"ผมทำเพราะอยากฟังเรื่องราวโดยตรงจากคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ให้มากขึ้น สักคนก็ยังดี อยากนำคำบอกเล่าเป็นข้อมูลดิบมาเรียบเรียงเป็นประโยคแล้วรวบรวมไว้เป็นหนังสือ อยากถ่ายทอดสิ่งที่ถูกต้องให้ผู้คนรับรู้มากที่สุด เท่าที่ทำได้ ว่าวันที่ 20 มีนาคม 1995 ณ ใต้ดินโตเกียว เกิดอะไรกับผู้คนซึ่งบังเอิญอยู่ที่นั่นกันแน่"
- ฮารูกิ มูราคามิ (หน้า 51)
Underground
ผู้เขียน: ฮารูกิ มูราคามิ
ผู้แปล: พีรวัธน์ เสาวคนธ์ และ อาภากร รุจีรไพบูรณ์
สนพ. กำมะหยี่, พิมพ์ครั้งที่ 1
ตุลาคม 2559
ด้วยความบังเอิญไปหยิบนิตยสารขึ้นมาอ่านแบบผ่าน ๆ แล้วเจอจดหมายจากผู้อ่านที่ส่งถึงบรรณาธิการฉบับหนึ่ง เนื้อความในจดหมายเป็นไปในทำนองบ่นให้ฟังถึงเรื่องราวของสามีผู้ประสบเหตุก๊าซพิษซารินจนหมดสติไปในรถไฟใต้ดิน หลังเหตุการณ์นั้นสามีของเธอกลับต้องลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ เพราะผลจากอาการสืบเนื่องทำให้ไม่สามารถทำงานได้ดีดังเดิม แล้วยังถูกเพื่อนร่วมงานพูดจาประชดประชันและทิ่มแทงซ้ำอีก เฮียมู (มูราคามิ) ตกใจกับเรื่องนี้ นอกจากความสงสาร ยังเกิดคำถามว่า "ทำไม" ถึงแม้เวลาจะผ่านไปคำถามนี้ก็ยังคงค้างคาอยู่ในหัว เฮียจึงตัดสินใจอยากจะทำบทสัมภาษณ์เหยื่อและญาติผู้เกี่ยวข้องแล้วรวบรวมเรื่องราวออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ Underground
20 มีนาคม 1995 (พ.ศ. 2538) กลุ่มลัทธิโอมชินริเกียว ลัทธิทางศาสนาชื่อดังในตอนนั้น ก่อเหตุสะเทือนขวัญคนเมืองโตเกียวขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน ภายในรถไฟใต้ดินที่มีผู้โดยสารหนาแน่น เหล่าสาวกแบ่งสายกันเพื่อลักลอบนำห่อก๊าซซารินขึ้นไปวางบนรถไฟ ซารินเป็นก๊าซพิษที่มีฤทธิ์ร้ายแรงส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้รูม่านตาหดตัว มีลักษณะเป็นของเหลว ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และเป็นสารพิษที่ใช้ทำอาวุธเคมีในกองทัพ เมื่อก๊าซถูกปล่อยภายในขบวนรถไฟซึ่งอยู่ใต้ดิน ที่ที่อากาศถ่ายเทน้อยมากเช่นนี้ คงจินตนาการได้ไม่ยากว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะร้ายแรงเพียงใด เมื่อปลายร่มเจาะถุงก๊าซจนทะลุ หายนะก็บังเกิด มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย แต่นอกจากความเลวร้ายที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่เสี่ยงภัยถึงชีวิตแบบนี้แล้ว บรรดาผู้เสียหายและญาติพี่น้องยังต้องพบเจอกับความทุกข์ทรมานจากอาการสืบเนื่องหลังเหตุการณ์ทั้งทางใจและร่างกาย
ความน่ากลัวของเหตุการณ์ก่อการร้ายนี้อยู่ที่ ช่วงแรกที่เกิดเรื่องขึ้น ไม่มีใครรู้ตัวเลยว่ากำลังเจอกับอันตราย การรับมือกับเหตุการณ์เป็นไปโดยประมาทและนิ่งนอนใจเกินไป ความช่วยเหลือก็ล่าช้าไม่ทันการณ์ ความรู้ในการรักษาพยาบาลก็จำกัด สถานที่เกิดเหตุก็เป็นพื้นที่ปิด ด้วยเหตุนี้ความเสียหายจึงร้ายแรงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต และที่อ่านแล้วช็อกที่สุดคือ ตัวผู้ลงมือเองเมื่อได้รับคำสั่ง ก็รู้ทันทีว่าจะเกิดผลรุนแรงแค่ไหน