เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สังคมวิทยาเบื้องต้นSaGaZenJi
บทที่ 1 วัฒนธรรม
  •        วัฒนธรรมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิตในสังคมนุษย์ นอกจากนี้วัฒนธรรมยังมีอิทธิพลต่อการกำหนดมุมมองต่าง ๆ ในการมองโลกของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ ด้วย ในบทที่ 1ผมจึงอยากชวนผู้อ่านทุกคนมาทำความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมในมุมสังคมวิทยากันดูครับ ในบทนี้ผมจะนำผู้อ่านมองมิติต่าง ๆ ทางวัฒนธรรม วัฒนธรรมคืออะไร? มีหน้าตาอย่างไร? โดยหวังว่าเมื่อผู้อ่านได้อ่านบทที่ 1 จบแล้ว ผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงความลุ่มลึกในรายละเอียดของวัฒนธรรมและนำความรู้นี้กลัับไปมองชีวิตประจำวันของตนเองว่าวัฒนธรรมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินชีวิตได้อย่างไรบ้าง

    วัฒนธรรมคืออะไร?

           หากมองด้วยความหมายอย่างกว้างที่สุด "วัฒนธรรม" คือแบบแผนในการดำเนินชีวิตที่กำหนดมุมมองและการใช้ชีวิตต่าง ๆ ของกลุ่มคน แบบแผนที่ว่านี้ประกอบขึ้นจากสิ่งต่าง ๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ตัั้งแต่ ภาษา ท่าทาง การแต่งตัว หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เองก็ถือเป็นสิ่งที่ตีกรอบการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้โดยที่เราไม่รู้ตัว แบบแผนที่เกิดขึ้นนี้เป็นปัจจัยหลักในการสร้างมุมมองความเชื่อ รวมถึงทัศนคติต่อประเด็นต่าง ๆ ให้กับเรา

           เป็นที่นั่งสังเกตว่าทั้ง ๆ ที่ความเห็นต่าง ๆ ของคนในสังคมไม่ได้เหมือนกันเลย ทำไมเราถึงยังอยู่ร่วมกันในสังคมที่อุดมไปด้วยความแตกต่างเหล่านั้นได้? คำตอบหนึ่งที่นักสังคมวิทยาคิดคือ ในความคิดเห็นที่ต่างกันเหล่านั้น ความคิดบางอย่างได้รับการแชร์ร่วมกันจนในที่สุดทุกคนยอมรับในความคิดเหล่านั้น ความคิดนั้นจึงได้รับการสถาปณาขึ้นเป็นแบบแผนที่ทรงคุณค่าและถ่ายทอดให้คนที่เกิดมาภายหลังจนกลายเป็นวิถีชีวิต วิถีชีวิตที่ผ่านประชามติแล้วแบบนี้แหละครับที่เรียกว่า "วัฒนธรรม" 

           ในมุมนี้เองที่ผมอยากชวนผู้อ่านมองว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ถูกสถาปนาขึ้นจากคนในสังคม เท่ากับว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการเรียนรู้มากกว่าการค้นเอาจากปริชาน (innate) ในสมอง ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งคือ การไหว้ครับ ผมเชื่อว่าในวัยเด็กเราทุกคนต้องเคยได้รับการสั่งสอนให้ไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ทุกครั้งเวลาที่เจอหน้ากันถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้จักผู้ใหญ่คนนั้นก็ตาม การไหว้ของเราจึงมาจากการถ่ายทอดข้อปฏิบัติมากกว่าที่เราจะรู้ได้เองจากในสมองว่าเมื่อเจอผู้ใหญ่แล้วเราต้องไหว้ อีกหลักฐานหนึ่งที่พิสูจน์ว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ได้รับการสถาปณาขึ้นคือ ความแตกต่างของการปฏิบัติในประเด็นเดียวกันจากคนแต่ละสังคมครับ เช่น การทักทาย ถึงแม้ในทุกสังคมจะมีการทักทายแต่ข้อปฏิบัติต่อการทักทายเองก็ไม่ได้มีความเป็นสากล หลักฐานเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าวัฒนธรรมเป็นผลผลิตจากสังคมโดยตรง สิ่งที่น่าคิดอีกประเด็นหนึีงคือผลผลิตชิ้นยักษ์อันนี้มีอำนาจมากกว่าที่เราคาดคิดอยู่เหมือนกันครับ อำนาจหนึ่งที่น่าสนใจของวัฒนธรรมคือ มันมีพลังในการสร้างสภาพต่าง ๆ โดยสภาพหนึ่งในนั้นคือ "การกลายเป็นอื่น (otherness)" ผมคงไม่สามารถนำมาอธิบายในบทความนี้ได้ทั้งหมดแต่จะฝากลิงก์เอาไว้ให้ลองไปศึกษากันดูนะครับ

