เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สังคมวิทยาเบื้องต้นSaGaZenJi
บทนำ: สังคมวิทยาปริทัศน์
  •        เรื่องราวที่จะเขียนขึ้นในชุดนี้ ผมตั้งใจเขียนขึ้นเป็นบทความกึ่งตำราเรียน โดยมีความปราถนาให้เป็นบทความกึ่งเล่ากึ่งสอนความรู้ทางสังคมวิทยาเบื้องต้นให้แก่คนที่ไม่เคยรู้จักศาสตร์ทางด้านนี้มาก่อน บทความแต่ละบทความที่จะเขียนขึ้นในนี้จะเป็นประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ตั้งแต่การบอกเล่าภาพของวัฒนธรรม ชวนมองประเด็นเกี่ยวกับชนชั้นทางสังคม และเสนอภาพที่น่าขบคิดของความไม่เท่าเทียมทางสังคม เป็นต้น หวังว่าผู้อ่านทุกคนจะสนุกไปกับบทความชิ้นนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ แต่ก่อนที่เราจะเริ่มมามองสังคมผ่านแง่มุมต่าง ๆ ที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น บทความบทนำชิ้นนี้จะนำผู้อ่านไปทำความรู้จักแนวคิดและวิวัฒนาการในการศึกษาสังคมวิทยากันเสียก่อน

           ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินข้อความที่กล่าวว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม" กันมาบ้างใช่ไหมครับ? ตั้งแต่ในยุคไล่ล่าหาเก็บ (hunting and gathering) พวกเราก็มีแนวโน้มที่จะอยู่อาศัยและช่วยเหลือกันเป็นกลุ่มมากกว่าใช้ชีวิตตามลำพัง การอาศัยอยู่เป็นกลุ่มของมนุษย์เองก็มีการขยับขยายขนาดออกไปเรื่อย ๆ จากหน่วยครอบครัวเล็ก ๆ กลายเป็นตระกูลใหญ่ (clans) เป็นชนเผ่า (tribes) จนเมื่อมีจำนวนคนที่มากเกินกว่าจะเคลื่อนย้ายไปไหนมาไหนได้ มนุษย์ก็รู้จักที่จะตั้งถิ่นฐาน พวกกเราเริ่มสร้างหมู่บ้าน สร้างเมือง และในที่สุดสิ่งเหล่านั้นก็กลายเป็นรัฐชาติในปัจจุบัน

           สัญชาติญานในการอยู่อาศัยและทำงานร่วมกันของมนุษย์เป็นจุดเริ่มต้นจุดแรกของการก่อร่างสร้างตัวขึ้นของสังคมในทุกวันนีี้ การอยู่และทำงานร่วมกันไม่เพียงแต่เป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดในการเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย แต่การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมยังทำให้องค์ความรู้รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ได้รับการต่อยอดและพัฒนาอีกด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้ก็ย้อนกลับมามีอิทธิพลต่อมุมมองในการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ รวมถึงพฤติกรรมที่เราแสดงออกมาในสังคม (social behaviors)

           ดูเหมือนว่าการอยู่ร่วมกันของเราจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะคนที่มาอาศัยอยู่ร่วมกันเหล่านี้ไม่ได้อยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ แต่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในด้านต่าง ๆ  จึงเป็นที่น่าสงสัยว่ามนุษย์แต่ละคนจะมีพฤติกรรมอย่างไรเมื่อมาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและพฤติกรรมเหล่านั้นจริง ๆ แล้วได้รับอิทธิพลจากกลุ่มที่อยู่หรือไม่ คำถามเหล่านี้เองครับเป็นคำถามที่สังคมวิทยาสนใจ

           สังคมวิทยาเป็นศาสตร์ที่สนใจศึกษาว่ากลุ่มทางสังคมเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงอย่างไร ความสนใจนี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลายมุมครับ เช่น นักสังคมวิทยาบางคนอาจสนใจศึกษาประเด็นเหล่านี้ในเชิงทฤษฎี อยากสร้างคำอธิบายที่ดีให้กับปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่นเดียวกับนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามค้นหาคำอธิบายต่าง ๆ ให้กับธรรมชาติรอบข้างเรา ในขณะที่นักสังคมวิทยาอีกกลุ่มหนึ่งพยายามประยุกต์ทฤษฎีเหล่านั้นเพื่อใช้แก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น

