Freedive เรียนอะไรบ้าง?
คอร์สเรียน Freedive ของเรากับ
ครูเบคกี้ ที่
Ban's Diving นั้นแบ่งออกเป็น 2 วัน โดยช่วงเช้าของวันแรกจะเป็นการเรียนทฤษฎีแบบเต็มๆ ซึ่งเราจะได้เรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการหายใจ การดำน้ำ และสกิลต่างๆ ที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน จากนั้นในช่วงบ่ายเราจะไปทดลองฝึกในสระว่ายน้ำกันและจบที่ไปทดลองปฏิบัติจริงในทะเล
ส่วนวันที่สองคือวันสอบ โดยในช่วงเช้าเราจะสอบและฝึกสกิลกันในสระว่ายน้ำก่อน จากนั้นตอนช่วงบ่ายค่อยย้ายกันไปสอบสกิลที่เหลือทั้งหมดในทะเลจ้า
เป้าหมายของเราในการเรียนครั้งนี้ คือ ไม่มี เพราะเราคิดว่าสิ่งที่กำลังจะลองทำอยู่นี้นั้นมันยากนะเว้ย หากตั้งความหวังว่าจะต้องเอาบัตร Freediver ให้ได้ก็จะกลายเป็นการกดดันตัวเองจนเกินเหตุ ก่อให้เกิดความเครียด ส่งผลให้เวลาเรียนหรือจะฝึกสกิลมันก็ไม่สนุก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเหตุที่เราอยากมาเรียนก็เพราะอยากรู้ มาทดลองทำ การได้บัตรหรือได้รูปสวยๆ เอาไปโพสต์ลงโซเชียลชิคๆ ถือว่าเป็นผลพลอยได้นะจ๊ะ
อะ มาเริ่มเรียนกันเถอะ!
การที่เราจะผ่านเป็น Freediver ได้นั้น ก็ต้องเรียนรู้สกิลต่างๆ ที่สำคัญจำเป็นดังต่อไปนี้ค่ะ
1. Static Apnea อธิบายง่ายๆ ก็คือการกลั้นหายใจแล้วลอยตัวบนผิวน้ำอยู่เฉยๆ สำหรับเกณฑ์ของ PADI นั้นตั้งไว้ที่ 90 วินาที
2. Dynamic Apnea คือ กลั้นหายใจไปด้วย ว่ายใต้น้ำไปด้วย เกณฑ์คือต้องฮึบว่ายให้ถึง 25 เมตร
3. Free Immersion คือ กลั้นหายใจ แล้วกลับตัว แล้วเอามือจับเชือก ค่อยๆ ไต่กุ๊กๆ กิ๊กๆ ลงไป
4. Constant Weight อันนี้แหละที่เป็นบันไดขั้นสุดท้ายแห่งการเรียน คือ การดำน้ำโดยเอาตะกั่วถ่วงตัวไว้ด้วย กลับตัวเหมือน free immersion เลยแต่รอบนี้ดำน้ำลงไปเองโดยไม่จับเชือก
5. Rescue การช่วยเหลือนักดำน้ำหมดสติ
Buddy & Shallow water blackout
จากนั้นเราเรียนรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย เนื่องจากฟรีไดฟ์มันเป็นกิจกรรมทางน้ำที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เราอาจหมดสติเนื่องจากร่างกายมีออกซิเจนน้อยเกินไปและเกิดอันตรายขึ้นได้
ถ้าคนที่เรียนสกูบ้ามาก็จะรู้ว่าเวลาดำน้ำเราจะต้องมีบัดดี้เสมอ ทั้งตอนก่อนดำน้ำที่ต้องเช็คอุปกรณ์และอากาศ รวมถึงตอนที่ดำน้ำก็บุ๋งๆ กุ๊งกิ๊งๆ ไปด้วยกัน ฟรีไดฟ์ก็เช่นกันนะเออ เราต้องมีบัดดดี้ ห้ามดำน้ำคนเดียวเด็ดขาด แต่เราจะไม่ลงไปดำพร้อมกันนะคะ บัดดี้ของเราจะคอยสังเกตดูเราไว้ที่ผิวน้ำ เผื่อว่าเกิดอะไรขึ้นจะได้ช่วยเหลือได้ทัน และทุกๆ ไดฟ์ บัดดี้จะต้องดำลงไปรับเราที่จุด 5 เมตร
