ไม่ง่ายเลยที่เราจะรับมือกับสภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุ
สังคมที่มีประชากรอายุ65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด
งานของผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นงานหนัก เมื่อต้องทำหน้าที่ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุบางคนอาจจะใช้วิธีจ้างผู้ดูแล ส่วนบางคนก็มีคนในครอบครัวช่วยดูแล ยากจริง ๆ ที่เราต้องยอมรับว่าคุณพ่อของเราจำไม่ได้แล้วว่ากินข้าวไปหรือยัง คุณยายที่เคยเดินเหินได้อย่างรวดเร็วต้องใช้ไม้เท้า คุณแม่ที่เคยขับถ่ายได้เองต้องใช้วิธีสวนก้นเพื่อให้ขับถ่าย
และความยากก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ผู้ดูแลผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุไปด้วย เพราะนอกจากจะต้องดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุแล้ว ก็ยังต้องดูแลตนเองที่เป็นผู้สูงอายุด้วย
นายวิชา รัฐถานาวิน คุณลุงวัย 65 ปี รับหน้าที่ดูแลคุณยายลำยวน รัฐถานาวิน วัย 93 ปีแม่ของตนเองที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี คุณลุงเพิ่งเกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หากแต่เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งก็รับผิดชอบดูแลคุณยายตั้งแต่อาหารมื้อเช้าจวบจนถึงอาหารมื้อเย็น ส่วนน้องสาวแท้ ๆ ของคุณลุงจะรับช่วงดูแลคุณยายต่อหลังเธอกลับจากทำงาน รวมถึงมีลูก ๆ ของน้องสาวมาช่วย “เล่น” กับคุณยายด้วยหลังกลับจากโรงเรียน คุณลุงฝึกปรือฝีมือในการรับมือกับคุณยายมาเป็นเวลากว่าสิบปี
“ตอนแรก ๆ มันไม่คุ้นหรอกเราเป็นผู้ชาย ลูกเมียก็ไม่มี อยู่กับแม่และน้องสาว งานแบบนี้ ก็ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำ ตั้งแต่เช้านั่นแหละก็ต้องอยู่ด้วยกันทั้งวัน แต่ก่อนไม่ยากเท่านี้แม่เขาก็รู้เรื่อง แต่หลัง ๆ มานี้แม่เขาเริ่มหลง เราไปไหนไม่ได้เลย อีกอย่างแต่ก่อนแม่เขาเดินไม่แข็ง ก็จะเดินช้า ๆ แต่เดี๋ยวนี้ยิ่งหลง ๆ ลืม ๆ ด้วย ก็ได้แต่ถัด ๆ เอาอยู่ที่บ้านแต่ยังนั่งได้หลังตรงอยู่นะ”
ความยากยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อผู้สูงอายุที่เราดูแลเริ่มหลง ๆ ลืม ๆ และเดินไม่ได้ แต่คุณลุงตอบด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มขัดกับข้อความที่บอกเล่ามาข้างต้น เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าผู้สูงอายุที่หลง ๆ ลืม ๆ เดินไม่ได้ จะวุ่นวายขนาดไหน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกลับทำให้คุณลุงต้องปรับตัว ปรับความคิด และทัศนคติของตัวเองเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