    วัฒนธรรมเป็นดั่งเลนส์

           มีคำกล่าวคลาสสิกอยู่คำกล่าวหนึ่งได้อุปมาวัฒนธรรมว่า "เป็นดั่งเลนส์ที่มนุษย์ใช้ในการมองโลก" ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยที่ถูกต้องทีเดียว ผมชวนผู้อ่านคิดต่อแบบนี้ครับว่า เลนส์ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเลนส์ธรรมดา ๆ แต่เลนส์นี้สามารถทำให้เรา "มองเห็น" หรือ "มองไม่เห็น" อะไรบางอย่างได้ด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนข้อความนี้อย่างชัดเจนคือ การมองไม่เห็นวัฒนธรรมในสังคมที่เราอยู่ครับ โดยทั่วไปเราจะรับวัฒนธรรมของสังคมที่เราเติบโตมาอย่างเป็นธรรมชาติจนเราเคยชินกับแบบแผนและวิถีชีวิตที่เราอยู่อาศัย ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเรานั้นไม่ได้ "น่าตื่นตาตื่นใจ" อะไร ในทางกลับกัน หากมีคนนอกพื้นที่หรือชาวต่างชาติมาเที่ยวในสังคมที่เราอยู่ ผมเชื่อว่าเราจะเห็นสายตา "ตื่นตาตื่นใจ" ของคนเหล่านั้นที่จ้องหรือจับสิ่งของที่เรามองว่ามันก็ปกติของมันอย่างสนใจ เหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของเลนส์ไม่ธรรมดาคู่นี้ครับ

