เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สังคมวิทยาเบื้องต้นSaGaZenJi
บทที่ 2 ตัวตน ปฏิสัมพันธ์ และการขัดเกลาทางสังคม
  •        เคยถามตัวเองกันไหมครับว่า ตัวเราเองเป็นคนยังไง? มีสไตล์แบบไหน? คำถามเหล่านี้แม้จะดูไม่เกี่ยวกับสังคมวิทยาเท่าไหร่ แต่นักสังคมวิทยากลับให้ความสนใจไม่แพ้นักจิตวิทยาเลยครับ สิ่งหนึ่งที่นักสังคมวิทยาเชื่อคือ ตัวตนที่เราแสดงออกมา จริงๆ แล้วเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เราต้องเผชิญด้วยครับ

           ลองนึกแบบนี้ก็ได้ครับว่า สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เราต้องเจอเป็นตัวกำหนดบุคลิกและวิธีการแสดงออกของเราพอสมควร เช่น เวลาเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใส่เครื่องแบบ อย่างตอนไปโรงเรียนหรือทำงาน ในตอนนั้น หากเราต้องการเป็นปกติในสายตาคนอื่น เราต้องยอมสละเสรีภาพในการอยากแต่งอะไรตามใจทิ้งไป หรือตอนไปเยี่ยมคนเฒ่าคนแก่ เสื้อผ้าหน้าผมที่เราทำไปคงไม่เหมือนกับตอนเราไปเที่ยวทะเลกับเพื่อน ไม่ว่าเราจะทำตัวอย่างไร แสดงออกแบบไหน แต่งตัวยังไงในสถานการณ์ต่าง ๆ สิ่งที่ออกมาก็คือ ตัวตนหนึ่งแบบจากตัวเราทั้งหมดครับ แบบนี้เองทำให้นักสังคมวิทยาสนใจตัวตนของมนุษย์ เพราะดูเหมือนว่าตัวตนของเราจะไม่ได้เป็นแค่มิติอันแบนราบ แต่ถูกกะเกณฑ์ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ รอบตัวเราด้วย

           ลองหยิบบัตรประจำตัวนักเรียน ใบขับขี่ หรือบัตรประชาชนขึ้นมาดูสิครับ แล้วนึกย้อนไปตอนถ่ายรูปพวกนี้ ตอนนั้นเรามีอิสระในการโพสต์ท่าทำบัตรหรือเปล่า? หรือนึกถึงรูปเราที่เพื่อน ๆ เราตั้งเป็นรูปสายเรียกเข้า ไม่ก็รูปที่เพื่อนลงในโซเชียลมีเดียแล้วแท็กเรามาก็ได้ ผมเชื่อว่าทุกคนคงมีโมเมนต์หงุดหงิดที่เพื่อนเลือกรูปที่เราคิดว่าไม่โอเคมาลงกันไม่มากก็น้อย ตามที่มีสำนวนว่า "โซเชียลมีเดียใครคนนั้นรอด" นั่นแหละครับ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า บางครั้ง เรามีสิทธิ์ในการควบคุมตัวตนที่เราอยากแสดงได้น้อยมาก กลายเป็นคนอื่นเสียอีกที่นำเสนอตัวตนเราผ่านมุมของเขา ทว่าทุกวันนี้ การเข้ามาของโซเชียลมีเดียก็ทำให้เรามีพื้นที่และอำนาจเด็ดขาดในการนำเสนอภาพลักษณ์ที่เราต้องการ ต้องขอบคุณการ "เซลฟี่" ที่ทำให้ทุกวันนี้ เรากลายเป็นเลือกมุมกล้อง ท่าทาง แสงไฟ รวมถึงฉากหลังได้เองทั้งหมด นวัตกรรมที่เกิดขึ้นมาเหล่านี้เปลี่ยนการนำเสนอภาพลักษณ์ของคนไปอย่างมาก อย่างน้อยก็ทำให้การนำเสนอตัวตนในที่สาธารณะกลับมาอยู่ในมือคนนั้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสมัยที่การถ่ายรูปต้องดำเนินตามความคิดของช่างถ่ายภาพ

           บทที่ 2 ผมจะพาทุกคนไปทัวร์แนวคิดเกี่ยวกับตัวตน ด้วยมุมทางสังคมวิทยาครับ หลังจากอ่านจบผมหวังว่าทุกคนจะได้เห็นมิติใหม่ ๆ ในการคิดถึงตัวตน หรือเห็นความเชื่อมโยงว่าสังคมที่เราอยู่มีผลกับการเป็นตัวเราอย่างไรมากขึ้น

    แก่นแท้ของมนุษย์อยู่ที่สังคมหรือพันธุกรรม?

