วันนี้มีข่าวว่ากองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. บอกว่าการปล่อยห้องชุดเช่ารายวัน รวมทั้งทำ AirBNB นั้นผิดกฎหมายพ.ร.บ. ควบคุมอาคาร และพ.ร.บ. ควบคุมโรงแรม ซึ่งก็เหมือนกับตอน GrabBike และ UberMOTO นั่นแหละ คือบริการ StartUp เหล่านี้ก็หลบหลีกกฎหมายเข้ามาทำธุรกิจ "ไปก่อน" โดยที่ยังไม่ได้ตกลงกับอำนาจที่คุมอยู่ให้เรียบร้อย
นึกถึงตอนที่ไปสัมภาษณ์คนทำ AirBNB เจ้าใหญ่คนหนึ่งในไทย ซึ่งก็เหมือนกับคนที่ทำ AirBNB ส่วนใหญ่ นั่นคือไม่ได้ "ใช้ห้องเหลือๆ ในบ้านมาให้พักเป็น AirBNB" แต่ทำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คือมีการซื้ออพาร์ตเมนต์ทิ้งไว้หลายๆ ห้อง แล้วเปิดให้เช่ากันอย่างเป็นธุรกิจเลย เธอรู้ว่าเธอทำผิดกฎหมาย ผิดกฎนิติบุคคล และก็กลัวด้วย จึงให้รายการถ่ายเฉพาะตรงที่เป็นบ้านเธอเท่านั้น
ทั้งนี้ไม่เคยคิดเลยว่ากฎหมายนั้นนิ่งสถิต แน่นอนว่ากฎหมายบางข้อก็มีไว้เพื่อดูแลความสงบสุขและมีเหตุและผลอยู่ในปัจจุบันจริงๆ (เช่นบางข้อก็มีไว้เพื่อให้มีมาตรการดูแลทรัพย์สินส่วนรวม เช่นว่า ถ้าปล่อยให้ AirBNB กันมั่วโดยไม่มีการทำระเบียนผู้พักก็อาจเกิดการลักขโมย ใครเข้าใครออกไม่รู้ตัวได้) แต่บางข้อก็ต้องถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัยได้ สิ่งที่เคยเป็นจริงและดีในช่วงเวลาหนึ่ง ไม่ได้ดีและเป็นจริงตลอดไปเสมอไป
ก็เหมือนที่เปลี่ยนๆ กฎหมายกันเรื่อยเปื่อยตอนนี้นั่นแหละ คนออกกฎหมายก็รู้ดีอยู่แล้วว่ากฎหมายมันไม่ได้นิ่ง ไม่ได้สถิต การบอกว่าอะไรจะเปลี่ยน อะไรจะสถิตไว้ อย่างเลือกปฏิบัติ ก็เป็นการบอกอยู่แล้วว่าคนออกกฎหมายให้ความสำคัญกับอะไร อะไรที่คงอำนาจของตัวเองไว้ก็ไม่เปลี่ยน ส่วนอะไรที่จะมาล้มอำนาจตัวเองได้ก็เปลี่ยน ก็เท่านั้นเอง ใช่ไหม?
หมายเหตุ
เคยมีข่าวหนึ่งรายงานว่าผู้ลง AirBNB กับ ผู้ขับ UBER นั้นแตกต่างกัน นั่นคือคนที่ลง AirBNB ส่วนใหญ่จะเป็นนายทุนที่มีเงินเหลือมากๆ อยู่แล้วและซื้อห้องไว้เพื่อลงทุน ส่วนคนขับ UBER นั้นเป็นคนที่ใช้เวลาเหลือๆ มาเพื่อ make ends meet คือหารายได้จุนเจือจริงๆ
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in