เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
เมื่อเธอและฉันไม่เท่ากันKritthanan Ditthabanjong
02 : เมื่อฉันไม่เท่ากันเพราะ... "ไร้ทางเลือก"
  • เย็นวันนั้น วันที่ฉันหมดความอดทน เรื่องราวมันเกิดขึ้นเริ่มต้นด้วยการที่ฉันทะเลาะกับแม่ เพียงเพราะฉันไม่ออกไปซื้อของให้เขา (เพราะฉันกำลังนั่งปั่นงานอยู่) ด้วยความที่เป็นคนทำงานเรื่อยๆ สบายๆ แต่ไม่ชอบให้ใครขัด สักพักดีแม่เดินมาแล้วพูดแบบคนกำลังหงุดหงิดประมาณว่าไปทำธุระให้หน่อย ฉันจึงบอก "ขอเวลาแปปเดียวนะแม่" เพราะตอนนั้นฉันทำการบ้านจริงๆ แม่ฉันกลับไม่ยอมและเริ่มใช้ความรุนแรงกับฉัน ตอนนั้นภาพความรุนแรงตลอดเกือบ 8 ปีที่ฉันจมกับมันอยู่เริ่มทยอยมาให้เห็นทีละนิดๆ

    ภาพในตอนนั้น ฉันเห็นว่า แม่เคยกระทืบฉัน แม่เคยทำร้ายจนขาฉันเป็นแผลลึก หรือแม้กระทั่งสารพัดเรื่องราวที่ฉันจำได้ ตอนนั้นฉันอยากจะร้องไห้มาก แต่ตัดภาพกลับมาที่ฉันและแม่มีปากเสียงกัน เหตุการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้น เพราะว่าทั้งแม่และฉันต่างไม่ยอมให้กันเลย จนฉันเลือกตัดสินใจเก็บของตัวเองที่มีค่า แล้วเดินออกจากบ้านไป 

    เสียงแม่พูดออกมาทันทีว่า "อย่ากลับมาบ้านนี้อีกนะ!"
    ฉันตอบกลับไปว่า "ไม่กลับหรอก อยู่ไปก็ไม่มีความสุข"

    ช่วงนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่ฉันเริ่มเกเรมากขึ้น มีปัญหาหลายๆอย่างพร้อมกันในชีวิตเด็กมัธยม 3 วัย 15 ที่อาศัยอยู่ในชานเมืองกรุงเทพ-นนทบุรี ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตฉันมากถึงมากที่สุด

    ย้อนกลับไปพบกับปัญหากันดีกว่า
    ซึ่งฉันจะขอย้อนกลับไปนานหน่อย นานก่อนที่ฉันจะตัดสินใจออกจากบ้านนี้อีก

    ปัญหาที่ฉันต้องพบเจอ นั่นก็คือ "การไม่มีเงิน" 

    ฉันเชื่อว่าทุกคนต้องเจอปัญหานี้แน่นอน

    เนื่องด้วยที่บ้านของฉันเป็นคนที่ค่อนข้างจน (ไม่เรียกว่าจน ก็ต้องเรียนกว่าปานจะกลืนกิน) ฉันจำได้ว่าความรู้สึกที่เงินไม่พอไปโรงเรียนก็ช่วง ป.4 เป็นต้นไป ช่วงนั้นเป็นครั้งแรกที่ฉันต้องย้ายบ้านแบบจำเป็น จากเดิมที่ใกล้โรงเรียนมาก คือถ้าคุณเป็นเด็กแล้วต้องเข้าเรียน 8.00 น. คุณสามารถตื่นมาตอน 7.45 น. เพื่อแต่งตัว 10 นาที กินข้าว 2 นาที เดิน 2 นาที ถึงโรงเรียนก่อนเคารพธงชาติตั้ง 1 นาทีแหนะ! แต่หลังจากนั้นมา พอฉันต้องย้ายไปบ้านเช่าซึ่งลุงเคยเช่าไว้ ฉันก็ต้องพบกับปัญหาหลายอย่าง อย่างแรกเลยคือ "ฉันหลงทางจนไม่ได้ไปโรงเรียน" วันแรกที่ฉันนั่งรถเมล์และต้องตื่นเช้า ฉันเผลอหลับบนรถเมล์ ตื่นมาอีกที ตกใจ! ฉันหลงมาอยู่ท่าพระได้อย่างไร! และหลังจากนั้นมาฉันก็ไปสายทุกวัน เพราะด้วยเหตุผลหนึ่งที่ฉันเคยคุยกับแม่ไว้...

