ในบรรดาหนังจาก Marvel Studios ที่ปล่อยออกมาในปีนี้ (Guardians of the Galaxy Vol. 2, Spider-Man: Homecoming และเรื่องนี้) Thor: Ragnarok คือเรื่องที่เราอยากดูที่สุด และตั้งความหวังไว้มากสุด ทั้ง ๆ ที่เฉย ๆ กับทั้ง Thor และ Thor: The Dark World
ซึ่งเหตุผลที่เราตื่นเต้นกับ Ragnarok ก็เพราะผู้กำกับ Taika Waititi นี่แหละ เราเคยดูหนังของ Taika สองเรื่องคือ Hunt for the Wilderpeople กับ What We Do in the Shadows (เรื่องหลังดูไม่จบ — แต่ไม่ใช่เพราะหนังไม่ดีนะ) พบว่าชอบสไตล์เฮียมาก มีเอกลักษณ์ดี กะว่าถ้า Ragnarok มีความเป็นหนัง Taika นิดนึงก็โอเคละ
สรุปคือมาเต็มเปี่ยมเลย
ภาพ: Marvel Studios
มุกตลก vs ฉากสะเทือนใจ
ดูเหมือนว่าเวลาหนังมาร์เวลเรื่องใหม่ ๆ ออกมาก็จะมีคนพูดถึงการใส่มุกตลกเกลื่อนเรื่อง (รวมทั้งเราด้วย) จนบางทีมุกตลกนั้นก็ทำให้ฉากที่ต้องการจะดึงอารมณ์อื่น ๆ นั้นทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้สุดท้ายแล้วความสำคัญของพล็อตหายไป เพราะหนังมัวแต่โฟกัสคนดูให้อยู่กับมุกตลกฉากต่อฉาก แทนที่จะให้ความสำคัญกับพัฒนาการของตัวละครจากต้นเรื่องสู่ท้ายเรื่อง
อย่างใน Guardians of the Galaxy Vol. 2 มีให้เห็นอยู่หลายฉาก จนทำให้ตัวละครอย่าง Drax และ Mantis ที่ควรจะมี character arc เป็นของตัวเองในเรื่องก็ถูกลดสถานะกลายเป็นตัวตลกของทีมไป ยังดีที่ฉากเรียกอารมณ์หลักตอนท้ายเรื่องคงความจริงจังไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง
Thor: Ragnarok ไม่สนใจคำวิจารณ์นี้
ซึ่งก็ขอบอกไว้ก่อนว่าไม่ใช่เรื่องแย่อะไรนะ มันแค่เฟรมตัวเองให้เป็นหนังที่ดูเล่น ๆ แบบ popcorn flick เต็มตัวโดยการใส่มุกตลกเข้าไปตั้งแต่ต้นจนจบ มันทำให้หนังไม่มีเทนชั่น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้มันสนุกแบบไม่มีอะไรมาเจือปน
ที่สำคัญคือสไตล์ของ Taika Waititi มันเข้ากับหนังแบบนี้ไง มันเข้ากับบรรยากาศของเรื่อง และแต่ละมุกก็ตลกและไม่ยืดเยื้อ ทำให้คอเมดี้ในหนังเรื่องนี้มันเวิร์ค ต่างกับ (บางส่วนของ) Guardians of the Galaxy Vol. 2
ฉูดฉาด vs หม่น
ตอนดูตัวอย่างแรกของ Thor: Ragnarok เราก็ติดใจงานออกแบบฉากหลังกับเครื่องแต่งกายสไตล์เรโทรสีสันแสบตา เหมือนกับตัวประกอบหลุดมาจากกองถ่ายพาวเวอร์เรนเจอร์
แต่หลังจากดูจบแล้ว เรากลับชอบฉากที่สีจืด ๆ ฟ้าเทาส้มที่โผล่มาสามสี่ครั้ง
เหมือนกับว่า Thor: Ragnarok จะมีการปรับสี (colour grading) อยู่สามแบบ แบบแรกคือการ grade แบบหนังมาร์เวลทั่วไป จะเป็นสีธรรมชาติออกเทา ๆ หน่อย เหมือนกับใน Captain America: Civil War ซึ่งสีแบบนี้จะเห็นในฉากแอสการ์ด เดาว่าต้องการให้ภาพลักษณ์ของแอสการ์ดคงที่กับหนังภาคก่อน ๆ
