้อย เพราะนอกจากรูปปั้นที่พ่อของเอลิโอไปกู้ขึ้นมาจากน้ำจะเป็นรูปปั้นกรีกโบราณซึ่งเป็นศิลปะยุคเฮลเลนิสติก อันเป็นยุคของศิลปะวัฒนธรรมที่เริ่มต้นเมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสิ้นพระชนม์แล้วนั้น

    เรายังนึกถึงที่เคยอ่านเจอความตอนหนึ่งในประวัติของพระองค์ช่วงที่เสด็จไปเยือนราชวงศ์เปอร์เซียซึ่งถูกจับไว้ แล้วพระพันปีแกมบิสได้คุกเข่าลงอ้อนวอนเฮฟาอีสเตียนเพื่อขอให้ไว้ชีวิตพวกตน เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอเล็กซานเดอร์ เนื่องจากเขาตัวสูงกว่า ยังหนุ่มทั้งคู่ และยังสวมเสื้อผ้าเหมือนกัน ก่อนที่นางจะรู้ตัวว่าทักผิดไป

    แต่อเล็กซานเดอร์กลับตรัสว่า "ไม่ผิดหรอก ท่านแม่ ชายคนนี้คืออเล็กซานเดอร์เช่นกัน"

    เสมอเหมือนว่าพระองค์กับเฮฟาอีสเตียนเป็นคนคนเดียวกัน 

    พระพันปีแกมบิสก้มลงอ้อนวอนอเล็กซานเดอร์แห่งกรีกให้ไว้ชีวิตครอบครัว

    (สำหรับใครที่ไม่รู้: เป็นที่รู้กันว่าเฮฟาอีสเตียนเป็นยิ่งกว่าสหายร่วมรบคนสนิทของอเล็กซานเดอร์ แต่ภายหลังยุคกรีกและการมีอิทธิพลขึ้นมาแทนของศาสนาคริสต์ซึ่งต่อต้านรักร่วมเพศทำให้ประวัติศาสตร์บันทึกว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด เพื่อให้ถูกยอมรับ

    อริสโตเติล อาจารย์ของทั้งคู่ก็บรรยายเอาไว้ว่าอเล็กซานเดอร์และเฮฟาอีสเตียนนั้น เหมือน "วิญญาณดวงเดียวที่ดำรงอยู่ในสองร่าง")

    การที่โอลิเวอร์ให้เอลิโอเรียกตนด้วยชื่อของเอลิโอ และโอลิเวอร์จะเรียกเอลิโอด้วยชื่อตน ช่างยั่วล้อกับความสัมพันธ์ของอเล็กซานเดอร์กับเฮฟาอีสเตียนที่ถือตนเป็นคนคนเดียวกันอย่างเปิดเผยได้ดีเสียนี่กระไร (จะใช้ภาษาโบราณทำไม--)

    เท่านั้นยังไม่พอ ซุฟยอน สตีเวนส์ผู้ร้องและแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็ได้ใส่ความสัมพันธ์ของอเล็กซานเดอร์กับเฮฟาอีสเตียนเอาไว้ในเนื้อเพลง Mystery of Love ตอนหนึ่งด้วย

    Lord, I no longer believe
    Drowned in living waters
    Cursed by the love that I received
    From my brother's daughter
    Like Hephaestion, who died
    Alexander's lover
    Now my riverbed has dried
    Shall I find no other?

    ***

    *มาในส่วนของสปอยล์หนัก สปอยล์ตอนจบของเรื่อง
    ใครยังไม่ได้ดูควรจบการอ่านแต่เพียงเท่านี้หากไม่อยากเสียอรรถรส*


    .


    .


    .


    .


    ตอนจบที่เจ็บปวดไม่ได้ทำให้ความสวยงามซึ่งรับชมมาตลอดทั้งเรื่องลดน้อยลงไปเลย

    กลับกัน ในทางหนึ่ง มันทำให้เรื่องสมจริงและจับต้องได้มากยิ่งขึ้น เพราะชีวิตที่มีแต่ความสุขสมหวังนั้นไม่มีอยู่จริง หนังปลุกเราให้ตื่นจากความฝันหน้าร้อนอันแสนหวาน และตระหนักรู้ถึงคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะความเจ็บปวดที่ย้ำเตือนให้รู้ตัวว่าเรายังมีหัวใจ

    ไม่ใช่มนุษย์ไร้วิญญาณด้านชา เพราะได้ก่อกำแพงกั้นความรู้สึก กันความเจ็บปวดออกไปเสียสิ้น

    บทพูดคนเดียวจากพ่อถึงเอลิโออันแสนยาวนานตอนท้ายของไมเคิล สตูลห์บาร์กนั้น นอกจากสมควรได้รับรางวัลอะไรสักอย่างแล้ว ยังสมควรยกย่องเป็นตัวอย่างของคนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคน โดยเฉพาะ/แต่ไม่ใช่เพียงแค่พ่อแม่ที่ลูกเป็นบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ นี่เป็นพ่อตัวอย่างที่ลูกอย่างเราต้องการจนน้ำตาไหล 


    พ่อที่เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจและให้อิสระลูกได้เลือกใช้ชีวิตในแบบของตัวเองจริง ๆ

    เพราะไม่มีใครบอกได้หรอกว่าใครควรใช้ชีวิตแบบไหนจึงจะดี หรือว่าการรักใครสักคนจริง ๆ มันเป็นยังไง ดีหรือร้ายเราควรได้สัมผัส เรียนรู้ เจ็บปวด และก้าวผ่านมันไปด้วยตัวเอง

    การที่เอลิโอรับจากโทรศัพท์จากโอลิเวอร์ในตอนท้าย ได้เรียกชื่อกันและกันด้วยชื่อตัวเองอีกครั้ง ได้รับรู้ว่าต่างคนต่างจำรายละเอียดของความรักครั้งแรกนั้นได้ มันจึงมีความหมายเหลือเกิน

    เพราะการลืมความทรงจำมันไม่เห็นต้องใช้ความเข้มแข็งอะไรเลย

    การเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเจ็บปวด เพื่อให้ความสุขที่เคยมีด้วยกันนั้นไม่ถูกลบเลือนไปด้วยต่างหาก


    ที่ยืนยัน ว่าครั้งหนึ่ง...

    เราเคยได้ 'รัก' กันจริง ๆ
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
Mick Watchaphon (@fb2506972506028)
เป็นบทความที่ดีมากๆเลยย TT