เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
ร้านข้าวแกงเพชรสุราษฎร์ เรื่องเล่าของป๊า แม่ และชีวิตวัยเยาว์ของฉัน
  • รำลึกเรื่องเล่าเมื่อครั้งเยาว์วัย อบอวลไปด้วยความอบอุ่นของครอบครัวชนบท
    และเรื่องราวในครัวของบ้านหลังเล็กที่ฉันเติบโตขึ้นมา
    “...ความลำบากอะไรฉันจำได้เสียที่ไหนกัน ฉันจดจำได้เพียงภาพความสุขความทรงจำที่ดีมากมายในบ้านหลังนั้น ... บ้านของฉัน...”

    นารินทร์ แสงศรี

    ฉันเชื่อว่าแทบทุกคนที่มีรกรากอยู่ต่างจังหวัด และต้องไกลบ้านเกิดเมืองนอนไม่ว่าด้วยกิจใด ๆ ก็ตาม เมื่อถึงช่วงหยุดยาวแล้วได้กลับบ้านจะรู้สึกตื่นเต้นแทบกระโดด ฉันเองก็ไม่ต่างจากใคร ๆ ที่เฝ้ารอเวลาที่จะได้กลับไปยังถิ่นฐานคุ้นเคยที่จากมา

    บ้านของฉันหลังไม่ใหญ่เท่าไรนัก แต่ก็สุขสบายกว่าก่อนมากเมื่อเทียบกับบ้านหลังแรกในชีวิตของฉันที่เป็นเพียงบ้านเช่าหนึ่งคูหา จ่ายค่าเช่ารายเดือนเพียง 800 บาท แม่เคยบอกกับฉันว่า "ช่วงชีวิตของฉันตอนเด็ก ๆ ลำบากกว่าลูกทุก ๆ คนเพราะอยู่ในช่วงที่ป๊ากับแม่สร้างเนื้อสร้างตัว" แต่ก็นั่นแหละ ด้วยความที่เป็นเด็ก เรื่องราวทุกอย่างมันเลยเลือนรางเสียจริง ความลำบากอะไรฉันจำได้เสียที่ไหนกัน ฉันจดจำได้เพียงภาพความสุข ความทรงจำที่ดีมากมายในบ้านหลังนั้น ... บ้านของฉัน

    ในปี 2537 แม่ได้รับบรรจุงานราชการเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองที่อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร บวกกเหมาะควรแก่เวลาที่ป๊าจะออกมาสร้างครอบครัว สร้างเนื้อ สร้างตัว เพื่อยืนด้วยตัวเองหลังจากดูแลสวนยางพาราของคุณย่ามาหลายปี รอเวลาจนลูกสาวคนแรกโตพอรู้เรื่อง จึงเป็นจังหวะที่ป๊ากับแม่ตัดสินใจย้ายออกจากบ้านคุณย่าที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาอยู่ที่จังหวัดชุมพรบ้านเดิมของแม่ เรื่องราวทุกอย่างจึงได้เริ่มขึ้นในปีนั้นเอง จากเดิมที่ป๊าเคยเป็นชาวสวนยาง ก็ไม่มีสวนให้ทำเหมือนแต่ก่อน ทั้งสองเซ้งต่อร้านขายชาลาเปาและก๋วยเตี๋ยวของน้าดาเพื่อนแม่ ที่ตั้งเรียงรายกับร้านขายข้าวแกง ร้านอาหารตามสั่ง แถวสี่แยกปฐมพร ริมถนนเพชรเกษมขาล่องใต้ ตัวบ้านเป็นบ้านเช่า 3 ตอน หน้าบ้านใช้เป็นหน้าร้านขายของ ตรงกลางเป็นส่วนห้องพักขนาดพอวางเตียงหกฟุตเกือบเต็ม ส่วนหลังบ้านเป็นห้องน้ำ และเก็บข้าวของสัพเพเหระจนแทบไม่มีที่ว่าง อย่างที่คนชอบเรียกกันว่าเล็กอย่างกับรูหนู บ้านหลังนี้ก็เป็นเช่นนั้น

