เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง SUPER JUNIOR K.R.Y. - When We Were Us
  • 14 ปีที่รอคอย...


    บทเพลงไตเติ้ลจากมินิอัลบั้มแรกของ K.R.Y. ยูนิตบัลลาดแห่งวงในตำนานอย่าง Super Junior เพลงนี้เป็นอีกหนึ่งเพลงบัลลาดที่มีกลิ่นอายและคาแรคเตอร์ของวงเคอาร์วายอย่างชัดเจน แม้ว่าเพลงบัลลาดแท้ ๆ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีการใช้องค์ประกอบที่เยอะมาก การเดินคอร์ดเองก็จะค่อนข้างมาตรฐาน แต่เพลงนี้กลับมีหลายสิ่งที่น่าสนใจแตกต่างไปจากเพลงทั่ว ๆ ไป ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่าให้กับทุกท่านได้ลองอ่านและไปรู้จักกับบทเพลงนี้มากขึ้นกัน



    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)

    Composed by 4 Beontaja
    Arranged by D.G & 4 Beontaja

    B Major - 68 BPM


    • Intro ของเพลงนี้ขึ้นต้นมาด้วยเสียงของเปียโนในช่วงเสียงที่ต่ำ ทุ้ม ที่ค่อย ๆ ไล่เสียงขึ้นมายังช่วงเสียงกลาง โดยมีเสียงเครื่องสายที่ก็เล่นในช่วงเสียงต่ำเช่นกันคอยซัพพอร์ต ก่อนที่ช่วงครึ่งหลังของ Intro นาทีที่ 0:13 แนวทำนองจะถูกส่งผ่านไปยังเครื่องสายที่ไล่โน้ตขึ้นไปถึงช่วงเสียงสูง กลายมาเป็นแนวดนตรีที่มีความสำคัญมากขึ้น ส่วนเปียโนก็กลายไปเป็น *Countermelody ที่คอยสอดประสานแทน เป็นการเริ่มต้นเพลงที่เหมือนกับการดึงเอาความรู้สึก อารมณ์ และความทรงจำที่อยู่ลึกภายในใจค่อย ๆ เปิดเผยมันออกมา

    *Countermelody - ทำนองรอง
    • นอกจากนี้ยังมีเสียงของเครื่องดนตรีอื่น ๆ เพิ่มตามเข้ามาอีก ตั้งแต่เสียงฉาบที่รัวเข้ามาตอน 0:13 พร้อมกับเสียงเบส *Glissandro ขึ้นสูง ก่อนที่จะค่อย ๆ ไล่ระดับลงมาทีละครึ่งเสียงเรื่อย ๆ เป็นสเต็ป แล้วยังมีกีตาร์โปร่งที่มาช่วยเพิ่มสีสันให้กับเพลงอีก 

    *Glissandro - เทคนิครูดสายเพื่อให้เกิดเสียงสไลด์ขึ้นลง

    แน่นอนว่าสิ่งที่มักอยู่คู่กับเพลงบัลลาดเสมอก็คือ 'เปียโน' นั่นเอง ยังนึกไม่ออกว่ามีเพลงบัลลาดจ๋า ๆ เพลงไหนที่ไม่ได้ใช้เปียโนบ้าง เนื่องจากเพลงสไตล์บัลลาดเน้นการชูเสียงร้องและเสียงประสานหรือ Harmony เป็นหลัก นั่นทำให้เกิดข้อจำกัดในการเลือกใช้เครื่องดนตรี เปียโนจึงเป็นคำตอบที่สมบูรณ์แบบในแง่ของการสร้างคอร์ดที่ครบสมบูรณ์ในตัวของมันเอง, ความเป็น Acoustic และ Classic, การสร้างคาแรคเตอร์ของเสียง timbre ที่หลากหลายจาก *Articulation แบบต่าง ๆ รวมไปถึงการที่เป็นเครื่องดนตรีที่มี Range ช่วงเสียงกว้างมาก สามารถนำเสนอสร้างเสียงดนตรีได้หลากหลายรูปแบบมาก ข้อจำกัดก็น้อยกว่าเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ อีกเช่นกัน

