เพลงไตเติิ้ลเพลงที่สองของ แบคฮยอน จาก EXO ที่เพิ่งถูกปล่อยออกมาล่าสุด
โดยเพลงนี้ได้รับกระแสตอบรับทั้งจากแฟนคลับและผู้ฟังทั่วไปดีมาก
มีความแตกต่างทางด้านอารมณ์อย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับ UN Village เพลงไตเติ้ลในอัลบั้มแรก
บทความนี้จะมาส่องดูกันว่าตัวเพลงมีรายละเอียดอะไรที่น่าสนใจบ้าง
VIDEO
(อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)
Album Delight
B minor - 75 BPM
แน่นอนว่าเพลงเปิดมาด้วย Intro ที่มีการใช้เสียง Synthesizer เสียงสังเคราะห์น่ารัก ๆ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น *Ostinato หลักของเพลงนี้ ลักษณะเป็นการไล่โน้ต **Broken Chord ในสไตล์ Arpeggio อาจมีโน้ตอื่นที่อยู่นอกคอร์ดแทรกเข้ามาบ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็มีการเล่นคอร์ดแบบปกติในช่วงเสียงที่ต่ำกว่าในจังหวะ ***Syncopation สวนทางกันกับอีกแนวนึง ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นช่วงสั้น ๆ ที่ทำให้คนสามารถจดจำเสียงหลักของเพลงที่หลังจากนี้จะถูกใช้ไปตลอกได้ ติดหูทันที
*Ostinato - แนวทำนอง หรือ เบส ที่ถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ในยุค Baroque ออสตินาโตที่เรียกว่า Figured Bass ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมากของเพลง **Broken Chord ในสไตล์ Arpeggio - การเล่นโน้ตทีละตัวจากคอร์ด ไม่ได้มีหลายเสียงพร้อมกัน ***Syncopation - จังหวะขัด เป็นลักษณะจังหวะที่ถูกใช้มากในดนตรีแจ๊ส ตลอดช่วง Intro มีการสอดแทรกเสียงโน้ตเล็ก ๆ เช่นที่ 0:06 (ซึ่งมันจะกลับมาอีกบ่อย ๆ ตลอดทั้งเพลง) รวมไปถึงการร้องแอดลิบและเสียงประสานอีกเล็กน้อยเข้ามาด้วย จนมาถึงช่วงท้ายนั้น ก็มีการดรอปเสียงดนตรีทั้งหมดหายไป เกิดเป็นความเงียบ ก่อนที่จะมีเสียงเอฟเฟคเป็นจังหวะถี่ ๆ คล้ายเสียงกระดกลิ้น บรรเลงแทรกขึ้นมาเพื่อส่งดนตรีเข้าสู่เพลงหลัก
0:13 เข้าสู่ท่อน Verse แรกของเพลง ที่ในที่สุดก็มีเสียงเครื่องกระทบ Percussion เข้ามาเสริม เป็นเสียงคล้ายกับ Snare drum และเสียง Hi Hat แม้จะมีแค่เพียงเล็กน้อยแต่ก็ทำให้ดนตรีมีความแอคทีฟมากขึ้น รวมไปถึงเสียงเบสที่เพิ่มเข้ามา ทำให้เพลงมีฐานที่แน่น โดยที่ทั้งเสียงเครื่องกระทบและเสียงเบสต่างก็เล่นเป็นจังหวะ Syncopation ที่ไม่ได้ลงจังหวะหนักของเพลงตามปกติ แต่เป็นการเล่นบนจังหวะที่สำคัญน้อยกว่าแทน แถมยังเล่นไม่เหมือนกันทั้งสองแนวเลยด้วย พอมารวมกับเสียง Ostinato เลยทำให้เกิดความหลากหลายทางจังหวะ แต่ก็สามารถผสมรวมกันได้อย่างลงตัว