           นักสังคมวิทยามองว่าสังคมประกอบไปด้วยโครงสร้างส่วนต่าง ๆ (social structures) ซึ่งโครงสร้างต่าง ๆ เหล่านั้นทำงานผสานกันเป็นระบบสังคม (social system) ที่ปัจเจกบุคคล (individuals) ใช้ชีวิตอยู่ นักสังคมวิทยาจึงมีความเห็นร่วมกันว่าสังคมต่าง ๆ ล้วนประกอบขึ้นจากคนแต่ละคนที่มาอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ (collections of individuals) ภายใต้ระบบและโครงสร้างทางสังคมซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกที่อาศัยอยู่ตลอดเวลา นักสังคมวิทยาสนใจศึกษาสังคมผ่านหน่วยวิเคราะห์ขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ กลุ่มคนจนไปถึงสถาบันทางสังคม เช่น สถาบันการเมือง สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันศาสนา รวมถึงสถาบันครอบครัว เป็นต้น

           จากที่เล่ามาทั้งหมดดูเหมือนว่าสังคมวิทยาน่าจะเป็นศาสตร์ที่มีการศึกษากันอย่างยาวนานพร้อม ๆ กับการเกิดสังคมมนุษย์ใช่ไหมครับ? แต่อันที่จริงแล้วสังคมวิทยาเพิ่งจะได้รับการวางรากฐานและศึกษาอย่างจริงจังเพียงไม่กี่ร้อยปีก่อนหน้านี้เท่านั้นเองครับ ถึงแม้ว่านักปรัชญาบางคนในสมัยก่อนจะพูดถึงการมีอยู่ของสังคมอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะพูดถึงสังคมในแง่การปกครองและตั้งคำถามถึงการปกครองที่ดีมากกว่าถามถึงสังคมที่พวกเขาว่าอยู่มีหน้าตาหรือประกอบขึ้นมาได้อย่างไร แต่ถึงจะเป็นศาสตร์ใหม่ การเกิดขึ้นของการศึกษาสังคมก็มีจุดเริ่มต้นคล้าย ๆ กับการเกิดขึ้นของการเมืองการปกครอง กล่าวคือ สังคมวิทยามีรากฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตะวันตกในช่วงศตวรรษที่ 18 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ยุคภูมิธรรม (the age of enlightenment)

           ยุคภูมิธรรมเป็นยุคที่วิถีชีวิตทางสังคมในยุโรปมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เด่นชัดในยุคนี้คือการเข้ามาของนวัตกรรมการผลิตรูปแบบใหม่ ๆ เช่น การใช้เครื่องจัักรในการเก็บผลผลิตหรือการใช้เครื่องจักรในการเดินทาง สิ่งเหล่านี้ผลิกโฉมการใช้ชีวิตของคนในสังคมสมัยนั้น จากการผลิตเพื่อใช้เองได้กลายเป็นการผลิตเพื่อนำไปขาย จากการเดินทางที่ต้องใช้เวลาแรมวัันกลายเป็นไปถึงที่หมายได้ในไม่กี่ชั่วโมง การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (industrial revolution) นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดที่อยากจะศึกษาสังคม อาจจะกล่าวได้ว่าแท้จริงแล้วต้นกำเนิดของสังคมวิทยาตั้งอยู่บนรากกฐานของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขาวิชานี้ล้วนแต่ใช้เพื่ออธิบายว่าสังคม ณ ตอนนี้มีภาพอย่างไรและอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมางสังคมอะไรขึ้นบ้าง

    " Sociology was born of the modern ardor to improve society "

    Albion W. Small US scholar (1854–1926)

           สังคมที่เป็นผลผลิตจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมเรียกว่าสังคมสมัยใหม่ (modern society) ซึ่งนักสังคมวิทยาเชื่อกันว่าเกิดขึ้นในปลายศตวรรษที่ 18 หลังจากที่สมาชิกในสังคมมีการปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ในยุคนี้เองที่นักปรัชญาหลาย ๆ คนเริ่มสนใจที่จะตั้งคำถามกับสภาพสังคมสมัยใหม่ บางคนเสนอว่าสังคมสมัยใหม่เป็นสังคมที่เลวร้าย เมืองที่เต็มไปด้วยทุ่งหญ้ากลายเป็นเมืองที่รายล้อมด้วยเศษเหล็ก สภาพสังคมเช่นนี้ส่งผลให้วิถีชีวิตบนความปรองดอง ความสามัคคี ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นจิตวิญญาณของคนสมัยก่อนได้หายไปพร้อมกับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบใหม่ในโรงงาน แต่นักคิดอีกส่วนกลับมองว่าการเศร้าโศกถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปแล้วไม่ได้ช่วยให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในทางกลับกัน นักคิดในกลุ่มหลังนี้พยายามทำความเข้าใจสังคมที่เกิดขึ้นว่าเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และมีผลกระทบอย่างไร