แต่ก็ยังคงเดินหน้าทำตามคำสั่งนั้นเพียงเพราะความยึดมั่นในหลักคำสอนของลัทธิที่ตนศรัทธา "(พอได้ฟัง) ผมตกใจมาก ยิ่งคิดว่าต้องมีผู้สังเวยชีวิตก็ยิ่งหวาดกลัว แต่อีกมุมหนึ่ง ผมก็คิดว่าที่ตัวเองกลัว เพราะหลักคำสอนยังไม่หยั่งรากลึกซึ้ง แม้จะตกใจกับความร้ายแรงของมัน และรู้สึกถึง 'แรงต่อต้านโดยสัญชาตญาณ' ของมนุษย์ได้อย่างแรงกล้า แต่ความรู้สึกอยากยึดหลักคำสอนที่ตนศรัทธาให้ถูกต้องกลับยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด" (ฮิโรเสะ หนึ่งในสมาชิกโอมชินริเกียวผู้ปล่อยซาริน, หน้า 99)
ใช้เวลาอ่านเล่มนี้นานเดือนครึ่งได้ พอไม่ใช่นิยายก็เลยอ่านช้า Underground จัดอยู่ในหมวดสารคดี เนื้อหาเป็นบทสัมภาษณ์ที่เฮียมูและทีมงานช่วยกันรวบรวมมา แล้วถ่ายทอดเรื่องราวที่ไม่เคยมีสื่อไหนในเวลานั้นนำเสนอออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่มีความตื่นเต้นระทึกขวัญชวนให้ลุ้น แต่ความน่าสนใจอยู่ที่เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เล่าออกมาจากปากของผู้ที่เกี่ยวข้องจริง ๆ ความจริงในด้านที่เราอาจไม่ได้เห็นจากข่าว และความเห็นของหลาย ๆ คนก็น่าสนใจเอามาก ๆ นอกจากผู้เสียหาย และเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ยังมีบทสัมภาษณ์ของผู้ก่อเหตุสาวกแห่งโอมชินริเกียวด้วย
นับถือในความทุ่มเทกับการรวบรวมข้อมูล และตามสัมภาษณ์ผู้เสียหายของเฮียกับทีมงานมาก ในเล่มเฮียเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานด้วย ยอมใจกับความมุ่งมั่น อ่านแล้วก็เกิดคำถามว่า "ทำไม" เหมือนกัน "พอไม่ใช่บาดแผลเห็นด้วยตาที่ใคร ๆ ก็รู้ คนรอบข้างมักจะไม่เข้าใจครับ แม้จะป่วยคนอื่นก็มักจะคิดว่า 'สำออย' หรือ 'ตั้งใจไม่พอ'" (จิตแพทย์นากาโนะ คันโซ, หน้า 90) ทำไมผู้เสียหายจึงต้องทนแบกรับความทุกข์ทรมานไว้ เจ็บป่วยทางกายก็ว่าสาหัสแล้ว ยังต้องทนรับความทุกข์ทรมานในจิตใจอีก แต่ถึงกระนั้น บางคนก็ดูจะทำใจและรับมือได้ดีในระดับหนึ่ง ดูอย่างความเห็นต่อการกระทำของโอมชินริเกียวที่ คาตายามะ ฮิโรชิ หนึ่งในผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ในหน้า 325 - 326 แม้จะรู้สึกโกรธ แต่เมื่อลองคิดทบทวนเขามองการกระทำของเหล่าสาวกในอีกมุมหนึ่งซึ่งน่าคิดตามเป็นอย่างยิ่ง "แน่นอน ผมโกรธที่มีการปล่อยซาริน แต่พอเราถกเถียงกันว่าอะไรคือความชั่ว ผมก็แอบไม่แน่ใจนักว่า เราแค่โทษตัวการก็พอหรือ..." (หน้า 325)
อีกเรื่องที่เราประทับใจคือการปกป้องสิทธิของผู้เสียหาย การจะรวบรวมรายชื่อและติดต่อเข้าสัมภาษณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย แม้ว่าจะสัมภาษณ์แล้วหากผู้ให้สัมภาษณ์ไม่ยินยอม เปลี่ยนใจไม่ให้ลงตีพิมพ์ ผู้เขียนก็ไม่สามารถเอามาตีพิมพ์ได้ ชื่อผู้เสียหายที่ปรากฏในเล่มหากผู้ใดไม่ประสงค์ให้ลงชื่อจริงก็จะใช้เป็นนามสมมติแทน
ตอนนี้ก็รอเล่ม 2 The Place That Was Promised: Underground 2 ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์สมาชิกโอมชินริเกียวอย่างใจจดจ่อ ความฝั่งผู้ลงมือจะเป็นอย่างไร น่าสนใจไม่น้อยเลย
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in