    ด้วยสัญญาใจที่จะมาสอนการทำชาลาเปาสูตรเด็ดของน้าดาทำให้ป๊ากับแม่มีความหวังในการเริ่มกิจการขายชาลาเปาอย่างเต็มล้น แต่ฝันก็พังลง หลังจากที่น้าดาทยอยย้ายของออกไปพร้อมเงินเซ้งร้าน น้าดาก็ไม่กลับมาอีกเลย ป๊ากับแม่เปลี่ยนแผนแทบไม่ทัน จากที่จะขายชาลาเปาก็เปลี่ยนเป็นร้านขายของชำแทน แต่รายได้ก็ไม่สู้ดีนัก จนท้ายที่สุดป๊ากับแม่ก็กลับมาฮึดสู้เกี่ยวกับการขายอาหารตามแผนเดิมที่ตั้งใจไว้

     ป๊ากับแม่เลือกที่จะขายข้าวแกงตีเนียนและแข่งขันไปพร้อม ๆ กันกับร้านแถบนั้น ป๊าพูดกับแม่ว่า “ของกินยังไงก็ต้องขายได้วันยังค่ำ คนต้องกิน” ซึ่งก็เหมาะกับทำเลร้านที่ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมที่มีรถวิ่งผ่านวันหนึ่ง ๆ มากโข แผนการก็คือแม่จะตื่นตั้งแต่ตี 4 ทำอาหารไว้ให้ป๊าขาย แล้วจะเดินทางไปทำงานที่ที่ว่าการอำเภอพะโต๊ะโดยรถโดยสารประจำทาง ระยะทางจากบ้านไปที่ทำงานราว 130 กิโลเมตรใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง จึงเป็นการทำงานที่ต้องแข่งกับเวลาและหนักพอสมควร หากตื่นพลาดไปจะทำให้ไม่ทันรถประจำทางที่จะมาตามเวลา สำหรับข้าราชการแกะกล่องอย่างแม่ หากไปทำงานสายคงจะไม่ดีต่อหน้าที่การงานระยะยาวเป็นแน่ และยิ่งทำให้แม่เหนื่อยมากขึ้นไปอีก เพราะปีนั้นเองที่แม่เริ่มตั้งท้องฉันอีกคน

    ADVERTISEMENT

    พี่สาว ป๊า และแม่ที่มีปิ่นอยู่ในท้อง ถ่ายในวันทำบุญร้าน

    ร้านอาหารดำเนินไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ ในช่วงแรก ด้วยเป็นร้านใหม่ไม่คุ้นตา ป๊าเล่าให้ฟังว่ามีเสียงจากแม่ค้าและคนแถวนั้นมากระทบใจบ้าง ทำนองว่า "คนแกงก็กำลังท้อง ส่วนคนขายก็เป็นผู้ชาย จะไหวเหรอ? ขายอาหารนะ ขายยาก" แต่ก็ไม่ได้ทำให้ป๊าและแม่ท้อใจในกิจการร้านอาหารต่อไปเลย

    แม่เล่าให้ฟังว่าป๊าขึ้นป้ายหน้าร้านด้วยชื่อของแม่ จึงกลายเป็นชื่อ "ร้านเจ๊นา ข้าวราดแกง" วันแรกของร้านเจ๊นา มีแกงเพียง 3 อย่างเท่านั้นแหละ คือ พะโล้ แกงหน่อไม้ไก่ และแกงป่าปลาดุก เป็นแกงที่ไม่มีสูตร มีเพียงประสบการณ์อันน้อยนิดที่แม่เคยเป็นลูกมือยายมาก่อน ใช่แล้ว ทั้งป๊าและแม่ไม่มีประสบการณ์เรื่องร้านอาหารมาก่อน อาศัยที่เคยเห็นร้านอื่นเขาทำกันอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น ต้นทุนของแกง 3 หม้อ สมัยนั้นราว 200 บาท ราคาข้าวราดจานหนึ่ง 8 บาท หากกับข้าว 2 อย่าง จะเป็น 10 บาท รายได้ที่ทำได้ทั้งหมดของวันนั้นเพียง 50 บาท แม่เล่าว่าได้ถามป๊าหลังจากเลิกงานว่า "ขายได้เพียงแค่นี้เองเหรอ?" ป๊าพยักหน้าพร้อมกับพูดว่า "ไม่ต้องกลัว วันนี้ขายไม่ได้ พรุ่งนี้ก็ต้องขายได้ พรุ่งนี้ขายไม่ได้ มะรืนนี้ก็ต้องขายได้ ขายได้วันนึงแหละ อย่าหยุด ขายอาหารห้ามหยุด” ส่วนแกงที่เหลือของวันนั้น ป๊ากับแม่เททิ้งทั้งหมด เพราะขาดความรู้ ความเข้าใจ และคิดว่าลูกค้าเขารู้จะว่าได้ว่าเป็นแกงเก่าของเมื่อวาน และจะมาต่อว่าได้ว่าไม่ชื่อสัตย์เอาของเหลือมาขาย ฉะนั้นต้องทิ้งให้หมด แม้แต่คนที่มาเก็บถังข้าวหมู (ถังอาหารเหลือเพื่อเอาไปให้หมู) ก็ยังมองไข่พะโล้นับ 20 ใบที่ลอยตุ๊บป่องตุ้บป่องตาละห้อยด้วยความเสียดาย

