มีวิธีคิดเกี่ยวกับดราม่าขี้หมูราขี้หมาแห้งสองสามแบบที่แตกต่างกันบ้าง
1) เพราะเราพูดอะไรที่สำคัญจริงๆ ไม่ได้ เราจึงต้องพึ่งดราม่าขี้หมูราขี้หมาแห้งเพื่อเป็นเครื่องมือ express ความต้องการความยุติธรรม (ซึ่งอาจจะยุติธรรมในแบบที่คิดไปเอง หรือยุติธรรมต่อคนจำนวนมากจริง ก็ได้) คือเชื่อว่าลึกๆ แล้วมนุษย์ต้องการความยุติธรรมด้วยตัวของมนุษย์เอง แต่เมื่อเราหาความยุติธรรมใหญ่ๆ ไม่ได้ เราจึงต้องมาเอากับความยุติธรรมเล็กๆ เป็น small win ทำนองนั้น
2) เพราะเราคิดว่าเรื่องเล็กๆ นั้นสำคัญ เพราะมันเผยให้เห็นวิธีคิดต่อเรื่องใหญ่ๆ เช่น เรื่องกราบรถกูนั้นแสดงให้เห็นถึงวิธีคิดเรื่องชนชั้น เรื่องสังคมรถยนต์ เรื่องศาสนาผี หรือเรื่องตัดต่อรูปแสงเหนือก็แสดงให้เห็นถึงความฝันที่ไม่มีทางไปถึง จึงต้องมาแสดงออกแบบนี้ ฯลฯ ถ้าคิดแบบนี้คือ เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องดราม่าเรื่องเล็ก เพื่อขยับกรอบของสังคมไปทีละเล็กละน้อย เพื่อให้วันหนึ่งเราพูดเรื่องใหญ่ได้จริงๆ เป็นการต่อสู้ด้วยสิ่งที่คล้ายๆ soft power เพื่อไปให้ถึงการเปลี่ยนแปลง
3) ไม่ใช่ทั้งหนึ่งและสอง แต่เป็นคำอธิบายแบบที่ว่าธรรมชาติมนุษย์ต้องการความขัดแย้งและต้องการแสดงออกว่าเหนือกว่าคนอื่นอยู่แล้ว ฉะนั้นดราม่าที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบโจทย์ในข้อ 1) และ 2) เลย แต่เป็นเพียงการตอบสนองความต้องการความรุนแรงของคนล้วนๆ และคนเราก็ต้องการเรื่องดราม่าเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของตนเอง หรือกระทั่งต้องการเสพเรื่องเล่าในมุมมองของพระเจ้า
4) คำอธิบายที่แท้จริงมันก็น่าจะปนๆ กันอยู่ระหว่างสามข้อนี้แหละ
5) นอกนั้นก็เป็นคำอธิบายแบบทฤษฎีสมคบคิด หรือทฤษฎีสื่อ เช่นว่า สื่อต้องการขายข่าวจึงต้องปลุกดราม่าขึ้นมา (ซึ่งก็อธิบายได้ยากหน่อยในยุคที่ทุกคนเป็นสื่อ และสื่อก็ตาม มากกว่าที่จะก่อกระแส) หรือมีคนพยายามสร้างเรื่องดราม่าให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกลบการเปลี่ยนแปลงที่เราควรสนใจจริงๆ ไปเสีย หรือคำอธิบายแบบที่ว่า ก็คนไทย ไทยมุง ฯลฯ ซึ่งไม่น่าจะจริงนะ รู้สึกว่าชาติไหนก็ชอบดราม่าหมดแหละ
ไม่รู้ว่าดราม่าของคนอื่นหมายความว่าอย่างไร แต่ดราม่าในความหมายของเราคือการแสดงออกที่เกินความจริง (เหมือน dramatization มั้ง) ซึ่งผู้แสดงจะไม่รู้สึกว่าตัวเองดราม่า แต่คำว่าดราม่าเป็นคำที่เราใช้ตัดสินการมองเห็นการแสดงออกนั้น คนที่จะบอกว่าคนอื่นกำลังดราม่าในความหมายของเราก็คือการมองดูคนอื่นทำอะไรบางอย่าง และคิดว่ามันล้นเกินความจริง (ที่ควรจะเป็น ในสายตาของผู้มอง)
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in