ตัวอย่างเสียง Snare drum นาทีที่ 0:31 Hi Hat นาทีที่ 0:23 (มือซ้ายของชานยอล)
แนวทำนองหลักของเพลงเริ่มมาในช่วงเสียงที่ค่อนข้างต่ำ วนทำนองเดิมอยู่สองรอบโดยที่รอบที่สองมีการไล่หางเสียงลงไปต่ำถึงโน้ตตัว B2 หลังจากนั้นก็มีโน้ตและจังหวะที่ฉีกสูงขึ้นมา น่าสนใจมาก แม้จะเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ ไม่กี่วินาที จาก 0:13-0:39 แต่ทำนองของเพลงนี้กลับมีความหลากหลาย เมื่อเทียบกับเพลงป๊อปส่วนใหญ่ที่มักจะร้องวนเวียนอยู่แค่ไม่กี่โน้ตและมีแพทเทิร์นซ้ำ ๆ เพื่อทำให้ติดหูคนฟัง แต่เพลงนี้กลับมีการไล่โน้ตขึ้นลงไปมาในช่วงเสียงที่ค่อนข้างกว้าง ทำให้เกิดความ variety ไม่น่าเบื่อเลย
ตั้งแต่ 0:26 เป็นต้นมาเสียงเบสที่เคยถูกใส่ reverb ให้เกิดเสียงสะท้อนก้องและลากยาวถูกเปลี่ยนไป แม้จะเล่นเป็นจังหวะขัดแบบเดิม แต่โน้ตกลับสั้นลง บวกกับแนวร้องที่เสียงสูงขึ้นทำให้เพลงมันมีความรู้สึกที่ล่องลอยและมีความขี้เล่นมากกว่าช่วงก่อนหน้า ก่อนที่ช่วงท้ายของ Verse แรก 0:37 เสียงทุกอย่างจะหยุดลง เหลือเพียงเสียงโน้ตลากที่เพิ่ม volume ความดังขึ้นเพื่อนำไปสู่ท่อนถัดไป
สิ่งที่น่าสนใจมากในเพลงนี้คือ 'คีย์' ที่ตัวผู้เขียนใช้เวลาคิดและประมวลผล ฟังซ้ำไปมาและพยายามวิเคราะห์ว่าสรุปแล้วเพลงอยู่ในคีย์อะไรกันแน่ จนสุดท้ายมาตัดสินใจว่าให้เพลงนี้อยู่ในคีย์ B minor จากคอร์ดส่วนใหญ่ของเพลงและรูปการณ์แนวทางเดินของคอร์ดที่สอดคล้องกับคีย์นี้
แน่นอนว่าผู้ฟังส่วนใหญ่อาจรู้สึกว่าเพลงนี้มีความเป็น Major คือให้ความรู้สึกที่แฮปปี้ สนุกสนาน ดนตรีเทียบได้กับสีสันในโทนสว่าง สดใส ตรงกับชื่อเพลง Candy ลูกกวาดอันแสนหวานหอม
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความ Minor ที่จะออกเป็นสีหม่น มีความทึมและเศร้าแทรกรวมอยู่ด้วย ซึ่งถ้าหากได้อ่านเนื้อเพลงก็จะพบว่าตัวเนื้อหามีความน่ารัก สดใส positive แต่ก็ไม่ได้ถึงกับมีความสุข 100% ยังคงมีความรู้สึกที่ไม่มั่นใจ โหยหาเรียกร้องที่อยากจะเป็นคนนั้น เป็นแคนดี้ของเธอ ความรักที่ยังคงไม่ได้สมหวังแต่ก็จะยังไม่ยอมแพ้หรอกนะ!