           ประเด็นถัดมาของเลนส์วัฒนธรรมคือ เลนส์นี้มักทำให้เราตัดสินหรือให้คุณค่ากับอะไรบางอย่างผ่านสังคมที่แปะเลนส์นี้ให้เราตอนเกิดครับ พูดง่าย ๆ ว่าคนทั่วไปมักตัดสินอะไรจากความรู้หรือประสบการณ์ในที่ที่เขาเติบโตมา นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรื่องเดียวกันคนเราถึงมองไม่เหมือนกัน สิ่งที่น่าสนใจคือเรามักจะตัดสินโดยโน้มเอียงไปทางว่าวัฒนธรรมของเราดูดีกว่าอีกวัฒนธรรมหนึ่งบ่อย ๆ ซึ่งสังคมวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ชาติพันธ์นิยม (ethnocentrism) ครับ กล่าวคือเป็นการตัดสินใจอะไรบางอย่างผ่านการมองจากวัฒนธรรมที่เราอยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วนักสังคมวิทยาจะได้รับการฝึกให้สกัดเอาประเด็นนี้ออกจากหัวก่อนทำการศึกษาสังคมหนึ่ง ๆ ไม่เช่นนั้นแล้วการศึกษาวัฒนธรรมหรือสังคมนั้น ๆ จะปนเปื้อนอคติของเราที่ใช้วัฒนธรรมตัวเองมอง เช่น เราไปลงพื้นที่ทำการศึกษาคนไร้บ้านแถวสวนลุมพินี หากเรายังใช้มุมมองที่เราได้รับการปลูกฝังมาว่าคนไร้บ้านเหล่านี้เป็นคนน่ากลัว หรือไม่น่าคบหา เราจะไม่สามารถทำความเข้าใจจิตใจ หรือความคิดของคนเหล่านี้ได้เลยครับ เพราะเราตัดสินพฤติกรรมเขาแบบนั้นตลอดเวลา เครื่องมือหนึ่งที่นักสังคมวิทยาใช้เพื่อสกัดเอาความรู้สึกนี้ออกไปคือ การคิดว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นก็เป็นแค่มิติหนึ่งเท่านั้น ไม่มีความแตกต่างไหนที่ด้อยหรือสำคัญไปกว่ากัน พูดง่าย ๆ คือ นักสังคมวิทยาที่ศึกษาคนไร้บ้านต้องมองว่าคนไร้บ้านก็เป็นคนเหมือนกับพนักงานเงินเดือนหรือตัวเองนั่นแหละครับ แนวคิดเช่นนี้เรียกว่า วัฒนธรรมสัมพัทธ์ (cultural relativism) ครับ กล่าวคือ เป็นแนวคิดที่พยายามมองความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมเพื่อใช้ในการทำความเข้าใจวัฒนธรรมต่าง ๆ และช่วยขจัดอคติที่เกิดจากชาติพันธ์นิยมด้วย ลองใช้แนวคิดที่ผมว่ามานี้อ่านบทความเกี่ยวกับโอตาขุ (otaku) ที่ผมคัดมาให้จากหนังสือ The Real World: An Introduction to Sociology กันดูครับ โดยผมอยากเชื้อเชิญให้ผูู้อ่านลองคิดจากมุมวัฒนธรรมของเราก่อนว่าเรามองโอตาขุอย่างไร? แล้วลองอ่านบทความนี้ดูครับ หลังอ่านเสร็จลองถามตัวเองดูว่า เราเข้าใจโอตาขุในมุมใหม่ ๆ ขึ้นบ้างไหม?


    นอกจากนี้ผมยังมีวิดีโอที่ย่อยแนวคิดสองแนวคิดที่ผมเพิ่งกล่าวไปนี้ให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยครับ ใครที่ยังไม่เห็นภาพลองดูวิดีโอข้างล่างเพิ่มเติมดูนะครับ


    มิติทางวัฒนธรรม

           จากที่เรากล่าวไปทั้งหมดตั้งแต่ต้นทุกคนน่าจะเห็นเหมือนผมแล้วว่าแนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมนั้นค่อนข้างกว้าง ในการศึกษาเรื่องนี้จริง ๆ นักสังคมวิทยาจึงพยายามแบ่งวัฒนธรรมออกเป็นมิติต่าง ๆ เพื่อศึกษาวัฒนธรรมได้ลึกขึ้น การแบ่งวัฒนธรรมออกเป็นมิติต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ทำให้นักสังคมวิทยาเข้าใจวัฒนธรรมดึขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้นักสังคมวิทยาเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ปฏิบัติการอยู่ในมิติต่าง ๆ ของวัฒนธรรมด้วย โดยมิติหนึ่งที่ผมจะนำเสนอในบทความนี้คือการแบ่งวัฒนธรรมโดยการใช้สัมผัสเป็นตัวแบ่งครับ 

           เมื่อเราแบ่งวัฒนธรรมโดยใช้การสัมผัส วัฒนธรรมจะถูกแบ่งออกเป็น 1) วัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ กล่าวคือ เป็นสิ่งของที่สัมผัสได้ต่าง ๆ ที่ให้ความหมายหรือนัยยะทางสังคม เช่น ศิลปะ อุปกรณ์ อาวุธ หรือแม้กระทั่งสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านเรือนด้วยเช่นกัน พูดง่าย ๆ ว่าวัตถุอะไรก็ตามที่เกิดมาจากการสรรสร้างด้วยมือมนุษย์ถือเป็น "วัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ (material culture) ทั้งสิ้น 2) วัฒนธรรมที่เป็นสัญญะ วัฒนธรรมชนิดนี้ตรงข้ามกับวัฒนธรรมแบบแรก กล่าวคือ ไม่ใช่สิ่งของที่จำต้องได้แต่มีผลในการกำหนดความหมายหรือมุมมองต่าง ๆ ในการมองโลกให้กับเรา วัฒนธรรมชนิดนี้ได้แก่ ความคิด ความเชื่อ รวมถึงภาษาที่เราใช้ในการสื่อสารเองก็ถือเป็นวัฒนธรรมที่เป็นสัญญะ (symbolic culture) เช่นกัน