สาเหตุที่ต้องลงไปรอรับที่ 5 เมตรก็เพราะเวลาที่เราฮึบดำน้ำลงไป ปอดของเราจะค่อยๆ หดตัวลงเนื่องจากแรงดันน้ำ พอเราขึ้นมาในช่วงระยะ 10 เมตรก่อนถึงผิวน้ำ ปอดจะค่อยๆ ขยายตัวกลับมาเป็นปกติและดึงออกซิเจนออกจากกระแสเลือด ทำให้ร่างกายมีออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดหมดสติในช่วงนี้ได้ เรียกว่า Shallow water blackout นั่นเอง
Ear Equalization
หลายคนคงเคยประสบปัญหานั่งเครื่องบินแล้วปวดหูเวลาเครื่องบินกำลังลดระดับใช่หรือไม่ นั่นล่ะฮะ แรงดันอากาศมันเปลี่ยนแต่แรงดันภายในหูไม่ได้ปรับตาม ส่งผลคือปวดหูน้ำตาไหล
การดำน้ำก็เช่นกัน เวลาที่เราดำบุ๋งๆลงไปก็จะเจอกับแรงดันน้ำที่กดทำให้เรารู้สึกปวดในหูจี๊ด (จริงๆมันมีชื่อท่อในหูชั้นกลางที่เป็นชื่อเฉพาะ ไปหาอ่านเพิ่มเติมกันได้เด้อ ขอไม่ลงรายละเอียด แหะ) สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องปรับแรงดันภายในหูเรานั่นเอง ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน แต่ที่จะยกมาเล่านั้นเป็น 2 แบบที่เราทำ นั่นก็คือ
1. Valsava Maneuver
อันนี้เราว่าทุกคนทำเป็นแหละ วิธีการคือบีบจมูกแล้วดันลมหายใจออก ลมก็จะวิ่งดุ๊งๆๆๆ ไปปุ๊ดออกที่หู ซึ่งการทำแบบนี้เราจะใช้แรงดันจากกระบังลม สังเกตได้จากเวลาทำแล้วลองเอามือกดที่ลิ้นปี่ไปด้วย เราจะรู้สึกว่ากระบังลมมันขยับ
ตอนที่เราดำน้ำสกูบ้าก็ใช้วิธีมาตลอด ประกอบกับกลืนน้ำลายบ้าง ขยับกรามบ้างสลับๆ กันไป ไม่ก็ปรับตัวให้ตรง ลอยดึ๋งขึ้นมากว่าเดิมหน่อยแล้วค่อยๆ เคลียร์หูอีกรอบถ้ามันติดจริงๆ
2. Frenzel Maneuver
นี่เป็นเทคนิคที่ฟรีไดฟ์เวอร์ใช้กันเนื่องจากหากเราใช้แรงดันจากกระบังลมอย่างวิธีแรก กว่ามันส่งลมมาเคลียร์แรงดันในหูมันได้มันไม่ทันกับระดับความลึกที่เรากำลังจมลงไป ผลคือยังไงก็หูติด พอหูติดเคลียร์ไม่ได้ก็ปวด ปวดปุ๊บก็ลงไม่ได้ล่ะ
สำหรับวิธีการเคลียร์หูแบบนี้คือให้บีบจมูกแล้วยกโคนลิ้นขึ้นไปดันกล้ามเนื้อคอให้เปิดท่อในหู โห แค่อ่านคำอธิบายก็งงแล้วใช่หรือไม่ เออ คือมันยากแหละ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการยกโคนลิ้นขึ้นมาเนี่ย มันต้องทำยังไงว้า 555555555
