เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
ปลาตู้กระจก: การแสดงจำลองชีวิตสัตว์น้ำในอควาเรียม
  • บุณยานุช พินิจนิยม

    หากอควาเรียมมิใช่เพียงตู้ปลาธรรมดา หากเหล่าปลากลายเป็นนักแสดง    

    มองชีวิตปลาตู้กระจกผ่านแว่นการแสดง 

    ณ โรงละคร “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ บึงฉวากฯ จังหวัดสุพรรณบุรี”


                    ตอนเด็ก ๆ การได้ดูปลาแหวกว่ายเป็นความรู้สึกตื่นตาตื่นใจอย่างบอกไม่ถูก ฉันไม่มีโอกาส ดำน้ำลงไปดูชีวิตของปลาในทะเลหรือแม้แต่ปลาในตู้ที่บ้านก็ไม่มีให้ดู มีเพียงปลาหางนกยูงในบ่อน้ำหน้าบ้าน เต็มไปด้วยตะไคร่น้ำสีเขียว ฉันหย่อนนิ้วชี้ลงไปอยู่ใต้น้ำถึงข้อนิ้วที่สอง นิ่งอยู่เพียง 3 วินาที ปลาหางนกยูงใจกล้าตัวแรกค่อยๆ ตอดนิ้ว เมื่อเพื่อน ๆ ของมันเห็นว่านิ้วฉันไม่ได้มีพิษภัย จึงเข้ามารุมตอดนิ้วฉันจนไม่เหลือพื้นผิวที่ว่าง ชีวิตฉันเคยสัมผัสปลามากที่สุดก็แค่นั้น หากไม่นับรวมปลาแซลมอนที่เป็นเมนูโปรด การได้ไปชมปลาสายพันธุ์ต่าง ๆ ในอควาเรียมจึงเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ฉันได้รู้จักปลามากขึ้น ความตื่นตาตื่นใจระหว่างชมปลาในตู้ไม่ต่างจากตอนได้ชมละครเวทีที่โรงละคร   การได้รู้จักชีวิตของปลาเหมือนการได้นั่งดูละครที่มีเหล่าปลาหลากชนิดเป็นนักแสดง ขอเชิญผู้ชมทุกท่านหยิบแว่นการแสดงสามมิติขึ้นมาสวม ก่อนจะไปชมโรงละคร “สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ บึงฉวากฯ จังหวัดสุพรรณบุรี”


  • Casting: ค้นหานักแสดง

                    การเลือกพันธุ์ปลาก็เหมือนการเฟ้นหานักแสดง เป็นธรรมดาที่นักแสดงชื่อดังจะเป็นที่ต้องการ แต่ความแปลก แตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ก็เป็นอีกหนึ่งคุณลักษณะที่ดีที่ทำให้ได้รับเลือก ผู้กำกับต้องคำนึงถึงความสมดุลขององค์ประกอบโดยรวม เช่นเดียวกันกับการเลือกปลาเข้ามาอยู่ในตู้ และหากตู้ปลานี้เปรียบได้กับงานศิลปะชิ้นหนึ่งแล้ว สีสันและความสวยงามของปลาก็นับเป็นข้อคำนึงอันดับต้น ๆ เพื่อเอกภาพและความสมดุลภายในตู้ปลา

                    ปลาแต่ละชนิดนั้นมีแหล่งที่มาต่างกัน หากเป็นปลาทะเล มักจะนำมาจากแหล่งธรรมชาติ เพราะการเพาะพันธุ์นั้นทำได้ยาก ส่วนปลาน้ำจืดสามารถเพาะพันธุ์ได้ง่ายกว่า แมวมองจึงมักจะไปหาดาวเดือนตามแหล่งเพาะพันธุ์ปลานั่นเอง

                    ก่อนที่เหล่าปลาซึ่งเป็นนักแสดงหลักแห่งบึงฉวากฯ นี้จะได้อวดฝีไม้ลายมือ พวกเขาต้อง    เก็บตัวเพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้คุ้นชินกับเวทีแห่งนี้เสียก่อน

