เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Vantage PointTeepagorn W.
On Satire Paradox
  • เมื่อเช้าฟัง Revisionist History, Podcast ของ Malcolm Gladwell ตอนที่ 10 แล้ว น่าสนใจมาก เลยมาบันทึกไว้สั้นๆ ก่อนจะลืม
    .

    ตอนที่ 10 นี้เขาพูดถึง The Satire Paradox หรือ "ปฏิทรรศน์แห่งตลกเสียดสี" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก แกลดเวลล์ยกตัวอย่างรายการ Satire ที่โดดเด่นอย่าง Colbert Report หรือกระทั่ง Saturday Night Live (อันหลังนี้เราว่าไม่ Satire เท่าไร) แล้วตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจมากว่า คนที่ดู Colbert Report นั้นจะรู้สึกว่า Colbert "พูดเข้าข้างพวกเขา" ไม่ว่าคนดูจะเป็นฝั่ง Liberal หรือ Conservative
    .

    ที่เป็นแบบนี้เพราะตลกแบบ Satire มันทำงานหลายชั้น นั่นคือหากเป็นตลกแบบตรงไปตรงมา หรือแม้กระทั่งการพูดแบบตรงไปตรงมา คนเราจะสามารถ oppose ความคิดบางแบบได้ตรงๆ เลย ในขณะที่ตลกแบบ Satire มักจะแสร้งทำเป็นว่าเราอยู่ฝั่งเดียวกันกับความคิดที่เราไม่ชอบ (เช่น เป็น Liberal แต่อยากเสียดสีพวก Conservative จึงเล่นเป็น Conservative ที่เกินเลยไปแบบมากๆ เพื่อให้มันตลก) ซึ่งการ "แสร้งเล่นเป็นฝั่งเดียวกัน" นี้ ทำให้คนดูแต่ละฝ่ายอ่านเกมออกมาได้ต่างกัน
    .

    นั่นคือ Liberal ก็จะมองว่า Colbert เสียดสี Conservative
    แต่ Conservative ที่ไม่ฉลาดนัก ก็อาจจะคิดว่า Colbert พูดแบบนั้นจริงๆ
    ส่วน ​Conservative ที่ฉลาดมากก็จะมองข้ามช็อตจาก Liberal ไปอีก นั่นคือมองว่า Colbert เล่นตลกเสียดสี Liberal ที่มักเสียดสี Conservative ด้วยการทำให้เกินจริง
    .

    แกลดเวลล์ค่อนข้างชื่นชม Colbert ที่พาตัวเองมาอยู่ในจุดนี้ได้ แต่เขาก็บอกว่า ทุกครั้งที่เขาได้ไปเป็นแขกในรายการนี้เขาจะรู้สึกไม่สบายใจเอาเสียเลย เพราะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นคนเล่นตลก หรือเป็นตัวตลกกันแน่
    .

    นอกจากนั้นใน Podcast ตอนนี้แกลดเวลล์ยังพูดถึงความมีประสิทธิภาพของการใช้ตลกเสียดสีเพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง โดยเขาวิจารณ์ตลกเสียดสีในอเมริกันว่าไม่ค่อยจะพาประเด็นไปไหนเท่าไหร่ เหตุผลหนึ่งคือเพราะต่างฝ่ายต่างตีความเข้าข้างตัวเองอย่างที่บอกไปแล้ว ส่วนอีกเหตุผลคือเพราะตลกเสียดสีนั้นเน้นความ "ตลก" เกินไป จนไม่ทำให้คนฉุกคิด แกลดเวลล์ยกตัวอย่างการแสดง (impersonation) เป็นซาร่าห์ เพลิน ของทีน่า เฟย์ ว่าตอนนั้น ทีน่า เฟย์ ก็มัวแต่ทำให้ตลกเกินไป ไปจับประเด็นตรงสำเนียงพูด หรือเฉพาะเปลือกนอกของซาร่าห์ เพลิน เช่นการเป็นผู้หญิงโหด ฆ่าสัตว์ ฯลฯ ทำให้สารที่สื่อออกมาไม่มีความมีสาระอะไรจริงจัง (เช่น ไม่มีเรื่องนโยบาย) แกลดเวลล์วิจารณ์เรื่องนี้โดยใช้คำว่า Toothless หรือ "ไม่มีเขี้ยวเล็บอะไร"
    .

    เขาเทียบกับการเสียดสีโดยรายการตลกในอิสราเอลที่เสียดสีข่าวความไม่สงบในบ้านเมืองด้วยวิธีที่ร้ายกาจกว่ามาก เช่น ใช้เด็กมาบอกว่า ชาติต่างๆ ไม่มีสิทธิอบรมอิสราเอลเพราะว่าชาติอื่นๆ ก็ไม่ดีกว่าอิสราเอลสักเท่าไรหรอก แล้วให้เด็กๆ พูดว่าชาติอื่นเลวอย่างไรบ้างออกมา ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นสารเพื่อโปรอิสราเอล แต่เป็นสารเพื่อให้เห็นว่า การโปรอิสราเอลเกินไปนั้นเป็นอย่างไร
    .

    แกลดเวลล์สรุปว่า การจะเล่นตลกเสียดสีให้ถึงคนดูได้ หรือพอจะขยับอะไรได้บ้างนั้นต้องใช้ Courage หรือความกล้าได้กล้าเสียในการเล่น และที่สำคัญคือต้องอย่าลืมว่าตัวเองเล่นตลกเพื่ออะไร เล่นเพื่อให้ตลกเฉยๆ หรือเล่นเพื่อขับเคลื่อนอะไร
    .

    อันที่จริงตัวเราเองไม่เห็นด้วยกับแกลดเวลล์เรื่องการยก Saturday Night Live ขึ้นมาว่าเป็น Satire นัก เพราะว่าเราไม่คิดว่า Saturday Night Live เป็น Satire (เราคิดว่า Saturday Night Live คือสามช่า) แต่ส่วนที่ยกข้อมูลเกี่ยวกับ Colbert ขึ้นมานั้นก็น่าสนใจมากๆ ในเรื่องการตีความต่างชั้น (layer) กัน
    .

    หาฟัง Revisionist History ได้ใน iTunes ซีซั่นนี้มี 10 ตอน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in