    *Articulation - การควบคุมลักษณะเสียงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ความสั้นยาวของโน้ต, การกระแทกเสียงหนักเบา เป็นต้น

    • เพลงนี้แม้จะอยู่ในคีย์ B Major ที่มีลักษณะโดดเด่นคือความสดใส สื่อถึงอารมณ์ที่มีความสุข แต่คนฟังกลับรู้สึกว่ามันมีความเศร้าปะปนมาค่อนข้างมาก เนื่องจากการใช้คอร์ดที่เป็น Minor ซึ่งมีความดาร์ค ความมืดมน เศร้าสร้อยมาสลับตลอดทั้งเพลง เช่น ตอนเริ่มต้นเพลงที่เริ่มมาด้วยคอร์ด B Major แต่พอนาทีที่ 0:02 ก็กลับกลายไปเล่นคอร์ด E Minor แล้วพอนาทีที่ 0:04 ก็วนกลับมาที่ B Major อีกครั้งนึง ตัวเพลงจะมีการสลับคอร์ดไปมาแบบนี้ค่อนข้างเยอะ เหมือนกับการรำลึกถึงเรื่องราวที่ทั้งสุขและเศร้า สิ่งดี ๆ ที่เคยเกิดขึ้น หากแต่ก็เป็นได้เพียงแค่ความทรงจำในอดีตเท่านั้น





    • เข้าสู่ท่อน Verse แรก เครื่องดนตรีต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ก็หายไปหมด เหลือไว้เพียงแนวเปียโนที่มีลักษณะการเดินโน้ตคล้ายกับช่วงต้นเพลง แต่ไม่หนาเท่า ไม่ได้มีการใส่โน้ตเสียงต่ำเพื่อเป็นเบสที่หนักแน่น ทำให้กลายเป็นเสียงที่เบาบาง ฟังสบาย แนวร้องเองก็สามารถร้องได้อย่างสบาย ๆ โดยที่ไม่ต้องเค้น เหมือนกับเป็นการเริ่มต้นเกริ่นนำเรื่องราวในอดีต ความรู้สึกนึกคิดที่ยังไม่ได้ถลำลึกมากจนเกินไป

    • คอร์ดในช่วงนี้ยังคงเหมือนกับ Intro ที่เป็นการสลับสีสันระหว่าง Major-Minor ไปมา จนกระทั่งนาทีที่ 0:39 มีการใช้คอร์ด D# Major ซึ่งไม่ได้อยู่ในคีย์ B Major คีย์หลักของเพลงนี้! น่าสนใจมาก มันเป็นคอร์ดที่ถูกยืมมาใช้อีกทีนึง (Borrowed Chord) เรียกว่า Secondary Chord (V/vi) หรือในกรณีนี้ซึ่งเป็นคอร์ด III ของคีย์หลักก็อาจจะเรียกว่าเป็นคอร์ดที่เรียกว่า Chromatic Mediant ด้วยเช่นกัน... ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไรนะคะ มันเป็นทฤษฎีดนตรีจ๋าเกิน 5555 เอาเป็นว่ามันไม่ใช่คอร์ดที่มามั่ว ๆ

    • ซึ่งคอร์ดประเภทนี้หลายคนฟังแล้วอาจรู้สึกว่ามันไม่ belong to เพลงนี้ซักเท่าไหร่ แต่ในขณะเดียวกัน พอฟังไปซักพักนึงก็รู้สึกว่ามันไม่ได้แปลกประหลาดอะไร กลับเพราะด้วยซ้ำ ที่จริงคอร์ดแบบนี้มักถูกใช้บ่อยเพื่อการสร้างอารมณ์ที่แตกต่าง เพิ่มสีสันที่น่าสนใจให้กับเพลง รวมไปถึงการนำมาใช้เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนคีย์ ซึ่งในเพลงนี้ก็เหมือนกับจะมีการสลับเปลี่ยนคีย์ระหว่าง Major และ Minor ไปมาอยู่ตลอดเวลาเลย