                    “เราจะเอาลงพักที่บ่ออนุบาล คัดกรองโรค แล้วก็ดูปลาตาย เพราะว่าการขนย้ายระหว่างเดินทาง ปลาจะตายเยอะ มันจะมีโรคติดมาด้วย เราก็จะให้ยากำจัดปรสิต กำจัดโรค แล้วดูจนอาการนิ่ง อาการดี เกล็ดดี สีดี เราถึงจะเอาขึ้นตู้” บิว-สุพร ชัยมงคล นักวิชาการสัตว์น้ำอธิบายขั้นตอนเมื่อนักแสดงหน้าใหม่มาถึง

                    ที่โรงละครสัตว์น้ำ บึงฉวากฯ ​"ฉลาม" ถือเป็นปลาเบอร์ตองที่ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะการเลี้ยงฉลามไม่ใช่เรื่องง่าย มีตัวอย่างฉลามตายจากการพยายามนำมาเลี้ยงในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำอยู่หลายเคส นอกจากนั้น ฉลามเป็นสัตว์ทะเลดุร้าย โอกาสที่จะได้พบเห็นชิดใกล้อย่างปลอดภัยใต้ทะเลจึงเกือบเท่ากับศูนย์ ยกเว้นแต่ฉลามบางสายพันธุ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ฉลามจึงเป็นพระเอกทั้งในและนอกจอ ภาพยนตร์หลายเรื่องใช้ฉลามเป็นตัวละครเอก ที่บึงฉวากฯ ก็เช่นกัน

                    ฉลามที่นี่มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ฉลามขี้เซาผู้ชอบนอนเฉย ๆ ยกละ 8 ชั่วโมง ฉลามเสือทรายผู้ดุร้ายที่สุดในหมู่ฉลาม ฉลามเสือดาวที่ขี้เล่นผิดธรรมชาติสัตว์กินเนื้อ ฉลามเลมอนตัวสีบลอนด์ ฉลามเหล่านี้มาจากต่างถิ่น บ้างมาจากเกาหลี บ้างมาจากสิงคโปร์ ข้ามน้ำข้ามทะเลจนมาถึงที่ จังหวัดสุพรรณบุรี

                    ส่วนนักแสดงสมทบอื่น ๆ ก็มีลักษณะโดดเด่นต่างกันไป ปลาช่อนอเมซอนคือนักแสดงตัวใหญ่ยักษ์ที่สุด ปลากระเบนคือนักแสดงที่มีใบหน้ายิ้มแย้มตลอดเวลาและชอบว่ายติดกระจกขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เสมอ ปลาหมอทะเล ผู้โดดเด่นด้วยกรามใหญ่ถึงสองชั้น ปลาไหลมอเรย์ นักแสดงผู้เต็มไปด้วยลวดลาย หรือปลาการ์ตูนขวัญใจเด็ก ๆ อย่าง “นีโม่” ที่มักมาพร้อมกับปลาบลูแทงค์หรือ “ดอรี่” จากการ์ตูนเรื่อง Finding Nemo

                    เรียกได้ว่า นักแสดงแห่งโรงละครสัตว์น้ำ บึงฉวากฯ นี้ อัดแน่นไปด้วยปลาหลากชนิด      หลายขนาด มากคาแรกตอร์ พร้อมที่จะรับบทแตกต่างกันแล้ว


  • Setting: ฉาก

                  โรงละครสัตว์น้ำ บึงฉวากฯ มีฉากสีฟ้าน้ำเงินชวนให้จินตนาการถึงท้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ กระจกใสกั้นกลางระหว่างนักแสดงและผู้ชม กระจกโค้งมนรูปทรงครึ่งวงกลมทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับได้ดำดิ่งสู่ใต้ท้องทะเล ฝูงปลาน้อยใหญ่แหวกว่ายอยู่รอบตัว เจ้าฉลามเสือทรายว่ายพาดผ่านเหนือหัวไปอย่างใกล้ชิด อควาเรียมแห่งนี้ทำหน้าที่ฉากของโรงละครได้เป็นอย่างดี

                    ตู้ปลาที่นี่มีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของชนิดปลา คนเลี้ยงปลารู้ดีว่าขั้นตอนการเตรียมตู้ปลาหรือสภาพแวดล้อมให้กับปลานั้นมีมากมายหลายข้อ และมีปัจจัยที่ควรคำนึงถึงหลายข้อ หากสมการผิดพลาดแล้ว คำตอบอาจเป็นความตายของปลา

