เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
องค์ความรู้นอกตำรา @หมู่บ้านอนุรักษ์แย้ จังหวัดสุพรรณบุรี
  • ADVERTISEMENT


           
                      “หมู่บ้านอนุรักษ์แย้” เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี มีแย้หลากหลายขนาดวิ่งขวักไขว่อยู่บนพื้นดินที่มีรูอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อนึกภาพตาม บางคนอาจรู้สึกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่แหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์จะมีสัตว์ชนิดนั้นๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากพิจารณาถึงที่มาของเหล่าแย้ตัวอ้วนพีในหมู่บ้านแห่งนี้แล้ว จะพบว่า กว่าจะเลี้ยงจนมีจำนวนมากขนาดนี้ ป้าม่อน   ผู้เป็นคนเลี้ยงต้องคอยเก็บข้อมูลผ่านการสังเกตอย่างใกล้ชิด และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ แสดงให้เห็นทักษะการคิดอย่างเป็นขั้นตอนแบบวิทยาศาสตร์คือ เริ่มจากการตั้งปัญหา     รวบรวมข้อมูลและสร้างสมมติฐาน ก่อนจะทดลองด้วยวิธีการต่างๆ จนได้ข้อสรุปเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญต่อการอนุรักษ์แย้ในหมู่บ้าน องค์ความรู้นอกตำราที่นี่จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า กระบวนการคิดแบบ    วิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้มีขีดจำกัดในเชิงพื้นที่คือต้องอยู่ในห้องแล็บหรือการเรียนการสอนในชั้นเรียน   เท่านั้น แต่สามารถดำรงอยู่ได้ทุกหนแห่งด้วยความสามารถของผู้คนที่เป็นนักคิด



    ที่อยู่อาศัย

                     จะทำอย่างไรให้แย้อาศัยอยู่ในบริเวณที่ต้องการ?

                     คำถามดังกล่าวเป็นปัญหาข้อแรกที่ผู้เลี้ยงต้องหาวิธีแก้ ผู้ที่นำแย้มาเลี้ยงเป็นครั้งแรกคือ   คุณพ่อของป้าม่อน ซึ่งใช้การสังเกตในการเก็บข้อมูล ก่อนจะสร้างสมมติฐานและทำการทดลอง         ตามคำบอกเล่าของป้าม่อนว่า

                    “ก็สังเกตดู คุณพ่อเป็นคนชอบเลี้ยงสัตว์หลายประเภท ก็ดูว่าแย้มันอยู่ในรู เลยลองเจาะรูให้มันอยู่ดู มันก็อยู่นะ ไม่หนีไปไหน”

                      การทดลองดังกล่าวได้นำไปสู่ข้อสรุปว่า หากต้องการให้แย้อาศัยอยู่ในบริเวณใด ให้ใช้เหล็กเจาะดินบริเวณนั้น ๆ ให้เป็นรูลึกประมาณ 1 ฟุต แล้วปล่อยแย้ลงไป ใช้ถังครอบทิ้งไว้สัก 1-2 วัน เมื่อเปิดถังออกจะพบว่าแย้ยึดรูนั้นเป็นบ้านหลังใหม่แล้ว ถือเป็นการสังเกตและทดลองอันเป็นจุดเริ่มต้นของการเลี้ยงแย้ในหมู่บ้านอนุรักษ์แย้แห่งนี้เลยทีเดียว



    ศัตรูตามธรรมชาติ       

                      แย้หายไปไหนหมดนะ?

                     ถึงแม้แย้จะเริ่มคุ้นเคยกับพื้นที่และมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่การเลี้ยงดูกลับไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อป้าม่อนสังเกตเห็นว่า ปกติแล้วแย้จะเกิดมารูละประมาณ 8 -12 ตัว แต่กลับเหลือรอดเป็นตัวเต็มวัย ไม่มากเท่าที่ควร ข้อสงสัยนี้นำไปสู่การเฝ้าสังเกตอย่างจริงจัง

                    “ต้องเฝ้าจริงๆ เลย มานอนเฝ้ากัน ไปไหนไม่ได้ ต้องผลัดกันอยู่เลย” ป้าม่อนกล่าว

                     หลังจากการสังเกตอย่างใกล้ชิดทำให้ทราบว่า แย้มีศัตรูตามธรรมชาติคือ นก งู และแมว     ซึ่งมักจะมากินแย้ โดยเฉพาะลูกแย้ที่เกิดใหม่ ชาวบ้านจึงเฝ้าศัตรูของเจ้าแย้เหล่านี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น แย้ตัวเต็มวัยจึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น


    อาหาร      

                     ให้แย้กินอะไรดี?