           ก่อนจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์ มีคำถามหนึ่งที่ผมอยากชวนผู้อ่านลองขบคิดกันก่อน คำถามนั้นคือ "แก่นแท้ของมนุษย์คืออะไร? ความเป็นเราอยู่ตรงไหน?" แน่นอนว่าคำตอบมีได้หลายแบบครับ ทำให้คำถามนี้เป็นข้อถกเถียงสำคัญเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่มีมาอย่างยาวนานในศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งผมจะกล่าวโดยสรุปคร่าว ๆ แบบนี้ครับว่า มีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่สองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเชื่อว่ามนุษย์มีแบบลักษณ์สากลที่ฝังมากับพันธุกรรม (Nature) ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้มีความเป็นสากล ความเป็นมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพแวดล้อมด้วย (Nurture)

           สำหรับนักสังคมวิทยา ความเป็นมนุษย์อยู่ที่วัฒนธรรมและสังคมที่เราสร้างขึ้นครับ นักสังคมวิทยาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นเอกลักษณ์ของเผ่าพันธ์ุเราแล้ว ยังเป็นสิ่งที่คอยกำกับพฤติกรรมของเราอีกด้วย วัฒนธรรมทำหน้าที่เหมือนตำราที่สอนเราว่า เราควรจะมองหรือให้ความหมายกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราอย่างไร เราไม่ได้เกิดมาในโลกที่ไร้ความหมาย ในทางตรงกันข้าม เราเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความหมายที่รอให้เราได้เรียนรู้ จากความคิดเช่นนี้ นักสังคมวิทยาจึงคิดว่า ความเป็นมนุษย์ไม่ได้ถูกฝังอยู่ในพันธุกรรม แต่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้มากกว่า พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ "ความเป็นมนุษย์ต้องเรียน" นั่นเองครับ แบบลักษณ์ของมนุษย์เลยไม่มีความเป็นสากล สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสังคม รวมถึงยุคที่เราเกิด แต่การที่นักสังคมวิทยาเอียงโอนมาทางนี้ ไม่ได้หมายความว่าธรรมชาติหรือพันธุกรรมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์เราเลยนะครับ มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ชิ้นที่ยืนยันว่าระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีผลต่อแนวโน้มที่คนคนหนึ่งจะเกรี้ยวกราด หรือชอบการแข่งขัน หรืองานวิจัยของแอนเดอร์สันและคณะในปี 1999 ยืนยันว่าความเสียหายในสมองส่วนหน้าตั้งแต่กำเนิดมีผลต่อความสามารถในการเข้าสังคม เป็นต้น ดังนั้นผมจึงอยากชวนผู้อ่านคิดเช่นนี้ว่า ธรรมชาติของมนุษย์ แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับส่วนประสมของเหตุผลทางธรรมชาติและสังคมร่วมกันมากกว่าด้านใดด้านหนึ่งจะตอบคำถามนี้ได้ดี ผมมีบทความหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ผู้อ่านได้ลองอ่านทำความเข้าใจเพิ่มเติมด้วยครับ ใครสนใจในประเด็นนี้ต่อลองอ่านดูครับ