                   ทุกตู้ปลาจะมีระบบน้ำ ระบบกรอง ระบบปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ตู้ปลาน้ำจืดควรอยู่ที่ 28-30 องศาเซลเซียส ส่วนตู้ปลาทะเลต้องปรับให้ต่ำกว่าเล็กน้อยคืออยู่ที่ 26-27 องศาเซลเซียส น้ำเค็มเหล่านี้ไม่ใช่น้ำทะเล เพราะสุพรรณบุรีห่างไกลจากชายทะเลอยู่โข จึงใช้วิธีสูบน้ำมาจากนาเกลือ แล้วนำมาปรับให้เจือจาง พอดีกับที่ปลาทะเลเคยอยู่อาศัย

                   นอกจากนั้นอุณหภูมิจะมีผลต่อสุขภาพและการกินอาหารของปลา “ถ้าหนาว ปลาจะป่วย ถ้าร้อนปลาจะกินดุ เพราะเผาผลาญเยอะ” นักวิชาการหนุ่มกล่าว

                  อุปกรณ์ตกแต่งอย่างทรายและหิน ก็ต้องทำความสะอาดก่อนนำลงตกแต่งในตู้เพื่อความสะอาดและปลอดภัยของตัวปลาเช่นกัน บิวเล่าว่า “ถ้าเป็นพวกทราย ล้างน้ำเปล่า ตากแดดให้แห้ง เอาลงใช้ได้ แต่ถ้าเป็นก้อนหิน เราจะล้างน้ำ แล้วแช่น้ำด่างทับทิม ล้างน้ำเปล่าอีกครั้ง แล้วเอาไปตากแดด จึงสามารถนำมาใช้ได้”

                 อีกหนึ่งอุปกรณ์ตกแต่งฉากที่สำคัญคือปะการัง ด้วยข้อจำกัดหลายประการ อควาเรียมเลือกใช้ปะการังเทียมซึ่งทำมาจากไฟเบอร์

                   “ถ้าเลี้ยงในนี้ เราไม่ได้ใช้น้ำทะเลจริง ๆ พวกปะการังเขาจะย่อย มันไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้   แร่ธาตุเขาไม่พอ” แหม่ม-จิตลดา มารยาตร์ นักประดาน้ำสาวพูดถึงสาเหตุที่ต้องใช้ปะการังเทียม

                  “เรามีระบบฆ่าเชื้อซึ่งมีโอโซน มันอยู่ไม่ได้ เชื้อโรคก็อยู่ไม่ได้” โอ้-บุญรัฐ อินทรทัศน์ อีกหนึ่งหนุ่มนักประดาน้ำกล่าวเสริม

                   แต่ถึงอย่างไร เจ้าปลาก็มีปะการังให้อยู่อาศัย ให้ใช้ซ่อนแอบ


                   หลังจากการจัดเตรียมน้ำและอุปกรณ์ตกแต่งเรียบร้อยแล้ว การรักษาความสะอาดอยู่เสมอเป็นสิ่งที่พนักงานต้องให้ความสำคัญ ที่นี่จะมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้น้ำมีคุณภาพดี ส่งผลให้ปลารู้สึกสดชื่น 

                    แหม่มเล่าถึงกิจวัตรการทำงานในบึงฉวากฯ ว่า “ตอนเช้าลงทำความสะอาดอะคริลิค ขัดหิน  ดูดตะกอน ต้องทำทุกวัน มีคนลงทุกวัน”

                    “เรื่องความสะอาดกับความปลอดภัยของปลาสำคัญที่สุด มากกว่าความสวยงาม”  เธอย้ำ 

                    ตอนนี้ "ฉาก" สะอาดปลอดภัย พร้อมสำหรับการแสดงที่จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว


                    
  • Performance: แหวกว่ายร่ายรำ

                    เมื่อฉากถูกจัดไว้เรียบร้อยแล้ว นักแสดงก็พร้อมสำหรับการแสดงเรื่องราวชีวิตของตนสู่สายตาคนแปลกหน้านับพัน

