เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เขียนเล่นเป็นเรื่องอ่าน-คิด-เขียน
ล่าท้าผี จากผีการตลาดสู่ผีสะท้อนสังคม
  • พาเหล่านักอ่านรีวิวและนักตามดราม่าไปรู้จักกับ “ผี” การตลาด

    ที่อาจทำให้คุณไม่เชื่อคำรีวิวอีกต่อไป


                      ไม่ว่าจะผีการเมือง ผีพนัน ผีตากผ้าอ้อม หรือแม้แต่ผีจริงๆ ที่มักมาในรูปแบบของสาวผมยาวปิดหน้าใส่ชุดขาว

    เจ้าของกระทู้:    “สวัสดีค่ะ เราอยากสอบถามว่า ผิวแห้งมาก ใช้โลชั่นของอะไรดีคะ”

    ความเห็นที่ 1:   “เราก็เป็นแบบคุณเลยค่าแต่ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว เราใช้สองแบรนด์อ่า ทั้งแบรนด์A และ        แบรนด์ B ผลลัพธ์เท่าๆ กันเลยค่ะ ถ้ามีงบก็จัดแบรนด์ A แต่ถ้างบน้อยหน่อยก็แบรนด์ B เลย

                   แน่นอนว่า ผีตัวนี้มาเพื่อโฆษณาแบรนด์ B

                   ใช่แล้ว ผีที่ว่าคือผีทางการตลาดในคราบของคนธรรมดาที่เราอาจคิดว่าเป็นผู้บริโภคผู้หวังดีส่งต่อความประทับใจสินค้าให้ผู้บริโภคคนอื่นทราบ

                    เมื่อต้องการจะซื้อของสักชิ้น น้อยคนที่จะไม่แวะทักทายอากู๋ เข้าเว็บโน้น ออกเว็บนี้ เพื่อดูรีวิวสินค้าว่าน่าใช้และน่าโดนตามสรรพคุณที่แบรนด์อ้างจริงหรือไม่ หลายครั้งที่เราตัดสินใจซื้อของเหล่านั้นจากคำรีวิว แต่ใครจะรู้ว่าแท้จริง ผู้ที่มารีวิวก็อาจเป็นคนของแบรนด์นั้นก็ได้

                    วันนี้เราจึงพาทุกคนมารู้จักและเข้าใจผี ทั้งที่มา รูปแบบ สิ่งที่สะท้อนจากเจ้าผีร้าย และวิธีการล่าท้าผีที่อาจช่วยคุณให้กล้าแกร่ง ถูกหลอกได้ยากกว่าเดิม จากฝีปากของผีที่เข้าสู่วงการผีมาได้กว่า 3 ปี แต่เพื่อไม่ให้เจ้าผีร้ายถูกขับออกจากวงการผีเสียก่อน เราจึงขอเรียกผีน้อยที่ไม่ใช่ผู้แอบหลบลี้ไปทำงาน ณ ต่างประเทศ ตนนี้ว่า ผีตอ(เบอร์รี่) ซึ่งคุณผีตอก็ยินดีให้เราเรียกเช่นนั้น




  • เส้นทางสู่การเป็นผี

                      ก่อนทำความรู้จักกับผีทางการตลาดอย่างละเอียด ผีตอเริ่มจากการเล่าเส้นทางการเป็นผีของเขาให้เราฟังว่าเขาจบปริญญาตรีเเละปริญญาโททางด้านนิเทศศาสตร์มา แต่ผีตอสนใจด้านการ  สื่อสารภาพลักษณ์องค์กร จึงทำงานเป็น Business development manager ให้บริษัทเอเจนซี่หนึ่งที่คอยดูแลโซเชียลมีเดียให้แบรนด์ต่างๆ

                   “การใช้ ‘ผี’ เป็นแค่งานส่วนเล็กมาก เพราะจริงๆ เราดูแลเรื่องภาพลักษณ์จากช่องทางหลักของแบรนด์ ดูว่าลูกค้าพูดถึงองค์กรที่เราดูแลยังไง ถ้าพูดถึงในแง่ดีก็เอามาพัฒนางาน ถ้าพูดในแง่ลบก็ต้องจัดการด้วยการแก้ข่าว หรือให้สื่ออื่นช่วยประชาสัมพันธ์ ทำสิ่งดีๆ กลบเรื่อง หรือเบี่ยงประเด็นให้เงียบไป ส่วนการใช้ผีก็แล้วแต่กรณี” ผีตอเริ่มเล่าถึงการทำงานของเขาให้เราฟัง