ท่อน Pre-Chorus ที่น่าจะสร้างความปวดหัวให้กับใครหลายคน แม้กระทั่งผู้เขียนที่เมื่อได้ฟังครั้งแรกถึงกับรู้สึกหลงทาง ไม่รู้ว่าตอนนี้เพลงกำลังเกิดอะไรขึ้น จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจังหวะของเพลงเป็นอย่างไร? อยู่ดี ๆ จังหวะก็ช้าลงหรอ?! แต่ถ้าหากลองเคาะจังหวะตามหรือเปิด metronome เสียงคลิกในจังหวะ 75 BPM จะค้นพบว่าเพลงยังอยู่ในจังหวะความเร็วเท่าเดิม แต่มีวิธีการนำเสนอที่สร้างความสับสนให้กับผู้ฟัง ซึ่งมีหลายสาเหตุประกอบกัน ทั้งการหายไปของเครื่องกระทบต่าง ๆ และเสียง Ostinato ที่คอยดำเนินจังหวะมาตลอดในช่วงก่อนหน้า เหลือไว้เพียงเสียงทำนองหลักและเสียง Synthesizer ที่ลงคอร์ดสลับจังหวะกันไปมาอย่างหาที่จับไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่อนนี้มีความซับซ้อนมาก คือจังหวะ Polyrhythm
การใช้จังหวะ Polyrhythm หรือการทับซ้อนของจังหวะหลายแบบไปพร้อมกัน เป็นรูปแบบจังหวะที่นิยมใช้กันในดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะในนักเล่นกลองที่ในหลายครั้งจะต้องแยกประสาทระหว่างมือและเท้าที่เล่นจังหวะคนละรูปแบบกัน จากในภาพจะเห็นได้ว่าบรรทัดบนและบรรทัดล่างในแต่ละห้องมีจำนวนตัวโน้ตไม่เท่ากัน แต่เมื่อคำนวณโดยการนำโน้ตของแต่ละบรรทัดมารวมกันแล้วจะมีค่าเท่ากันทั้งสองบรรทัด
หากจะให้เห็นภาพ ให้นึกถึงเค้กก้อนนึงที่ถูกแบ่งออกได้หลายแบบ อาจแบ่งเป็น 3 หรือ 4 ชิ้นก็ได้ แต่สุดท้ายเมื่อนำมารวมกัน ไม่ว่าจะแบ่งแบบใดก็จะได้เค้ก 1 ก่อนเท่ากัน
และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง Pre-chorus แนวร้องที่มีรูปแบบจังหวะแตกต่างจากช่วงอื่นของเพลง และในขณะเดียวกันก็แตกต่างจากจังหวะดนตรีที่กำลังบรรเลงอยู่ ซึ่งก็เป็นจังหวะ Syncopation เช่นกัน ถ้าหากได้ลองฟังเวอร์ชั่น Instrumental ที่ไม่มีแนวร้อง ก็จะรู้สึกว่ามันไม่ได้ให้ความรู้สึกสับสนอะไรเลย เนื่องจากมันไม่มีความซับซ้อนของไลน์ร้องมาทับอีกรอบจนทำให้งง
นาทีที่ 0.39
เข้าสู่ท่อน Chorus หรือฮุคหลักของเพลงที่แนวทำนองหลักอยู่ในช่วงเสียงที่กำลังฟังสบาย การเลือกใช้โน้ตต่าง ๆ ก็ไพเราะน่ารัก มีช่วงที่บรรเลงทำนองซ้ำเพื่อให้ผู้ฟังสามารถจดจำและร้องตามได้อย่างไม่ยากมาก มีการสอดแทรกเสียงประสาน Background Vocals ไว้มากมาย ที่ทั้งหนาและมีแนวเสียงประสาน Harmony ที่เพราะมาก แล้วยังมีการใช้ลูกเล่นแบบต่าง ๆ เช่น การร้องคำว่าแคนดี้เป็น echo, 0:58 กับ 1:00 มีเสียงแอดลิบเล็ก ๆ และไหนจะช่วงที่ร้องว่า ยายายา โอยายายา.. เรียกได้ว่าแค่แนวร้องก็กินขาดแล้ว หลากหลายจริง ๆ