“ที่บ้านเนี่ย เวลาคนข้างนอกบ้านได้ยินก็นึกว่ามีเด็กเล็ก ๆ เพราะต้องห่วงเรื่องกินน้ำ นอนฉี่ แต่ที่บ้านไม่มีใครเป็นเด็กเลย ทุกคนเลยวัยเด็กหมดแล้ว เด็กที่สุดที่เราพูดถึงก็คือแม่ผม ที่ว่าเป็นเด็กเพราะเขาชอบกินขนมหวาน ๆ ขนมเด็ก ๆ เช่น ยูโร่คัสตาร์ท เค้กเยลลี่นิ่ม ๆ กลายเป็นเด็กเล็ก ๆ แล้วก็หลงลืม เรียกผมว่าคุณน้าคะ ถ้าเจอคนแปลกหน้าเจอผู้ชายก็กลัว จะสะกิด ต้องเรียกหาน้องสาวผมมาอยู่ด้วย ตอนที่คุณตาหรือพ่อผมยังไม่เสียเขาก็กลัวว่าตัวเองอยู่กับผู้ชายที่ไหนไม่รู้”
นี่แหละนะคนเรา พออายุมากขึ้นก็จะกลับไปเป็นเหมือนเด็กอีกครั้ง กลายเป็นคนดื้อ ย้ำคิดย้ำทำการดูแลก็ยิ่งต้องมากขึ้น เหมือนชีวิตเราเป็นวงกลม เริ่มต้นจากความเป็นเด็กวัยใสที่เมล็ดพันธุ์เพิ่งเริ่มงอก จนกระทั่งได้รับการรดน้ำ พรวนดิน งอกงามเป็นผลดี เวลาล่วงเลยไปจนอายุขัยใกล้หมด เราเดินวนกลับมายังจุดเริ่มต้นจุดที่ต้นไม้เหี่ยวเฉา ลำต้นอ่อนลง โค้งงอและเล็กกว่าเดิม จุดที่เรากลับมาใช้ชีวิตคล้ายวัยเยาว์อีกครั้ง
แน่นอนว่าการทำความเข้าใจผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องง่าย ในเมื่ออายุเป็นช่องว่างระหว่างคนสองวัยในการทำความเข้าใจกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณลุงวัย 65 ปีที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ไม่ว่าจะเป็นการขายโอ่งหรือต่อเรือ งานมากมายสะท้อนว่าไฟในตัวยังคงมีอยู่ คนที่เคยเห็นว่าแม่ของตัวเองทำอะไรได้บ้าง เคยทำกับข้าวได้ เคยซักผ้าได้ กลับต้องมาทำความเข้าใจและเข้าถึงแม่ของตัวเองที่หลงลืมสิ่งต่าง ๆ รอบกายไปหมดสิ้น ไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมได้อีกแล้ว นี้จึงเป็นเหตุให้คุณลุงต้องเปลี่ยนปรับความคิดจากเดิมไปพอสมควร
“หลายบ้านมีผู้สูงอายุ เวลาที่มีผู้สูงอายุหลงลืมตอนแรกใคร ๆ ก็เครียด เฮ้ย! พ่อเราเคยทำได้ แม่เราเคยทำได้ พ่อต้องจำได้สิทำไมเรื่องแค่นี้ทำไม่ได้ เราจะคาดหวังว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ของบ้าน เขาไม่ควรหลงลืม ถ้าทำแบบนั้นเราจะอยู่ด้วยความเครียด ตัวผู้สูงอายุเองเขาก็เครียดอยู่แล้ว เรายิ่งไปเพิ่มความเครียดให้เขาอีก กลายเป็นกินไม่ได้นอนไม่หลับกันทั้งคู่ มัวแต่เครียดว่าทำไมถึงจำไม่ได้ แต่จริง ๆ การดูแลก็คือการทำให้เขากินได้ นอนหลับ ทำให้เขารู้สึกอบอุ่นจากคนใกล้ชิด ซึ่งท้ายที่สุดผู้สูงอายุก็ไม่ต่างอะไรกับเด็ก เราจึงดูแลคุณยายวัย 93 คล้าย ๆ กับเด็กวัย 3 ขวบ การเปลี่ยนทัศนคติว่าเราไม่ได้ดูแลผู้สูงอายุ แต่เรากำลังดูแลคนที่เปราะบางและกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งนั้นเป็นหัวใจสำคัญ อย่าคิดว่าทั้งเขาและเราแก่ แต่ต้องคิดว่าเรากำลังเติบโตไปพร้อม ๆ กับเขา”