    ผม : ทำยังไงให้ไปโรงเรียนทันล่ะแม่?
    แม่ : ต้องออกก่อน 6 โมงนะ ไม่งั้นรถติด
    ผม : ทำไมต้องออกก่อน 6 โมง หลัง 6 โมงไม่ได้เหรอ?
    แม่ : ไม่ได้ รถจะติดเอา

    ซึ่งการเดินทางจากบ้านที่เขตตลิ่งชัน มายังโรงเรียนในเขตบางซื่อ แสนจะไกลมากและพบเจอกับจุดที่รถติดบ่อยครั้ง เช่น รถติดหน้าโรงเรียนชายล้วน หญิงล้วน และสห (ทั้งหญิงและชายร่วมกัน) โดยที่พ่อแม่ของเด็กที่เรียนในนั้นขับรถมาจอดส่งลูกหลาน บางทีก็จอดนานจนรถเมล์อื่นๆไม่เคลื่อนไปได้สักที หรือแม้กระทั่งจุดก่อสร้างรถไฟฟ้า บางทีฉันก็สงสัยว่าทำไมประเทศเราไม่จัดการจราจรให้ดีกว่านี้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มเลนถนนจะได้หรือไม่?

    เหตุการณ์นี้ ทำให้ฉันต้องพึ่งพิงบริการรัฐสงเคราะห์อยู่บ่อยครั้ง เพราะว่ามันไม่มีบริการรัฐสวัสดิการที่ไหนเลยที่ฉันสามารถเข้าถึง (เพราะมันไม่มี) แถมยังถูกจำกัดช่องทาง สุดท้ายฉันก็เหมือนขอทานที่รอให้คนรวยเอาเศษเงินมาให้ มันเป็นเรื่องน่าเศร้าของฉันมาก แต่ฉันจำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้น เพราะบ้านฉันอยู่ไกลจากโรงเรียนมาก

    ฉันมักจะถูกอาจารย์เอ็นดูจากการทำกิจกรรมอยู่บ่อยครั้ง เพราะฉันมักอาสาทำกิจกรรมหรือช่วยงานโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง ฉันจึงถูกระบบสังคมสงเคราะห์ครอบงำด้วยการ "ให้ทุนการศึกษาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน" เป็นครั้งๆไป ซึ่งใช้สักพักก็หมดไป และฉันก็ไม่มีที่พึ่งพิงใดๆอีกเลย รายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกวัน แต่รายได้จากแม่ส่งให้ก็เท่าเดิม ค่ารถเมล์ที่ฉันขึ้นทุกวัน บางทีมันก็ขึ้นๆลงๆบ้าง

    มีวันหนึ่งที่ฉันไม่มีเงินกลับบ้านติดตัวสักบาท ฉันจึงรอรถเมล์ฟรีที่รัฐจัดสรรให้ ฉันรอมันตั้งแต่ 16.00 น. ฉันรออย่างมีความหวัง รอแบบคนที่ต้องรอ จนเวลา 18.00 น. รถก็ยังไม่มา จนฉันต้องตัดสินใจเดินจากหน้าโรงเรียนเพื่อกลับบ้าน เพราะรอไม่ได้และไม่มีทางเลือกแล้ว ฉันเดินไปเรื่อยๆก็ยังไม่เจอรถเมล์ฟรีสักที จนถึงบ้านในเวลา 21.00 น. ฉันเพิ่งพบรถเมล์ฟรีคันที่ฉันเฝ้ารอคอยมันตั้งแต่ 16.00 น. 