                    ฉันยืนอยู่โซนเวทีปลาน้ำจืด หน้าตู้กระจกใสใบใหญ่ ที่มีปลานับร้อยตัวกำลังรุมล้อมนักประดาน้ำ ได้เวลาอาหารเช้าแล้ว ชีวิตของปลาตู้กระจกไม่จำเป็นต้องออกหาอาหารเอง ปลาในตู้อยู่ด้วยกันฉันเพื่อน พวกเขากำลังกินปลาสีกุนสับที่นักประดาน้ำเตรียมมาให้ นักท่องเที่ยวต่างหยุดชมการแสดงให้อาหารปลา บ้างถ่ายรูป บ้างยืนชมด้วยตาเปล่า

                   ฝูงปลาตะเพียนตะลุมบอนแย่งชิงกินอาหารอย่างสนุกสนาน จนแทบมองไม่เห็นตัวนักประดาน้ำ จังหวะนั้นเอง ปลาบึกยักษ์ตัวใหญ่ว่ายเข้ามาใกล้นักประดาน้ำอย่างคุ้นเคย เธอยื่นมือที่ถืออาหารออกไปหาเจ้าปลาบึกยักษ์นามว่า “บิ๊ก” มันงับปลาสับซึ่งเป็นเมนูอาหารประจำวันแล้วว่ายออกไป



                    อีกฝั่งหนึ่งในอควาเรียม ผู้คนต่างจับจองพื้นที่เพื่อรอชมการแสดงจากนักแสดงชื่อดัง ใกล้เวลาโชว์แล้ว เหล่าฉลามว่ายไปมาอย่างรู้เวลา

                   การแสดงชีวิตของฉลามเริ่มต้นขึ้น นักประดาน้ำเริ่มหย่อนอาหารให้กับฉลามเสือทรายเป็น  ตัวแรก เพราะมันมักจะว่ายอยู่ด้านบน ไม่ค่อยลงมากินอาหารด้านล่าง เจ้าเสือทรายงับเหยื่อแล้วกัดอย่างรุนแรง เสียงฟันกระทบกันดังสนั่นจนคนนอกตู้ยังได้ยิน เมื่อเริ่มได้กลิ่นอาหาร ฉลามตัวอื่นว่ายเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

                   นักประดาน้ำสามคนค่อย ๆ ว่ายไล่เรียงกันลงมา หยุดยืนชิดติดกันอยู่กลางตู้ เสียงปรบมือดังกราว พวกเขามีอาวุธคู่กายเป็นท่อพีวีซีสีฟ้า ไว้ใช้ดันเจ้าฉลามไม่ให้เข้ามาใกล้จนเกินไป มืออีกข้าง    ถือถังพลาสติกสีดำใส่ปลาสีกุน เมนูอาหารของเหล่าฉลามนั่นเอง

                   เจ้าฉลามดาหน้าเข้ามากินอาหาร ได้ปลาหนึ่งตัวแล้วก็ว่ายออกไป เมื่อกินจนหมดแล้วจึงวนกลับมาเอาอีก แต่ใช่ว่าใครจะกินเท่าไหร่ก็ได้ นักประดาน้ำต้องคอยสังเกตว่าตัวไหนกินไปเท่าไหร่แล้ว    นั่นเป็นเพราะตามธรรมชาติของฉลามนั้น กินอาหารหนึ่งวัน อยู่ได้ทั้งสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมี       การจำกัดอาหารเพื่อให้พวกเขากินอาหารทุกวันและเป็นเวลา

                     “ฉลามเสือดาว เวลากินอาหารต้องกินก่อนเพื่อนเลย ไปหาก่อนเลย แล้วเขาก็จะโดนพวก    เลมอนไล่”

                   “ใช่ พอเขาได้อาหาร เขาก็จะว่ายโชว์”

                  “บางทีอาหารก็จะหลุดจากปาก เพราะเลมอนไล่งับ เขาตกใจ”

                  โอ้และแหม่ม สองนักประดาน้ำหนุ่มสาวเล่าถึงเพื่อนร่วมโชว์ให้เราฟัง

                   ณ เวทีของฉลาม ไม่ได้มีแค่ฉลาม แต่ยังมีเพื่อนร่วมโชว์ นามว่า “ปลาประมง” พวกเขาเป็นเพื่อนในเวลากลางวัน และจะผันตัวเป็นเหยื่อในเวลากลางคืน เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งสัญชาตญาณ    นักล่าเผยตัว แม้จะไม่ได้หิว แต่ถือว่าช่วยให้ฉลามได้คลายเครียด