                     คำถามข้างต้นเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในการเลี้ยงแย้ การให้อาหารแย้ของป้าม่อน มาจากการเก็บข้อมูลโดยการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เริ่มจากการให้ผลไม้ เช่น มะม่วงหรือมะละกอ ก่อนจะลองให้สัตว์อย่างแมลงเม่า ผึ้ง และหนอน

                   “โอ้ย หนอนเนี่ย มันชอบม้าก ชอบมากที่สุดเลย” ป้าม่อนพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

                   ข้อสรุปจากการทดลองให้อาหารอย่างหลากหลายนี้คือ แย้ชอบกินหนอนมากที่สุด โดยจะเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมกระตือรือร้นเมื่อโยนหนอนให้ และจะเชื่องเป็นพิเศษจนสามารถลูบหรือจับมาวางบนตัวได้หากใช้หนอนเป็นเหยื่อล่อ รองลงมาคือแมลงเม่า โดยมีตัวอ่อนผึ้งและผลไม้เป็นอาหารว่างที่กินพอให้อิ่มเนื่องจากหนอนมีราคาค่อนข้างแพง แย้ชอบผลไม้น้อยที่สุด จากคำบอกเล่าของคุณป้าว่า      มันกินผลไม้เหมือนจำใจกิน (ฮา)

                    หลังจากที่มีองค์ความรู้เรื่องอาหารและมีการให้อาหารอย่างเป็นระบบแล้ว                           แย้ที่หมู่บ้านอนุรักษ์แย้ก็อวบอ้วนและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจนเกือบเต็มพื้นที่



    พฤติกรรมทั่วไป

                    “มันชอบอากาศร้อน แต่ร้อนเกินก็ไม่ไหว มันวิ่งมาก็ อุ๊ย! (ทำท่าวิ่งยกขา) กระเด้งตัวขึ้นมา อยากกินก็อยาก แต่มันก็ร้อนเหลือเกิน” ป้าม่อนเล่าพร้อมกับหัวเราะ

                     จากการเลี้ยงดูและเฝ้าสังเกตมานานหลายปี เมื่อถามข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับแย้ ป้าม่อนและ ชาวบ้านในบริเวณนั้นก็จะตอบได้ทันที เช่น แย้จะชอบความร้อนและแห้ง จากการสังเกตว่าตอนเช้า ๆ แย้จะออกมาผึ่งแดด ถ้าฝนตกจะปิดรู แต่ถ้าร้อนเกินก็ต้องฉีดน้ำให้ รวมถึงการจำศีล ซึ่งตรงกับช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน ก่อนจะออกมาผสมพันธุ์ วางไข่ช่วงเดือนมกราคม และออกไข่ในช่วงต้นเดือนมีนาคม โดยจะมีลูกรูละ 8 - 12 ตัว ก่อนจะแยกไปขุดรูอยู่เองเมื่อโตมากพอ แต่ถ้าแย้ตายก็จะตายในรู โดยรูจะปิดไปเลย

                      ป้าม่อนบอกว่า ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ทุก ๆ ปี มีคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อย ถือเป็นการเก็บข้อมูลซ้ำ ๆ จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและน่าทึ่งมาก ๆ



    นักวิทยาศาสตร์

                    “เอ้า ก็สังเกต”
                    “ไม่ได้มีตำราอะไรหรอก ก็ดูเอา”

                      นางนพมาศ ปานสุวรรณ หรือ ป้าม่อน เจ้าของแย้และผู้อยู่เบื้องหลังการอนุรักษ์แย้ใน       หมู่บ้านแห่งนี้กล่าว เมื่อได้รับคำถามเดิม ๆ ว่า ทำไมคุณป้ารู้เรื่องแย้เยอะจัง

                     กระบวนการสังเกตและทดลองที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้เกิดจากความอยากรู้แบบนักวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่กลับเกิดขึ้นเพราะความรักและความปรารถนาดีที่อยากให้แย้เหล่านี้มีชีวิตอยู่รอดและไม่สูญพันธุ์จากการบริโภคของมนุษย์ ครอบครัวของป้าม่อนได้เป็นผู้ริเริ่ม ดูแล และถ่ายทอดความรู้ในการเลี้ยงดูแย้ให้แก่ผู้คนในหมู่บ้านจนมีแย้เป็นจำนวนมากและกลายเป็นหมู่บ้านอนุรักษ์แย้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน นอกจากนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านยังคุ้นเคยและรู้สึกผูกพันกับแย้ตัวอ้วนเหล่านี้ ดังที่คุณยายคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า

                                    “ถ้ามันหายไปก็คงจะใจหาย”

                    รวมถึงคำตอบของป้าม่อน เมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อแย้

                                    “รักสิ ก็รักเค้าเหมือนคนในครอบครัว”
                                    “ถ้าจะมาจับกินนะ จะตีให้ตายเลย”



    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น

    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563
    อ่านฉบับ E-book ได้ที่  Meb 


    หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน: ได้รับรางวัลชมเชยในโครงการ “ภาษาไทยสัญจร” ซึ่งเป็นโครงการอบรม เชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนและผลิตสื่อสารคดีสร้างสรรค์ ประจำปี 2561 จัดโดย สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ผู้ให้สัมภาษณ์:                                            ป้าม่อน นพมาศ ปานสุวรรณ
    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์:   วีริสา สมพงษ์
                                                                        ศิษย์เก่านิสิตทุนโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและ
                                                                        วรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ 
                                                                        จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เติบโตมา กับสารคดีสัตว์โลก 
                                                                        ชอบอยู่กับสัตว์และธรรมชาติมากกว่าคน ชอบวาดรูป
                                                                        โดยเฉพาะต้นไม้ใบหญ้าและวิวทิวทัศน์ ชอบอ่านหนังสือ
                                                                        เกือบทุกประเภท และมักชาร์จพลังโดยการอยู่เงียบ ๆ
                                                                        คนเดียว
    ภาพประกอบ:                                             วีริสา สมพงษ์
    เอื้อเฟื้อสถานที่:                                         หมู่บ้านอนุรักษ์แย้
                                                                        อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
    บรรณาธิการต้นฉบับ:                                หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    กองบรรณาธิการ:                                      ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ
                                                                        ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in