สารภาพว่าก่อนหน้านี้เราพยาย๊ามพยายามฝึกการเคลียร์หูแบบนี้ผ่านการดูคลิปต่างๆ ในยูทูปก่อนหน้าที่จะมาเรียนจริงๆ (ก็ต้องกักตัว 14 วันว่างๆ อะเนอะ ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยมาหัดเคลียร์หูไปเรื่อยๆค่ะ) ซึ่งในคลิปเขาก็บอกว่าให้ออกเสียงตัว K (เค่อะ) หรือทำเสียงง.งูแบบขึ้นจมูก หรือเอาปลายลิ้นไปแตะที่ฟันหน้าแล้วค่อยเคลียร์ อะไรไม่รู้งงมาก ยิ่งฟังยิ่งงงหนักกว่าเก่าแต่ก็ยังไม่ละความพยายาม แต่ไม่ว่ายังไง๊ยังไงก็ทำไม่ได้อยู่ดี กระบังลมขยับตลอดเลย แหะ
ซึ่งพอมาเรียนกับครูเบคกี้แล้วก็ถึงบางอ้อ ครูแนะนำเทคนิคและสอนทริคให้เราได้ทดลองเอาไปฝึกทำค่ะ (ถ้าอยากรู้ว่าครูเบคกี้อธิบายยังไงให้เราเข้าใจและทำได้ก็ลองมาเรียนกันได้นะ ฮิฮิ)
Mammalian Diving Reflex
เฮ้ย เรื่องนี้มันว้าวมากจนอยากเอามาเล่าค่ะ คือ มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ใช้ชีวิตเริงร่าอยู่บนบก แต่ร่างกายนั้นมันฉลาด มีกลไกที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราหยุดหายใจและลงไปใต้น้ำ กล่าวคือ พอเราเอาหน้าจุ่มน้ำลงไปปุ๊บ สมองก็จะเฮ้ยๆ อยู่ในน้ำเว้ย ไม่ได้การล่ะ หัวใจจงเต้นช้าลงเดี๋ยวนี้เพื่อให้ร่างกายใช้ออกซิเจนน้อยลง ส่งผลให้สามารถกลั้นหายใจอยู่ใต้น้ำได้
และเมื่อหัวใจเต้นช้าลงปุ๊บ การสูบฉีดเลือดก็ลดลง แปลว่าร่างกายของเราเริ่มตัดการหมุนเวียนเลือดไปที่มือและขาเพื่อเก็บออกซิเจนเอาไว้เลี้ยงส่วนที่สำคัญ คือ สมอง หัวใจ และปอด
ทีนี้พอเราดำดิ่งลงไปลึกขึ้นเรื่อยๆ ปอดของเราจะหดตัวลงเนื่องจากแรงดันน้ำ เลือดที่ร่างกายสงวนไว้ก็จะถูกส่งเข้ามาในปอดมากขึ้นเพื่อให้ปอดทนกับแรงดันน้ำได้ ผลคือออกซิเจนก็จะเฮละโลมากองกันที่ปอด
ส่วนอันนี้คือคูลสุดเพราะตั้งแต่เกิดมาเราก็ไม่ได้ใส่ใจว่าม้ามอยู่ตรงไหน รู้ว่ามีนะและเอาไว้สร้างเม็ดเลือดต่างๆ รู้ว่าถ้าโดนเตะม้ามแตกก็ตายได้ ทีนี้ย้อนกลับมายังร่างกายของเราที่ออกซิเจนน้อยลงเรื่อยๆ ม้ามก็เฮ้ย แย่แล้ว สร้างเม็ดเลือดแดงออกมาดีกว่า ทีนี้พอมีฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้นก็ทำให้ร่างกายสามารถจับออกซิเจนได้มากขึ้น เจ๋งมากกกกกก
เมื่อได้รู้ดังนี้แล้วเราก็มาลองฝึกกลั้นหายใจกันดีกว่าเนอะ
Inhale - Exhale - Relax
เวลาเรากลั้นหายใจไปซักพักแล้วจะเริ่มรู้สึกอึดอัดอยากหายใจ รู้สึกว่าเชี่ย ถ้าไม่หายใจเข้าตอนนี้กูต้องตายแน่ๆเลยจ้า เนี่ย ความรู้สึกแบบนี้เรียกว่า urge to breath ค่ะ เป็นกลไกของที่ร่างกายที่แจ้งเตือนปิ๊บๆๆๆๆ ว่าว่าคาร์บอนไดออกไซด์เยอะเกินไปแล้วโว้ย หายใจเข้าเดี๋ยวนี้นะ จะตายแล้ว อ๊ากกกกกก
แล้วหายใจแบบไหนถึงจะถูกต้องล่ะ?