    • แล้วคอร์ด D# Major ตอนนาทีที่ 0:39 นี้ยังน่าสนใจมากตรงที่ช่วงก่อนหน้านี้เปียโนจะเล่นอยู่ในช่วง Octave ที่ 3 ของบนเปียโนแล้วไล่ขึ้นสูงไปซะเป็นส่วนใหญ่ แต่พอมาถึงคอร์ดนี้โน้ตแรกกลับกระโดดลงไปต่ำถึง D#2 ซึ่งนอกจากตัวคอร์ดจะสร้างสีสันที่แตกต่างแล้ว การเล่นในช่วงเสียงที่ต่ำขนาดนี้มันเหมือนกับการดำดิ่งลงไปถึงห้วงอารมณ์ภายใน ขุดเอาความรู้สึกที่ถูกซ่อนเก็บไว้มานานแสนนานออกมา มันลึกซึ้งและกินใจมาก

    • ตั้งแต่นาทีที่ 0:43 ครึ่งหลังของ Verse 1 เสียงกีตาร์โปร่งก็กลับมาอีกครั้งนึง และมันน่าประทับใจมากที่เพลงนำเสนอความเป็นธรรมชาติของเครื่องดนตรีออกมาอย่างเต็มที่ ผู้ฟังสามารถได้ยินเสียงของมือที่รูดสายเมื่อเปลี่ยนคอร์ดได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงเนื้อเสียงแหลมเล็กและโปร่งใสฟังสบายแบบที่กีตาร์ประเภทนี้เท่านั้นจะสามารถผลิตออกมาได้ เสียงกีตาร์จึงไม่ได้รบกวนแนวเปียโนที่ปรับไปเล่นคอร์ดหน้าขึ้นหรือทำนองหลักเลยเช่นกัน จนช่วงท้ายของท่อนนี้นาทีที่ 0:55 ก็มีเสียงกีตาร์ไฟฟ้าแทรกขึ้นมาตามมาด้วยเสียง Percussion ส่งเข้าไปสู่ท่อนถัดไป




    • Verse 2 มีความเปลี่ยนแปลงทางดนตรีเยอะมากจนน่าแปลกใจ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่เพลงมักจะเริ่มจากเครื่องดนตรีจำนวนน้อย Volume ที่เบา แล้วยิ่งเพลงผ่านไปก็จะค่อย ๆ เพิ่มองค์ประกอบต่าง ๆ ตามมาเพื่อ build ไปจนถึงจุดไคลแมกซ์สุด แต่ใน Verse นี้กลับมีการเพิ่มเครื่องดนตรีเข้ามาเยอะมากตู้มเดียวเลย จากที่มีแค่เปียโนกับกีตาร์โปร่ง ก็มีการเพิ่มเครื่องกระทบ Percussion มาทำให้เพลงมีจังหวะเคลื่อนที่ไปข้างหน้ามาขึ้น แล้วไหนจะเครื่องสายลากคอร์ดที่เพิ่มความหนาของ Harmony เสียงประสานในเพลง และที่โดดเด่นขึ้นมาเลยก็คือกีตาร์และเบสไฟฟ้า จากการนำเสนอความเป็น Acoustic เสียงดนตรีที่ไม่ต้องผ่านเครื่องผลิตเสียงล้วน ตอนนี้ไม่ใช่อีกแล้วนะ มีเครื่องดนตรีที่ต้องผ่านเครื่องขยายเสียงเพิ่มเข้ามา แต่ก็ไม่ได้ขัดอารมณ์อย่างไรเลย

    • และอีกเสียงที่เพิ่มเข้ามาก็คือเสียงร้องคอรัส ในช่วงนาทีที่ 1:05 ที่เป็นการร้องแทรกเป็น Countermelody สลับกับกีตาร์ไฟฟ้า และกลับมาอีกทีในนาทีที่ 1:18 ที่ประสานเสียงเพิ่มความไพเราะให้กับแนวทำนองหลัก ก็เรียกได้ว่าเป็นท่อนที่ดนตรีแน่นมาก แต่ไม่ได้รู้สึกว่าดนตรีมันมากเกินจนรบกวนแนวร้องเลย เนื่องจากมีการจัดสรรแบ่งความสำคัญที่พอดี ทั้งเปียโนที่ปรับไปกดคอร์ดไม่ได้เดินโน้ตไล่เหมือนช่วงก่อนหน้า เครื่องสายก็ลากคอร์ดเช่นกัน ส่วนเครื่องที่เหลือก็เป็นเพียงแค่แนวที่แทรกขึ้นมาเป็นพัก ๆ สลับกันไป ดนตรีจึงกลายเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้แนวร้องโดดเด่นขึ้นมา และช่วยสร้างอารมณ์ที่ emotional มากขึ้นให้กับผู้ฟัง

