กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อถือได้จริงหรือ
.
วันนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ที่คนในเนตชอบเรียกกันว่า บอส ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับคำว่า บอส เลย เพราะคิดว่าเขาไม่ควรจะเป็น บอส แต่ควรเป็นคนที่ทำงานให้กับประชาชน ซึ่งก็เข้าใจว่าคำว่า บอส มีความหมายในเชิง บอสในเกม เหมือนที่เรียกสศจ ว่าเป็นบาโฟ ด้วย แต่ก็ไม่คิดว่ายิ่งใหญ่ขนาดนั้น) ออกมาพูดเรื่องการใช้รูปของเนตไอดอล ทราเวลบล็อกเกอร์คนหนึ่ง โดยโพสท์รูปโป๊ะแตก บนฉากหลังรูปเดียวกันกับที่เนตไอดอลคนนั้น หยิบภาพมาจากในเนต โดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อสื่อสารประเด็นนี้
.
มีคนมากมายเข้าไปถูกใจและแชร์ภาพ เพราะคิดประมาณว่า โอเค บอสออกมาพูดละ อีนั่น (เนตไอดอลคนนั้น) จะต้องตายแน่ๆ ปากดีนักฯลฯ
.
ส่วนตัวคิดว่าการแสดงออกของ 'บอส' นี่ก็มีปัญหาอยู่บ้าง คือเห็นความพยายามที่จะคอนเนคกับประชาชน และใช้ภาษาของคนในเนตเพื่อให้ประเด็นมันเข้าถึงง่ายนะ แต่บางครั้งก็รู้สึกเหมือนเขาใช้อำนาจแบบแปลกๆ ในแบบที่เรายอมรับได้ไม่สนิทใจเท่าไร
.
แต่สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่านั้นคือเรื่องที่บอสใช้รูปที่ผิดลิขสิทธิ์มาเพื่อสื่อสารเรื่องลิขสิทธิ โดยหมายเหตุด้านล่างว่าเป็นรูปที่ใช้เพื่อการศึกษา ไม่ได้ใช้เพื่อการค้า นี่แหละ
.
เขียนถึงตรงนี้ต้องบอกก่อนว่าส่วนตัวก็ไม่ได้เป็น Copyright Fetish ขนาดนั้น และเห็นด้วยกับหลัก Remix Share Fair Use Creative Common Public Domain ทุกสิ่งทุกอย่าง และเห็นปัญหาของระบบลิขสิทธิ์อยู่แล้วว่ามันสืบทอดมาจากระบบ landlord ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม และขัดขวางการพัฒนาเรื่องยา นวัตกรรมฯลฯ
.
แต่สิ่งที่จะพูดก็คือว่าอยากรู้จุดยืนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ด้วย จะได้เข้าใจว่าจุดยืนของกฎหมายอยู่ตรงไหน และอะไรที่ควรสื่อสารต่อไป
.
เมื่อกลับไปดูเรื่อง Fair Use ก็จะพบว่ากรมทรัพย์สินก็พูดเรื่องการถ่ายเอกสารชีตการเรียนการสอนจากหนังสือว่าไม่สามารถถ่ายทั้งเล่มได้ ให้ถ่ายเป็นบทๆ ไม่เกินกี่คำๆ ว่าไป ก็เป็นการสื่อสารจากตัวบทกฎหมายตรงๆ
.
ลิงก์ https://www.facebook.com/ipthailand/photos/a.733856773327689.1073741827.731632196883480/1251397128240315/?type=3&theater
.
ในกรณีนี้ ที่กรมทรัพย์สินนำรูปไอซ์แลนด์ของคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็มีคนไปสอบถามเช่นกันว่า "สอบถามค่ะบอส (ไม่เกี่ยวกะดรามา)
ถ้าออฟฟิศเอารูปจากในเน็ตมาประกอบการให้ความรู้ภายในองค์กร ถือว่าผิดด้วยมั้ยคะส่วนตัวว่าไม่โอ แต่บางส่วนคิดว่าไม่ได้เผยแพร่ public ไม่น่าเป็นไรอะ"
.
ซึ่งกรมทรัพย์สินตอบว่า "เมิด" (หมายถึง ละเมิด ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมไม่ตอบเต็มๆ)
.
แต่เมื่อมีคนมาคอมเมนต์ต่อว่า ถ้าไม่ทำเพื่อหากำไรก็ไม่ผิดเหรอคะ (ที่กรมทรัพย์สินเขียนหมายเหตุไว้) กรมทรัพย์สินกลับบอกว่า "แต่มีข้อยกเว้นไงครับ เพราะฉะนั้นควรขออนุญาตเจ้าของรูปจะดีที่สุด"
.
