เมื่อวานผมนำรูปประยุทธกับท่านผู้นำของเกาหลีเหนือมาวางเทียบกัน (โดยไม่ได้มีข้อความล้อเลียนใดๆ) แต่ที่บ้านเกิดความไม่สบายใจ รวมถึงน้องที่พาไปเกาหลีเหนือก็เกิดความไม่สบายใจด้วย ผมจึงลบ พร้อมกับขอโทษทุกฝ่ายบนพื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง
วันนี้ มีเพื่อนหลายคนแสดงความเป็นห่วง ให้กำลังใจ และมีเพื่อนสองสามคนที่บอกว่าตนก็เคยประสบปัญหาเดียวกันเช่นกัน นั่นคือ ถึงแม้จะไม่ได้มีความคิดเห็นทางด้านการเมืองขัดแย้งกับที่บ้าน (ซึ่งไม่ได้แปลว่าเห็นตรงกัน แต่แปลว่าอาจจะเห็นต่าง แต่ไม่ได้มีปัญหาซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นสถานการณ์อุดมคติ) แต่เมื่อเพื่อนแสดงออกทางการเมือง อาจจะไม่ได้ถึงขั้นเรียกระดมพลอะไร อาจแค่ไปลงชื่อในการรณรงค์บางฉบับ หรืออาจแซว วิจารณ์ วิพากษ์ บนพื้นที่ที่ดูจะเป็นส่วนตัว แต่ก็เป็นสาธารณะเหลือเกินอย่างเฟซบุ๊กนี้ ก็เกิดปัญหาขึ้นมา
ปัญหาที่ว่าเป็นปัญหาจากความกลัว แต่เป็นความกลัวที่เกิดจากความรัก พ่อแม่ย่อมรักลูก (และรักในสถานะของครอบครัวที่จะไม่แตกสลาย) นั่นเป็นคุณค่าที่ไม่อาจหยามเหยียดได้ ในขณะที่ลูกอาจจัดลำดับให้การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพสำคัญที่สุด และเรื่องความมั่นคงส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ต่อคนรอบๆ เป็นเรื่องรองลงมา (หรืออาจประเมินความกลัวของพ่อแม่หรือคนที่ยึดโยงกับตัวเองต่ำเกินไป) การจัดลำดับความสำคัญหรือประเมินความกลัวที่แตกต่างกันนี้ ย่อมทำให้เกิดผลลัพธ์เป็นการกระทำที่แตกต่างกัน
เมื่อลูกอัพข้อความหรือรูปภาพอะไรครั้งหนึ่งๆ ด้วยการประเมินว่า "เพียงเท่านี้คงไม่เป็นไร" ด้วยมั่นใจว่าสภาพและสถานะทางสังคมของตนเอง น่าจะอยู่ในจุดที่ไม่เสี่ยง แต่พ่อแม่ประเมินแตกต่าง คิดว่าการกระทำนั้นเป็นเรื่องเสี่ยง ก็มักเกิดความขัดแย้งในระดับย่อยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อพ่อแม่ให้ลบสิ่งที่ตนประเมินว่าเสี่ยง (หรือใครก็ตามให้ลบ) ลูกอาจเกิดความไม่พอใจ เพราะการให้ลบนั้นไม่ได้แสดงถึงเพียงการปฏิเสธต่อสภาพทางการเมืองหรือความคิดเห็นของลูก แต่อาจยังแสดงถึงการปฏิบัติความสามารถทางการประเมินสถานการณ์ของลูกด้วย
ปัญหานี้แสดงให้เห็นว่ากลยุทธการใช้ความกลัวเพื่อปกครองนั้นได้ผล การบุกจับที่ไม่มีหลักการแน่นอนนั้นทำให้เกิดความกลัวที่เพิ่มพูนขึ้น หากมี "ขอบเขต" ที่ชัดเจน ทุกคนจะประเมินสถานการณ์ได้ตรงกันมากขึ้น แต่เมื่อไร้ซึ่งขอบเขตที่ชัดเจนนี้แล้ว ทุกคนก็จะประเมินสถานการณ์ตามใจตน หรือตามข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งก็มักเหวี่ยงไปทางที่ "ประเมินให้ร้ายไว้ก่อน" หรือ "ปลอดภัยไว้ก่อน" เสมอๆ ซึ่งก็เป็นผลดีต่อการปกครองอีก เพราะจะได้พลเมืองที่เซื่อง และไม่กล้าหืออือในที่แจ้ง
หลังจากเกิดเหตุพิพาทพวกนี้ ครั้งต่อไปที่ลูกจะแสดงความคิดเห็นอะไร นอกจากลูกจะต้องประเมินความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย หรือความเสี่ยงที่จะถูกจับ/ดำเนินคดีฯลฯ แล้ว ลูกยังจะต้องประเมินความเสี่ยงที่จะไปทำให้คนที่ลูกรักไม่พอใจด้วย (ซึ่งไม่ใช่ไม่พอใจในข้อความที่ลูกแสดงความเห็น แต่ไม่พอใจในกิริยาที่ลูกแสดงความเห็น) นั่นคือลูกต้องประเมินความเสี่ยงมากกว่าเดิมถึงสองชั้น ซึ่งกระบวนการตรวจสอบกันเองและตรวจสอบตัวเองแบบนี้ คงไม่นำสังคมไปสู่อะไร นอกจากนำไปสู่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้: ความเงียบงัน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in