    • เพลงนี้ไม่มี Pre-Chorus แยกออกมาอย่างชัดเจน แต่ใช้วิธีปรับช่วงท้ายของ Verse 2 ให้ไม่เหมือนกับ Verse แรก ทั้งแนวร้องที่ไล่สูงขึ้น การเพิ่ม Volume และความหนาของดนตรี รวมไปถึงการใช้คอร์ดที่แตกต่างเพื่อไว้สำหรับส่งไปหาท่อนฮุคแทนการเพิ่มท่อน Pre-Chorus ที่แตกต่างจากช่วง Verse 1 มากเกินเข้ามาแทนและไม่ให้เพลงยาวเกินความจำเป็นหากต้องเพิ่มอีกทั้งท่อน


    ...푸르게 빛나던 우리의 계절...



    • มาถึงท่อน Chorus หรือฮุคหลักของเพลงที่แม้องค์ประกอบต่าง ๆ ในเพลงจะยังคงเหมือนเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยนความสำคัญของแต่ละเครื่องดนตรีเพื่อสร้างสีสันและเสียงรูปแบบใหม่ โดยกลุ่ม Strings กลายมาเป็นมีบทบาทที่สำคัญมากที่สุดในช่วงนี้ ในขณะที่เสียงเปียโนก็ถูกลดระดับลงไปเล่นคอร์ดเบา ๆ แทน มีเพียงบางทีที่มีเสียงแทรกเด่นขึ้นมาบ้าง และเสียง Percussion เองก็ถูกบรรเลงอย่างหนักแน่นขึ้นด้วย

    • คอร์ดในท่อนฮุคนี้จะแตกต่างจากช่วง Verse ที่ผ่านมาออกไปเล็กน้อย ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือห้องแรกของฮุค จากที่ก่อนหน้านี้จะมีการสลับคอร์ด Major-Minor แต่ฮุคนี้กลับยึดอยู่ที่คอร์ด Major เป็นหลัก ยาวไป 3 ห้องตั้งแต่ 1:25-1:35 เลย พอบวกกับเสียงของเครื่องสายในช่วงเสียงสูงนั่นทำให้เพลงมีความสว่างสดใสมากขึ้น หลังจากนั้นครึ่งหลังของฮุคคอร์ดต่าง ๆ ก็จะกลับมาสลับกันอีกครั้ง ตรงกับเนื้อเพลงที่มีทั้งเสียงหัวเราะและน้ำตาในความทรงจำที่ตัวฉันนั้นมองกลับไป

    • การใช้คอร์ด vi หรือ G# Minor ตอนนาทีที่ 1:45 ไปพร้อมกับการกระโดดเสียงร้องไปสูงถึง B4 แบบเต็มเสียง แล้วยังมีเสียง Perucssion ที่ใส่ Groove เพิ่มเป็นพิเศษตรงช่วงนี้พอดีอีก กลายเป็นท่อนพีคที่เหมือนเป็นการตะโกนบอกความรู้สึกที่ต้องการจะกอดเธอเอาไว้ให้แน่นที่สุด แต่ก็เป็นการตอกย้ำตัวเองเช่นกันว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว..

    • หลังจากท่อนฮุคเข้าสู่ท่อน Instru (หรือจะเรียกว่า Post-Chorus ก็ได้) เสียงดนตรีถูกดรอปลงมาเพื่อปรับเปลี่ยนอารมณ์คนฟัง แน่นอนว่าเสียงเปียโนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักยังคงอยู่ โดยเล่นในช่วงที่เสียงสูง มีเสียงกีตาร์ไฟฟ้าที่เล่นในลักษณะเสียงแบบ *Harmonic เล่นแทรกขึ้นมา ซึ่งเสียงฮาร์โมนิกมีคุณสมบัติเสียงที่แหลม ใส กังวาล และนอกจากนี้ยังมีเสียงจาก Wind chimes กรุ๊งกริ๊ง ๆ อีกด้วย เสียงต่าง ๆ เหล่านี้สร้างให้เกิดความรู้สึกราวกับอยู่ในความฝัน สื่อถึงความรู้สึกที่ยังคงล่องลอยและค้างอยู่ข้างในใจไม่เคยไปไหน