    ขายมาได้ไม่นาน ก็เปลี่ยนชื่อร้านใหม่ เป็น "ร้านข้าวแกงเพชรสุราษฎร์" ด้วยเหตุที่ว่าใคร ๆ ก็พากันเรียกแม่อย่างติดตลกว่า "เจ๊นา" กันไปหมด ทั้งเพื่อนแม่ค้า ที่หลัง ๆ มาก็มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน หรือแม้กระทั่งเพื่อนที่ทำงานของแม่ ก็ไม่วายเรียกแม่กันว่าเจ๊นา ทั้ง ๆ ที่แม่อายุยังไม่มาก ไม่มีบุคลิกความเป็นเจ๊อย่างที่ใคร ๆ เรียกกัน ป๊าจึงเปลี่ยนเป็นชื่อใหม่นี้โดยมาจากจังหวัดเพชรบุรี บ้านเกิดของปู่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานีบ้านเกิดของย่า แม้ว่าชื่อนี้จะไม่ได้สอดคล้องที่ตั้งของร้าน หรือสื่อถึงร้านของเราได้สักเท่าไรก็ตาม

    ไม่เพียงแต่ชื่อร้านที่เปลี่ยนไปเท่านั้น ตลอดช่วงเวลาที่เปิดร้าน ทั้งป๊าและแม่ก็หาสารพัดวิธีการพัฒนาร้านเพื่อเพิ่มยอดขายอยู่เสมอ จากแกง 3 หม้อ ก็เพิ่มมากขึ้น แม่อาศัยการสังเกตเวลาที่ไปกินอาหารที่ร้านอื่น ๆ ว่ามีวัตถุดิบอะไรบ้าง บ้างก็แอบถามเคล็ดลับ แกงอย่างไรให้น้ำสีสวย ทำอย่างไรให้ปลาไม่คาว หรือแม้แต่วิธีการหั่นกระเทียมใส่ในน้ำปลาพริก เก็บเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ สะสมไว้ลองผิดลองถูกจนเริ่มคล่องตัวมากขึ้นและมีลูกค้าเริ่มติดใจจนกลายเป็นลูกค้าประจำ แวะเวียนมากินข้าวที่ร้านของเรา จนบางคนที่มาบ่อย ๆ เข้ากลายเป็นเพื่อนของป๊าไปเลยก็มี จนเดือนธันวาคมของปี 2537 ฉันก็ได้มาเป็นสมาชิกอีกชีวิตหนึ่งในบ้านและร้านอาหารหลังเล็กแห่งนี้

    ทุกอย่างเหมือนยังคงดำเนินไปตามปกติ แม่ตื่นมาทำครัวแต่เช้าตรู่ อาจจะด้วยความชำนาญที่มากขึ้นจนทำให้สามารถทำอาหารที่มากขึ้นในเวลาที่เท่าเดิมก่อนออกไปทำงาน ส่วนป๊าจากเดิมเป็นพ่อค้าข้าวธรรมดาก็ผันตัวมาเป็น "พ่อลูกอ่อนค้าข้าวแกง" ไปโดยปริยาย หากคุณลองนึกภาพเด็กแรกเกิดที่ยังไม่สามารถควบคุมเวลาหิว เวลาตื่น เวลาขับถ่ายออก คุณคงจะพอคิดต่อไปอีกได้ง่าย ๆ ว่าจะทุลักทุเลสักปานใด เมื่อคนคนเดียวต้องตักกับข้าว เสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟผักสด ล้างแก้วล้างจาน และเลี้ยงลูกสาววัยแบเบาะขี้แงอีกหนึ่งคนไปพร้อม ๆ กัน แม้ยาย ๆ จะพยายามยื่นมืออาสาช่วยเลี้ยงดูให้ก็ไม่เป็นผล ป๊ายืนยันจะเลี้ยงฉันด้วยตัวเอง แต่ผลลัพธ์ของการมีฉันอยู่ผิดคาดไปมาก เมื่อฉันกลายเป็นขวัญใจลูกค้า ลูกค้าที่แวะเวียนมากินอาหารอดไม่ได้ที่จะแวะเล่นจ๊ะเอ๋กับเด็กน้อยที่นอนโยเยอยู่ในเปลเหล็ก นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉันเป็นคนที่เข้ากับคนได้ง่ายและชอบรู้จักคนใหม่ ๆ เสมอเมื่อโตขึ้น