    รู้จักผี

                  ก่อนจะพูดถึงการใช้ผีทางการตลาดหลอกคนให้หัวโกร๋น ผีตอเริ่มจากการอธิบายว่าผีในที่นี้หมายถึง การสื่อสารจากองค์กรหรือแบรนด์สู่ลูกค้าอย่างไม่เป็นทางการ คือจะไม่ใช้โซเชียลมีเดียหลักของเเบรนด์ แต่จะใช้แอคเคานต์หรือบัญชีผู้ใช้ทั้งเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ หรือพันทิปที่สร้างขึ้นมาสื่อสาร โดยลูกค้าจะไม่รู้ว่าเขาคือใครเพราะแอคเคานต์เหล่านั้นจะทำตัวเหมือนคนทั่วไป ทั้งลงรูปไปเที่ยว   เช็กอิน ไลก์เพจต่าง ๆ ตามคาแรกเตอร์ที่ได้รับเพื่อให้เหมาะสมกับแบรนด์ที่ต้องไปตอบแทน

                  “แสดงว่าต้องสร้างแอคเคานต์ใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ?” เราถามเพราะสงสัยว่าการตลาดแบบนี้ต้องมีความพยายามแค่ไหนกัน


                     “ใช่ สมมติเราคิดว่าคนนี้ให้ข้อมูลแน่นมาก เลยเข้าไปดูเฟซเขาแต่กลับเพิ่งสร้างไม่นานและไม่ค่อยโพสต์ เราก็จะเริ่มสงสัย จึงต้องสร้างไว้เป็นร้อยแอคเคานต์แล้วให้คาแร็กเตอร์ประจำ อาจเป็นสายกิน สายท่องเที่ยว หรือสายการเมือง

                    “สมมติคาแรกเตอร์เป็นคนที่เป็นศัตรูกับรัฐบาล ก็จะโพสต์จิกกัดรัฐบาลเยอะ ๆ แต่เขาจะไปคอมเมนต์สนับสนุนรัฐบาลก็ได้ แม้ดูขัดกันแต่คนจะมีความรู้สึกว่า เฮ้ย! เขาไม่ได้เป็นพวกรัฐบาลแต่กรณีนี้เขาเห็นต่าง แสดงว่ารัฐบาลอาจจะถูกจริง ประมาณนี้” ผีตอเล่าออกรสพร้อมยกตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมให้เราฟัง เขายังบอกอีกว่า หากใช้ช่องทางหลักของแบรนด์ไปชี้เเจงข้อมูล คนก็อาจไม่เชื่อเพราะแบรนด์จะต้องเข้าข้างแบรนด์อยู่แล้ว ผีที่การตลาดใช้จึงต้องทำให้คนคิดว่าเป็นหนึ่งในผู้บริโภคเหมือนลูกค้า ไม่ใช่พวกแบรนด์

                  “มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสาธารณะว่า เชื่อฉันสิ ฉันก็เป็นหนึ่งในผู้บริโภคที่เจอเหตุการณ์เหมือนเธอ ซึ่งตอนแรกคิดว่าเป็นความผิดของ แบรนด์ แต่จริงๆ อาจจะเป็นเหตุสุดวิสัย หรือเราทำผิดเอง เป็นการทำให้คนตั้งคำถามกับจุดยืนของตัวเอง” ยิ่งฟังผีตอเล่า เราก็ยิ่งตั้งคำถามกับสารพัดสินค้าร้อยแปดพันเก้าที่เราซื้อมาเพราะคำรีวิว

    เมื่อผู้บริโภคหลอกผี

                      แม้การใช้ผีจะมีใช้ทั่วไปในโลกของการตลาด แต่ใช่ว่าจะใช้ผีในการสื่อสารกับลูกค้าใน      ทุกกรณี ผีตอบอกกับเราว่า พวกเขาจะใช้ผีในกรณีที่การให้แบรนด์ชี้แจงเองนั้นไม่ค่อยเหมาะสม       แล้วยกตัวอย่างให้ฟังว่า กรณีของแบรนด์เล็ก ๆ ที่เน้นการตลาดมากกว่าภาพลักษณ์องค์กร สมมติเป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยว วันหนึ่งมีคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนสาธารณะมาโพสต์ว่าขนมแบรนด์นี้ใส่ผงชูรสเยอะ  แต่ในความจริง แบรนด์ไม่ได้ใส่ กรณีนี้จะต้องใช้ผีเข้าไปชี้แจงข้อมูล เพราะหากใช้ช่องทางหลักของ   แบรนด์ชี้แจง คนคนนั้นจะรู้สึกถูกจับตาจากแบรนด์และรู้สึกว่าถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวมากเกินไป

                     ส่วนแบรนด์หรือองค์กรใหญ่ระดับประเทศ อาจเป็นกรณีการก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดหนึ่ง    ที่อาจมีผลต่อสภาพแวดล้อมทั้งเชิงบวกและลบ แต่คนจะมุ่งโจมตีทางลบว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้ง ๆ ที่โรงงานมีระบบจัดการที่ดีและได้ชี้แจงไปแล้วครั้งหนึ่ง การให้แบรนด์ออกมาชี้แจงเองอีกครั้งจึงอาจจะแปลก จึงต้องใช้ผีที่มีคาแร็กเตอร์เป็นนักวิจัยออกมาชี้แจงแทน ทำให้คนเชื่อถือมากกว่า

                    จากการพูดคุยกับผีตอในประเด็นนี้ทำให้เรารู้ว่า บางครั้งผู้บริโภคก็ไม่ได้เป็นฝ่ายเสียเปรียบเสมอไป แต่ผู้ผลิตก็อาจเสียเปรียบด้วย ในกรณีที่ผู้บริโภคชิงสร้างเฟคนิวส์ แพร่กระจายข้อมูลเท็จจนผีการตลาดตัวจริงต้องปวดหัว

    ถึงคราวผีหลอกคน

                   “คนหลอกผี” คือการที่ผู้บริโภคหรือลูกค้าทั้งหลายชิงสร้างข่าวเท็จให้ผู้ผลิต ส่วน “ผีหลอกคน” คือการใช้ผีในเชิงการตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้บริษัท

                  ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์เหล่านั้นไม่ดีตามคำโฆษณา หรืออาจผิดในระดับนโยบาย ผีตอบอกเราว่า การใช้ผีลักษณะดังกล่าว จะไม่ใช่การตอบโต้หรือให้ข้อมูล แต่จะเป็นการเบี่ยงประเด็นให้ข่าวนั้นหายไป โดยการออกมาพูดนั้นมักพูดให้คลุมเครือ เช่น อาจจะบอกว่าสิ่งที่กำลังเป็นประเด็นนั้นอาจไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้โพสต์หรือผู้คอมเมนต์อาจต้องระวังโดนฟ้องทางด้านกฎหมาย หรือแม้แต่ในแบรนด์เล็กๆ ที่โดนโจมตีว่าผลิตภัณฑ์ไม่ดี ก็อาจใช้ผีในเชิงหน้าม้าว่า คุณใช้ผิดวิธีหรือเปล่า


                    “ถ้าอย่างนั้น การใช้ผีไม่ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหรือ?” เราถาม ทีเล่นทีจริง แต่ลึก ๆ ก็อยากทราบคำตอบจริงๆ จากเขา

                    “ในทางหนึ่งมันคือการหลอกลวงผู้บริโภค แต่ข้อมูลที่เราออกมาพูดอาจจะเป็นข้อมูลจริง     เราไม่ได้ชอบสิ่งที่ทำอยู่นะ แทนที่จะทำแบบนี้ องค์กรหรือแบรนด์ต่าง ๆ ควรจะพัฒนาบริษัท พัฒนาสินค้าหรือบริการให้ดีขึ้น และสื่อสารกับลูกค้าว่า เราปรับปรุงแล้วนะลองมาใช้บริการเราอีกครั้งสิ การทำลักษณะนี้เป็นเทรนด์ที่กำลังนิยมในหมู่ประเทศยุโรปที่เขาจะเปิดเผยกับลูกค้ามากขึ้น และยอมรับความผิดพลาด ปรับปรุงอย่างเป็นรูปธรรม” ผีตอบอกความในใจให้ฟังถึงงานที่เขาทำอยู่และสิ่งที่คิดต่อองค์กรต่าง ๆ ของไทย เราจึงสงสัยว่า การใช้ผีเป็นเรื่องปกติของการตลาดไทย หรือเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องการ