นอกจากแนวการร้องแล้ว ก็ต้องพูดถึงตัวดนตรีด้วย จังหวะของ Chorus กลับมาเป็นปกติ Ostinato มุ้งมิ้งก่อนหน้านี้กลับมาอีกครั้ง รวมไปถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เคยถูกใช้เองก็ถูกนำมาบรรเลงรวมพร้อมกัน สิ่งที่เพิ่มมาและมีความโดดเด่นมากคือ Synthesizer ที่ถูกทำให้มีความคล้ายเสียงกลุ่มเครื่อง Brass เครื่องเป่าประเภทแตร เช่น ทรัมเปต ที่เล่นคอร์ดในช่วงเสียงที่สูงซ้ำ ๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกับวงประเภท Big band / Jazz ที่มักจะมีเสียงเครื่องดนตรีเหล่านี้สร้างสีสันและความสนุกสนานให้กับเพลง
ตัวอย่างเสียงกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง นาทีที่ 0:18
กลับมาสู่ Verse อีกครั้งนึงโดยที่ช่วงต้นของท่อนนี้ทำเอฟเฟคได้น่าสนใจมาก เริ่มจาก 1:17 ลดดนตรีทุกอย่างให้เหลือเพียงแค่ Ostinato กับเสียง reverb ตามมาด้วยแนวร้องและหลังจากนั้นก็ดรอปทุกอย่างจนเงียบสนิทตอน 1:19 แล้วจึงกลับเข้าสู่ดนตรีปกติอีกครั้งนึง เครื่องดนตรี องค์ประกอบต่าง ๆ แทบจะเหมือนเดิมหมด มีเพียงตอน 1:25 ที่มีเสียงเหมือนชิปมังค์แทรกเข้ามา โดยร้องโน้ตเดียวกันกับทำนองที่แบคฮยอนร้อง แต่ช่วงเสียงสูงกว่ามากและถูกปรับแต่งโดย autotune.. แนวร้องในช่วงท้ายมีการไล่โน้ตสูงขึ้นเตรียมส่งเข้าท่อนต่อไปพร้อมกับเสียงบีตที่เล่นถี่เร็ว
1:30 เข้าสู่ท่อนใหม่แต่กลับขาดเสียงของ Ostinato ไป แล้วจึงกลับมาในไม่กี่วินาทีหลังจากนั้น แม้เป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็รู้สึกได้ถึงความแตกต่างของดนตรี ทำนองร้องช่วงนี้มีความหลากหลายมาก แถมยังมีการกระโดดระหว่างแต่ละโน้ตที่มีช่วงเสียงค่อนข้างกว้างไปมาอีกด้วย ตอนท้ายของท่อนที่ 1:39 ก็มีการร้องเป็นจังหวะ triplets 3 พยางค์ (3 คำต่อ 1 จังหวะ) ทำให้เพลงที่กำลังไต่ไล่สูงขึ้นกลับถูกจังหวะนี้มาดึงไว้ด้วย แถมยังมีเสียงประสานที่ร้องไล่เสียงต่ำลง ยิ่งสร้างความรู้สึกที่หน่วงและฉุดอารมณ์คนฟังเยอะมาก ๆ
ท่อน Pre-chorus รอบนี้มีเสียง Synthesizer ที่ลากโน้ตเสียงสูงเพิ่มเข้ามาจากรอบแรก พอตั้งแต่ช่วง 1:50 เป็นต้นไปแนวร้องก็กลับมาร้องในจังหวะปกติ ลด Polyrhythm ลงทำให้คนฟังสามารถจับจังหวะได้ง่ายกว่าในรอบแรก
Girl I'm your candy~*