    ฉันต้องกลับบ้านแบบนี้หลายหนมาก เพียงเพราะ "รถเมล์ฟรีไม่มา"

    หลังจากนั้นมา ฉันก็สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนประถมศึกษา และถึงเวลาที่ต้องสอบเข้าโรงเรียนมัธยมศึกษาต่อ ด้วยความที่ฉันเรียนดีในช่วงประถมปลาย ฉันจึงตัดสินใจเลือกสถานที่สอบได้ แต่ฉันก็ต้องคิดหนัก เมื่อโรงเรียนที่ฉันอยากเข้าศึกษาต่อ (เป็นโรงเรียนเดียวกับที่ฉันบ่นว่าทำให้รถติดด้วย) มีมาตรฐานที่สูงกว่าและมีเงินค่าบำรุงการศึกษาที่ฉันและครอบครัวไม่สามารถรับไหวได้ ฉันจึงจำเป็นต้องถอดใจและเข้าไปสอบอีกโรงเรียนหนึ่งแถวนนทบุรี และฉันก็สอบผ่านเข้ามาจนได้

    ในช่วงระหว่างปิดเทอมตั้งแต่ประถมปลาย เรื่อยมาจนสอบติดมัธยมต้น ฉันเก็บหอมรอมริบมาโดยตลอด เพราะแม่ของฉันมักจะพาฉันออกไปทำงานด้วย พอหลังๆมา ฉันก็ทำงานเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

    เริ่มแรก เริ่มจากการไปช่วยแบกของในแคมป์งานก่อสร้าง ใช่แล้ว! ฉันเคยทำงานก่อสร้างมาก่อนด้วย ฉันพอจะช่วยงานพ่อเลี้ยงตามบ้านต่างๆที่เขาจ้างไปได้พอสมควร ฉันได้เงินมาก็นำมาเก็บไว้บางส่วน หลังจากนั้นก็เปลี่ยนมาทำสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขายของในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีครั้งหนึ่งที่ตลกมาก คือการวิ่งหนีเทศกิจ ซึ่งฉันก็หนีได้ทุกครั้งและโชคดีมาก ทีนี้ก็เลยมีคำถามว่า "แล้วทำไมไม่ไปขายของในพื้นที่ที่เขาจัดไว้ให้แหละ" คำตอบของฉันก็คงตอบว่า "ก็ที่ที่จัดไว้ มันแพง ขายได้ยาก" คือขนาดมาขายข้างทางเท้า ยังขายไม่ได้ในบางวันเลยนะ

    ส่วนงานอีกงานที่ฉันเคยทำมา นั่นก็คือ "การเป็นคนขายผลไม้รถเข็น" ซึ่งหน้างานหนักมากๆ แม่ฉันต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปตลาดและซื้อผลไม้มาจัดใส่ตู้ หลังจากนั้นก็ทำอุปกรณ์ต่างๆ และตอนสายๆฉันก็จะเข็นผลไม้ไปขายตามสถานที่ต่างๆจนเย็นเกือบมืดถึงเข้ามาบ้าน ซึ่งงานหนักตรงที่บางครั้งต้องเข็นขึ้นสะพาน อันนี้ดีหน่อยที่มีรายได้ปานกลาง ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป

    พอเข้ามัธยมศึกษาได้ ก็นำเงินส่วนนี้ออกมาใช้ในการจ่ายค่าหนังสือเรียนและค่าอื่นๆที่โรงเรียนจัด ซึ่งก็เก็บมาไม่เยอะ เลยหมดไปกับตรงนั้นไปเกือบจะหมดเหมือนกัน ไหนจะซื้อชุดนักเรียนอีก...

    หลังจากนั้นมา ฉันจึงเข้าเรียนที่นั่น
    แต่แล้วฉันก็พบเจออะไรบางอย่างว่า 

    "ฉันไม่มีทางเลือกตลอดเวลา"

    โปรดติดตามตอนต่อไป >



    บทเรียนอันล้ำค่า
    เมื่อ "รัฐสงเคราะห์" ไม่เคยช่วยคนได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

