เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Vantage PointTeepagorn W.
On คะ ค่ะ
  • การใช้ คะ ค่ะ ถูก ผิด ดูเป็นปัญหาในโซเชียลเนตเวิร์กไทยมาโดยตลอด 



    เมื่อก่อนเรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาที่ matter มาก นั่นคือเมื่อก่อนจะรู้สึกว่าการใช้ คะ ค่ะ ให้ถูก นั้นสื่อถึงความฉลาด ชนชั้นของผู้พูด ฯลฯ อย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่มีคนจำนวนมากไปตัดสินคนที่ใช้ คะ ค่ะ ผิด ว่าโง่ หรือเป็นคนที่ไม่ได้รับการศึกษามาดีพอในตอนนี้ แต่ตอนนี้เราไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นแล้ว คือรู้สึกว่าคะ ค่ะ มันก็คงบอกอะไรบางอย่างได้ แต่ไม่ทั้งหมด เลยพยายามไปหาข้อมูลมาเพื่อเติมเต็มความเข้าใจของตัวเอง

    จริงๆ แล้วปัญหานี้ค่อนข้างจะซับซ้อนและเทียบเคียงกับภาษาอังกฤษได้ยากอยู่เหมือนกัน ในการศึกษาของฝรั่ง เขาจะตีแยก grammar กับ spelling ออกจากกันไปเลย เพราะเขาคิดว่าการสะกดคำนั้นใช้ทักษะการจำเป็นหลัก ส่วน grammar นั้นต้องอาศัยความเข้าใจด้วย

    แต่กับไทยแล้ว การใช้ คะ ค่ะ ถูกหรือผิดดูจะเป็นปัญหาเรื่องการจำพอๆ กับความเข้าใจ เพราะว่าเมื่อพูดถึงเรื่องนี้เรามักจะอ้างถึงหลักอักษรสูงต่ำในภาษาไทยว่า ค ควาย เป็นอักษรต่ำคำตาย ดังนั้นจะผันได้แค่ คะ ค่ะ อะไรทำนองนี้ ซึ่งคนที่เข้าใจก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องจำ แต่คนที่ไม่เข้าใจก็จะต้องใช้การจำมาทดแทนเอา

    เราเองรู้สึกว่าเป็นเรื่องของการจำ มากกว่าความเข้าใจ แต่คนอาจจะไม่รู้สึกแบบนี้ทั้งหมด แต่คำว่า คะ ค่ะ มันดูถ้าจะเทียบกับภาษาอังกฤษ จะเทียบกับการผิดในคำคู่ your, you're (ซึ่งผิดทางแกรมม่าร์) มากกว่าที่จะหมายถึงการสะกดคำยากๆ อย่าง bureaucracy ผิด

    ทีนี้เลยพยายามไปหาลิงก์ระหว่าง
    1. การสะกดคำ กับความฉลาด (speling and intelligence) กับ
    2. แกรมม่าร์ กับ ความฉลาด

    ก็ไปพบงานหลายชิ้น แต่จะเก่าหน่อย

    - ของปี 1915 บอกว่าการสะกดคำนั้น "ดูจะสัมพัทธ์" กับความฉลาดเฉลียว (https://www.jstor.org/stable/pdf/994410.pdf) แต่จากเท่าที่อ่านเขาก็ไม่ได้สรุปให้แน่ชัดลงไปเพราะมีการทดลองในบางชั้นเรียนที่ความสัมพัทธ์นี้มันต่ำมาก

    - มีที่ใหม่ขึ้นมาหน่อยบอกว่าการสะกดคำนั้นมีความสัมพัทธ์กับความฉลาดมากกว่าผลการทดสอบอย่างอื่นๆ (ดูกราฟ) แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่าเป็นการทดลองที่ไม่ definitive มาก​ (ตามลิงก์ https://www.quora.com/Is-impeccable-spelling-correlated-with-high-intelligence) ในลิงก์ยังยกตัวอย่างค้านอื่นๆ เช่น รู้จักศาสตราจารย์ที่เก่งมากแต่สะกดผิดตลอด หรือปัญหาเรื่องคนเป็น dyslexia (ซึ่งไม่ได้มีผลต่อ IQ ตามที่เขาบอก) ขึ้นมาด้วย



    -ใน Quora ยังมีคนบอกว่า คนที่ฉลาดและมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่า ก็ "สามารถ" ที่จะแยกแยะคำง่ายๆ เช่น there กับ their ได้ด้วยการคิดวิเคราะห์ แต่ส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องกันว่าการสะกดผิดไม่ได้เป็นตัวบอกความฉลาดอะไร

    - ส่วนเรื่องแกรมม่าร์นั้นไปดู Video ของ TED ED ก็พบประเด็นคล้ายๆ ที่เคยเห็นแล้ว คือ

    -> แกรมม่าร์นั้นถูกกำหนดขึ้นมาเมื่อมีภาษาเขียนเพื่อให้การสื่อสารกระจายได้ในวงกว้างมากขึ้น การกำหนดขึ้นนี้ทำโดยผู้มีอำนาจเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกัน ในภาษาพูด แกรมม่าร์จะลื่นไหลกว่าภาษาเขียน

    -> การมองแกรมม่าร์นั้นมีสองลักษณะใหญ่ๆ คือมองอย่าง Prescriptivism คือคิดว่าภาษาต้องมีหลักการแน่นอนคงตัว กับมองแบบ Descriptivism คือมองว่าภาษามีไว้สื่อสาร (ดูภาพ) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน จริงๆ แล้วการทักท้วงเรื่องคะ / ค่ะ ก็น่าจะเป็นการต่อสู้ต่อรองของวิธีการมองสองแบบนี้



    ส่วนตัวรู้สึกว่าภาษาเป็นสนามรบที่แบบที่แข็งแรงกว่า มีคนนิยมมากกว่าจะชนะ ตอนนี้สมมติว่ากำลังต่อสู้เรื่องคะ ค่ะ กัน อาวุธของ "ฝ่ายที่คะค่ะต้องเขียนให้ถูก" ก็คือการ (บอกว่า) คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และความเหนือกว่าในเชิงสถาบัน (มีอะไรมารองรับ) ส่วนอาวุธของ "ฝ่ายที่คะค่ะไม่ต้องเขียนถูกก็ได้" ก็คือความไม่แคร์ ก็จะใช้แบบนี้ก็รู้เรื่อง จะทำไม และจำนวนคนที่ (อาจจะ) มากกว่า (ไม่มีสถิติ ทำไมไม่มีคนทำสถิติเรื่องนี้ล่ะ)

    โซเชียลเนตเวิร์กคือพื้นที่ของภาษาพูดที่ถูกทำให้เป็นภาษาเขียน มันมีลักษณะเฉพาะตัวที่อยู่ระหว่างทางการกับไม่ทางการ ดังนั้นการจะบอกว่าต้อง 'ทางการ' และต้อง 'ถูกต้อง' ทั้งหมดนั้นเป็นเป้าหมายที่เป็นไม่ได้จริง

    จริงๆ แล้ว การตัดสินคนว่า​ "พูดคะค่ะผิดแปลว่าโง่ไม่ต้องไปฟังมัน" คือตัดสินจากการสะกดเพียงอย่างเดียว โดยไม่ดูตัวแปรอื่นๆ ก็อาจบอกอะไรเกี่ยวกับความสามารถในการใช้ตรรกะของคนที่ตัดสินได้เหมือนกัน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in