ครูเบคกี้ให้เราลองนอนแล้วจับเวลาที่กลั้นหายใจดู พบว่าเรากลั้นได้ 45 วินาทีก็ต้องหายใจเฮือกใหญ่เข้าปอดแล้ว อึดอัดมากไม่ไหว ทีนี้ครูให้ลองใหม่ โดยให้ลองหายใจตามนี้
เริ่มจากให้เรานอนนิ่ง หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องยุบ นอนผ่อนคลายคิดถึงดอกไม้กุ๊กกิ๊กไปเรื่อยๆ ห้ามหายใจมากเกินไปหรือที่เรียกว่า Hyperventilation ซึ่งเป็นการหายใจเอาอากาศเข้าปอดไปเยอะๆ การทำแบบนี้ไม่ได้ช่วยให้เรากลั้นหายใจได้นานขึ้นนะคะ แต่มันจะส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดลดต่ำเกินไป จนทำให้ร่างกายปิดระบบแจ้งเตือนว่าออกซิเจนกำลังจะหมดแล้วเด้อ ทำให้เกิดโอกาสที่เราจะหมดสติได้
เมื่อรู้สึกว่าเอาล่ะ ร่างกายผ่อนคลาย จิตใจผ่อนคลายแล้ว ก็ให้หายใจเข้าออกเฮือกใหญ่สามครั้ง พอครั้งสุดท้ายก็ฮึบกลั้นหายใจ
ทีนี้แหละ ร่างกายจะเริ่มแจ้งเตือนว่าเฮ้ย คาร์บอนไดออกไซด์มันลดแล้วนะเว้ย หายใจสิ หายใจเดี๋ยวนี้ โดยเราจะรู้สึกอยากกลืนน้ำลายก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งก็อะ อยากกลืนก็กลืนไป พยายามอย่าไปเพ่งจิตสนใจมันมาก (ตอนนี้เรานึกถึงฉากใน Spider-Man: Into the Spider-Verse ค่ะ ก็เลยร้องเพลง Sunflower ของ Post Malone อยู่ในใจแบบตัวเอกค่ะ)
จากนั้นก็เริ่มรู้สึกร้อนวูบๆ บริเวณหน้าอก ชักเริ่มอึดอัดล่ะ ตามมาด้วยอาการกระบังลมกระตุก คือกระตุกแบบตัวสั่นไปทั้งตัวเลย เป็นความรู้สึกแบบ เชี่ย กูจะตายแล้วอะ พอถึงตอนนี้เราก็แข็งใจกลืนน้ำลายต่อไป ปลอบใจตัวเองว่าฉันมาไกลเกินย้อนไป ไม่เป็นไร ยังไม่ตาย อาการกระตุกสั่นไปทั้งตัวมันก็ทุเลาลงนะคะ จนอาการกระตุกมาอีกรอบเลยอะ พอล่ะ เป่าลมออกจากปากเบาๆ หายใจเข้าลึกและเร็วเป็นการทำ Recovery Breath ค่ะ
สรุปว่ากลั้นหายใจไปทั้งหมด 1 นาที 55 วินาที!