    การขัดเกลาทางสังคมในฐานะเครื่องมือผลิตความเป็นมนุษย์

           นักสังคมวิทยาเชื่อว่าเครื่องมือหนึ่งในสังคมที่ทำให้เราเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์คือ การขัดเกลาทางสังคม (Socialization) ครับ การขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการที่สังคม วัฒนธรรม สถาบัน รวมถึงกลุ่มบุคคลต่าง ๆ ถ่ายทอด บอกกล่าว หรือสั่งสอนความหมายที่มีอยู่ในสังคมรอบตัวให้กับปัจเจกบุคคล ทำให้ปัจเจกบุคคลนั้นมีความสามารถในการคิด มอง ตัดสินคุณค่าโลกทางสังคมที่เขาอยู่ได้ การขัดเกลาทางสังคมจึงมีอยู่สองระดับใหญ่ ๆ กล่าวคือ ในระดับสังคมที่ตัวแสดงในสังคมต่าง ๆ ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้กับเรา และในระดับปัจเจกบุคคลที่เราปรับใช้สิ่งที่รับมาในทางของตัวเอง สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการขัดเกลาทางสังคมคือ การขัดเกลาทางสังคมเป็นกระบวนการที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ มนุษย์ต้องได้รับอย่างสม่ำเสมอ นักสังคมวิทยาพบว่ามนุษย์ที่ปลีกวิเวกจากสังคมนานเกินไปจะเกิดภาวะแยกขาดทางสังคม (Social isolation) ทำให้มีแนวโน้มที่จะสับสนในตัวตนของตัวเอง และพร่องความสามารถในการเข้าสังคม กรณีนี้เกิดกับ Christopher Knight ชายหนุ่มที่แยกตัวออกจากจากสังคมตั้งแต่อายุ 20 และอาศัยอยู่ตัวคนเดียวเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์เลย เมื่อเขาถูกจับในข้อหาขโมยข้าวของของชาวบ้านแถวนั้น เขาได้ให้การกับตำรวจว่ามีบางครั้งที่เขาถามว่า เขาคือใคร ตัวเขาเองเป็นอย่างไร อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ กระบวนการขัดเกลาทางสังคมมีระยะเวลาจำกัดในการเรียนรู้ครับ กล่าวคือ ไม่ใช่ว่าเราจะได้รับการขัดเกลาทางสังคมตอนไหนก็ได้ มนุษย์มีช่วงเวลาที่เหมาะสม (Critical period) ในการรับวัฒนธรรมอยู่ โดยอยู่ในช่วงตั้งแต่แรกเกิดจนถึงราว ๆ 5 ถึง 6 ขวบ ก่อนที่ความสามารถในการเข้าใจสังคมจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนเรียนยากขึ้นในที่สุด เรื่องนี้ได้รับการพิสูจน์ผ่านกรณีของเด็กที่โตมาอย่างโดดเดี่ยว (Feral child) ไม่ว่าจะเป็น Genie หรือ Victor ใครสนใจเกี่ยวกับประเด็นนี้เพิ่มเติม ผมแนบคลิปเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ให้ด้านล่างครับ



    ตัวตน?

           ความคิดเกี่ยวกับตัวตน (Self) เป็นความคิดที่มนุษย์พยายามตอบมาตั้งแต่ในอดีตแล้วครับ วลีดังอย่าง "I think therefore I am" ของนักปรัชญาอย่าง René Descartes เองก็สะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน วลีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคนเรามีสัมปชัญญะ (Consciousness) เป็นของตัวเอง กล่าวคือ ตัวตนเป็นสิ่งที่เราครอบครองนั่นเองครับ ทว่านักสังคมวิทยาเชื่อว่าตัวตนไม่ได้เกิดจากสัมปชัญญะของมนุษย์อย่างเดียวแต่เกิดจากการรับเอาความคิดจากคนรอบ ๆ เข้ามาด้วย ในแง่นี้ ตัวตนจึงเป็นกระบวนการต่อรองระหว่างความคิดของเรากับความคิดของคนอื่นที่มีต่อเราครับ เพื่อให้เห็นมิติของตัวตนที่หลากหลาย ในส่วนนี้ผมเลยขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับตัวตนจากนักคิด 4 คน ดังนี้ครับ

    • ฟรอยด์ ตัวตนในมุมจิตวิเคราะห์ - Freud เป็นนักจิตวิทยาที่เสนอว่าตัวตนแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ id, ego และ superego โดย id คือตัวตนที่เป็นสัญชาติญาณดิบของเรา ตัวตนนี้ถูกผลักดันโดยความอยู่รอดทางชีวภาพ อาทิ ความหิว ความต้องการมีชีวิตรอด ความต้องการในการสืบพันธ์ครับ ในขณะที่ตัวตนระดับที่ตรงข้ามกับ id คือ superego ตัวตนในระดับนี้เป็นตัวตนที่มนุษย์แสดงออกมาตามครรลองของสังคม ผ่านการยอมรับเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและกรอบคุณค่าที่สังคมเชื่อว่าดี ตัวตนตรงกลางที่เป็นเหมือนสนามรบระหว่างความต้องการแบบ id และ superego คือ ego ครับ ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่าอีโก้นี่แหละคือตัวตนแบบธรรมชาติที่สุดที่คนคนหนึ่งรับรู้จากการสำรวจตัวเอง