    ร้านเพชรสุราษฎร์ของเราลงตัวมากขึ้น มีกลุ่มลูกค้าประจำ ทั้งขาจร นักท่องเที่ยว เซลส์แมน รวมไปถึงเพื่อน ๆ และหัวหน้าของแม่ในแวดวงราชการ มีรายได้ที่คงตัวขึ้น พอกินพอใช้ จนฉันอายุไต้ 6 ขวบ ช่วงปี 2543 ก็มีสัญญาณของวิกฤตครั้งที่ 1 มาทักทาย เมื่อเจ้าของบ้านเช่าบอกให้เตรียมตัวย้ายสักช่วงหนึ่งเพราะว่าแกอยากจะปรับปรุงที่ดิน จะทุบตึกและปรับปรุงใหม่ทั้งแถบ ป๊ากับแม่จึงได้ปรึกษากับยาย ๆ ในเรื่องนี้ ยายจึงได้ยกที่ผืนหนึ่งให้เพื่อสร้างบ้านที่มีบริเวณกว้างขวางให้พี่สาวและฉันได้วิ่งเล่น มีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องโถง ห้องครัว เป็นสัดส่วน บ้านเร่งทำจนแล้วเสร็จพร้อม ๆ กับการรับขวัญน้องชาย คนเล็กที่ลืมตาดูโลก เราย้ายเข้าบ้านหลังใหม่ทันทีชนิดที่แม่เรียกว่า "ปูนบ้านยังออกเหงื่อก็ต้องอยู่" ร้านขายข้าวแกงเพชรสุราษฎร์ปิดตัวลง ป๊าตกงานอย่างสมบูรณ์หนึ่งปีเต็มระหว่างการก่อสร้าง แต่ระหว่างหยุดนี้ก็ได้ใช้วลาทั้งหมดในการดูแลตกแต่งบ้าน และการเลี้ยงดูลูกอ่อนอีกครั้งหนึ่ง ฉันว่าป๊าคงมีทักษะในการเลี้ยงลูกมากขึ้นแน่ ๆ แม่บอกว่าป๊าแต่งตัวหล่ออยู่กับบ้านและมีความสุขกับการเลี้ยงน้องชายของฉันมาก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความเครียดจากที่เคยมีรายได้ เคยวุ่น ๆ ทำนู่นนี่ตลอดทั้งวัน กลับกลายเป็นขาดรายได้ นับวันรอวันที่ร้านจะปรับปรุงเสร็จและได้กลับไปขายอาหารอีกครั้ง

    จนกระทั่งครบปีตามสัญญา ร้านเพชรสุราษฎร์ไม่รอช้าที่จะเปิดบริการให้ลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง ร้านที่ปรับปรุงใหม่ไม่ได้เป็นตึกแถว หากแต่เป็นร้านลมโชยเดี่ยว ๆ แยกออกมาจากร้านอื่น ๆ ฉันไม่รู้เหตุผลที่แน่ชัดของลุงเจ้าของบ้านเช่าว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่นึกแล้วก็อยากขอบคุณแก เพราะทำให้ร้านดูเด่นขึ้น มีที่สำหรับจอดหน้าร้านได้ 2-3 คัน จากเดิมที่ทุกคันต้องจอดริมถนน และเมื่อตัดพื้นที่ใช้พักอาศัย ตัวร้านก็ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม แม่ลงทุนกู้ยืมเงินซื้อชุดโต๊ะเก้าอี้ใหม่ทั้งร้านเป็น 9 ชุดจนเต็มร้านและปรับปรุงตกแต่งพื้นที่บางส่วนให้ชวนมอง เชื้อเชิญลูกค้ามานั่งกินข้าวได้อย่างสบายอารมณ์ การกลับมาขายครั้งนี้ก็มีเหตุติดขัดไม่น้อยในช่วงแรก ๆ เพราะว่าลูกค้าเก่าหายไปแทบหมด จากการที่เราหยุดขายนานเป็นปี เมื่อได้กลับมาขายอีกครั้งเขาก็ไม่รู้ว่าเรากลับมาขาย ใช้เวลาราว 2-3 เดือน ลูกค้าเดิมจึงเริ่มกลับมากินอาหารที่ร้าน บวกกับลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ที่แวะเวียนมากิน 