           นอกจากการแบ่งด้วยการสัมผัสแล้ว การแบ่งอีกประเภทหนึ่งคือการแบ่งโดยใช้ "อิทธิพล" ของวัฒนธรรมครับ หากมองด้วยมุมนี้วัฒนธรรมจะถูกแบ่งออกมาเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ 1) วัฒนธรรมหลัก (dominant culture) และ 2) วัฒนธรรมรอง (subculture) การแบ่งแบบนี้มีสาเหตุมาจากข้อเท็จจริงว่า สังคมหนึ่ง ๆ ไม่ได้ประกอบด้วยชุดความคิด หรือความเชื่อเพียงแค่ชุดเดียวแต่มักจะมีหลาย ๆ ชุดความคิดผสมกันอยู่ นักสังคมวิทยาเชื่อว่าในบรรดาชุดความคิดที่หลากหลายเหล่านั้น แต่ละชุดมีสถานภาพและอำนาจไม่เท่ากันโดยที่ วัฒนธรรมหลัก คือ วัฒนธรรมที่สมาชิกในสังคมให้การยอมรับอย่างกว้างขวางจนมีสถานะเป็นแบบแผน "มาตรฐาน" ที่ทุกคนในสังคมควรยืดถือเป็นปกติ ในขณะที่วัฒนธรรมรองเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมนั้น โดยปกติวัฒนธรรมรองจะไม่ต้านกระแสกับวัฒนธรรมหลัก เช่น คนมอญในกรุงเทพที่มีวัฒนธรรมมอญของตัวเองสามารถอยู่อาศัยได้อย่างกลมกลืนกับวิถีชีวิตเมืองในกรุงเทพ เป็นต้น ทว่าในบางครั้งวัฒนธรรมรองบางอย่างอาจมีลักษณะต่อต้านค่านิยมหรือแนวคิดวัฒนธรรมหลักก็ได้ หากวัฒนธรรมรองใดเข้าข่ายลักษณะเช่นนี้ นักสังคมวิทยาจะเรียกว่า วัฒนธรรมต้าน (counterculture) ครับ เช่น กระแสฮิปปี้ช่วงสงคราม หรือการเกิดขึ้นของแนวคิดสตรีนิยมในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ วัฒนธรรมเหล่านี้ในช่วงนั้นถือเป็นวัฒนธรรมที่ออกมาต้านวัฒนธรรมหลัก ท้ายที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมต่อไปได้

    การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม

          โดยทั่วไปแล้วการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และค่อยเป็นค่อยไปจนบางครั้งเราเองอาจจะไม่เทันสังเกตว่าวัฒนธรรมเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ ในทางกลับกันบางครั้งหากอยู่ในสถานการณ์จำเพาะ การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและรวดเร็วได้เช่นกัน ผมชวนผู้อ่านให้ลองนึกถึงการเปลี่ยนแปลงการใส่เสื้อผ้า อาหารการกิน รวมถึงธรรมเนียมต่าง ๆ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงครามครับ การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและรวดเร็วเนื่องจากรัฐบาลได้ออกนโยบายชาตินิยม นโยบายดังกล่าวส่งผลให้คนไทยต้องปรับตัวกันยกใหญ่พอสมควร ตัวอย่างในเรื่องนี้ ผมขอยกวิดีโอศิลปนิพนธ์ของไพบูลย์ ปานเอี่ยม วิดีโอนี้เป็นการแสดงที่นำเสนอเกี่ยวกับ "มาลานำไทย" วัฒนธรรมการใส่หมวกที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นในสมับจอมพลป. ครับ