    *Harmonic - ฮาร์โมนิก Harmonic ของคลื่นเสียง คือความถี่ย่อยของความถี่มูลฐาน f อธิบายง่าย ๆ โดยยกตัวอย่างเช่น ถ้าความถี่ f = 25 Hz คือฮาร์โมนิกที่ 1 ดังนั้นความถี่ฮาร์โมนิกที่ 2 คือ 50 Hz(2f) ความถี่ฮาร์โมนิกที่ 3 คือ 75 Hz(3f)
    แหล่งกำเนิดเสียงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติส่วนใหญ่แล้วจะมีความถี่ฮาร์โมนิกเป็นส่วนประกอบ ตัวอย่างเช่นเสียงพูดของมนุษย์ และเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ การดีดสายกีตาร์สายเดียวก็ทำให้เกิดความถี่ฮาร์โมนิคขึ้นมากมาย
    ขอบคุณข้อมูลจาก Accuvasys Audio
    ตัวอย่างเสียง Wind Chimes



    • นาทีที่ 0:56 เสียงเบสถูกนำเสนอออกมาอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนอารมณ์ผู้ฟัง ตามมาด้วยเสียงกีตาร์โปร่ง กีตาร์ไฟฟ้า และกลุ่มเครื่องสายที่เข้ามามีบทบาทโดดเด่นอีกครั้ง ดึงให้ตื่นจากฝัน เรื่องราวต่าง ๆ กลับสู่ความเป็นจริงอีกครั้งนึง ก่อนที่กลองชุดจะกลับมาส่งเข้าสู่ท่อน Verse ถัดไป

    • Verse 3 มีองค์ประกอบของดนตรีเหมือนกับตอน Verse 2 แต่ก็เป็นอีกครั้งที่หลายเครื่องถูกปรับเปลี่ยน เช่น กลุ่มเครื่องสายมีความโดดเด่นมากขึ้น มีช่วงที่เป็น Countermelody กับทำนองร้องหลัก, มีเสียงคอรัสประสานที่เบามาก ๆ คอยแทรกมาตลอด, เสียงกีตาร์ไฟฟ้าไม่ได้โดดเด่นมากเท่าช่วงก่อนหน้า แต่เสียงกีตาร์โปร่งกลับถูกชูขึ้นมามากกว่า ให้เสียงที่แหลมเล็กและคมชัด

    • ก่อนที่เสียงต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ เพิ่มความหนาขึ้นเพื่อส่งไปยังท่อนฮุค กลายเป็นเหลือแค่ 1 Verse ที่เป็นเหมือน Pre-Chorus ไปในตัวแทนในรอบนี้.. โดยช่วงท้ายของท่อนนี้มีความเปลี่ยนแปลงอื่นที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน นอกจากแนวร้องที่โน้ตลากจบจะสูงขึ้นจากตัว C# กลายไปเป็น F# แล้วนั้น เมื่อรอบแรกนาทีที่ 1:24 แนวเครื่องสายเล่นไล่โน้ตขึ้นแค่เพียง 5 ตัวในจังหวะช้า ๆ เท่านั้น แต่ในรอบนี้นาทีที่ 2:35 เครื่องสายกลับไล่สเกลขึ้นไปเร็วมาก เป็นการส่งที่หนักแน่นและยิ่งใหญ่ขึ้นมาก

    • นาทีที่ 2:31 น่าสนใจมากเลย หากย้อนกลับไปใน Verse 2 ซึ่งเป็นท่อน Parallel กันนั้น นาทีที่ 1:20 จะเป็นการใช้คอร์ด E Major แต่พอรอบ Verse 3 คอร์ดนี้กลับเปลี่ยนไปเป็นคอร์ด A Major แทน! ซึ่งมันสร้างความรู้สึกที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจนมาก สามารถฉุดอารมณ์คนฟังให้รู้สึกได้ถึงความรู้สึกที่โดดเดี่ยวและความต้องการปราถนาอันแรงกล้าของเพลงได้อย่างเต็มที่