     ปิ่นกับป้ายข้อความหลังร้านหลังจากปรับปรุงเป็นร้านลมโชย

    เมื่อพี่สาวและฉันที่โตขึ้นพอที่จะช่วยงานร้านได้บ้าง ก็กลายมาเป็นลูกมือช่วยป๊ากับแม่ทำงานที่ร้านอาหารในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และวันปิดภาคเรียน โดยเฉพาะช่วงเช้าที่ต้องการผู้ช่วยมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ เพราะแม่ยังต้องทำเวลาในการทำอาหารเพื่อไปทำงานราชการเหมือนเดิม แต่ภายหลังดีขึ้นหน่อยเพราะแม่ได้ย้ายมาทำงานที่ศูนย์ราชการจังหวัดที่ห่างจากบ้านเพียง 10 กิโลเมตร รวมทั้งมีรถยนต์ส่วนตัวขับไปทำงานได้เอง ไม่ต้องฝากการเดินทางกับรถโดยสารประจำทางอย่างแต่ก่อน

    หน้าที่ของฉันที่ได้รับมอบหมายจากป๊าเป็นงานง่ายๆ เริ่มต้นเปิดร้านด้วยการกวาดร้าน ถูร้าน เช็ดโต๊ะเก้าอี้ และตั้งแผงวางหม้อแกง เช็ดตู้น้ำอัดลม จัดอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการกินอาหารบนโต๊ะ หรือที่เราเรียกกันว่า "จัดโต๊ะ" ฉันเรียนรู้วิธีการวางสิ่งต่าง ๆ จากป๊า ไม่ว่าจะเป็นเหยือกน้ำ ตะกร้าช้อนส้อม กล่องใส่ทิชชู ไม้จิ้มฟัน และน้ำปลาพริก ป๊าชอบให้ทุกอย่างวางอยู่ตำแหน่งเดิม ไม่มีเลื่อนไม่มีสลับเด็ดขาด ฉันไม่เข้าใจหรอกว่าทำไม แต่ฉันทำตามที่ป๊าสอน เพราะฉันเคยจัดตามใจชอบของตัวเอง และเมื่อบอกป๊าว่าเสร็จแล้ว ป๊าจะมาเดินตรวจผลงาน และห้านาทีจากนั้น ฉันก็นั่งดูป๊าจัดใหม่ทั้งหมด ฉันรู้สึกผิดแบบเด็ก ๆ ว่าแทนที่จะได้ช่วยให้เปิดร้านได้ไวขึ้น กลับกลายเป็นช้าเท่าเดิม เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องหนึ่งในประสบการณ์การช่วยงานที่ร้านที่ฉันไม่เคยลืมเลย เป็นความสงสัยสำหรับเด็กอายุเพียง 7-8 ขวบเท่านั้น ฉันเก็บความสงสัยจนได้ถามแม่ แม่ให้คำตอบว่า "ถ้าตั้งของที่มุมเดิมลูกค้าจะคุ้นมือหยิบใช้ได้ง่าย ๆ เหมือนกับกุญแจบ้าน-กุญแจรถที่ต้องไว้ที่เดิม" ฉันจึงเข้าใจและไม่ได้ติดค้างอีกต่อไป นี้เป็นเรื่องหนึ่งที่สอนให้ฉันเชื่อฟังป๊ากับแม่แบบไม่จำเป็นต้องถามทุกเรื่องก็ได้ ส่วนป๊าก็ไม่ได้เป็นพ่อที่ชอบบ่นหรือช่างอธิบายเสียด้วย ป๊าชอบทำให้เห็นไปเลยชัด ๆ ว่าทำอย่างไร หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไร ทักษะการสังเกตจึงเป็นเรื่องสำคัญในการช่วยป๊าและแม่ขายของ หากผ่านช่วงเช้าไปแล้ว งานตลอดทั้งวันก็จะทำเป็นแบบแผนจนหมดวันหนึ่ง ๆ คือเมื่อลูกค้าเข้ามานั่งกินข้าวที่ร้าน ให้นับจำนวนลูกค้าเพื่อจะได้ตักน้ำแข็งได้ครบจำนวน เสิร์ฟผักสด เมื่อลูกค้ากินเสร็จ เก็บแก้วน้ำ และเอาจานผักไปเก็บ เช็ดโต๊ะ ช่วงที่ปลอดคนก็จะล้างแก้วน้ำและจัดผักจานใหม่ รอลูกค้าชุดต่อไป การเก็บจานล้างจานอาจจะหนักไปสำหรับฉันในวัยนั้น เลยเป็นหน้าที่ของคนอื่น ๆ แทน