           นักสังคมวิทยาในยุคแรก ๆ มีความเห็นว่าสังคมวิทยาควรมีการศึกษารูปแบบเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ สังคมวิทยาเริ่มต้นการศึกษาโดยการตั้งคำถาม กำหนดสมมติฐาน ออกไปเก็บข้อมูล และนำข้อค้นพบมาสร้างเป็นความรู้และผลิตเป็นทฤษฎีต่าง ๆ ซึ่งในตอนนั้นการศึกษาทั้งหมดต้องขจัดความคิดเห็นส่วนตัวของผู้ศึกษาและอาศัยข้อมูลที่เป็นตัวเลขมายืนยันข้อค้นพบต่าง ๆ การศึกษาในแนวนี้เรียกว่าการศึกษาในเชิงปริมาณ (quantitative) ครับ แต่ไม่นานจุดเปลี่ยนทางความคิดในศาสตร์นี้ก็เกิดขึ้น นักสังคมวิทยาในยุคถัดจากนั้นกลับเห็นต่างจากนักสังคมวิทยาในยุคแรกเนื่องจากความจริงทางสังคมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและยากเกินกว่าที่จะศึกษาด้วยวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ทั้งหมดได้ รวมถึงการศึกษาสังคมผ่านมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในนั้นก็ไม่ง่ายเหมือนการศึกษาธรรมชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงช้ากว่า นักสังคมวิทยาในยุคต่อมาจึงเริ่มศึกษาสังคมด้วยวิธีการใหม่ ๆ เช่น การเข้าไปอยู่ร่วมกับคนในสังคมนั้น ๆ เพื่อทำความเข้าใจสังคมจริง ๆ หรือการแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ข้อมูลเชิงตัวเลข อาทิ เรื่องเล่าหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาใช้ในการสรุปผล วิธีการศึกษาที่เน้นการทำความเข้าใจสังคมผ่านการตีความนี้เป็นวิธีการเชิงคุณภาพ (qualitative) 

          นอกจากการแบ่งมุมมองในการศึกษาออกเป็นเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพแล้ว การศึกษาสังคมวิทยายังแบ่งระดับการศึกษาออกเป็นสองระดับใหญ่ ๆ ได้แก่ การศึกษาสังคมวิทยามหัพภาค (macro sociology) ซึ่งเน้นศึกษาโครงสร้างทางสังคม รวมถึงหน่วยทางสังคมใหญ่ ๆ เช่น สถาบันทางสังคม เป็นต้น ในขณะที่การศึกษาอีกระดับหนึ่งเรียกว่า การศึกษาสังคมวิทยาจุลภาค (micro sociology) ในระดับนี้นักสังคมวิทยาจะเน้นศึกษาหน่วยทางสังคม (social units) เล็ก ๆ เช่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน หรือกลุ่มคน เป็นต้น

           ในปัจจุบัน โลกได้ก้าวสู่สังคมโลกาภิวัตน์ (globalized societies) สังคมที่การติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยทางสังคมต่าง ๆ เป็นไปอย่างง่ายดายด้วยเทคโนโลยีในการสื่อสาร วิถีชีวิตต่าง ๆ ของสมาชิกในสังคมมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ผลิกโฉมการใช้ชีวิตในสังคมของมนุษย์แต่ละคนไม่ต่างกับสมัยที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม แน่นอนว่านักสังคมวิทยาทั่วโลกพยายามเสนอและอธิบายประเด็นทางสังคมต่าง ๆ ภายใต้สภาพสังคมรูปแบบใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง ปิแอร์ บูร์ดิเออร์ได้กล่าวไว้ว่า ตราบในที่สัังคมยังคงมีการเปลี่ยนแปลง หน้าที่ของสังคมวิทยาก็คือการเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นภายในสังคมเหล่านั้นเช่นเดียวกับที่ศาสตร์อื่น ๆ ที่พยายามไขปริศนาในโลกที่พวกเขาสนใจ

    " The function of sociology, as of every science, is to reveal that which is hidden "

    Pierre Bourdieu

           

      

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in