    ในบรรดาการเปลี่ยนแปลงประเด็นต่าง ๆ นักสังคมวิทยาค่อนข้างจะเห็นตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรมถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนในสังคมมากที่สุด เพื่อให้เห็นภาพผมอยากชวนให้ผู้อ่านได้อ่านบทความตอนหนึ่งจากหนังสือเล่มเดียวกันกับข้างบนที่ผมเอาบทความโอตาขุมาให้ผู้อ่านได้ลองวิเคราะห์ แต่ในส่วนนี้เป็นเรื่องนวัตกรรมทางเศรษฐกิจครับ ซึ่งเป็นแนวคิดการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ แนวคิดนี้ชื่อว่า "sharing economy" ครัับ แนวคิดนีั้คืออะไร? ส่งผลกับวิถีชีวิตของคนยังไง? ลองอ่านดูกันนะครับ

    จนถึงตรงนี้ สิ่งที่ผมพูดนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดภายในสังคม (intrasocietal change) ทว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมสามารถเกิดขึ้นจากการเข้ามาของวัฒนธรรมสังคมอื่นได้เหมือนกันครับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากปัจจัยภายนอกสังคม (intersocietal change) เช่น การติดต่อค้าขายกับจีนตั้งแต่สมัยก่อนของไทยทำให้ศิลปะรวมถึงแนวคิดสถาปัตยกรรมต่าง ๆ จากจีนได้เข้ามาในสังคมไทย เมื่อมีการปะทะกันระหว่างแบบแผนการดำเนินชีวิตคนละแบบแผน นักสังคมวิทยาเชื่อว่าจะเกิดกระบวนการแพร่ทางวัฒนธรรม (cultural diffusion) ขึ้นครับ แนวคิดนี้เชื่อว่าวัฒนธรรมที่เกิดการสัมผััสกันจะมีวัฒนธรรมหนึ่งมีความเข้มข้นมากกว่า (ความเข้มข้นนี้ถูกกำหนดด้วยปัจจัยหลายอย่างครับ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อำนาจของบุคคลที่นำวัฒนธรรมเข้ามา เป็นต้น) วัฒนธรรมที่เข้มข้นกว่านี้จะแพร่เอาแนวคิด เทคโนโลยี รวมถึงค่านิยมต่าง ๆ เข้าไปยังวัฒนธรรมที่มีความเข้มข้นน้อยกว่า ทำให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมเกิดขึ้น ประเด็นนี้ผมขอยกตัวอย่างผ่านอาหารแล้วกันครับ ผู้อ่านรู้จักอาหารที่เรียกว่า "fusion foods" ไหมครับ? นักสังคมวิทยาสนใจประเด็นนี้มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ fusion foods สะท้อนให้เห็นถึงการปะทะระหว่างวัฒนธรรมที่มีการสัมผัสกันได้เป็นอย่างดี ลองคิดถึงข้าวไก่แซบใน KFC หรือข้าวกระเพราไก่ของ Mcdonald ดูสิครับ ผมเชื้อเชิญให้ผู้อ่านลองคิดว่าเมื่อเรามองเมนูเหล่านั้น คิดว่าวััฒนธรรมอะไรเป็นวัฒนธรรมที่มีความเข้มข้นกว่ากันในเรื่องนี้? แล้วมันสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง? 

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดผู้อ่านจะเห็นว่าในบทนี้ผมพยายามอธิบายภาพของวัฒนธรรมในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่นิยาม มิติ รวมถึงกลไกที่เกิดขึ้นกับวัฒนธรรม อันที่จริงแล้วยังมีประเด็นอีกมากมายเลยเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ผมไม่ได้นำมาใส่ไว้ในนี้ แต่ผมเชื้อเชิญให้ผู้อ่านลองไปค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวของวัฒนธรรมกันต่อดูครับ ผู้อ่านอาจจะพบว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุดก็ยังมีแง่มุมที่น่าค้นหาอีกเยอะเลยทีเดียว

           

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in