    การมาช่วยขายของที่ร้านก็เหมือนการไปโรงเรียน มีระดับหน้าที่ยากและมากขึ้นตามอายุ ขาดก็แต่การบ้านก็เท่านั้นแหละ จึงทำให้การมาช่วยขายของที่ร้านสำหรับฉันสนุกเสมอ เมื่อฉันโตพอที่จะช่วยงานครัวได้ ฉันรู้สึกดีใจมากที่จะได้ทำอาหารจริง ๆ ให้คนได้กินจริง ๆ (ก็แหงล่ะสิ ปกติฉันก็ทำได้แค่เล่นขายข้าวแกงกับพี่สาวและเพื่อน ๆ เท่านั้น) แม่ให้ฉันเป็นลูกมือในการทำสิ่งต่าง ๆ ในครัวประกอบการพากย์ของแม่ ราวกับแม่กำลังอัดรายการทำอาหารในโทรทัศน์ แม่สอนให้ฉันหั่นผักตามขนาดที่แม่บอก แรก ๆ แม่หั่นชิ้นตัวอย่างเพื่อให้ฉันดู แต่ฉันกลับใช้ชิ้นตัวอย่างเหล่านั้นมาทาบเพื่อหั่นได้ตรงเป๊ะ ไม่ขาดไม่เกิน แต่ก็นั่นแหละ กว่าฉันจะหั่นผักเสร็จ น้ำแกงเดือดพลุ่งจนเกือบจะแห้งไปเสีย ไม่แคล้วเป็นแม่มาหั่นอยู่ดี จนฝึกฝนเรื่อย ๆ แม่ก็อนุญาตให้ใช้มีดใหญ่หั่นได้ทั้งผักและเนื้อ ฉันหั่นคล่องขึ้นจนแม่ไม่ต้องรอให้เสียเวลาอีก แม่ถ่ายทอดกลเม็ดเคล็ดลับต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำอาหารที่สั่งสมมานานหลายปีให้แก่ฉันโดยไม่กั๊กไม่ว่าจะเป็นเมนูผัดผักที่ฉันคิดว่าแสนง่ายดาย เด็กอย่างฉันก็ผัดได้สบาย ๆ ก็มีวิธีการทำให้ผักสีสวย และอร่อยตลอดวัน แม่บอกว่า "ผักพวกกวางตุ้ง คะน้า ดอกกะหล่ำนี้ต้องลวกก่อน ใส่ลงในน้ำเดือดที่มีเกลือสักหน่อย ทิ้งไว้สัก 3 นาที หรือดูจากสีผักที่เปลี่ยนไป จึงยกขึ้น แช่น้ำอุณหภูมิห้อง และมาวางให้สะเด็ดน้ำ ถึงจะผัด" ผัดผักของแม่มีสีสวยเสมอ และไม่อมน้ำมัน ไม่เหมือนบางแห่งที่ผัดผักน้ำมันเยิ้ม หากหวานเกินไปด้วยล่ะก็ แม่จะเรียกว่าผัดผักเชื่อมน้ำมัน ที่ยิ่งกินยิ่งเลี่ยน