ข้อยกเว้นที่กรมทรัพย์สินอ้างคือ
.
" ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามมาตรา ๓๒
(๖) ทําซ้ํา ดัดแปลง นําออกแสดง หรือทําให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทําเพื่อหากําไร"
.
ซึ่งเข้าใจว่ากรมทรัพย์สินก็ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของรูปด้วยซ้ำ จึงเกิดข้อตะขิดตะขวงใจว่า อ้าว แล้วมันต่างจากการสอนให้ความรู้ในองค์กรอย่างไร ซึ่งก็มีคนมาตอบเป็นยกเว้นของยกเว้นไปอีกว่า "ก็สอนในองค์กรมันคือการหากำไร" ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับสิ่งนี้เลย เพราะไม่อย่างนั้นจะ define คำว่ากำไรไม่ได้เลย เช่น ถ้าสอน เพื่อสร้างแบรนด์ โดยที่การสอนนั้น (เช่น การทำสื่อการสอนผ่านอินเทอร์เนต) จะทำให้เกิดดอกผลข้างนอก หรือในโพสท์อื่น สามารถทำได้ไหม
.
เลยไปถามกรมทรัพย์สินว่า
.
"สอบถามเป็นความรู้หน่อยครับ (ไม่รู้จริงๆ) ว่า
.
1. สมมติว่าถ้าไม่ใช่การดัดแปลงเพื่อแสวงหากำไร คือสามารถก๊อปมาแล้วดัดแปลงได้หรือครับ
.
2. คำว่า "กระทำเพื่อหากำไร" ยกตัวอย่างเช่น สมมติในภาพนั้น ไม่ได้เป็นภาพโฆษณา แต่เป็นภาพที่ใช้เพื่อสร้างแบรนดิ้ง ว่าตัวเองไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ เพื่อให้ลูกค้ามาซื้อโฆษณา (ในโพสอื่น) ถือเป็นการแสวงหากำไรไหมครับ
.
3. ข้อ 1) กับข้อ 2) คือ ทำซ้ำหรือดัดแปลง คำเชื่อมคือ "และ" ใช่ไหมครับ คือทำซ้ำหรือดัดแปลง และต้องเผยแพร่ด้วย
.
4. คำว่าทำซ้ำรวมถึงการแชร์ไหมครับ?"
.
ข้อแรก คือ ถามในเรื่องของการยกเว้น ว่ายกเว้นให้ตัวเองเท่านั้นหรือเปล่า
ข้อที่สอง คือต้องการถามนิยามของกำไร
ข้อที่สามและสี่ ทำซ้ำหรือดัดแปลง ถ้าพูดว่าแชร์ ไม่ใช่การทำซ้ำ แต่เป็นการเผยแพร่ จะได้รู้ และจะเอามาอ้างในการตีความกฎหมายอื่นๆ เช่น แชร์ลิงก์บางอย่าง ไม่ใช่การทำซ้ำลิงก์นั้น ฯลฯ
.
อ.พิมพลอย อาจารย์จากนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มาตอบไว้เป็นความรู้ว่า
"1. ไม่ได้ค่ะ แต่ถ้าแสวงหากำไรด้วย โทษจะหนักกว่า
2. ไม่ทราบ
3. “ทำซ้ำ” หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (ในที่นี้คือคัดลอกภาพแบคกราวคนอื่นมา) ส่วน “ดัดแปลง” หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม เท่ากับว่าคนคนนั้นทั้ง "ทำซ้ำ" และ "ดัดแปลง" และ "เผยแพร่"
ทีนี้มาดู
มาตรา ๒๗ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๕ (๕) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๑) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(๒) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
4. ทำซ้ำ ไม่ใช่การแชร์ค่ะ การแชร์คือการเผยแพร่ ทำซ้ำดูตามนิยามที่บอกไปในข้อ 3
ปล. เคสนี้ผิด พรบ.ลิขสิทธิ์ ซึ่งหากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่แจ้งความก็น่าจะไม่มีผลอะไรค่ะ
ปล.2 วิเคราะห์เอง ไม่ชัวร์นะ"
ส่วนตัวแล้วอยากเห็นกรมทรัพย์สินออกมาพูดในกรณีที่มันร่วมสมัยขึ้นบ้าง โดยที่จะอ้างจากตัวกฎหมายก็ได้ แต่ต้องไม่ทำตัวกลับไปกลับมาในตัวเอง
.
และที่มากที่สุดคือเราจะไม่เรียกเขาว่าบอส
.
ปล. จนปัจจุบัน กรมทรัพย์สินยังไม่ตอบเรา
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in