เข้าสู่ฮุครอบที่สองที่สำหรับหลายท่านอาจจะฟังดูไม่ได้แตกต่างจากรอบแรกมาก แต่ในรอบนี้มีการเพิ่มแนวร้องคอรัสของ Background Vocals เข้ามาอีก จากที่ก็หนาอยู่แล้วกลับยิ่งมีหลายแนวมากขึ้นไปอีก ไหนจะ adlib ทั้งในช่วงเสียงสูงและต่ำ รวมไปถึงแนวร้องประสาน โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วง 2:08 เป็นต้นไปที่จะสามารถได้ยินอย่างชัดเจน เริ่มมาด้วยเสียงที่สูงกว่าก่อนจะค่อย ๆ ไล่ระดับลงมากลายเป็นแอดลิบเพราะ ๆ ในช่วงเสียงต่ำ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้กลับไม่ได้มีส่วนไหนที่มากหรือดังเกินไปจนกลบเสียงร้องหลักเลย ลงตัวมาก ๆ
หลังจากจบฮุค มีการเพิ่มช่วงที่ดนตรีทุกอย่างหยุดเงียบลง เหลือไว้เพียงเสียงสะท้อนของเอฟเฟคที่ยังหลงเหลืออยู่เข้ามา 2 จังหวะ extra เพื่อสำหรับดึงและปรับอารมณ์คนฟัง เตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่ท่อน Bridge
Bridge หรือท่อนเชื่อม ในเพลงป๊อป มักจะเป็นท่อนที่มีความแตกต่างทางดนตรีจากส่วนอื่นของเพลง เรียกได้ว่าเป็นท่อนสำหรับโชว์องค์ประกอบที่แปลกใหม่ ฉีกจากเพลงปกติ และอาจผสมผสานไปกับดนตรีของเดิมด้วย อย่างเช่นในเพลงนี้ที่มีการนำเสียง Synthesizer เล่นคอร์ดในจังหวะและรูปแบบเดียวกันกับจากช่วงท่อน Pre-chorus กลับมาใส่ มีการเพิ่มเติมเสียงเอฟเฟคสูง ๆ และทำนองแนวร้องที่เปลี่ยนไป เริ่มต้นจากช่วงเสียงที่ต่ำ/กลาง ก่อนจะค่อย ๆ ไล่สเต็ปขึ้นไปสูงขึ้นเรื่อย ๆ
2:34 มีการส่งด้วยจังหวะ Percussion ที่มีความถี่มาก ผู้เขียน (และน่าจะผู้ฟังท่านอื่นด้วย) คาดเดาว่าหลังจากนี้น่าจะเต็มไปด้วยเสียงเครื่องกระทบตามที่เพลงส่ง แต่ที่ไหนได้เสียงนี้มันดันโผล่มาแค่ไม่กี่วินาทีก่อนที่ช่วงถัดไปจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง อ้าว โดนหลอก!
ครึ่งหลังของ Bridge ที่ 2:35 กลับกลายเป็นเสียงเบสทำหน้าที่เป็นบีตหลัก คือเล่นจังหวะเป็นตัวขเบ็ตสองชั้น (4 โน้ตใน 1 จังหวะ) ในขณะที่เสียง Synthesizer สูง ๆ ก็ยังคงอยู่แม้จะถูกเบาเสียงลง และเหลือ Percussion จริง ๆ แค่เพียงเสียง Snare drum ที่ตีสลับจังหวะขัดขึ้นมาเป็นบางครั้งเท่านั้น
ช่วงที่ชอบมากของท่อนนี้คือ 2:38 ที่แนวทำนองร้องค่อย ๆ ไล่ลงตามสเกล บันไดเสียงปกติ แต่เสียง Synthesizer กับเบสกลับไล่เสียงลงเป็น Chromatic (ทีละครึ่งเสียง) แทน แถมมีการใส่เอฟเฟค reverb ค่อนข้างเยอะ ทำให้เสียงเบลอและฟังเหมือนเสียงมันสไลด์ลงมากกว่าจะแยกเป็นตัว ๆ เจ๋งมาก!! อีกจุดที่น่าสนใจคือเสียงเบสที่ค่อย ๆ คมชัดขึ้นเรื่อย ๆ ตอนช่วงท้ายของ Bridge จะสามารถได้ยินหัวเสียงที่คมและกระแทกชัดเจนมากกว่าตอนเริ่มแรก ดนตรีมีการ *Crescendo ขึ้นตามไปกับเสียงร้อง จนตอนท้ายสุดที่แนวร้องลากโน้ต ดนตรีกลับค่อย ๆ **Diminuendo ลง เหลือเป็นเพียงเสียงสะท้อนล่องลอยเบา ๆ ปล่อยให้โชว์เนื้อเสียงอย่างเต็มที่