    ในบรรดาทุกเมนูที่แม่สอนฉัน ฉันชอบคั่วกลิ้งมากที่สุด เพราะเป็นอาหารที่ใคร ๆ แวะมาที่ร้านก็ต้องถามถึง แม่บอกว่า คั่วกลิ้งนี่แหละจานเด็ดร้านเรา และเป็นตัวแทนของอาหารใต้ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก ด้วยรสชาติที่เผ็ดร้อนถึงเครื่องสมกับอากาศที่ร้อนระอุของภาคใต้ เจ้าคั่วกลิ้งนี่แหละที่ฉันอยากจะเรียนรู้วิชา จนแม่ได้สอนให้ฉันทำที่บ้าน เพราะจะได้ลองทำในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปซึ่งจะยากต่อการตวงปริมาณเครื่องปรุง ฉันคิดว่าแม่อาจจะไม่ได้คาดหวังรสชาติสักเท่าไร แม่คงอยากให้ฉันคุ้นชินกับวัตถุดิบและขั้นตอนการทำต่าง ๆ เพียงเท่านั้น แม่ออกคำสั่ง และฉันก็ลงมือทำตาม ตั้งแต่วางกระทะ ตั้งไฟ ใส่เครื่องแกงป่า กะปิ เครื่องปรุงน้ำตาล น้ำปลา และเนื้อหมู คั่วคลุกเคล้าจนแห้งได้ที่ โรยหน้าด้วยใบมะกรูดซอยเป็นอันสร็จสิ้น จากการเข้าครัววันนั้น ทำให้ฉันได้แผลพองแดงเป็นดวงจากเครื่องแกงที่เดือดปุดกระเด็นใส่ เตือนใจให้ระวังในครั้งต่อ ๆ ไปหากมีโอกาสได้ทำคั่วกลิ้งอีก ฉันจะไม่พลาดเป็นแน่ จนกระทั่งวันหนึ่งที่แม่ได้ให้ฉันทำขายจริง ๆ ที่ร้าน แต่ถึงอย่างนั้นแม่ก็คอยกำกับดูแล บอกปริมาณอย่างใกล้ชิดตามเคย ฉันจำรสชาติคั่วกลิ้งกระทะนั้นไม่ได้หรอกว่าเป็นอย่างไร อร่อยแค่ไหน แต่จำได้ว่าตอนทำเสร็จแล้วตักลงหม้อไปตั้งขายหน้าร้านทำให้ฉันรู้สึกภาคภูมิใจจนอยากจะบอกใครต่อใครว่าฝีมือหนูเอง (ที่แม่กำกับดูแลไม่ห่าง) และครั้งนี้แขนของฉันไม่ได้พองแดงจากเครื่องแกงเดือดอีกต่อไป

    แต่ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากคั่วกลิ้งแล้วที่ร้านก็มีแกงขึ้นชื่ออื่น ๆ ที่ลูกค้าบางคนถึงกับโทรมาถามก่อนเลยว่าจะมีแกงเหล่านี้ไหม ได้แก่ แกงป่าขาหมู แกงป่าปลาดุก และแกงส้มใต้ แต่ละเมนูนั้นเป็นเมนูรสชาติจัด ถูกลิ้นถูกใจคนในท้องถิ่น และท้าทายขาจรที่อยากจะพิชิตเมนูแซ่บต้นฉบับแบบใต้เป็นอย่างดี จนมีเพื่อนแม่แซวว่าอาหารร้านนี้รสชาติเผ็ดจัดสมชื่อร้าน "เผ็ดสุหราด" (เมื่ออ่านออกเสียงตามสำเนียงท้องถิ่นใต้) ร้านข้าวแกงนี้ดำเนินไปค่อนข้างดี ทำเงินหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายในครอบครัวอย่างพอมีพอกินกับสมาชิก 5 คน ฉันคิดเสมอว่าถ้าโตขึ้นฉันอยากจะขยายร้าน จะเพิ่มรายการอาหารให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก หรือถ้าป๊ามีอายุมากขึ้นก็คงต้องมีลูกจ้างประจำหมือนร้านอื่น ๆ

