เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง KUN & SQUAR - TIME & THE VISION : Time to Awaken

  • อีกหนึ่งบทเพลงซึ่ง คุน จากวง WayV ได้ร่วมกันแต่งและเรียงเรียงเสียงประสานขึ้นกับ Squar บทเพลงที่น่าจะเป็นเหมือนกัน Introduction สำหรับอัลบั้มใหม่ของ WayV <Awaken The World> ซึ่งเมื่อผู้เขียนได้ฟังแล้วถึงกับทึ่งในองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ถูกใส่ลงมาเพื่อนำเสนอเรื่องราวมากมายที่เปิดให้คนฟังได้มีโอกาสจินตนาการตาม จึงขอนำสิ่งเหล่านั้นมาย่อยและเขียนออกมาในบทความนี้


    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)

    Composed by  KUN & SQUAR
    Arranged by KUN & SQUAR


    Eb Major & Eb Minor - 67 BPM


    บทความนี้มีการสอดแทรกคำศัพท์เฉพาะทาง พร้อมคำอธิบาย เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านดนตรี



    • เริ่มต้นมาด้วยเสียงที่เหมือนกับเสียงไขลานนาฬิกา เป็นการสื่อสารที่เรียบง่ายแต่ชัดเจนมากว่าต้องการทำให้ผู้ฟังเห็นภาพอะไร แน่นอนว่าเสียงเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นไฟล์เสียงสังเคราะห์ที่มีพร้อมในเครื่องคอมพิวเตอร์มาหมด แต่ถ้าหากเป็นเครื่องดนตรีจริงแล้วนั้นก็คงจะเป็นการใช้ Ratchet ที่จะสามารถสร้างเสียงเอฟเฟคได้แบบนี้ แล้วเสียงนี้เองก็จะมีส่วนสำคัญที่จะมาโผล่อยู่ในเพลงตลอด โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านท่อนที่จะสามารถได้ยินอย่างชัดเจนเหมือนเป็นการไขลานเพื่อให้นาฬิกาสามารถเดินต่อไปได้


    ตัวอย่างเสียง Ratchet


    • หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่เพลงก็สามารถบอกได้ทันทีเช่นกันว่าเพลงนี้ต้องการสื่อถึง "เวลา" จากการเลือกใช้เสียงจังหวะบีตที่มีลักษณะเหมือนกับเสียงนาฬิกาเดิน

    • ทำนองหลักของเพลงถูกบรรเลงวนอยู่ 2 คอร์ดสลับไปมาระหว่าง Eb diminished กับ D diminished ซึ่งคอร์ดประเภทนี้จะสร้างเสียงที่กัด ๆ ค่อนข้างดาร์ค มีความมืดทึม ทำให้เกิด tension ความเครียด พอมาบวกกับเสียงของเครื่องดนตรี Celesta เข้าไปมันเลยยิ่งสร้างบรรยากาศที่พิศวง น่าสงสัย mysterious ขึ้น ซึ่งนี่คือคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นมากของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ไหน ๆ ก็มีโอกาสจึงอยากจะขอยกตัวอย่าง 2 บทเพลงที่ใช้เครื่อง Celesta ในการสร้างอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้


    ตัวอย่างเสียง Celesta จากเพลง Hedwig's Theme จากภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter

    ตัวอย่างเสียง Celesta จากเพลง Dance of the Sugar Plum Fairy จากบัลเล่ต์เรื่อง The Nutcracker
    บทเพลงแรกของโลกที่ Celesta ถูกนำมาใช้ในวงออรฺเคสตรา โดย Tchaikovsky


    • ใน 2 ห้องแรกของเพลงจะได้ยินเสียงลากโน้ตของกลุ่มเครื่องสายที่มีการ *Crescendo ขึ้นทุกห้องแล้วหลังจากนั้นพอเข้าห้องใหม่ก็ **Subito ***Piano ทันทีก่อนที่จะเริ่มต้น Crescendo ใหม่อีกครั้ง เป็นการสร้างเอฟเฟคควบคู่ไปกับดนตรีที่ยิ่งทำให้คนฟังรู้สึกวิตกกังวลและสงสัยมากขึ้นไปกว่าเดิมอีก ทุกองค์ประกอบที่ใส่มาในเพลงสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจนมาก

    *Crescendo - เสียงดังขึ้น
    **Subito - ทันทีทันใด
    ***Piano - เบา


    • ตั้งแต่นาทีที่ 0:17 ก็เริ่มมีการเพิ่มองค์ประกอบอื่น ๆ เข้ามามากขึ้นจากของเดิมที่ยังคงอยู่ สิ่งที่โดดเด่นชัดมาเลยคือเสียงเบสที่ถูกเพิ่มเข้ามาโดยมีการเล่นในรูปแบบคล้ายกับกลอง Bass drum, กลุ่มเครื่องสายที่ถูกใช้มาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า ในท่อนนี้กลับกลายเป็นการเล่นลากคอร์ดเสียงเบา ๆ แทน เติมเต็ม Harmony เสียงประสานของเพลงคลอไป, และแน่นอนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเสียงร้องคอรัสที่เข้ามาช่วยสร้างความยิ่งใหญ่และ Holy ความศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับเพลงที่ร้องถวายแด่พระเจ้าไปพร้อมกับออร์แกนโบราณกลางโบสถ์ขนาดยักษ์

    • พอมาถึง 0:24 มีจุดที่น่าสังเกตคือมีการใช้เครื่องสายเสียงต่ำ ซึ่งก็น่าจะเป็นเสียงเชลโลในการเล่นควบคู่ไปกับเสียงเบสด้วย ช่วยเพิ่มฐานที่หนักแน่นและความน่าพิศวงเข้าไปอีกจากการเพิ่มโน้ตเข้ามาในนาทีที่ 0:26 ถึงแม้จะเป็นโน้ตแค่เพียงตัวเดียว แต่ก็สร้างความแตกต่างได้แล้ว

    • ตอนท้ายของประโยคเพลงในช่วงนี้มีการใส่เอฟเฟคและจังหวะที่ถี่ขึ้นเพื่อเหมือนเป็น Groove ที่ส่งให้กับท่อนถัดไป

    • 0:30 เข้าสู่ท่อนที่ผู้เขียนเชื่อว่าผู้แต่งต้องการสื่อถึงเพลง Take Off ซึ่งเป็นเพลงไตเติ้ลจากอัลบั้มแรกของ WayV สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็น Take Off หรือการขึ้นบินของเครื่องบินออกจากรันเวย์ นอกเหนือไปจากคำพูดแล้วก็คือเสียงเบสที่ใช้เทคนิค *Glissandro ไปมา เหมือนกับเสียงการเร่งของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบดนตรีที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมมาก ถูกใช้ในหลายเพลง เช่น Ridin' ของ NCT Dream ที่ก็ต้องการสื่อถึงการเร่งเครื่องยนต์เช่นกัน

    *Glissandro - เทคนิครูดสายเพื่อให้เกิดเสียงสไลด์ขึ้นลง


    ตัวอย่างแนวเบส เพลง Ridin' ของ NCT Dream นาทีที่ 0:14


    • แนวร้องประสานเสียงถูกย้ายไปร้องเสียงสูงขึ้น จากช่วงก่อนหน้าที่ร้องในช่วงเสียงกลาง ๆ ทำให้เพลงถูกเติมเต็มมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งเสียงต่ำจากเบสและเสียงกลางจาก Celesta ที่ยังคงดำเนินต่อไปเป็นเหมือนกับ  *Ostinato หลักของเพลงนี้ ส่วนเครื่องสายเสียงต่ำเองก็มีการเปลี่ยนรูปแบบจังหวะ ซึ่งเมื่อผู้เขียนได้ลองกลับไปฟังเพลง Take Off ก็ทำให้ค้นพบว่ากลุ่มเชลโลอาจจะกำลังเลียนแบบจังหวะของแนวเบสมาอยู่ก็เป็นได้

    *Ostinato - แนวทำนอง หรือ เบส ที่ถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ
    ในยุค Baroque ออสตินาโตที่เรียกว่า Figured Bass ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมากของเพลง

    ตัวอย่างแนวเบส เพลง Take Off ของ WayV นาทีที่ 0:11



    • ตอนช่วงท้ายของท่อน Take Off (ขอเรียกแบบนี้แล้วกัน) ก็มีการใส่เอฟเฟคและจังหวะรูปแบบเดียวกับช่วงก่อนหน้าที่ถูกใช้ไปเมื่อจบประโยคเพลง พร้อมกับจบด้วยคำว่า Vision ที่ถูกใส่เอฟเฟคให้เกิด Echo เสียงสะท้อน โดยที่เครื่องสายยังคงเล่นโน้ตหลักของเพลง ตัว Eb ด้วยเทคนิค *Tremolo นอกจากนั้นยังมีเสียงเอฟเฟคที่ให้ความรู้สึกเหมือนเสียงเครื่องบินที่บินฉวัดเฉวียนไปมา และเสียง Percussion ทั้ง Bass drum และเสียงเคาะเบา ๆ คลอกันไป