    • คูลลี่ กระจกเงาคือตัวเรา - Cooley เป็นนักสังคมวิทยาที่มีชีวิตอยู่ช่วงเดียวกับฟรอยด์ครับ แต่สำหรับคูลลี่แล้ว ตัวตนกลับไม่ได้มาจากตัวเราเองอย่างเดียว แบบที่ฟรอยด์แบ่งเป็นสามระดับ ทว่าคูลลี่เชื่อว่า ตัวตนของเราได้รับการสะท้อนมาจากความคิดของคนอื่นที่มีต่อเราด้วย ลองคิดดูแบบนี้ก็ได้ครับว่า เรารู้ได้อย่างไรว่าเราเก่ง? หรือเราทำสิ่งนั้น ๆ ได้ดี? คูลลี่เสนอว่า เราคิดเช่นนี้กับตัวเองได้ก็ต่อเมื่อคนรอบข้างสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นเช่นนั้น เพราะมีเพื่อนบางคนชมว่าเราเก่ง เราถึงเริ่มคิดว่าอาจจะเก่งจริง ๆ เป๋็นต้นครับ คูลลี่คิดว่ากระบวนการเช่นนี้เป็นเหมือนกับการส่องกระจกแล้วได้เห็นตัวเอง เราจึงรู้ว่าตัวเองเป็นคนอย่างไร กระจกที่ว่าคือ คนรอบ ๆ ตัวเองนั่นเองครับ ตัวตนจากกระจกเงา (Looking-Glass self) เกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการ 3 ขั้นครับ 1) เราจะจินตนาการว่าคนอื่นมองเราอย่างไร 2) เราจะนึกต่อว่าเมื่อคนอื่นมองเราเช่นนี้ คนเหล่านั้นตัดสินและให้คุณค่ากับตัวเราที่เป็นแบบนั้นอย่างไร และ 3) เราจึงรับรู้ว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไรและปรับตัวตามสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่ผมอยากให้ผู้อ่านลองคิดตามจากแนวคิดของคูลลี่คือ นั่นแสดงว่าตัวตนของเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามกระจกเงาที่เปลี่ยนไปครับ กล่าวคือ พอเราย้ายสังคมไปอยู่ที่อื่น กระจกเงาที่เราใช้มองตัวเองก็เปลี่ยนบานไปด้วย กระจกเงาบานใหม่ในสังคมใหม่ก็จะเปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับตัวเราด้วยครบ

    • มี้ด และสอง "เรา" - Mead เป็นนักสังคมวิทยาที่ต่อยอดแนวคิดของคูลลี่ครับ โดยมี้ดเสนอว่าก่อนที่เราจะมีความสามารถในการต่อรองตัวตนแบบที่คูลลี่ว่าไว้ เราต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวตนเสียก่อน กระบวนการดังกล่าวกระทำผ่านการขัดเกลาทางสังคมครับ มี้ดแบ่งการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวตนในวัยเด็กของเราออกเป็นสามช่วง โดยช่วงแรกเรียกว่า preparatory stage ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงแรกเกิดถึงสามขวบ มี้ดเชื่อว่าช่วงนี้ เด็กไม่มีอำนาจในการต่อรองตัวตนที่คนอื่นมอง เด็กแรกเกิดถึงสามขวบจึงเหมือนผ้าขาวที่ได้แต่รับความเป็นตัวตนจากการที่คนอื่นปฏิบัติกับเขา เด็กเรียนรู้ความหมาย รวมถึงการมองโลกจากการเลียนแบบผู้ใหญ่หรือคนรอบตัว แต่เมื่อเด็กย่างเข้าสามขวบ เด็กมีสัมปชัญญะเพียงพอที่จะเริ่มเข้าสู่ขั้นถัดมาคือ play stage โดยในช่วงนี้เด็กจะเริ่มเรียนรู้บทบาทของคนอื่นผ่านการแสร้งเป็นคนคนนั้น เช่นจินตนาการว่าเป็นตำรวจแล้วทำตัวเหมือนตำรวจที่ตัวเองเห็นตามสื่อหรือคำบอกเล่าของคนรอบข้าง กระบวนการนี้ทำให้เด็กมีความสามารถในการจินตนาการว่าคนอื่นมองตัวเองอย่างไร และราว ๆ 7 ขวบ เด็กเริ่มเข้าสังคม มีเพื่อนเล่นที่โรงเรียน สภาพแวดล้อมนี้ส่งผลให้เด็กเข้าสู่ขั้นสุดท้ายซึ่งก็คือ game stage ครับ ในขั้นนี้เกมต่าง ๆ ที่เด็กเล่นกับเพื่อน เช่นกีฬา หรือนันทนาการจะสอนให้เด็กรู้ว่า คนอื่นคาดหวังหรืออยากเห็นอะไรจากตัวเขาเมื่อเขาอยู่ในตำแหน่งนั้น ๆ (Generalized other) สมมติง่าย ๆ แบบนี้ก็ได้ครับว่า ถ้าเด็กคนนั้นเล่นฟุตบอลแล้วได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้รักษาประตู เด็กจะเรียนรู้หน้าที่ของผู้รักษาประตูจากกฎของเกม และเริ่มคิดว่าในตำแหน่งนี้ตัวเองต้องทำอะไรให้สอดคล้องกับกฎและความคาดหวังของคนอื่นที่มีต่อคนที่เป็นผู้รักษาประตู กระบวนการทั้งสามนี้ทำให้ตัวตนของเรามีสองด้าน กล่าวคือตัวตนที่เราเป็นตัวเองหรือ I และตัวตนที่เราเป็นตัวเราแบบที่อยากให้คนอื่นเห็นหรือ Me โดย Me เป็นตัวตันที่เกิดจากการต่อรองระหว่าง I และเงื่อนไขทางสังคมต่าง ๆ นั่นเองครับ จากแนวคิดของมี้ด ผมเลยอยากชวนผู้อ่านคิดต่ออีกนิดครับว่า เด็กในยุคหลัง ๆ อย่างในเจเนเรชั่น Z หรือหลังจากนี้ที่ชีวิตในวัยเด็กเล่นกับเพื่อนน้อยลงกว่ารุ่นก่อน ๆ และอยู่กับสื่อออนไลน์มากขึ้น กระบวนการในขั้น game stage จะเปลี่ยนไปไหม? การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ส่งผลถึงค่านิยมในการเข้าสังคม หรืออยู่ในสังคมของคนรุ่นหลังขนาดไหน? 


