เมื่อก่อนจะคิดแค่ว่าการกดไลก์ไม่ใช่อาชญากรรม เพราะมันเป็นการบอกว่าเราคิดอะไร แต่เฟซบุ๊กนั้นนำไลก์ของเราไปแสดง (ส่งต่อ เผยแพร่) ให้กับเพื่อนๆ เอง
ดังนั้นต้องแยกแยะระหว่าง incentive ของเรา กับ incentive ของแพลตฟอร์มด้วย ว่าเราอาจกดไลก์ด้วย 'ความเป็นส่วนตัว' แต่เฟซบุ๊กทำให้การกดไลก์นั้นเป็น 'สาธารณะ' ไปเอง ซึ่งเส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะบนอินเทอร์เนต (โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย) นั้นก็พร่าเลือนมากอยู่แล้ว เพราะคุณไม่สามารถขีดเส้นได้ว่าในโปรไฟล์คุณคือพื้นที่ส่วนตัว 100% เพราะทุกสิ่งที่คุณโพสท์มันก็ออกมาสู่ฟีดอยู่ดี (ถึงแม้คุณจะเลือกให้ใครเห็นหรือไม่เห็นได้)
เมื่อก่อนการกดไลก์กับแชร์จะมีผลลัพธ์แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน ในตอนที่เฟซบุ๊กยังไม่เผยแพร่ว่าเราไปไลก์อะไรอย่างเข้มข้นเท่าตอนนี้ แต่ในตอนนี้ ไลก์ กับแชร์นั้นมีผลเกือบเทียบเท่ากันแล้ว ทำให้เกิดคำถามด้วยว่าทำไมเราจึงควรปฏิบัติ (ในทางกฎหมาย) ต่อมันแตกต่างกัน
เรื่องการแชร์ยังมีปัญหาด้วยว่าเรา (ผู้แชร์) ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่อยู่ในลิงก์ได้ เช่น ขณะที่แชร์ กับขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบ เนื้อหาในเว็บอาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้
ผู้แชร์ไม่ใช่ผู้สร้างคอนเทนต์นั้นๆ จึงมีการตีความกันด้วยว่า ควรจะได้รับการปกป้องจากความผิดของคอนเทนต์นั้นหรือไม่
ในประชาไทมีการเขียนถึงเรื่องนี้ว่าศาลสูงแคนาดาตัดสินว่าการแปะลิงก์ไม่ใช่อาชญากรรม โดยอ้างคำตัดสินในคดีที่บล็อกเกอร์คนหนึ่งแชร์ลิงก์ที่กล่าวหาว่าทำให้เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เสียชื่อเสียง
The court said that hyperlinks are references to content that the person posting the link had no involvement in creating, which in the United States insulates people from potential liability.
โดยศาลบอกว่า ""ข้อเท็จจริงที่ว่าการเข้าถึงเนื้อหาเหล่านั้นผ่านไฮเปอร์ลิงก์นั้นรวดเร็วกว่าเชิงอรรถ ไม่ได้เปลี่ยนความจริงที่ว่า ไฮเปอร์ลิงก์โดยตัวมันเองมีความเป็นกลางทางเนื้อหา มันไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ และไม่ได้มีอำนาจควบคุมเหนือเนื้อหาที่มันอ้างถึง" (สำนวนแปลของประชาไท)
ส่วนตัวแล้วค่อนข้างชอบคำอธิบายที่เข้าใจการทำงานของอินเทอร์เนตตรงนี้
"โดยสรุป อินเทอร์เน็ตจะไม่สามารถเอื้อให้เกิดการเข้าถึงข้อมูล โดยปราศจากไฮเปอร์ลิงก์ การจำกัดคุณประโยชน์ของมัน โดยการทำตามกฎของสิ่งพิมพ์แบบดั้งเดิม จะก่อให้เกิดการจำกัดการไหลเวียนของข้อมูลอย่างร้ายแรง ซึ่งจะส่งผลต่อเสรีภาพในการแสดงออกตามมา" คำตัดสินระบุ "ความน่ากลัวที่เป็นไปได้ของการทำหน้าที่ของอินเทอร์เน็ตอาจเป็นเรื่องที่เลวร้ายทีเดียว เนื่องจากผู้เขียนบทความดั้งเดิมคงไม่อยากจะเสี่ยงในการรับผิดในการลิงก์เนื้อหาไปยังอีกบทความหนึ่ง ซึ่งเขาไม่อาจควบคุมเนื้อหาที่สามารถเปลี่ยนไปมาได้"
แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ คือการทำซ้ำข้อความหมิ่นประมาทนั้นถึงแม้เป็นเพียง 'การแชร์' แต่ก็ถือเป็นการทำซ้ำคำหมิ่นประมาทหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ศาลมีความเห็นแบบนี้
"การเผยแพร่ข้อความหมิ่นประมาทผ่านไฮเปอร์ลิงก์ควรมีการลงความเห็นว่า ข้อความที่ระบุไปที่ลิงก์ดังกล่าวเลือกใช้หรือเห็นด้วยกับเนื้อหาที่ลิงก์ไปหรือไม่ ถ้าข้อความแสดงถึงความเห็นด้วยกับข้อความที่ลิงก์ไป เมื่อนั้น ผู้ที่แปะลิงก์ควรต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาหมิ่นประมาทนั้น"
แสดงว่า การจะตัดสินว่าผิดหรือไม่ ตามคำพิจารณานั้นต้องดูว่า incentive ของการแชร์นั้นคืออะไร ซึ่งในที่นี้ ดูจากข้อความที่ประกอบการแชร์
อย่าลืมว่าการแชร์นั้นมีหลายวัตถุประสงค์ บางคนแชร์เพราะอยาก 'เผยแพร่' บางคนแชร์เพราะอยาก 'ทดไว้' บางคนแชร์เพราะ 'อยากด่าต้นทาง' และบางคนก็แชร์เพราะแค่อ่านเจอ คำตัดสินที่ดีจึงควรรวมเอาความหลากหลายของการใช้งานเหล่านี้เข้าไปพิจารณาด้วย
อ้างอิงจาก > http://prachatai.com/journal/2011/10/37612
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in