    • เข้าสู่ท่อนฮุครอบที่สอง สิ่งที่ได้ยินชัดเจนมาก่อนใครเพื่อนเลยก็คือเสียงของกลุ่มเครื่องสายที่แม้จะเริ่มต้นมาด้วยการเดินโน้ตแบบช่วงฮุคก่อนหน้า แต่ก็ถูกขยับชึ้นไปเล่นสูงขึ้น 1 Octave ทำให้เสียงที่ออกมามีความเด่นชัดและแหลมสูงมากขึ้น หลังจากนั้นก็มีการเล่นที่หลากหลาย มีโน้ตไล่มากกว่าก่อนหน้า รวมไปถึงแนวเปียโนที่ก็หนาและถูกชูขึ้นมาให้ได้ยินมากขึ้น ตามมาตรฐานของการแต่งเพลงที่ในแต่ละรอบจะค่อย ๆ เพิ่มความหนาของดนตรีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อ build อารมณ์คนฟัง

    • ท่อน Bridge ถูกส่งมาแบบที่ดนตรีไม่มีดรอปลงเลยจากช่วงฮุค และแปลกมากที่ฮุคถูกลดให้สั้นลงเหลือเพียงแค่ 7 ห้องจากปกติ 8 ห้องที่สมมาตรเป็นพอดี ฟังครั้งแรกคืองงมาก ๆ แล้วอยู่ดี ๆ ก็มาเข้า Bridge ตั้งแต่นาทีที่ 3:01 ยาวไปจนถึงนาทีที่ 3:18 ทำให้ Bridge นี้มีความยาว 5 ห้องแทน (ที่จริง Chorus ควรจะมี 4 ห้อง จบนาทีที่ 3:04 จากนั้นจึงค่อยเป็น Bridge) ถือเป็นเรื่องที่แปลกมากที่จำนวนห้องของแต่ละท่อนเป็นเลขคี่ แถมไม่ใช่การเพิ่มห้องเพื่อดึงอารมณ์นะ แต่เป็นการลดจำนวนลงเพื่อเปลี่ยนสี เปลี่ยนอารมณ์ของเพลงแบบกะทันหัน ให้คนฟังไม่ทันได้ตั้งตัวเลย

    • เป็นอีกครั้งที่ Borrowed Chord ถูกนำมาใช้ คอร์ด G Major ในนาทีที่ 3:01 คอร์ดที่เปลี่ยนอารมณ์คนฟังจากท่อนฮุคเข้าสู่ท่อน Bridge เพื่อจะสื่ออารมณ์ที่แตกต่างออกไป แม้ดนตรีจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ด้วย Harmony ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน รวมไปถึงแนวร้องที่ไล่ระดับไปสูงมาก และยังมีไลน์ที่สอดแทรกสลับกันไปมา ประสานเสียง Adlib ต่าง ๆ มันทำให้ท่อนนี้อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก สื่อถึงความต้องการที่ย้อนกลับไปยังอดีตอย่างแรงกล้า ถ้าหากว่าเราได้พบกันอีกครั้งฉันจะทำให้มันดีกว่านี้อย่างแน่นอน



    • บทเพลงถูก build up มาอย่างเต็มที่ ดนตรีที่เต็มแน่น และอารมณ์ที่ล้นทะลักจนถึงขีดสุดถูกปลดปล่อยลงเมื่อเข้าสู่ท่อน Chorus สุดท้าย เมื่อเครื่องดนตรีทั้งหลายต่างหายไป กลับสู่ความสงบอีกครั้งที่เหลือไว้เพียงเสียงเปียโนคล้ายกับช่วง Instru ก่อนหน้านี้ และเสียงของไวโอลินที่ลากโน้ตตัว F#6 ไว้เบา ๆ เสียงร้องเองก็มีการลด Volume กับความเข้มข้นของเสียงลงให้เข้ากับดนตรีที่ถูกลดความแข็งแรงลงเช่นกันเพื่อสื่อถึงความอ่อนแอ เหนื่อยล้าแม้กับแค่การหายใจ แต่หลังจากนั้นก็กลับมาหนักแน่นตามเนื้อเพลงที่พูดถึงเธอผู้นั้นที่ต่อลมหายใจของฉัน ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