                   “เป็นสิ่งที่ทั้งแบรนด์ต้องการและการตลาดก็เสนอให้ เพราะองค์กรไทยชอบใช้ผีไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ดังนั้น คนทำการตลาดหรือดูแลภาพลักษณ์องค์กร ก็จะเสนอการทำผีให้เพราะรู้ว่าผู้ว่าจ้างจะชอบ ถ้าเราไม่เสนอ เขาก็จะไปจ้างบริษัทที่ทำผีให้ได้ จึงทำให้เกิดวัฏจักรการใช้ผีไปเรื่อย ๆ” เขาเฉลยพร้อมเสริมให้ฟังคล้ายกลัวเราจะขยาดกับแบรนด์หรือองค์กรไทยไปเสียก่อนว่า

                      “แบรนด์ที่ไม่เอาผีเลยก็มี แต่จะเป็นแบรนด์ที่ติดต่อกับเมืองนอกเกี่ยวกับการเงินหรือการ   ลงทุน ที่เรื่องความน่าเชื่อถือต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เขาจึงไม่ยอมเสี่ยงใช้ผี ทุกการสื่อสารที่ออกมาจะต้องทำผ่านช่องทางหลักของแบรนด์เท่านั้น และทุกการกระทำจะต้องสื่อสารกับระดับผู้บริหารว่าเราจะแก้ไขสถานการณ์ยังไง” จากคำตอบของผีตอทั้งหมด ดูเหมือนว่าการใช้ผีทางการตลาดไม่ใช่เรื่องที่เราจะมองข้ามได้เลย เพราะไม่เพียงแสดงถึงความโปร่งใส ความน่าไว้วางใจของแบรนด์ แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาสังคมไทยด้วย

                      จะชวนมาล่าท้าผี ไหงโดนผีล่าซะงั้น!


    เกิดเป็นผีต้องสะท้อนสังคม

                  ความเดิมตอนที่แล้ว เราคิดว่าการที่แบรนด์หรือองค์กรไทยขาดผีไม่ได้นั้น แสดงให้เห็นโครงสร้างสังคมและปัญหาสังคมที่ฝังรากลึกและคงแก้ไขไม่ได้ในเร็ววัน ผีตอคิดอย่างไรกับสิ่งที่เราสงสัยบ้าง

                 เขาเริ่มจากการขยายความเรื่องการทำงานทางการตลาดของต่างประเทศว่า ไม่เพียงรัฐบาลและฝ่ายค้านที่จะเปิดเวทีถกเถียงให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็น แต่องค์กรก็ออกมาเสนอโครงการต่าง ๆ ผ่านเวทีส่วนกลางของประเทศด้วย แต่แบรนด์ไทยจะพูดผ่านเวทีของตน อาจจะผ่านเฟซบุ๊กหรือสำนักข่าวต่าง ๆ ไม่ได้เผชิญคำถามที่สาธารณะมีให้โดยตรง แต่จะส่งผีออกไปพูดในในช่องทางอื่น ๆ เป็นการต่อสู้ในลักษณะกองโจร จึงไม่เกิดการถกเถียงอย่างเป็นธรรมให้คนทั่วไปรับรู้ได้

                 “มันแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ชอบการเผชิญหน้าหรือการถกเถียงกันอย่าง      เปิดเผย ในระดับแบรนด์เล็ก ๆ มักมีคนมาถามว่าใช้แบรนด์นี้ดีไหม ผีก็เข้ามาตอบว่า ใช้แบรนด์นี้         ดีกว่านะ มันก็เหมือนกับเป็นการโจมตีคู่แข่ง

                “รวมถึงสังคมไทยเป็นสังคมที่มีระบบอาวุโสเข้มข้น หลายครั้ง ผู้บริหารขององค์กรใหญ่ที่มีอายุค่อนข้างมากเมื่อถูกตั้งคำถามจากทั้งองค์กรอิสระหรือคนทั่วไปที่ไม่มีตำแหน่งหรืออายุน้อยกว่า   เขาจะรู้สึกเสียหน้ามาก”

                “ถ้าในกรณีของเรื่องผลประโยชน์ บางครั้งที่สาธารณชนไม่เห็นด้วยว่าทำไมบริษัท A ประมูลงานจากบริษัท B ได้ตลอด แต่บริษัทอื่นไม่เคยประมูลงานผ่าน เพราะเขาตกลงกันไว้แล้ว บริษัท B จึงต้องส่งผีออกมาให้ข้อมูลแทนการออกมาพูดเอง” ผีตอเล่าให้เราฟังถึงปัญหาสังคมไทยที่เขาคิดและยังบอกกับเราอีกว่า ในเชิงสถิติ เรื่องผลประโยชน์หรือการเมืองที่ได้เล่าไปเป็นสาเหตุหลักของการใช้ผีในการสื่อสารหรือโต้ตอบกับสาธารณะ