*Crescendo - เสียงดังขึ้น **Diminuendo - เสียงเบาลง ในภาพจะเห็นสัญลักษณ์เป็นขีดด้านล่างโน้ต ยิ่งปลายเปิดกว้างเสียงจะค่อย ๆ ดังขึ้น ปลายแคบลงจนปิดเสียงจะเบาลงเรื่อย ๆ ตอนท้ายของ Bridge มีการเพิ่ม 2 จังหวะอีกครั้งนึง เมื่อนำไปรวมกับรวมก่อนหน้าเป็น 4 จังหวะก็จะมีค่าเท่ากับ 1 *ห้องดนตรีพอดี ครบสมบูรณ์
*ห้อง, ห้องดนตรี - เป็นการแบ่งเพลงออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ ใน 1 เพลงจะมีหลายห้อง แต่ละห้องจะมีจำนวนจังหวะแต่งต่างกันไปตามกำหนด ประโยคของเพลงส่วนใหญ่จะมีความยาวอยู่ที่ 4 หรือ 8 ห้องเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะในเพลงป๊อป ท่อนที่หลายคนเรียกว่า Dance break โดยปกติมักจะเป็นท่อนที่มีเพียงดนตรีเป็นหลัก ส่วนร้องอาจจะมีแทรกมาบ้างเป็นช่วง ๆ แต่ในเพลงนี้กลับกลายเป็นท่อนที่ได้โชว์แนวร้องอย่างเต็มที่ หลากหลายเทคนิค เรียกได้ว่าเป็นท่อน Bridge ที่ถูกขยายให้ยาวขึ้นก็ได้เช่นกัน
Ostinato หลักของเพลงกลับมาอีกครั้ง มีเบสสั้น ๆ สลับเข้ามา เสียง Percussion เองก็ไม่หนามากเกิน ในขณะที่แนวทำนองร้องเพียง นานานา (คำประจำของ SM 5555) กับแอดลิบอีกเล็กน้อย ทำให้ท่อนนี้ยังคงฟังสบาย ไม่หนักมากเกิน
ประทับใจ 2:50-3:03 มาก! โดยช่วงนี้มี 4 ห้อง จะสามารถแบ่งได้เป็น
2:50-2:52, 2:53-2:56, 2:56-2:59, 2:59-3:03 โดยประมาณ
จุดที่น่าสังเกตคือ ช่วงท้ายของแต่ละห้อง ดนตรีจะหยุดเงียบลง โดยที่ถูกแทรกขึ้นมาแทนด้วยเสียงเอฟเฟคที่ต่างกันออกไป ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละห้อง มันเป็นอะไรที่น่ารัก สนุก น่าสนใจมาก ๆ
Chorus สุดท้ายของเพลงที่เครื่องดนตรีทุกอย่างกลับมารวมกันอีกครั้ง Background Vocals จัดเต็มขั้นสุด และที่ขาดไม่ได้เลยคือการโชว์ adlib ที่โชว์ช่วงเสียงสูงไปถึงตัว D5 และวนขึ้นลงไปมาตลอดอยู่ในช่วง Range เสียงที่ค่อนข้างกว้าง เรียกได้ว่าจัดเต็มให้กับรอบสุดท้าย
3:15 อยู่ดี ๆ เสียงดนตรีทั้งหมดก็หายไปห้องนึงเต็ม ๆ เหลือไว้เพียงเสียง Percussion กับแนวร้อง หลังจากนั้นดนตรีก็กลับเข้ามาเป็นปกติเช่นเดิม ตอนฟังครั้งแรกถึงกับตกใจกรี๊ดออกมาเลย เพราะเป็นลูกเล่นที่ไม่คาดคิดว่าจะทำในช่วงฮุคสุดท้ายที่ปกติมักจะเน้นดนตรีที่หนักแน่น มีอะไรใส่มาให้หมดเสมอ เกินคาด !