                    “อยู่ดี ๆ ปลาหาย เราก็สันนิษฐานว่ามันถูกกิน แต่อย่างตู้นี้ เราไม่ต้องสันนิษฐานเลย มันกินอยู่แล้ว” แหม่มไขข้อข้องใจที่ว่า ปลาตู้เดียวกันจะกินกันเองหรือไม่ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร ก็ทำให้เหล่าปลานักล่าลดความดุร้ายลงบ้าง

                    ภายในตู้กระจกนับร้อย นักแสดงน้อยใหญ่แหวกว่ายร่ายรำในท่วงท่าอันสง่างามตามแบบฉบับของตน บ้างว่ายเป็นเส้นตรงอย่างช้า ๆ บ้างว่ายโฉบไปมาอย่างมั่นใจ หรือบางตัวก็ว่ายวน ขึ้นลง อยู่ในโลกของตัวเอง การแสดงเหล่านี้คือชีวิตของเหล่าปลาน้อยใหญ่แห่งบึงฉวากฯ ที่รอให้ผู้ชมแวะเวียนกันเข้ามาเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ใต้ท้องทะเลที่อาจไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัส

                    ละครชีวิตปลาตู้กระจกได้ฝากข้อคิดไว้ให้ผู้ชมหลายประการ อยู่ที่ว่าผู้ชมจะตีความได้มากน้อยเพียงใด แน่นอนว่าชีวิตปลาตู้กระจกอาจไม่เหมือนกับชีวิตปลาตามวิถีธรรมชาติทั้งหมดด้วยเหตุสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน แต่โรงละครนี้ก็ได้แสดงชีวิตของปลาหลากชนิดให้มนุษย์อย่างเราได้เรียนรู้ ไม่ต่างจากละครที่นำเอาเรื่องราวชีวิตคนหรือเหตุการณ์จริงมาเล่าสู่กันฟัง




                    17.00 น. การแสดงจบลงแล้ว โรงละครสัตว์น้ำ บึงฉวากฯ ได้เวลาปิดม่านการแสดง
    ขอให้ทุกท่านเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ แล้วพบกันใหม่


    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น

    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563

    หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน: เป็นผลงานสารคดีในโครงการ "ภาษาไทยสัญจร" ซึ่งอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนและผลิตสื่อสารคดีสร้างสรรค์ ประจำปี 2561 จัดโดย สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ผู้ให้สัมภาษณ์:                                                สุพร ชัยมงคล
                                                                            จิตลดา มารยาตร์
                                                                            บุญรัฐ อินทรทัศน์

    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์:       บุณยานุช พินิจนิยม                                                                                                                                  ศิษย์เก่านิสิตระดับปริญญาตรีภาควิชาภาษาไทย                                                                                   คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันเป็น                                                                          ผู้ประสานงาน (Project Coordinator) ที่ Attention                                                                                Studio ชอบภาษาไทยมาตั้งแต่เด็กเพิ่งเริ่มสนใจสังคม                                                                              และการเมืองอย่างจริงจังตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย                                                                                อินวรรณกรรมเพื่อชีวิต เสียน้ำตาให้กับงานเขียนเรื่อง                                                                              ครอบครัวและความลำบากของคนได้ง่าย ๆ ถนัดงาน                                                                              เขียนเชิงสารคดีมากที่สุดและถนัดถ่ายภาพ Portrait แต่                                                                          อยากถ่าย landscape ให้สวย พอมาทำงานก็สนใจการ                                                                            พัฒนาสังคมด้วยการสื่อสารเชิงบวกและยังชอบที่ได้                                                                                เขียนอยู่เรื่อยๆ                                                            

     ภาพประกอบ:                                               บุณยานุช พินิจนิยม                                                           เอื้อเฟื้อสถานที่:                                             สถานแสดงพันธ์ุสัตว์น้ำ  บึงฉวากฯ จังหวัดสุพรรณบุรี                                                                                                                                                     บรรณาธิการต้นฉบับ:                                    หัตถกาญจน์ อารีศิลป                                                      กองบรรณาธิการ:                                           ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ                                                                          

                                                                            ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ





เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in