                 หากปัญหาสังคมไทยยังไม่ได้รับการแก้ไข หากคนของสาธารณชนไม่ว่าจะองค์กรของรัฐบาลและเอกชนยังไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากพอ หวังเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น การใช้ผีเป็นทั้งเครื่องมือทางการตลาดและเครื่องมือทางการเมืองที่จะหลอก เบี่ยงเบน และยุติความเห็นประชาชน จะถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมและไม่ซื่อสัตย์ต่อประชาชนเลยก็คงเวียนว่ายตายเกิดยิ่งกว่าสัตว์โลก เป็นวัฏจักรอยู่เช่นนี้ เอวัง (แต่ยังไม่จบ!)


    ผีไทย ผีโลก

                       นอกจากการใช้ผีดังกล่าวไปข้างต้น การที่แบรนด์ส่งสินค้าให้เหล่ายูทูบเบอร์ บล็อกเกอร์  อินฟลูเอนเซอร์ฟรี ๆ ก็ถือเป็นการใช้ผีอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะแม้คนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องรีวิวสินค้าให้แบรนด์ (แต่ตามมารยาทก็จะรีวิว) ผลจากการรีวิวจะเป็นการยกยอปอปั้นแบรนด์เพราะหากรีวิวไม่ดี ก็จะไม่ได้รับของจาก แบรนด์อีก นี่คืออีกหนึ่งช่องทางการตลาดที่กำลังมาแรงในทศวรรษนี้

                      หลังจากพูดคุยท่ามกลางแสงเงายามบ่ายเรื่องผี ๆ ทางการตลาดเสร็จ เราเปลี่ยนมาคุยถึงเรื่องผีในรูปแบบอื่น ๆ ที่เขาคิดว่าเป็นผีที่หลอกหลอนคนเหมือนกัน

                       “สำหรับไทย เราว่าเป็นผีเรื่องเล่า ผี Story telling (หัวเราะ) มันเหมือนเป็นผีสากลที่ใช้เชื่อมโยงกับผีการเมือง หรือผีชาตินิยม เพราะคนไทยชอบเรื่องน่าตื่นเต้น ดูเป็นส่วนตัว เป็นวงใน และดราม่า ถ้าคนออกมาให้ข้อมูลอย่างดี คนก็มักจะไม่ค่อยเชื่อ แต่ถ้าเริ่มต้นว่า วันก่อนนะครับผมได้เจอคนนี้มา เขาเล่าว่า… ทำนองนี้ คนก็จะเชื่อว่า เฮ้ย! ดูสิ มันเป็นข่าววงใน” เราลองคิดตามก็ยิ่งเห็นด้วยกับผีตอ เห็นได้จากข่าวเมาท์ดารา ข่าวการเมืองแยกสี กระทั่งข่าวอาชญากรรมหาฆาตกร คนไทยก็มักจะผสมโรงเรื่องเล่าว่า “ได้ข่าวมาว่า” ทุกครั้งไป

                     “ส่วนผีที่หลอกหลอนคนเกือบทุกประเทศเลยก็ว่าได้ คือผีชาตินิยม เช่นตอนที่อังกฤษออกจากอียูเพราะไม่ต้องการให้คนชาติอื่นๆ ได้รับผลประโยชน์มากกว่าคนในชาติ หรืออเมริกาที่ทรัมป์จะสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโกหรือไม่รับสินค้าจากจีน หรือแม้แต่แบรนด์เล็ก ๆ อย่างของไทย หลายแบรนด์ก็จะอ้างความเป็น แบรนด์ไทยให้ช่วยสนับสนุน” ผีตอเล่าถึงความเป็นผีของทั้งไทยและเทศในความคิดของเขาให้เราฟัง

    ล่าท้าผี

                        เพราะการตลาดไม่ได้มีเพียงการโฆษณาผลิตภัณฑ์ผ่านช่องโทรทัศน์ ป้ายสินค้าตามห้าง หรือผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์เท่านั้น การรู้เท่าทันเหล่าผีจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อาจช่วยให้คนตระหนักในการรับข้อมูลมากขึ้น ไม่ว่าจะข้อมูลรีวิวสินค้า หรือข้อมูลอันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นสังคม แม้การล่าท้าผีจะทำได้ยากและคงไม่มีใครมานั่งเหนื่อยล่าตลอดเวลา แต่ผีตอก็ฝากเทคนิคล่าผีจากประสบการณ์     การเป็นผีมาตลอดสามปีให้เราว่า