    อย่างไรก็ตามไม่มีสิ่งใดที่จะยั่งยืนอยู่ตลอดกาล ช่วงปี 2554 ป๊ากับแม่ตกลงใจจะหยุดกิจการขายข้าวแกงที่ร้านเพชรสุราษฎร์ที่เปิดมานาน 17 ปีอย่างถารด้วยวิกฤตครั้งที่ 2 โครงการสร้างถนนและวงเวียนบริเวณสี่แยกปฐมพร ซึ่งกินระยะเวลาตามสัญญาจ้างยาวนานเกือบ 2 ปี ทำให้รถที่วิ่งผ่านไปมาต้องวิ่งสวนเลนเดียว การเดินทางลำบากขึ้น ทั้งยังถูกกีดขวางด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ก่อสร้างนานาชนิด และฝุ่นที่พัดตลบทั้งวัน อีกทั้งปีนี้เป็นปีที่แม่สอบปลัดอำเภอผ่าน ตำแหน่งใหม่ที่สูงขึ้นกว่าเดิม จึงมาพร้อมกับความรับผิดชอบมากขึ้น หากจะต้องแบ่งเวลาช่วงเช้าเพื่อทำอาหารและทำหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังไปพร้อม ๆ กันนั้น อาจทำให้บกพร่องต่อหน้าที่ และคงจะบั่นทอนสุขภาพไม่น้อย ป๊ากับแม่จึงขอคืนร้านให้กับลุงเจ้าของบ้านเช่า เพื่อรอคนที่อยากเปิดร้านข้าวแกงมาเซ้งต่อไป ร้านถูกเช้งไปในราคาที่ต่ำกว่าตอนที่ป๊ากับแม่เซ้งมาเสียอีก ฉันคิดว่าป๊ากับแม่แกคงเข้าใจหัวอกคนที่กำลังจะเริ่มกิจการอย่างที่ครั้งหนึ่งทั้งสองได้เคยเผชิญ เป็นอันปิดฉากร้านอาหารที่ป๊าและแม่ร่วมล้มลุกคลุกคลานและสร้างขึ้นมาด้วยทั้งสองมือ

    ทุกครั้งที่กลับชุมพรและได้ผ่านสี่แยกปฐมพร ที่ที่ครั้งหนึ่งฉันเคยอยู่และเติบโต แม้จะเป็นเพียงบ้านเช่าหลังเล็ก ๆ ที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายต่อหลายครั้ง จนเกือบจะไม่คุ้นตา จากผู้เช่ามากหน้าที่ฉันไม่แม้แต่จะรู้จัก ร้านข้าวแกงก็ยังเป็นร้านข้าวแกง แต่ไม่ใช่ชื่อร้าน "เพชรสุราษฎร์" ของป๊ากับแม่เหมือนแต่เดิม จานเด็ดของร้านแห่งใหม่นี้ก็อาจจะไม่หมือนเดิม ภาพความทรงจำดี ๆ ที่มีต่อที่แห่งนี้ก็ยังชัดเจนอยู่อย่างนั้น ราวกับได้เปิดอัลบั้มรูปภาพเก่า ๆ ออกดู ฉันหวังว่าจะได้ชวนกันมานั่งกินข้าวแกงที่นี่สักครั้งหนึ่งแม้จะในฐานะแขกของร้านก็ตาม                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                           © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น                                                                                        


    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563

    อ่านฉบับ E-book ได้ที่  Meb 


     หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน:  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทสารคดีทั่วไปในโครงการ “ภาษาไทยสัญจร” ซึ่งเป็นโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ประจำปี 2558 จัดโดย สถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกลงหนังสือ "รวมเรื่องร้อยเรียงประสบการณ์สัญจรของนักเขียนจามจุรีรุ่นเยาว์ เล่มที่​ 3" เมื่อปี 2561 จัดทำโดยสถาบันภาษาไทยสิรินธร


              ผู้ให้สัมภาษณ์:        อัมรินทร์ แสงศรี และ พีรธัญญา แสงศรี                        

    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์:           

    นารินทร์ แสงศรี                                                                                                                                     ศิษย์เก่านิสิตทุนโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษา                                                                                  และวรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย                                                                                                        คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย                                                                                            ตำแหน่งงานในปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์สาย                                                                                    บันเทิงบริษัท ดาราเดลี่ จำกัด เป็นนักข่าวสาย                                                                                          บันเทิงที่ต้องทำงานแข่งขันกับเวลาอาทิตย์ถึงเสาร์                                                                                   และพกแล็ปท็อปติดตัวทุกวันแม้วันหยุดนักขัตฤกษ์                                                                                   ความสนใจอยากเรียนทำอาหารกับทำเซรามิก                                                                                         เพื่อเปิดร้านอาหารที่ใช้จานของตัวเองในอนาคต      

    ภาพประกอบ:           พงศ์เพชร์ แสงศรี                                                      

    บรรณาธิการต้นฉบับ:    หัตกาญจน์ อารีศิลป                                                  

    กองบรรณาธิการ:    ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ  ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ




     


เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in