เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เมื่อเธอและฉันไม่เท่ากันKritthanan Ditthabanjong
01 : เมื่อฉันไม่เท่ากันเพราะ "เพศ"...

  • ในวันหนึ่ง วันที่ฉันเบื่อแสนเบื่อกับการอยู่บ้านคนเดียว ไม่รู้จะทำอะไร ตามประสาเด็กในตอนนั้น ฉันเลยตัดสินใจทำอะไรสนุกๆ โดยเริ่มจากการนำผ้าเช็ดตัวมาแปลงเป็นผม และนำผ้านวมมาทำเป็นชุด เล่นละครอยู่ในห้องคนเดียวอย่างสนุกสนาน และนี่คือครั้งแรกที่ฉันได้เล่นอย่างสนุกสนานและเป็นครั้งเดียวที่ไม่มีอะไรมากั้นขวางได้ เพราะหลังจากนี้ชีวิตของฉันกำลังจะค่อยๆเติบโต พร้อมๆกับเรื่องที่เจ็บปวดโดยที่เราไม่เข้าใจมันเลยแม้แต่น้อย และก็ไม่ได้เป็นคนทำบาดแผลนี้มาเองด้วย...

    ฉันเริ่มรู้ตัวว่าฉันจิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพก็ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ แม่เล่าให้ฟังอย่างสนุกสนานและออกรสว่าตอนนั้นเพื่อนของแม่ฉันแนะนำว่า "ให้เปิดเพลง i will survive ถ้าลูกแกเต้นแสดงว่าเป็นตุ๊ดชัวร์!" และแม่ก็ดันรับคำท้าตรงนั้นด้วยซิ เพื่อนของแม่บรรจงหาซีดีเพลงมาเปิดใส่เครื่องเล่นเพลง และกดเปิด พอจังหวะแรกมาเท่านั้นแหละ ฉันจึงเต้นใส่ยับแบบเสมือนไม่มีแม่อยู่ตรงนั้นเลยแม้แต่น้อย และนั่นก็เป็นการเปิดเผยว่าฉันเป็นใคร? โดยที่แม่ฉันก็ยังคงอึ้งแบบนั้นอยู่

    และหลังจากที่การเต้นจบลง แม่ฉันซึ่งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจึงเริ่มปรับการเลี้ยงดูที่เข้มงวดมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันอึดอัดทุกครั้งที่แม่คอยบ่นในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องเสมอๆ เมื่อฉันโตขึ้นมา

    หลังจากนั้น บ้านของเราถูกจำนองขายไป แม่และฉันจำเป็นต้องย้ายมาอยู่ละแวกบ้าน เช่าบ้านอยู่ และแม่ฉันก็ไปมีสามีใหม่ในขณะนั้น เขาทั้งสองต่างรักกันมาก มากจนยอมทุกอย่าง แต่กลับมาเข้มงวดกับฉันมากขึ้น ซึ่งทำให้ฉันอึดอัดเช่นกัน แต่ก็คงไม่เท่ากับการที่ไม่ถูกยอมรับเรื่องเพศมาโดยตลอด ทั้งในบ้าน โรงเรียน และสังคมอีกบางส่วน ซึ่งนี่เองที่ทำให้ฉันรู้สึกว่า 

    #เธอและฉันไม่เท่ากัน

    นี่คือเรื่องราวอันเจ็บปวดของฉันที่อยากจะเล่าให้ทุกๆคนอ่านกันนะ

    สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่เท่ากัน เริ่มจากตอนป.3 ฉันได้รับงานพิเศษจากคนละแวกบ้าน เนื่องด้วยเขาเห็นแววที่ฉันชอบเต้น เลยชวนมาคุยและทำงานพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไปๆมาๆ ก็ได้เป็นโคโยตี้ ซึ่งฉันอยากเป็น (ในตอนนั้นนะ) มากเลย เป็นครั้งแรกที่ฉันภูมิใจกับเงินที่ได้มาจากการเต้นแล้วมีคนให้ทิป ภูมิใจกับการเปลี่ยนแปลงเป็นหญิงชั่วคราว และหลังจากงานจบ เราก็กลับมาบ้านเพื่อเอาเงินส่วนหนึ่งไปให้แม่ได้ใช้ด้วยกัน

    แต่ผลตอบรับแรกที่ได้คือ... โดนตีอย่างหนัก โดนห้ามออกจากบ้าน และโดนด่าแบบไม่มีชิ้นดี

    ในตอนนั้นฉันก็อึดอัดนะ แต่ด้วยความที่ยังเด็กจึงยังไม่สามารถทำอะไรได้นอกซะจาก...
    "ร้องไห้และทนเจ็บปวด" และหลังจากนั้น ฉันก็ไม่ได้มีโอกาสได้ไปเต้นแสดงที่ไหนอีกเลย...