ความคิดและทัศนคติที่ดีของคุณลุงช่วยสร้างแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี การหาทางรับมือกับผู้สูงอายุและผู้ดูแลเองเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามัวยึดติดกับกรอบความคิดของตัวเอง ก็จะมองเห็นเขาเป็นเพียงผู้สูงอายุคนที่เคยทำอะไรได้ เคยเดินเหินได้ว่องไว และเขาควรต้องเป็นแบบนั้นตลอดไป เราก็จะทั้งเครียดทั้งทุกข์ แต่หากเรามองเขาผ่านกรอบของธรรมชาติชีวิตอย่างเข้าใจดังที่คุณลุงมองคุณยายผ่านกรอบชีวิตของคุณยายเองแล้ว เราก็จะค่อย ๆ ปรับตัวเพื่อยอมรับได้
“ก่อนเราปรับทัศนคติกันได้ เราก็ผ่านอะไรมาหนักหนาเหมือนกัน เราถึงกับเครียดว่า เขาไม่ยอมนอนไม่ยอมกิน จนเราให้กินยานอนหลับ กลายเป็นว่าหลับยาว หลับนาน น่ากลัว มันเป็นการฝืนธรรมชาติของเขา”
บนทางเดินที่ตอนแรกไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด ทำให้คุณลุงและผู้ดูแลคนอื่น ๆ ในบ้านคือน้องสาวและหลาน ๆ ต้องหาวิธีรับมือกับคุณยายที่เริ่มเป็นเด็กป่วนขึ้นเรื่อย ๆ การฝืนธรรมชาติไม่ใช่วิธีที่ดีนัก การไหลไปตามธรรมชาติต่างหากคือวิธีที่ดีกว่า
“ตอนคุณยายเริ่มหลงเขาคิดว่าที่ที่อยู่เนี่ยไม่ใช่บ้านเขา เขาจะคลานออกไปนอกประตู จะลงไปข้างล่าง เราก็จำเป็นต้องปิดประตู แม่เขาก็กระทืบประตูจนเกือบพัง ก็ต้องหาวิธีที่เราจะจัดการกับเขา มันไม่ใช่การพูดว่า ‘แม่ นี่บ้านนะ’ พูดไปก็ไม่เข้าใจ เขาจำไม่ได้ เราก็เริ่มดูว่าแม่เขาต้องการอะไร แม่เขาชอบจัดระเบียบ เราก็รื้อของรื้อหนังสือพิมพ์แล้วบอกว่า ‘แม่ จัดก่อนอย่าเพิ่งกลับ’ เขาก็เก็บหนังสือ พอรื้อเสื้อผ้า เขาก็เก็บเสื้อผ้า แล้วเขาก็ลืมว่าอยากกลับบ้าน อีกวิธีก็ให้หลานชายปลอมตัว ใส่แว่นใส่หมวกออกไปนอกบ้าน ทำเป็นคนอื่นเข้ามาบอกว่านี่บ้านยาย ยายอย่าเพิ่งไปนะ เราก็ต้องหลอกกันสารพัด เราก็รับมือเปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลกันมาโดยตลอด”
การปรับเปลี่ยนวิธีรับมือกับคุณยายพัฒนาขึ้นในหลายแนวทาง ทั้งหลอกให้จัดบ้านให้เป็นระเบียบ หลอกว่าเป็นคนแปลกหน้า ทุก ๆ วิธีล้วนมีที่มาจากการดึงเอาธรรมชาติของคุณยายมาใช้ทั้งนั้น เช่น รู้ว่าคุณยายชอบจัดบ้านให้เป็นระเบียบ รู้ว่าคุณยายมักจะกลัวคนแปลกหน้า และหลาย ๆ ครั้งก็เชื่อเพราะคิดว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจมากกว่าตัวเอง เมื่อเราศึกษาและเข้าใจธรรมชาติของผู้สูงอายุคนนั้น ๆ เราก็จะรับมือเขาได้ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม แม้กระทั่งเรื่องอาหารการกิน
“แม่แกชอบกินหมาก แต่มีช่วงนึงที่น้ำท่วมหมากไม่มี ก็ซื้อโกโก้ครั้นช์รสช็อกโกแลตแล้วหลอกว่าเป็นหมากให้แกกิน แม่เขาก็กินได้ จนเลิกติดหมากไปเอง”
“ตอนแรกแม่กินข้าวเองได้ปกติ แต่ 3-4 ปี มานี้ก็ลืม ไม่รู้ตักข้าวยังไง เราต้องป้อน แต่แกไม่ชอบกินข้าวเพราะมันไม่หวาน เลยลองให้แกจับยูโร่ไว้ในมือ บิใส่ปาก แล้วพอแกจะเอายูโร่ในมือเข้าปาก เราก็เอาข้าวใส่ปากแทน เป็นวิธีนึงที่แกได้กินข้าว ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีกันไปให้เข้ากับเขา”
