เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Vantage PointTeepagorn W.
On South Park
  • ไล่ดู South Park ซีซั่นก่อนๆ (16-17-18) เพราะประทับใจซีซั่นล่าสุดที่พูดเรื่อง Politically Correct ได้ตรงใจมาก

    เมื่อสักสองสัปดาห์ที่แล้ว มีโอกาสได้ดูสารคดี South Park ชื่อ 6 Days to Air เป็นสารคดีช่อง Comedy Central ที่ก็อธิบายวิธีการทำงานของทีม South Park นี่แหละ คำว่า 6 Days to Air ก็ตรงตามชื่อ คือมีเวลาทำงานแค่ 6 วันต่อตอนเท่านั้น ก่อนจะฉาย (เพราะทำสัปดาห์ต่อสัปดาห์) ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานการ์ตูนที่ต่างจากซิมป์สันส์ หรือแฟมิลี่กายมาก (อาจเป็นเพราะ South Park ต้องเกาะกระแสสังคมมากกว่าด้วย)

    ใครที่เคยดู South Park (มีคนไม่เคยดูด้วยเหรอ) คงรู้ว่ามุขตลกใน South Park มันเข้าข่าย obscene คือบางครั้งก็อุบาทว์จนหลายคนรับไม่ได้ เช่น ตอนหนึ่งพูดถึงจิ๋มของโอปราห์ วินฟรีย์ ว่าคงหงุดหงิดที่เจ้านายทำงาน จนไม่ได้มีเวลามาใส่ใจจิ๋มของตัวเอง เลยกบฎแล้วจับโอปราห์เป็นตัวประกัน หรือบางตอนก็พูดถึงการที่ครูสาวมีเซ็กซ์กับเด็กอนุบาล และมีแม้กระทั่งตอนที่พูดถึงการแสดงภาพมูฮัมหมัด (ซึ่งทำไม่ได้ในศาสนาอิสลาม) ซึ่งถ้ามองในมุมมองแบบเข้มงวดที่สุดแล้ว เรื่องพวกนี้ควรจะถูกประนามไปเลย แต่ผู้สร้างก็บอกว่า พอ South Park มันเซตตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งที่แรงมาตั้งแต่แรก คนก็ค่อยๆ เริ่มคลายสายตาที่เข้มงวดลง แทนที่จะบอกว่า "That's offensive." ก็แค่บอกว่า "That's South Park" ซึ่งไม่มีใครใส่ใจอะไรจริงจัง ถึงแน่นอนว่าจะมีบางคนที่ยังพยายามฟ้องร้อง South Park อยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้มีกรณีไหนสำเร็จเป็นพิเศษ

    ความแรงและความตรงของ South Park ทำให้เราสามารถเห็นการวิจารณ์ประเด็นสังคมที่ลึกขึ้นได้ในหลายครั้ง เพราะคนพูดไม่กลัวว่าจะไม่ Politically correct เขาก็พูดแบบที่คิดออกมาเลย (ผ่านตัวการ์ตูน) ทำให้ไม่ต้องเสียเวลากับถ้อยคำที่อ้อมไปอ้อมมา ซึ่งในกรณีนี้ก็คล้ายกับ Standup Comedy เหมือนกันที่บนเวทีเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อนุญาตให้คุณ 'ล้ำเส้น' ได้มากกว่าในสังคมทั่วไป เช่น บนเวทีคุณอาจจะพูดถึงเรื่องเด็กทารกตายได้ โดยที่ไม่มีใครรู้สึกว่ารุนแรง (เพราะทุกครั้งจ่ายเพื่อมาดูคุณ และอยู่ในโหมดที่พร้อมเปิดรับ)

    ใช่แหละ - บางครั้งความแรงมันก็ถูกใช้เพื่อความแรงเท่านั้น เพื่อให้คนหันมาดู โดยไม่ได้มีอะไรที่ลึกกว่านั้น แต่หลายครั้งมันก็ตัดผ่าเปลือกให้เห็นความจริงอย่างไม่เกรงใจใครจริงๆ

    พื้นที่ตรงนี้น่าสนใจ มันเหมือนเป็น Safe Space ในอีกความหมาย คือเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถพูดอะไรตรงๆ ออกมาได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าอีกฝ่ายจะหาว่าคุณเหยียด ซึ่งต่างจาก Safe Space ที่เกิดขึ้นในแคมปัสในอเมริกาทั่วประเทศตอนนี้ ที่เป็นอีกขั้ว คือพยายามจะเป็น "พื้นที่สะอาด" ที่ปราศจากการเหยียด และถูกขับเคลื่อนไปสู่จุดสุดขั้วทางหนึ่ง เช่น ห้ามผู้ชายเข้าร่วมสนทนาในแวดวงเฟมินิสต์ ซึ่งพอขับเคลื่อนไปถึงจุดนี้ก็จะเห็นว่ามันเป็นการเหยียดอีกชั้นที่ซับซ้อน และรังแต่จะปกคลุมความจริงไว้ด้วยมารยาทและอีโก้เท่านั้น

    หลังๆ มีโอกาสได้คุยเรื่อง Standup Comedy ในไทยกับเพื่อนหลายๆ คน ว่าทำไมมันไม่รุ่งเรือง นอกจากแบบ Mainstream แบบพี่โน้ส อุดม แล้วก็แทบจะนึกชื่อใครไม่ออกอีกเลย (จตุพล ชมพูนิช, น้าเน้ก?) ก็อาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันก็ได้ ว่าสังคมเราเป็นสังคมที่มีมารยาทมาก (นอกจากในอินเทอร์เนต) และก็ค่อนข้างตื่นตัวกับเรื่อง Political Correct (ในคลื่นลูกแรก แต่ยังไม่ aware ว่าการตื่นตัวนี้มันก็ไปเหยียดอีกชั้นนึง) จึงทำให้ตลกอยู่ในจุดที่ขยับตัวยาก เพราะไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความเห็นออกมาตรงๆ ทำให้ 'สังเกต' อะไรไป ก็ 'บิด' ยาก

    นอกจากเราไม่มีเสรีภาพในการพูดในเชิงกฎหมาย (เท่าไหร่) แล้ว เลยคิดว่า เรายังไม่ค่อยมีเสรีภาพในการพูด ในเชิงวัฒนธรรมด้วย

    และนอกจากความกล้าหาญเชิงศีลธรรม แล้วเรายังต้องถามหาความกล้าหาญในการตั้งคำถามกับศีลธรรมด้วย

    (ภาพประกอบ - จิ๋มโอปราห์จับตัวประกัน)


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in