    *Tremolo - การสีขึ้นลงอย่างรวดเร็วติดต่อกันเพื่อให้เกิดเสียงสั่นรัว

    • เข้าสู่ท่อนถัดไปที่น่าจะเรียกว่าเป็นท่อน Vision ในนาทีที่ 0:52 และ ว้าว มีการเปลี่ยนคีย์จาก Eb Minor หลังจากที่อยู่ในโทนดาร์ค ๆ มานานกลายเป็น Eb Major! โลกนี้กลับมาสดใสเต็มไปด้วยสีสัน รอยยิ้ม และความสุข ซึ่งถูกบรรเลงโดยเสียงของเปียโนที่มีเนื้อเสียงที่คมกว่า Celesta สื่อถึงความชัดเจนจับต้องได้

    • แม้ว่าเสียงนาฬิกาเดินจะยังคงอยู่แต่ก็ถูกลดความสำคัญลงไปโดยการทำให้เสียงเบาลง รวมไปถึงมีการใส่จังหวะที่ถี่มากขึ้นสอดแทรกเข้ามา ทำให้เสียงนี้เหมือนไม่ได้ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของเสียงติ๊กต่อกอีกต่อไปแล้ว แต่เหลือไว้เป็นเพียงเสียงจากความทรงจำที่ยังคงไม่หายไปไหนมากกว่าในความคิดของผู้เขียน

    • มีหลายคนเชื่อว่าดนตรีในท่อน Vision นี้ต้องการสื่อถึงเพลง Moonwalk เพลงไตเติ้ลจากอัลบั้มก่อนหน้าของ WayV ซึ่งผู้เขียนเองก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น โดยในเพลงนี้ได้มีการนำองค์ประกอบหลักในตอนต้นของเพลง Moonwalk ซึ่งก็คือเปียโนมาใช้นำเสนอในรูปแบบที่ช้า เน้นโชว์ความงดงาม ฟังสบาย อีกจุดนึงที่สำคัญคือคอร์ดที่ถูกใช้ แม้ว่าจะอยู่ในคนละคีย์กันแต่ก็เลือกใช้คอร์ดที่ I ซึ่งเป็นคอร์ดหลัก และคอร์ด iv หรือคอร์ด 4 Minor เหมือนกันในทั้งสองเพลง


    ตัวอย่างเสียงเปียโน เพลง Moonwalk ของ WayV นาทีที่ 0:08



    • นอกจากนี้ท่อนนี้ยังได้มีการสอดแทรกเสียงต่าง ๆ ไว้อีกมากมาย เช่น นาทีที่ 0:56 มีเสียง Bass drum ตุบ ๆๆๆ เหมือนกับเสียงเต้นของหัวใจ, เสียงเอฟเฟคก้อง ๆ รวมไปถึงเสียงเครื่องสาย Tremolo ในช่วงเสียงกลาง/ต่ำพร้อมกับ Crescendo ส่งไปยังช่วงถัดไป

    • ซึ่งในช่วง 0:59 เปียโนจากที่เคยเล่นในช่วงเสียงกลางกลับเลื่อนต่ำลงมา 1 Octave หรือ 1 ช่วงเสียง ทำให้เสียงต่ำลง ทุ้ม ฟังสบายมากยิ่งขึ้น ประกอบกับที่เสียงเอฟเฟคต่าง ๆ เริ่มหายไป มีแค่เพียงเสียงหัวใจเต้น ก่อนที่จังหวะต่าง ๆ จะช้าลงเรื่อย ๆ เหมือนกับว่าเพลงกำลังค่อย ๆ ผ่อนคลายลงเพื่อเตรียมกลับเข้าสู่ความสงบ


    หากสังเกตจะเห็นว่าคอร์ดจบของเพลงนี้จะถูกเล่น 3 รอบ โดยจะเริ่มจากเสียงต่ำสุดไล่สูงขึ้นไปในแต่ละรอบ และแต่ละรอบจะมีการเพิ่มโน้ตเข้ามาทีละ 1 ตัวทุกครั้ง 

    1:05 Absus2: Ab Bb Eb
    1:07 Ab9sus2: Ab Bb Eb Gb
    1:11 Ab9: Ab Bb Cb Eb Gb

    ซึ่งคนฟังสามารถรู้สึกได้เลยถึง tension และเสียงกัดที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละคอร์ดที่ถูกบรรเลงออกมา ไหนจะการเล่นเสียงค่อย ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ เองที่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดเช่นกัน


