อนาคตของการเขียน
ผมเคยเขียนถึงเรื่องการใช้อัลกอริธึมเพื่อการเขียนงานต่างๆ ไปบ้าง (ข่าวที่ใช้ข้อมูล เช่นหุ้น หรือข่าวกีฬา, เพลง) แต่นั่นเป็นการเขียนโดยใช้อัลกอริธึมเพียงอย่างเดียว ถ้าใครจำได้ เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่านิยายที่เขียนด้วย AI เตรียมเข้าชิงรางวัลทางด้านการเขียน "เป็นงานเขียนที่อ่านรู้เรื่องเหลือเชื่อ ไม่น่าเชื่อว่าเขียนด้วยปัญญาประดิษฐ์" แต่เมื่ออ่านละเอียดลงไปในข่าว หลายคนก็คงได้ทราบแล้วว่ามันเป็นการเขียน "ร่วม" ระหว่างเจ้าของโปรแกรม กับตัวโปรแกรม (มีการ preconfigure บางอย่างที่มากไปกว่าแค่ให้ข้อมูลเฉยๆ)
Textio เป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยพัฒนางานเขียนเช่นเดียวกัน แต่เป็นงานเขียนประเภทที่จำกัดหน่อย นั่นคืองานเขียนประกาศรับสมัครงาน โดยอินเทอร์เฟซของ Textio จะไม่ต่างจากโปรแกรมเขียนอย่างเช่น Pages หรือ Google Docs แต่ว่าที่พิเศษคือเมื่อผู้ประกาศรับสมัครงานใน Textio พิมพ์ไปเรื่อยๆ ตัวโปรแกรมจะไฮไลต์บางคำเพื่อให้เปลี่ยน หรือบางคำ เพื่อชมว่าใช้แบบนี้ดีอยู่แล้ว ด้วยการวัดผลทางสถิติด้วย (เขาเรียกว่าเป็น "เครื่องมือทำนาย" หรือ predictive engine)
เช่นถ้าต้องการรับสมัครงานแล้วเขียนว่า
We love to hire people with a passion for learning
โปรแกรมจะไฮไลต์คำว่า Love แล้วบอกว่า "คำนี้จะทำให้ได้ผู้สมัครที่ดีขึ้น"
และ "Passion for learning" แล้วบอกว่า "จะทำให้ได้ผู้สมัครหญิงมากขึ้น"
หรือ
We are focused on always pushing the envelope
โปรแกรมจะไฮไลต์คำว่า focused on แล้วบอกว่า "จะมีผู้สมัครมากขึ้นถ้าคุณใช้คำที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว อย่าง passionate about"
ปัจจุบัน Textio ยังจำกัดอยู่ในแวดวงการเขียนเพื่อประกาศรับสมัครงานเท่านั้น แต่ก็มองเห็นได้ไม่ยากว่าการพัฒนานี้เพื่องานเขียนแขนงอื่นๆ กำลังจะมาในอนาคต เช่น งานเขียนฮาวทู สุนทรพจน์ โฆษณา (ที่มีงานวิจัยบอกได้ว่า คำไหนจะทำให้น่าเชื่อถือ หรือมีคนทำตามมากกว่า) และสุดท้ายอาจไปสู่งานเขียน 'แนวสร้างสรรค์' เช่น นิยายหรือเรื่องสั้นในที่สุด (เมื่อโปรแกรมสามารถ 'หาสูตร' ของนิยายหรือเรื่องสั้นได้ เช่น รู้ว่าพล็อตแบบนี้ควรให้พระเอกพูดแบบนี้มากกว่า - นี่ไม่ไกลความจริงเท่าไรนะครับ)
แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว งานเขียนก็อาจถูกดัดแปลงให้เป็นงานขายที่ต้องใช้ข้อมูลเข้ามารอง และเราก็อาจมีงานเขียนแบบมาตรฐานแบบหนึ่ง ที่เข้าถึงจิตใจคน, ใช้ได้ผล, functional แต่ก็อาจไม่สร้างสรรค์เลย เหมือนกับที่ในปัจจุบัน สตูดิโอต่างๆ ของฮอลลีวู้ดก็ใช้สูตรคำนวณอารมณ์เข้ามาเพื่อช่วยในการตัดต่อโครงสร้างของหนัง การเลือกซีนต่างๆ ช็อตต่างๆ เพื่อให้หนังนั้น 'effective' หรือมีประสิทธิผลที่สุดนั่นแล
https://textio.com
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in