เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
Vantage PointTeepagorn W.
On Unknown Unknowns
  • โดนัลด์ รัมสเฟลด์ แบ่งความรู้ออกเป็นสามส่วน คือสิ่งที่เรารู้ว่าเรารู้ (Known Knowns) สิ่งที่เรารู้ว่าเราไม่รู้ (Known Unknowns) และสุดท้าย สิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ (Unknown Unknowns) ด้วยความเป็นคนชอบอะไรที่แข็งทื่อ การแบ่งความรู้ (หรือความไม่รู้!) ออกเป็นสามภาคแบบนี้จึงประทับใจผมตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็น มันถูกใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้มากมาย ตั้งแต่การคาดเดาที่พลาดพลั้ง ความไม่ระมัดระวัง ไม่รัดกุม จนอาจเกิดเหตุพินาศต่างๆ

    ความรู้สองส่วนแรก คือสิ่งที่เรารู้ว่าเรารู้ และสิ่งที่เรารู้ว่าเราไม่รู้ นั้นไม่ค่อยมีอานุภาพในการทำลายอะไรลงไปหรอก แต่เป็นความรู้ส่วนสุดท้ายคือ สิ่งที่เราไม่รู้ ว่าเราไม่รู้ นั้นเอง ที่มักเป็นภัยซ่อนเร้น เพราะเมื่อเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ เราก็ไม่คิดจะระแวงระวัง เมื่อเราไม่รู้ว่าเราไม่รู้เราก็มักเดิมดุ่มเสี่ยงเข้าไปในความมืด และไม่ใช่การเดินด้วยความถี่ถ้วน แต่เป็นการเดินแบบน้ำเต็มแก้ว ที่อาจคิดว่าเรารู้ไปเสียหมดทุกสิ่งสิ้น หรือเรารู้ว่าบางสิ่งเราไม่รู้ แต่ก็ไม่ระวังต่อสิ่งที่เหลือเลย

    สิ่งที่เรารู้ว่าเรารู้มีประโยชน์ในการหยิบจับไปใช้ได้ สิ่งที่เรารู้ว่าเราไม่รู้ก็มีประโยชน์ในฐานะเครื่องคอยเตือนใจให้เราไปแสวงหาความรู้มาเติมให้เต็ม แต่การตระหนักถึงความใหญ่โตราวกับยักษ์ของสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้นั้นอาจช่วยให้เราเจียมเนื้อเจียมตัว จ้องมองสิ่งต่างๆ ด้วยความสงสัย สายตาแบบนี้อาจช่วยให้เราแปลงสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเราไม่รู้ มาเป็นสิ่งที่เรารู้ว่าเราไม่รู้ และสุดท้าย กลายเป็นสิ่งที่เรารู้ว่าเรารู้ ได้ในที่สุด

    ขอคิดต่อจากเรื่อง Unknown Unknown อีกนิด, เมื่อไม่นานมานี้เริ่มต้นอ่านหนังสือ (ที่ไม่เข้ากับสมองของฉันเลย) ชื่อ The Existentialist Cafe แปลตรงตัวคือคาเฟ่ของเหล่านักคิดกระแสเอ็กซซิสเทนเชียลลิสท์ ที่ซื้อมาอ่านก็เพราะว่าอยากเข้าใจว่าไอ้ความเป็น Exsitentialist เนี่ยมันยังไง คือรู้ว่าซาร์ทหรือเคียร์เคอร์กอร์ (Kierkegaard) เนี่ย เป็นแนวนี้ แต่ไม่เคยเข้าใจ (ซึ่งอ่านไปอ่านมาก็ยังไม่ได้มีคำจำกัดความที่เป็นแบบเป็นแผนให้เข้าใจได้ง่ายเท่าไหร่อยู่ดี) - แต่เอาล่ะ นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะพูด

    เรื่องที่จะพูดก็คือ โดยปกติแล้วเมื่อพิจารณาโลกและความจริงแท้ไปเรื่อยๆ (ซึ่งที่เขียนไปนี่ก็รู้สึกว่าตัวเองกระแดะไปนะ - แต่จะเขียน) เราจะไปตันที่คำถามที่ว่า ความจริงคือความจริงหรือ ทุกทีไป คือความจริงที่เราเห็นมันเป็นเพียงความรับรู้ของเราหรือเปล่า (Is reality perception?) ซึ่งมันไปพันพัวกับคำถามประหลาดๆ ประเภท ถ้าต้นไม้ล้มในป่าจะมีเสียงไหม (หมายถึงว่า ถ้าต้นไม้ล้ม, โดยที่ไม่มีผู้สังเกตการณ์, การขาดซึ่งผู้สังเกตการณ์ จะทำให้เสียงของต้นไม้นั้นเปรียบเสมือนไม่มีไหม - เออ นั่นแหละ) จนไปถึงการตั้งคำถามแบบ The Matrix (Is reality constructed?) ต่างๆ

    ทีนี้ในหนังสือ Existentialist Cafe เนี่ย มันก็บอกว่า กระแส Existentialist (หรืออัตถิภาวนิยม ซึ่งแปลแล้วไม่ได้ดีขึ้นเนี่ยนะ) มันมีรากบางๆ มาจากอีกกระแสคิดนึงที่ชื่อว่า Phenomenology หรือ ปรากฎการณ์นิยม ซึ่งการเกิดขึ้นของกระแสคิดนี้มันน่าสนใจตรงที่ว่า Husserl คนคิดทฤษฎีนี้ เกิดรำคาญไอ้คำถามอย่างที่เราว่าๆ มาแหละ คือจะตั้งคำถามกับความจริงไปทำไมหนักหนา (เพราะเป็นไปได้ว่า ตั้งไป ก็ไม่รู้คำตอบอยู่ดี) เขาเลยจะตัดตอน แล้วจะตั้งคำถามเพราะสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าเท่านั้น นั่นคือ ตรงไหนไม่รู้ เกินเลยไป ก็จะทอนออก เป็นการทำให้คำถามที่เคยเป็นปัจเจกนั้นมีสภาวะเป็นปรวิสัยขึ้น ซึ่งก็ทำให้ชีวิตง่าย และการตั้งคำถามนั้นดู "เกี่ยวข้อง" และ "นำไปสู่ทางออก" ขึ้นมาก

    (อันนี้เป็นคำอธิบายจากในหนังสือ ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดหรือถูกทำให้ง่ายจนทอนความถูกต้องไปอย่างไรเหมือนกัน)

    ปัญหาก็คือ เมื่อเราเคยได้เห็นและตั้งคำถามกับความเป็นจริงแล้ว เราจะสามารถแยกตัวเองออกจากคำถามเหล่านั้นได้จริงหรือ? อาจได้ในบางขณะ แต่ในห้วงยามที่เรามืดมนหรือเต็มไปด้วยความเงียบนั้น จะแน่ใจได้อย่างไรว่าคำถามเหล่านี้จะไม่ผุดขึ้นมาเหนือน้ำ? อาจเป็นความเสี่ยงนี้เองที่แม้ Phenomenology จะมีประโยชน์ (ในนิยามอันต่ำต้อยที่สุดที่เราเข้าใจ) แต่มันก็เป็นประโยชน์ที่เราต้องมอบความไว้วางใจให้มันเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน
Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in