ส่วนแบบที่สองคือการ grade แบบหนังมาร์เวล "สมัยใหม่" คือสีสด ๆ แบบใน Guardians of the Galaxy Vol. 2 — ซึ่งความฉูดฉาดนี้ก็เป็นผลรวมของการแต่งสีด้วย และการเลือกอุปกรณ์ประกอบฉากด้วย เราเคย
เทียบสี Thor ภาคแรกกับ Guardians of the Galaxy Vol. 2 ไว้ที่นี่ โดยฉากบน Sakaar (ดาวเคราะห์ที่ Thor สู้กับ Hulk ที่เห็นกันในตัวอย่างหนัง) จะมีสีสด ๆ แบบนี้
และแบบที่สามนี่เหมือนไปจิ๊กโทนสีมาจาก Zack Snyder คือแบบรูปบนนี่แหละ ฟ้าเทาส้ม ซึ่งเราชอบเพราะทุกครั้งที่โทนสีแบบนี้โผล่มาในหนัง มันจะมาพร้อมกับการจัดองค์ประกอบภาพแบบสวย ๆ และการเคลื่อนไหวแบบอลัง ๆ เหมือนกับเอาภาพวาดสีน้ำมันมาคั่นไว้กลางเรื่อง
Taika vs Marvel Studios
ด้วยความที่หนังของ Marvel Studios นั้นอยู่ในจักรวาลเดียวกัน เกี่ยวข้องกันไปหมด ทำให้สตูดิโอต้องเข้มงวดเรื่องสไตล์ของหนังแต่ละเรื่องที่ปล่อยออกมา ตัวละครต้องคงเส้นคงวา ทำให้ผู้กำกับ — โดยเฉพาะผู้กำกับที่มีสไตล์เป็นของตัวเอง — ถูกจำกัดด้านความคิดสร้างสรรค์ อย่างที่ Edgar Wright ที่ได้ถอนตัวออกจาก Ant-Man
เคยบอกไว้ว่า "ผมอยากทำหนังมาร์เวล แต่มาร์เวลนั้นไม่อยากทำหนังเอดการ์ ไรท์"
แล้วบังเอิญว่า Taika นั้นก็เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่มีสไตล์เป็นของตัวเองด้วย ทำให้เราหวั่นอยู่หน่อย ๆ ว่า Thor: Ragnarok จะกลายเป็นหนังสูตรสำเร็จรึเปล่า จะเป็นเหมือน Iron Man 3 ที่ดึงความเป็นหนัง Shane Black ออกไปแทบเกลี้ยงรึเปล่า
ก็ไม่นะ
เราว่าหนังเรื่องนี้ก็ยังคงความบ้าบอในแบบฉบับของ Taika ได้อยู่ ยังมี visual comedy หรือมุกที่เน้นการเคลื่อนไหวของตัวละครอยู่ และยิ่งไปกว่านั้นคือยังมีตัวละครที่สำเนียงนิวซีแลนด์อร่อยหูอยู่ แต่จะเป็นใครนั้นต้องไปดูเอาเอง
แต่บางฉากก็เหมือนกับถูกคัดมาเพื่อเชื่อมจักรวาลหนังเข้าด้วยกัน อย่างฉากที่ Thor เจอกับ [สปอยเลอร์?] ดูจะเป็นการตัดสินใจของสตูดิโอมากกว่า แต่นอกจากฉากนี้ กับสถานะของตัวละครตอนท้ายเรื่องที่เป็นการส่งไม้ต่อให้ Avengers: Infinity War แล้ว หนังเรื่องนี้ก็ auteur พอสมควร
ภาพ: Marvel Studios
สรุป
Thor: Ragnarok คือหนังที่เอาความสนุกเป็นตัวตั้ง อย่างอื่นตามมาทีหลัง สนุกดี สนุกตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นความขี้เล่นของ Thor ที่ไม่มีในภาคก่อน ๆ
หนังเปี่ยมไปด้วยสไตล์ ทั้งการออกแบบฉาก เสื้อผ้าหน้าผม (ทรงผม Hulk จ๊าบมาก) และฉากหลังแนวเรโทรยุค '80s หน่อย ๆ ไปจนถึงเพลงของ Led Zeppelin ที่ทำไมถึงเข้ากับเนื้อเรื่องขนาดนี้ ถือเป็นการรีแบรนด์ Thor แบบเดียวกับที่ The Winter Soldier คือการรีแบรนด์ Captain America
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in