                      หนึ่ง ผีมักจะให้ข้อมูลที่แน่นและดูดีเสมอ ข้อมูลที่ให้มักจะดูเข้าข้างคนทั่วไปแต่จริง ๆ เป็นการเข้าข้างแบรนด์

                     สอง โปรไฟล์ผีมักจะดูสมจริงหรือดูดีกว่าคนทั่วไป ผีอาจจะไลก์เพจต่าง ๆ ก็จริง แต่เพจเหล่านั้นบางครั้งก็ไม่สอดคล้องกันแบบคนจริง ๆ

                    แม้เราจะมีเทคนิคล่าท้าผีอย่างคร่าว ๆ แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าเรายังติดอยู่ในวังวนการหลอกหลอนจากผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ สิ่งที่ทำได้คงเป็นการหวังว่าสักวัน องค์กรไทยจะทำงานอย่างโปร่งใสเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเสียที

                    “ถ้าเกิดแบรนด์ไทยเริ่มใช้แนวทางของต่างประเทศแล้วเลิกใช้ ‘ผี’ ชัยชนะจะตกมาอยู่ที่มือ     ผู้บริโภคและสาธารณะอย่างแท้จริง มันจะเกิดการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาทำให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจได้มากขึ้น แบรนด์จะเริ่มพัฒนาสินค้าและบริการของตน ไม่ใช่การขายด้วยคำพูดที่เป็นเท็จ แต่เป็นการขายด้วยคุณสมบัติหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์จริง ๆ”
    “แม้มันน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นเพราะโครงสร้างสังคม การจะเลิกใช้ผีก็น่าจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมไทยไปด้วย แต่ก็ภาวนาให้มันมีสักวันหนึ่ง”

                    ไม่มีใครรู้ว่าวันใด องค์กรของไทยและบริษัทด้านสื่อเหล่านี้จะร่วมมือกันหยุด “วัฏจักรผี ๆ” นี้ให้คนไทยชื่นใจได้ ไม่มีใครรู้ว่าวันใด ความไม่โปร่งใสผ่านปลายนิ้วของเหล่าผีจะหมดไป ตราบเท่าที่เรายังปิดกั้นการถกเถียงซึ่งเป็นที่มาของการพัฒนาอยู่ การตลาดเช่นนี้และปัญหาต่างๆ ของสังคมคงไม่หมดไป




    © สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น

    ข้อเขียนนี้เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ “เขียนเล่นเป็นเรื่อง” รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 

    อ่านฉบับ E-book ได้ที่ https://www.mebmarket.com/ebook-134349-เขียนเล่นเป็นเรื่อง-รวมผลงานสร้างสรรค์ของนิสิตภาควิชาภาษาไทย

    หมายเหตุเกี่ยวกับงานเขียน:                   ผลงานสืบเนื่องจากรายวิชา “ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว”
                                                                       ปีการศึกษา 2562

    ผู้ให้สัมภาษณ์:                                           ผีตอ(เบอร์รี่)
    ผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียงบทสัมภาษณ์:  ฉัตรชนก ชัยวงศ์
                                                                       ศิษย์เก่านิสิตทุนโครงการสู่ความเป็นเลิศด้านภาษาและ
                                                                       วรรณคดีไทย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์
                                                                       จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจทางประวัติศาสตร์ 
                                                                       วรรณกรรม และวัฒนธรรม รักการอ่านทำนอง เสนาะและ
                                                                       ร้องเพลงพอ ๆ กับการขีดเขียน แม้ทุกวันนี้จะอ่านหนังสือ
                                                                       เล่มน้อยลง หันมาอ่านบทความออนไลน์มากขึ้น แต่ยังหลง
                                                                       รักในกลิ่นหนังสือ และสัมผัสของกระดาษเสมอ
    ภาพประกอบ:                                            ฉัตรชนก ชัยวงศ์
    บรรณาธิการต้นฉบับ:                               หัตถกาญจน์ อารีศิลป
    กองบรรณาธิการ:                                     ธัญวรัตม์ วงศ์เรือง บุษกร บุษปธำรง วรนุช ขาวเกตุ
                                                                       ธีรศักดิ์ คงวัฒนานนท์ จุฬารัตน์ กุหลาบ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in