ความต้องการของผู้ดูแลที่มีต่อผู้สูงอายุคงหนีไม่พ้นการทำให้ผู้สูงอายุกินให้อิ่มนอนให้หลับ และได้รับความอบอุ่นอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้น การกินเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หลาย ๆ ครอบครัวมีปัญหาว่าผู้สูงอายุในบ้านไม่ยอมกินข้าว เมื่อไปปรึกษาแพทย์ ก็อาจได้รับคำแนะนำด้วยวิธีการ เช่น ใช้ท่อสอดอาหารซึ่งก็จะส่งผลให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไปโดยปริยาย จะเห็นว่าคุณลุงวิชากลับนำวิธีต่าง ๆ มาปรับใช้เพื่อเลี่ยงวิธีการที่ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์สอดใส่อาหารเข้าร่างกาย
“พอเราดูแลด้วยความเป็นเด็ก เวลาคนอื่นมาเยี่ยมเขาก็จะถามว่าดูแลกันได้ยังไง ปกติผู้ป่วยอายุเท่านี้ด้วยอาการป่วยแบบนี้น่าจะเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่เราก็ใช้วิธีป้อนกันไป หลอกกันไป”
“วิธีดูแลแบบเด็ก ๆ นี้ไม่ได้ช่วยแค่ผู้ป่วย แต่ช่วยผู้ดูแลได้ด้วย เพราะถ้าเราคิดว่าการเป็นเด็ก มันช่วยในการใช้ชีวิตได้อย่างไม่เครียดและมีความสุข จริงๆ ผมอายุ 65 แล้วนะครับ ก็ไม่ได้ทำตัวแก่ เราก็หันไปใช้อินเทอร์เน็ต เรียนรู้วิธีทำอาหาร ปลูกดอกไม้ ดูหนัง ฟังเพลง ก็รู้สึกว่าเราก็มีความสุขไม่เคร่งเครียดกับชีวิต ไม่ต้องคิดว่าเราแก่แล้วนะ วุฒิภาวะไม่ได้อยู่ที่วัยเท่านั้น แต่อยู่กับวิธีการรับมือกับวัยอย่างไร”
เพียงแค่เปลี่ยนทัศนคติชีวิตก็เปลี่ยน ไม่ใช่แค่ชีวิตของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนไป หากแต่ชีวิตของผู้ดูแลผู้สูงอายุก็เปลี่ยนเช่นกัน การดูแลคุณยายในแบบที่คิดว่าคุณยายเป็นเด็ก กลับทำให้คุณลุงกลายเป็นเด็กอีกครั้งไม่ว่าจะความคิดหรือการดำเนินชีวิต ความเป็นเด็กช่วยลดความเครียดและช่วยปรับการดูแลให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติขึ้นได้
การดูแลผู้สูงอายุคงไม่ใช่เรื่องยากแบบที่เราคิดอีกต่อไปแล้ว เพราะคุณลุงวัย 65 ปีผู้ซึ่งไม่เชื่อว่าวัยจะสำคัญไปกว่าการเข้าใจธรรมชาติของวัย ได้นำทางพวกเราให้ค้นพบวิธีการรับมือกับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินหรือจดจำอะไรได้อย่างคุณยายลำยวน รัฐถานาวิน เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่นับวันจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุได้อย่างดีเยี่ยม
© สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับเพิ่มเติม) พ.ศ. 2558 เผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
ซึ่งเป็นผลงานลำดับที่ 3 ในหนังสือชุด “วิชญมาลา” รวมผลงานด้านภาษาและวรรณคดีไทย จัดทำโดย ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in