    หลังจากนั้น พอฉันขึ้นชั้นป.4 ฉันก็ได้เจอเพื่อนใหม่ๆมากขึ้นในโรงเรียน แต่มันเป็นช่วงที่ฉันกลับอึดอัดมากที่สุดช่วงนึงไปเลย ฉันโดนกลั่นแกล้งสารพัดอย่าง โดนด่าว่า "อีตุ๊ดๆๆๆๆ" ซ้ำไปซ้ำมาเกือบทุกวัน แถมยังโดนรีดไถเงิน เพียงเพราะว่าเราไม่สู้ และอีกเหตุผลที่ทำให้เราโดนแกล้งอยู่เรื่อยๆ เพราะว่า...

    #ฉันและเธอแตกต่างกันเกินไป


    มันจึงทำให้เขามองเราเป็นตัวประหลาดมากขึ้น ซึ่งพอฉันแจ้งครูหรือฟ้อง ครูก็จะแค่ทำโทษและก็จะโดนหนักกว่าเดิม ซึ่งทำให้ฉันต้องเจอวังวนเดิมๆอีก ฉันจึงตัดสินใจอยู่ตัวคนเดียวหรือไม่ก็อยู่กับเพื่อนกลุ่มเก่งๆก็พอ จนกระทั่งวันหนึ่ง ห้องของฉันได้ครูประจำชั้นคนใหม่เข้ามา ซึ่งเขาเป็นผู้ชายนั่นแหละ เขาก็ได้เรียกเราและให้เราแนะนำตัวเอง หลังจากนั้นเขาก็ให้เรายืนบนเก้าอี้แล้วพูด พูดไปเรื่อยๆอยู่ดีรๆเขาก็ดึงเก้าอี้ออกมา เราก็ล้มไปเลย เสียงดัง "ปั๊ก!" 

    ผลที่ได้กลับมาก็คือ ... "ตลก" หัวเราะ สนุก
    แต่สำหรับเรามันคือ ... "อับอาย" ไม่ชอบ อึดอัด และอยากย้ายโรงเรียนในตอนนั้นมาก

    ซึ่งหลังจากนั้นมา เราก็โดนแกล้ง โดนล้ออยู่ตลอด จนถึงวันหนึ่งในสมัยป.5 เราอดทนไม่ไหวแล้ว เราโดยเพื่อนกลุ่มเดิมๆล้อ และเราก็อารมณ์ร้อนด้วย จึงตัดสินใจเอาขลุ่ยฟาดไปที่หลังของเพื่อนจนขลุ่ยหัก เพราะว่าทนไม่ไหวที่ถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดในสายตาของสังคม ในตอนนั้นเองเราจึงหักเหไปทำงานให้โรงเรียน พวกกิจกรรมต่างๆ ไปได้หมด ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้นในระดับนึง และอาจารย์คนนั้นก็เลิกคุกคามเรา ยอมรับเราเพราะความสามารถ 

    ในวันที่เรียนจบ ป.6 เราจึงลองถามดูว่า ทำไมถึงทำกับเราแบบนั้นครับครู? สิ่งที่เขาตอบกลับมาคือ...
    "เขาอยากให้เราเป็นผู้ชาย" เราได้แต่ยืนอึ้งไปสักพักใหญ่ๆ...

    ย้อนกลับมาที่บ้าน เราเริ่มโดนแม่ทำโทษแบบรุนแรง เพียงเพราะว่าเขาอยากให้เราเป็นผู้ชายแบบเดิม แม่เคยมีความคิดแม้กระทั่งจะส่งไปอยู่ค่ายมวย เพื่อดึงความเป็นชายกลับมา ซึ่งในตอน ป.6 เราเริ่มชัดเจนในตัวเองแล้วว่าเราไม่ใช่กะเทย เราเป็นแค่ผู้ชายที่รักผู้ชายเฉยๆ เราไม่ได้อยากแปลงเพศด้วยซ้ำ แต่แม่เรากลับไม่เข้าใจและไม่ชอบแม้กระทั่งให้แสดงออกเล็กๆน้อยๆ พ่วงด้วยแม่เข้าข้างพ่อเลี้ยงในตอนนั้น จึงทำให้พ่อเลี้ยงคนนั้นทำร้ายร่างกายเรามากขึ้น เราก็พยายามหนีมันออกมาเพื่อไม่ให้ตัวเองโดนกระทำไปมากกว่านี้ แต่ก็ไม่สำเร็จเลย

    เวลาล่วงเลยผ่านมาจนถึงช่วงอายุประมาณ 14-15 ปี ตอนนั้นแม่เริ่มรุนแรงกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะ เขารู้สึกว่าเราอ่อนแอ ปวกเปียก ไม่มีความเป็นชายเลย ซึ่งจริงๆแล้วเราก็ไม่ได้ยอมรับในความเป็นเพสชายของเราสักเท่าไหร่หรอก แต่พอถึงวันหนึ่งแล้ว

    มันก็ไม่ไหวที่จะเป็นกระสอบทราบไว้ให้คนอื่นระบาย
    เพียงเพราะว่าฉันไม่เท่ากับคนในสังคม...

