"กระดาษก็เป็นฐานและรากฐานของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์มนุษย์ทั้งเศรษฐกิจ ศิลปะ สงคราม และความพยายามสร้างสันติภาพล้วนเกิดขึ้นผ่านแผ่นกระดาษ มันเรียบง่ายเช่นนี้เอง"
- Ian Sansom (หน้า 18)
"ประวัติศาสตร์กระดาษโลก (Paper an Elegy)"
Ian Sansom เขียน
พลอยแสง เอกญาติ แปล
สนพ. openworlds, พิมพ์ครั้งแรก
มีนาคม 2558
มีช่วงหนึ่งที่มีกระแสข่าวลือว่าหนังสือแบบรูปเล่มพิมพ์จากกระดาษอาจจะหายไป และถูกแทนที่ด้วย e-book หรือพวก content แบบออนไลน์ แต่ล่าสุดเราเห็นข่าวว่าคนหันกลับมาเลือกอ่านแบบรูปเล่มมากขึ้นและยอดขายแบบ e-book กลับลดลง ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหนังสือในแบบที่เราจับต้อง สูดดมกลิ่นกระดาษได้ไม่น่าจะหายไปจากโลกนี้อย่างง่ายดายปานนั้น ข้อมูลใน ประวัติศาสตร์กระดาษโลก (Paper: An Elegy) นี่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ทางทฤษฎีที่อาจจะช่วยสร้างความมั่นใจในเรื่องนี้
พอพูดถึงกระดาษ หนังสือคงจะเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ที่ผู้คนจะนึกถึง แต่ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เล่าเรื่องราวแต่เฉพาะกระดาษที่ใช้ทำหนังสือ หรือมีแต่เรื่องของหนังสือหรอกนะ หากแต่รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ "กระดาษ" ในทุกศาสตร์ทุกแขนง บางทีเราอาจจะไม่เคยรู้ตัวกันเลยว่ากระดาษมีความเกี่ยวพันกับชีวิตคนเราอย่างมากมายขนาดไหน เริ่มตั้งแต่ ใบแจ้งเกิดหรือสูติบัตร ธนบัตรหรือเงินที่เราใช้จ่ายชำระหนี้ตามกฎหมาย (และหายวับไปจากยอดคงเหลือในบัญชีราวกับไม่เคยเดินทางเข้ามาในดินแดนลี้ลับแห่งนี้มาก่อน T^T) สมุดบัญชี กระดาษสมุดที่ใช้จดข้อความของนักเรียน กระดาษสำหรับปริ๊นต์หรือถ่ายเอกสารในสำนักงาน กระดาษทิชชู่ เอกสารสัญญาต่าง ๆ ใบปลิว ฉลากสินค้า ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ ล้วนแต่ทำจากกระดาษทั้งนั้น พอมาไล่เลียงดูแล้วก็ทึ่งว่ากระดาษอยู่รอบตัวเราเยอะขนาดนี้เลยเหรอ
ภายในเล่มจะแบ่งเป็นตอน ๆ แยกเรื่องเป็นหมวดหมู่ และไม่ได้เล่าแบบประวัติศาสตร์จ๋า ๆ ที่เกริ่นตั้งแต่ต้นกำเนิดอะไรเทือกนั้น อย่างเช่น ในบท "กระดาษเดินทาง" ก็จะบอกเล่าข้อมูลเกี่ยวกับ แผนที่ ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์เราเลือกกระดาษเป็นวัสดุสำหรับบันทึกเส้นทาง หรือ "เกมสควิกเกิล" ก็จะเป็นเรื่องของพวกเกมต่าง ๆ ที่ทำจากกระดาษ อย่างเช่น บอร์ดเกม ตัวต่อจิ๊กซอว์ เป็นต้น หรือแม้แต่ในการสงครามกระดาษก็มีบทบาททั้งในการโจมตีทำลายล้าง และสร้างสันติภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่การใช้กระดาษทำเรื่องที่เป็นอันตรายต่อชีวิตก็มีให้เห็นมาจนทุกวันนี้ "แต่กระนั้นผู้คนทั่วโลกก็ยังทำพิธีกรรมเกี่ยวกับกระดาษที่อันตรายร้ายแรงมากอยู่ทุกวี่วัน พวกเขาคาบกระดาษแล้วจุดไฟ" (หน้า 255) สำนวนการเขียนก็อ่านง่าย แม้จะงงอยู่บ้างกับลำดับช่วงเวลา (อนึ่ง เราพกเล่มนี้ไว้อ่านตอนเดินทางตอนเช้า แน่นอนว่าทั้งง่วงและมึนในตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฮ่าาาา) แต่โดยรวมแล้วเรียบเรียงมาได้ย่อยง่ายดี
กระดาษ เป็นอารยธรรมที่ฝังรากลึกในชีวิตมนุษย์และมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานนับพันปี เป็น 1 ใน 4 สิ่งประดิษฐ์ชิ้นสำคัญของจีน (เข็มทิศ, ดินปืน, กระดาษ, การพิมพ์) และน่าจะคงอยู่บนโลกนี้ไปอีกนาน เอาแค่ต้นกำเนิดของมันก็ผ่านการคิดค้นทดลองมาหลายกรรมวิธี แค่นี้ก็น่าสนใจไม่น้อยแล้ว การแตกแขนงออกมาเป็นส่วนต่าง ๆ ของผลิตภัณฑ์ยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก แม้สไตล์การเล่าเรื่องในลักษณะนี้จะชวนงงเล็กน้อย แต่หากพูดในแง่ความน่าสนใจของเนื้อหา และความอัดแน่นของข้อมูล เราว่า ประวัติศาสตร์กระดาษโลก ทำได้ดี อ่านเพลินทีเดียว #กลิ่นกระดาษจงเจริญ !
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in