โห สิ่งที่เราเพิ่งทำไปตะกี้นี้มันคือการฝึกฝนจิตใจที่แท้ คือฝึกจิตให้คิดว่าเราเป็นผู้สังเกตร่างกายตัวเอง รับรู้ว่ามีความรู้สึกนี้มากระทบ รัับรู้ว่าร่างกายของเรารู้สึกแบบนี้นะ จากนั้นก็ปล่อยวางว่าไม่เป็นไรนะ ยังไม่ตาย และเป็นการฝึกร่างกายตัวเองให้คุ้นชินว่าเอาล่ะ คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมานะ ไม่เป็นไร เคยชินกับมัน เราไม่ตายหรอก ใจเย็นๆ
เราเคยคิดว่าการดำน้ำสกูบ้าของเราคือการฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง เพราะเสียงเดียวที่ได้ยิน (นอกจากใครซักคนเคาะแท๊งก์) ก็คือเสียงลมหายใจของตัวเองที่เข้าออกเป็นฟองอากาศบุ๋งๆ ซึ่งพอมาเจอการหัดกลั้นหายใจแบบนี้มันเหมือนเหวี่ยงตัวเองออกมาอีกโลกนึงที่เป็น deep meditation แบบกลายๆ สุดมาก ชอบ!
ทั้งนี้ ครูเบคกี้สอนว่าหากเราลงไปดำน้ำจริงๆ แล้วก็ควรพักลอยตัวอยู่บนผิวน้ำนาน 2 เท่าของเวลาที่เราดำน้ำ หรือถ้าลงไปลึกๆ ก็ควรเพิ่มเป็น 3 เท่า เพื่อให้ก๊าซต่างๆ ที่ตกค้างอยู่ในเลือดและอวัยวะต่างๆ ได้ออกมาหมด จะได้ไม่เป็น decompression sickness นั่นเองค่ะ
อะ เรียนทฤษฎีมาพอสมควรแล้ว ไปฝึกกันจริงๆ ในสระว่ายน้ำดีกว่า!
เริ่มแรกคือเราก็มาทำความรู้จักและจูนตัวเองกับอุปกรณ์ก่อน เช่น ฟินฟรีไดฟ์ที่ยาวเหลือเกิน ไม่ค่อยคุ้น หรืออย่างเรื่องคาบ/ถอดท่อ snorkel ที่เราจะใช้เวลาหายใจผ่อนคลายก่อนเริ่มดำน้ำ แต่พอจะลงไปปุ๊บต้องเอาออกฝากบัดดี้ไว้ก่อน เนื่องจากหากเราหมดสติใต้น้ำก็อาจทำให้น้ำไหลเขาปากหรือเป็นอุปสรรค์ต่อการช่วยเหลือได้ค่ะ
จากนั้นก็มาทดลองฝึก Static Apnea กันโดยเอามือจับขอบสระไว้แล้วลอยตัว ผ่อนคลาย ทำตัวเองให้เคยชินกับการหายใจผ่านท่อ และลองกลั้นหายใจแบบเอาหน้าไปจุ่มในน้ำจริงๆ ตรงนี้เราต้องคอยให้สัญญาณกับบัดดี้ว่ายังมีสติอยู่เด้อ เพราะบางคนกลั้นจนหมดสติแล้วจมน้ำไปเลย
ต่อมาก็หัดมุดตัวลงไปในน้ำ หรือ Duck Dive ที่พับตัว เอาหัวดิ่งลงพื้น ซึ่งการทำแบบนี้ช่วยให้ประหยัดแรงในการดำลงไปใต้น้ำค่ะ พอหัดจนรู้ว่าต้องทำยังไงแล้วก็ลองทำ Dynamic Apnea กัน พอให้รู้ว่ากลั้นหายใจไปด้วยแล้วเตะขาไปด้วยจะรู้สึกยังไง จะต้องเอาใจไปโฟกัสที่ไหนบ้าง และเมื่อทดลองปฏิบัติจริงกันซักพักแล้วก็ขนอุปกรณ์ไปลงเรือกันค่ะ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in