    • หากคุณคิดว่าเพลงนี้จะจบลงอย่างสงบ คุณคิดผิดแล้ว เนื่องจากตลอดช่วงที่ผ่านมา หูของเราอาจะโฟกัสที่เสียงของเปียโนมากจนพลาดที่จะได้ยินเสียงเครื่องสายที่ยังคงเล่น Tremolo เพื่อสร้างเอฟเฟคความหลอนอยู่เบื้องหลัง และในตอนท้ายสุดของเพลงมีการ Crescendo ของเปียโนมีการเล่นโน้ต Bb และ Cb ด้วยเทคนิค *Trill เร็ว ๆ ซึ่งสองเสียงนี้มีความห่างแค่เพียงครึ่งเสียงที่เรียกว่า Chromatic ด้วยความที่เสียงใกล้กันมากทำให้เกิดการกัดกันของเสียง สร้างความรู้สึกที่เคร่งเครียด ไม่สบายตัว เป็นการจบเพลงที่เต็มไปด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจที่ไม่สามารถหาคำตอบให้กับข้อสงสัยได้

    *Trill - การรัวเสียงระหว่างโน้ต 2 ตัวไปมาอย่างรวดเร็ว


    - จบเพลง -




    โครงสร้างของเพลง TIME & THE VISION : Time to Awaken

    INTRO                    0:00-0:17

    TIME                       0:17-0:45

    BRIDGE                  0:45-0:52

    VISION                   0:52-1:17


    Bridge ในที่นี้คือช่วงที่ใช้สำหรับเชื่อมระหว่างท่อน



    บทสรุป

    ต้องบอกตามตรงเลยว่าตั้งแต่เคยเขียนวิเคราะห์เพลงมาทั้งชีวิต นี่เป็นเพลงที่เขียนสนุกที่สุด

    บทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่น่าสนใจมาก สามารถนำเสนอสิ่งต่าง ๆ มากมายผ่านองค์ประกอบหลากหลายที่ถูกนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าผู้แต่งคิดมาดีจริง ๆ เพราะแทบจะทุกเสียงที่ถูกใส่ลงมาในเพลงนี้มีความหมายและหน้าที่ของตัวมันเอง ไม่ว่าจะโดดเด่นหรือไม่ และนอกจากนี้ยังมีการสื่อสารอารมณ์ที่ชัดเจนมาก สามารถชักจูงให้ผู้ฟังจินตนาการตามได้อย่างสนุกสนานและเห็นภาพ ต้องขอชื่นชมเลย

     ในมุมมองของของผู้เขียน เพลงนี้สื่อสารได้ตรงกับคอนเซ็ปต์ของวง WayV ที่เกี่ยวข้องกับเวลาและห้วงอวกาศ แน่นอนว่าช่วงต้นมีการใช้องค์ประกอบที่เป็นเสียงของนาฬิกาโดยตรง การใช้เสียงเครื่องดนตรีอย่าง Celesta ที่ทำให้เกิดความน่าสงสัย เวทมนตร์ ลึกลับ หรือแม้แต่การใช้เสียงเบสที่เป็นตัวแทนของการเร่งเครื่องยนต์และเอฟเฟคต่าง ๆ ที่ถูกทำให้เหมือนเสียงเครื่องบินบินไปมา

    ในท่อน Vision มีการใช้คีย์ Eb Major อาจเป็นความบังเอิญเท่านั้น แต่ในทางดนตรีคลาสสิก Eb Major เป็นคีย์ที่มักจะถูกใช้เพื่อสื่อถึงความแข็งแกร่ง ความเป็นวีรบุรุษ คีตกวีที่มีชื่อเสียงหลายท่านเมื่อประพันธ์เพลงซึ่งเกี่ยวกับวีรบุรุษหรือผู้นำที่พวกเขาเคารพนับถือ ก็จะแต่งอยู่ในคีย์นี้.. ผู้เขียนจึงจินตนาการว่าท่อนนี้อาจต้องการเล่าถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ หรือหมายถึงการประสบความสำเร็จในการทำอะไรซักอย่าง เช่น การเดนทางท่องอวกาศจนไปเหยียบดวงจันทร์ได้

    ในตอนจบที่มีการใช้คอร์ดที่ทำให้เกิดสีสันที่หลากหลาย สร้างอารมณ์อันน่าอึดอัดคับข้องใจ เหมือนกับกำลังติดอยู่ในเขาวงกตที่ไม่สามารถหาทางออกได้ หรือกำลังถูกปล่อยให้ลอยเคว้างคว้างอยู่ท่ามกลางอวกาศที่ไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นได้


    จินตนาการ...


    อย่าลืมเข้าไปติดตาม Soundcloud ของ KUN กันด้วยนะ

    https://soundcloud.com/kunxd



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in