    • แนวร้องจากที่เริ่มมาแบบเบา ๆ เหมือนคนอ่อนกำลังไร้เรี่ยวแรง ค่อย ๆ เพิ่มความหนักแน่นลงไป เสียงของเครื่องสายที่ลากโน้ตมาตั้งแต่แรกเองก็มีการ *Crescendo ขึ้นอย่างช้า ๆ จนดังสุดก่อนที่จะไล่สเกลในช่วงเสียงที่กว้างมาก ๆ จากตัว C#5 ไล่ **Chromatic Scale ลงไปถึงตัว G#3 โดยที่ไล่เร็วมากเป็นตัวโน้ตขเบ็ต 3 ชั้น (8 โน้ตใน 1 จังหวะ) จนฟังแล้วแทบจะเหมือนกับการ Glissando เลยด้วยซ้ำ แล้วยังมีเสียงกลองชุดที่ส่งมาอย่างเต็มที่จนดนตรีกลับเข้ามาดังและหนักแน่นเหมือนเดิม หลังจากนั้นเครื่องสายก็ไล่โน้ตกลับขึ้นไปสูงเช่นกัน

    *Crescendo - เสียงดังขึ้น
    **Chromatic Scale - บันไดเสียงโครมาติกที่ไล่ระดับโน้ตห่างกันทีละครึ่งเสียง

    • ท่อนนี้แน่นอนว่าดนตรีจัดเต็มแล้วเนื่องจากนี่คือรอบไฟนอลแล้วจริง ๆ รวมไปถึง Adlib อีกมากมายที่สอดประสานสร้างสีสันที่สวยงามเหมือนกับภาพวาดที่ถูกตกแต่งเพิ่มเติมจนสมบูรณ์แบบ เป็นการกู่ร้องครั้งสุดท้าย ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ในใจมานานแสนนานออกมาทั้งหมด

    • ตอนนาทีที่ 3:39 แอบน่าเสียดายมากในความคิดเห็นของผู้เขียนที่หลังจากมีแอดลิบมาตลอดทั้งช่วงนี้ ก็คาดหวังว่าตรงนี้เองก็จะมีการร้องเริ่มจากโน้ตตัวเดียวกันแล้วแยกแนวออกเป็นเสียงประสานเพราะ ๆ แต่ในต้นฉบับกลับกลายเป็นการร้องของนักร้องสองคนพร้อมกันในโน้ตตัวเดียวกันตลอดทั้งประโยค และค่อยเปลี่ยนเป็นไปมีแนวประสานตอนที่ร้องว่า 그리움 แค่นั้น 


    แต่ในเวอร์ชั่นการแสดงสดเวทีสุดท้ายได้มีการเปลี่ยนโน้ตในแนวร้องของรยออุคให้กลายเป็นแนวประสานแทน แม้ว่าจะเต็มไปด้วยโน้ตที่ทำให้เกิดคอร์ดหลากหลายมากที่อยู่นอกเหนือจากคอร์ด C# Minor (C# E G#) ในช่วงตรงนี้ จนอาจจะมีบางช่วงที่ผู้ฟังรู้สึกว่ามันแปร่ง ๆ นิดหน่อย เนื่องจากโน้ตที่สองแนวร้องประสานกันทำให้เกิดคอร์ดที่ตีกับตัวดนตรีหลัก แต่ก็ไม่ได้แปลกประหลาดมากเกินไป ถือเป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับเพลงนี้ได้เยอะมากเลยทีเดียว

    คยูฮยอน   D#  C#  E    D#  F#  E    D#  F#  F#
    รยออุค      F#   E    G#  F#  B   G#  F#   B   A#