    จะเห็นได้ว่าปัญหาที่กำลังพูดถึงในบทนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญกับคนไทยทุกคนอย่างยิ่ง คือเรากำลังอยู่ในระบบ "ประชานิยม" หรือพูดให้เข้าใจยากอีกหน่อยก็คือ "รัฐสงเคราะห์" ซึ่งการสงเคราะห์สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาแบบให้ครั้งเดียว หรือรถเมล์ฟรี แม้กระทั่งเรียนฟรี 15 ปีที่ค่าอื่นๆ ต้องจ่ายเอง ยังไม่นับรวมถึงเรื่องอื่นๆที่รัฐกำลัง "สงเคราะห์" อีกจำนวนมากในสังคมไทย การสงเคราะห์พวกนี้สะท้อนปัญหาต่างๆเป็นอย่างมาก ที่บอกว่าเป็นปัญหา เพราะว่ามันไม่ยั่งยืนต่อประชาชนคนรับการสงเคราะห์ใดๆเลย หน่ำซ้ำยังทำให้ชนชั้นทางสังคมสูงขึ้นไปอีก กลางเป็นสองขั้วไปโดยปริยาย คือ จน-รวย นอกจากนั้นการกระทำแบบนี้ย่อมทำให้เขาลุกขึ้นยืนได้เพียงชั่วคราว และไม่ทำให้เขาสามารถลุกขึ้นยืนได้อย่างมั่นคงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องจ่ายภาษีเท่าเดิม ซึ่งไม่ได้ทำให้ประชาชนสามารถอยู่อย่างมีความสุขได้เลย และทำให้อีกหลายๆคนต้องลุกออกมาทำมาหากิน ทั้งๆที่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการพัฒนาของเขาเลยด้วยซ้ำ หลายครอบครัวต้องหลุดโอกาสที่ดีไป ในขณะที่อีกหลายครอบครัวต้องไปออกรายการช่วยเหลือหนี้สินต่างๆ เพียงเพราะต้องใช้หนี้ที่สังคมบีบคั้นให้เขาต้องก่อขึ้น เพราะเขาไม่มีทางเลือก ทั้งๆที่เขาก็ต้องจ่ายภาษีเหมือนกันทุกคน

    สิ่งที่แก้ไขได้จากเคสนี้

    จากบทความนี้ จะได้เห็นหลากหลายปัญหา สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนเลยก็คือ "การจัดทำรัฐสวัสดิการ" เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกันและเป็นการดูแลที่คุ้มค่ากับเงินภาษีที่ทุกคนจ่ายอย่างเท่าเทียม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการซึ่งปัจจุบันจัดเก็บที่ร้อยละ 7 เป็นต้น โดยการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีคุณภาพ เข้าถึงและทั่วถึงกับประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นความคิดที่ตั้งหลักไว้ว่า "จะต้องดูแลตั้งแต่คลอดออกจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ซึ่งจะส่งผลให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้ในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย

    โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่เริ่มศึกษา การจัดรัฐสวัสดิการที่ทำให้เขาสามารถนำทรัพยากรไปพัฒนาต่อได้และทำให้เขาสามารถนำเวลาไปพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน จะทำให้เขาสามารถเติบโตและเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพและเหมาะสมกับตัวเองด้วย เพราะอย่าลืมว่าถึงพวกเขาจะไม่สามารถกาบัตรเลือกตั้งได้ แต่เขาก็จ่ายภาษีเช่นเดียวกับคนที่กาบัตรเลือกตั้งได้เช่นกัน

    สรุป

    การจัดทำรัฐแบบสงเคราะห์ ย่อมทำให้รับมองประชาชนเป็นเพียงชนชั้นที่ล่างกว่ารัฐอยู่เสมอ ต้องหยิบยื่นความช่วยเหลือลงไป ซึ่งอันที่จริงแล้วเขาอาจจะไม่ได้ต้องการซะด้วยซ้ำ และในบางพื้นที่ก็เข้าไม่ถึง เพราะรัฐเองไม่ได้ใส่ใจประเด็นในพื้นที่ด้วย สุดท้ายปัญหาก็ยังคงเกิดและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ 

    สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คือ การสร้างรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง เหมาะสม และยั่งยืน เพื่อให้คนทุกคนสามารถอยู่ในประเทศนี้ได้อย่างมีความสุข และเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานเอกชน นักธุรกิจ ทุกคนถ้าได้จัดรัฐสวัสดิการที่ดีและครอบคลุมแล้ว พวกเขาในประเทศก็จะเท่าเทียมกันในเชิงเศรษฐศาสตร์ และรัฐควรมองเขาว่าเป็นคนที่จ่ายภาษีมาด้วยเช่นกัน 

    เพราะรัฐสงเคราะห์ ทำให้คนไม่ยั่งยืน ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ และยังเป็นบ่อเกิดของการทุจริตคอรัปชั่นอีกทางหนึ่งด้วย ทางเดียวที่จะแก้ได้คือ "รัฐสวัสดิการ" เท่านั้น

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in