    • กอฟฟ์แมน กับนาฏยกรรมทางสังคมของตัวตน - Goffman เป็นนักสังคมวิทยาอีกคนหนึ่งครับที่เสนอมุมมองว่านอกจากตัวตนของเราจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมและคนที่อยู่รอบๆ ตัวเราแล้ว ตัวตันของเราก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วย ในแง่นี้ตัวตนเราจึงมีความลื่นไหลและบิดพริ้วสูงมากครับ กอฟฟ์แมนเชื่อว่า สถานการณ์เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดว่าเราจะแสดงออกตัวเราอย่างไร ทำให้เขารู้สึกว่าโลกทางสังคมของคนเราจึงไม่ต่างจากละครเวทีที่เราต้องแสดงบทบาทตามสถาณการณ์ต่าง ๆ แนวคิดนี้เรียกว่า นาฏยกรรมทางสังคม (Dramaturgy) ครับ โดยปัจเจกคนหนึ่งจะมีตัวตันที่อยู่หน้าฉาก (Front stage) ซึ่งตัวตนนี้เป็นตัวตนที่เราจะพยายามสร้างความประทับใจให้กับผู้ชม (Impression management) ซึ่งก็คือบุคคลอื่นในสถานการณ์นั้นครับ ในขณะที่ตัวตนอีกแบบหนึ่งเรียกว่า ตัวตนหลังฉาก (Back stage) ตัวตนนี้เป็นตัวตนที่เราอยู่หลังม่านการแสดง เราไม่จำเป็นต้องแสดงตามบทที่สังคมยื่นให้ เราสามารถเป็นตัวเองในแบบที่เราอยากเป็นได้ครับ ผมชวนผู้อ่านคิดต่อไปแบบนี้ครับว่า การเข้ามาของอินเตอร์เน็ตลดพื้นที่หลังฉากเราหรือไม่? เนื่องจากในสังคมออนไลน์แม้เราจะแสร้งเป็นคนอื่นได้ แต่เราจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับชาวเน็ตซึ่งไม่ต่างอะไรกับการอยู่หน้าฉากในความคิดของกอฟฟ์แมน แล้วการหายไปของหลังฉากเช่นนี้ มีผลอย่างไรต่อตัวเรา เป็นไปได้หรือไม่ที่อัตราการป่วยเป็นโลกซึมเศร้าของคนในยุคนี้สัมพันธ์กับเรื่องนี้ ? 

           ผมหวังว่าแนวคิดต่าง ๆ ที่ผมเสนอไปจะช่วยให้ผู้อ่านเห็นมิติเกี่ยวกับตัวตนเพิ่มขึ้นมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยผมแนบสรุปเอาไว้ให้ตามภาพข้างล่างนี้ครับ

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in