    ตัวอย่าง นาทีที่ 3:39


    • เข้าสู่ Outro ที่มีเสียง Wind Chimes กลับมาอีกครั้ง เสียงเปียโนที่เล่นโน้ตอยู่สองตัววนไปมาเหมือนกับการย้ำความคิด การวนเวียนอยู่กับที่เดิมไม่ไปไหน ติดอยู่กับความทรงจำในอดีต ในขณะที่เครื่องสายมีทั้งที่เริ่มจากเสียงสูงในนาทีที่ 3:49 ไล่ต่ำลงมาเหมือนกับเสียงของคนถอนหายใจ พอนาทีที่ 3:50 ก็มีเครื่องสายเสียงต่ำอีกแนวแทรกเข้ามาก่อนที่แต่ละแนวจะค่อย ๆ ไล่มาจนบรรจบกันที่โน้ตตัวสุดท้ายซึ่งเป็นคอร์ดหลักของเพลง


    - จบเพลง -




    โครงสร้างของเพลง When We Were Us

    INTRO                          0:00-0:28

    VERSE 1                       0:29-0:56

    VERSE 2                       0:57-1:25

    CHORUS                      1:25-1:53

    INSTRU                       1:53-2:07

    VERSE 3                       2:08-2:35

    CHORUS                      2:36-3:01

    BRIDGE                        3:01-3:18

    CHORUS                      3:18-3:46

    OUTRO                        3:47-4:05



    บทสรุป

    แม้จะเป็นเพลงบัลลาดที่อาจฟังดูเหมือนไม่ได้มีองค์ประกอบเยอะมากเท่ากับเพลง Dance ที่วง K-pop ส่วนใหญ่โปรโมทกัน แต่เพลงนี้กลับมีหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในแง่ของ Harmony ที่มีการใช้คอร์ดที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ 4 คอร์ดวนไปมา แต่กลับดึงเอาคอร์ดจากคีย์อื่นมาเสริม สามารถสร้างอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป ดึงความรู้สึกของคนฟังให้รู้สึกร่วมไปกับบทเพลง นอกจากนี้รูปแบบโครงสร้างที่นำ Verse กับ Pre-Chorus มารวมกัน การตัดแบ่งห้องก็ไม่เหมือนกับทั่วไป แม้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะดูเหมือนเป็นอะไรที่เล็กน้อย แต่เชื่อว่ามันมีผลต่อผู้ฟังเป็นอย่างมาก

    การเลือกใช้เครื่องดนตรี Acoustic เป็นตัวดำเนินหลัก ทั้งเปียโน, เครื่องสาย, กีตาร์โปร่ง, กลองชุด, Wind Chimes รวมไปถึงเสียงกีตาร์และเบสไฟฟ้าที่ก็ไม่น่าจะใช่เสียง Synthesizer หรือเสียงสังเคราะห์จากคอมพิวเตอร์ หากแต่ถูกบรรเลงโดยคนจริง ๆ มันทำให้เพลงนี้มีความคลาสสิก ฟังสบาย การจัดแบ่งความสำคัญขององค์ประกอบต่าง ๆ ก็ดีมาก ทำให้ดนตรีส่งเสริมแนวร้องได้อย่างเต็มที่ ไม่รบกวนเลย

    ถือเป็นเพลงที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาได้อย่างชัดเจนเห็นภาพ การเริ่มต้นของการเดินทางจากปัจจุบันกลับไปสู่อดีตอันหอมหวานเมื่อครั้งยังมีเธอ แต่ก็เศร้าสร้อยในเวลาเดียวกัน เป็นการสื่อสารความคิดของผู้ร้องออกมาผ่านตัวโน้ตและเสียงเพลงที่ถูกคิดและประพันธ์มาอย่างลงตัว ไหนจะการผสมผสานของความเป็น Major-Minor ที่สร้างความรู้สึก Bittersweet ออกมาได้อย่างเต็มที่ ก่อนที่การเดินทางท่องอดีตจะสิ้นสุดลง บทเพลงกลับมาจบบริบูรณ์ ณ ปัจจุบัน คอร์ดเดียวกับตอนเริ่มต้นพอดี


    ประทับใจในตัวเพลง คุณภาพของดนตรี และเสียงร้องของทั้งสามคนที่มีเนื้อเสียง สีสัน และการสื่อสารความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็สามารถผสมผสานกันได้ลงตัว


    อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง When We Were Us อีกรอบด้วยนะ!


Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
eieiamm (@eieiamm)
ดีมากจริงๆค่ะ แง ;-;