"บางทีชีวิตก็อยู่ที่การทุ่มเททำงานที่เราชอบนะ
ไม่ใช่งานที่เราคิดว่าเราน่าจะทำ"
- โจ้บองโก้ (หน้า 131)
ผู้เขียน: โจ้บองโก้
สนพ. อะบุ๊ก
พิมพ์ครั้งแรก, กันยายน 2557
สมัยเรียน ภาษาไทยเป็นวิชาที่ได้คะแนนกลาง ๆ ไม่ได้ดีโดดเด่นอะไร แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ไม่มีวันลืมซึ่งเกี่ยวข้องกับวิชานี้ ก็คือตอนม. ปลายเผลอหลับในห้องเรียนแล้วอาจารย์จับได้ ทั้งอายทั้งรู้สึกผิด ยังจำสีหน้าและแววตาอาจารย์ในเวลานั้นได้อยู่เลย มันหลับไปตอนไหนไม่รู้ตัวจริง ๆ นะ หนูขอโทษ T^T
นอกจากเป็นภาษาประจำชาติที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นวิชาที่ต้องเรียนแล้ว ก็ไม่ได้รู้สึกสนใจอะไรมากมาย เดี๋ยวนี้ยังดีขึ้นหน่อยที่เพิ่มความใส่ใจกับการสะกดให้ถูกขึ้นมาบ้าง ก่อนจะพิมพ์จะเขียนอะไรก็เช็กก่อน ถึงจะยังมีผิด ๆ ถูก ๆ สลับกันไปแต่ก็ยังดีกว่าเมื่อก่อนที่ไม่เคยระวังอะไร แม้จะรู้สึกและคิดว่าภาษาเป็นเรื่องสนุก แต่การเรียนมันไม่สนุกน่ะสิ
หนังสือเกี่ยวกับภาษาส่วนใหญ่ก็น่าเบื่อ และมักจะใช้คำอธิบายยาก ๆ ที่คนอย่างเราเข้าไม่ถึง ส่วนที่อธิบายเข้าใจง่ายก็อ่านแล้วไม่สนุก จบแล้วก็ไม่ได้จำ (จริง ๆ เป็นคนไม่จำอะไรมากกว่าหรือเปล่าวะเรา อย่าไปโทษหนังสือเลยดีกว่าไหม) แต่กับ กอ ขอ คอ งอ เล่มนี้นอกจากจะเข้าใจง่ายแล้วยังสนุก เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่อัดแน่นด้วยสาระความรู้และความบันเทิง
เราเคยเห็นหนังสือของคุณโจ้บอกโก้มานานละ แต่ลังเลไม่กล้าซื้อ เพราะ หนึ่ง ปกติมักจะมีเล่มอื่นที่อยากได้มากกว่า สอง ยังไม่เคยอ่านงานของเขามาก่อน ไม่รู้ว่าสไตล์การเขียนเป็นแบบไหน แต่วันหนึ่งไปเจอโพสต์ของเขา (เสียดายที่ไม่ได้เซฟไว้) อ่านแล้วชอบมาก เขียนสนุกดีอะ พอไปงานหนังสือก็เลยจัดเล่มนี้มาอ่านเป็นเล่มแรก (และดองไว้เสียนาน เพิ่งได้ฤกษ์หยิบออกมาจากลังดอง) กอ ขอ คอ งอ นั้นทำเป็นข้อสอบปรนัยจำนวน 50 ข้อ ในแต่ละข้อจะมีโจทย์เป็นเรื่องราวสั้น ๆ พร้อมด้วยตัวเลือก 4 ข้อให้เราลองตอบเล่น ๆ ที่แสนเก๋คือมีกระดาษคำตอบแบบใช้ดินสอฝนแถมมาให้ ใช้เป็นที่คั่นหนังสือไปในตัว อ่านจบก็รวมคะแนนแล้วเช็กระดับความสามารถของเราว่าอยู่ระดับไหนได้ท้ายเล่ม ซึ่ง...คำอธิบายของแต่ละระดับนั้น...ไม่น่าเอาไปใช้อ้างอิงอะไรได้จริงจังนัก (เอ๊ะ ยังไง)
หลาย ๆ คำก็ไม่เคยรู้ความหมายมาก่อนและสะกดผิดมาชั่วชีวิต โดยเฉพาะพวกคำทับศัพท์นี่มั่นใจมากว่าน้อยคำที่เราจะสะกดถูกจริง ๆ มีคำศัพท์หลายคำที่อ่านแล้วช็อกมากกับความหมาย และความผิดเพี้ยนของมัน อย่างเช่น "สัม" เรามีเพื่อนที่ทำงานที่เป็นคนเหนือหลายคน 1 ในคนที่สนิทด้วยเรามักจะใช้คำนี้กับเขาบ่อย ๆ โดยย่อจากคำว่า "สัมภาษณ์" เช่น อ้อ วันนี้มีสัมเหรอ ซึ่งเราไม่รู้ว่าคำ ๆ นี้มันมีความหมายเฉพาะในภาษาเหนือ แล้วก็ได้มารู้จาก กอ ขอ คอ งอ เล่มนี้นี่แหละ ตกใจมาก กรี๊ดมาก เพื่อนก็ไม่เคยบอกเราว่า สัม ภาษาเหนือแปลว่าอะไร พอไปถามมันก็บอกว่า "นึกว่ารู้แล้ว" นึกว่าเราล่นด้วย เพราะปกติก็พูดเล่นสัปดนกัน ทุกครั้งที่มันตอบกลับก็ตอบแบบมีนัยอะ แต่เราไม่รู้เลยไม่เข้าใจว่านัยของมันน่ะทะลึ่ง! นับจากนี้ความรู้สึกที่มีต่อคำว่าสัมฯ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ฮาาา
อีกคำที่ตราตรึงใจก็คือฟิวเจอร์บอร์ด เชื่อว่าทุกคนต้องรู้จัก ไอ้แผ่นบอร์ดพลาสติกสีสันสดใสที่ใช้แปะภาพประกอบการนำเสนอหน้าชั้นเรียนนั่นแหละ คำ ๆ นี้ในภาษาอังกฤษจริง ๆ เขาใช้คำว่า ฟลุตบอร์ต (Flute Board) หรือ พีพี ฟลุตบอร์ด (PP Flute Board) แม่เจ้า แล้วฟิวเจอร์บอร์ดนี่มันมาจากไหนกันคะ ขุ่นผู้โชมมมมมมมมม
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in