    ติดตามเรื่องราวได้ตอนต่อไป >

    บทเรียนอันควรค่า
    เมื่อระบบไม่ได้อำนวยให้เด็กอยู่รอดได้

    จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในบทแรกนี้ พูดถึงประเด็นการยอมรับในเพศวิถีที่แต่ละคนเป็น ซึ่งยังเป็นปัญหาอีกมากมายในสังคม และจากปัญหานี้มันก็ทำให้เกิดการพ่วงด้วยทัศนคติ "ชายเป็นใหญ่" ซึ่งในทีนี้บ่งบอกว่า ถ้าเพศสภาพเราเป็นชาย แต่พฤติกรรมของเราไม่ใช่ชาย ให้ตายยังไงเขาก็ไม่โอเคกับเรา และมีความพยายามปรับเปลี่ยนกึ่งๆบังคับคนที่เป็น LGBTIQ ให้เข้ารับการบำบัด ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องเลย นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรังแกกันในโรงเรียน ซึ่งทำให้เกิดมีปัญหาอีกมากมายด้วย 

    ปัญหาที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือ "ระบบภาครัฐไม่ได้เปลี่ยนแปลงและเอื้ออำนวยกับคนในสังคมมมากนัก" ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างของการเรียนรู้อีกมากมาย

    สิ่งที่แก้ไขได้จากเคสนี้

    เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนมุมมองและสร้างความหลากหลายของสังคมให้เกิดขึ้นในโรงเรียนให้ได้ สร้างความเข้าใจและการปฏิบัติที่ดีกับบุคคลในสังคมทุกลักษณะ รวมไปถึงมีช่องทางการร้องเรียนที่เหมาะสม ครูเองก็ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ และรับฟังเสียงของเด็กด้วย อีกทั้งโรงเรียนก็ต้องเคารพสิทธิเด็กเอง ไม่ละเมิดและส่งเสริมคุณค่าของความหลากหลายให้เกิดขึ้นในระบบสถานศึกษา

    สำหรับพ่อแม่รุ่นใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่แพ้กันคือ "การสื่อสาร" ที่ดีให้กับลูก เปิดใจยอมรับกว้าง และควรส่งเสริมการจัดตั้งโรงเรียนพ่อแม่

    สรุป

    การที่เราถูกมองว่าเป็นคนอื่นเพราะเรื่องเพศสภาพไม่ตรง ก็เกิดจากการที่สังคมบ้านเรามักแบ่งเพศตามกายภาพ มากกว่ามองความเป็นตัวของเขา ซึ่งทำให้ในบางครั้งพวกเขาเหล่านี้ก็ขาดโอกาส ขาดเวลาที่ไม่จำเป็นใดๆเลย เพื่อมาทำให้คนที่มีทัศนคติแบบเก่ายังมองเขาที่ความสามารถอยู่ ซึ่งมันก็เท่ากับว่าสุดท้ายแล้วคุณก็ยังไม่ได้ยอมรับเขาที่เป็นเขาจริงๆ และเขาเองก็ไม่ยอมรับความเป็นตัวเองเช่นกัน

    การตีตราและกีดกันให้คนที่แตกต่างกลายเป็นคนอื่นหรือไม่เท่ากัน นอกจากจะสูญเสียบุคลากรแล้ว ยังสูญเสียแรงงาน และรายได้ทางเศรษฐกิจอีกด้วย

    ปรับเปลี่ยนลองมามองคนรอบข้างคุณทุกคน รวมถึงตัวคุณเองว่าข้างในมีอะไรที่คิดว่าน่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นๆในสังคมได้ มากกว่ามองหรือแบ่งแยกกันเพียงเพราะเขาเพศไม่ตรงกับเพศสภาพ เพราะคนเราควรมีสิทธิ์ที่จะกำหนดชีวิตตัวของเขาเองได้เช่นเดียวกับพวกคุณ.

    กฤตนัน ดิษฐบรรจง
    26 เมษายน 2561 (06.00 น.)
    https://www.facebook.com/KritthananOfficial

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in