ตอนช่วงท้ายของท่อนฮุคมีการใช้เสียงเบสที่สไลด์ขึ้นลงดังออกมาชัดเจนมาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างแปลกที่มาอยู่ในเพลงนี้ที่เป็นสไตล์ฟังสบาย เบา ๆ เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาที่ SM ได้ปล่อยเพลงของ NCT 127 และ NCT Dream ที่ค่อนข้าง heavy ออกมา หนึ่งในองค์ประกอบหลักของเพลงเหล่านี้คือแนวเบสที่หนักแน่น และมีช่วงที่สไลด์เสียงหรือ Glissando ขึ้นลงแบบท่อนนี้ของ Candy เลย.. แต่ถ้าหากสังเกตจากชื่อคนแต่งและคนทำเพลงก็อาจจะไม่น่าแปลกใจนักเพราะเป็นคนเดียวกันนั่นเอง
ตัวอย่างเสียงเบส Glissando นาทีที่ 0:27 หรือ 0:35 เป็นต้น Outro ที่ยังคงดนตรีแบบเดิมเอาไว้ ทั้ง Ostinato น่ารัก ๆ, เสียงเครื่อง Brass ที่ช่วยเพิ่มสีสัน, Percussion จังหวะสบาย ๆ ไม่หนักหรือหนามากเกินไป แนวเบสเองก็เช่นกัน, การร้องประสานและแอดลิบต่าง ๆ ที่ยังคงอยู่เช่นเดิม.. มีสิ่งนึงที่เพิ่มขึ้นมาคือเสียง Synthesizer ที่แอบบาดหูนิดนึง มีการใส่ Distortion เข้าไปเพื่อบิดให้เสียงแตกซ่า หากใส่หูฟังและตั้งใจฟังจะได้ยินชัดตอนช่วง 3:36 และ 3:40 ก่อนที่เพลงจะจบลงด้วยการใส่ Reverb เป็นเสียง Echo สะท้อนเหมือนเป็นคำถามที่ยังคงค้างคาอยู่ว่า "Tell me what you're waiting for?"
- จบเพลง -
โครงสร้างของเพลง Candy
INTRO 0:00-0:13
VERSE 1 0:13-0:26
VERSE 2 0:26-0:39
PRE-CHORUS 0:39-0:51
CHORUS 0:51-1:17
VERSE 3 1:17-1:29
VERSE 4 1:30-1:42
PRE-CHORUS 1:43-1:55
CHORUS 1:55-2:21
BRIDGE 2:23-3:02
CHORUS 3:03-3:28
OUTRO 3:28-3:45
บทสรุป เพลงนี้สำหรับใครหลายท่านอาจมองว่าเป็นเพลงที่ฟังสบาย น่ารัก เหมือนจะไม่มีอะไรถ้าแค่ฟังผ่าน ๆ แต่เมื่อได้ลองแกะรายละเอียดออกมาก็ทำให้ค้นพบว่ามันมีอะไรที่ถูกซ่อนอยู่มากมายกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้สีสันอารมณ์ที่ทั้งสดใสและเศร้าหมองมาผสมกัน เสียงเครื่องดนตรีเช่นเครื่อง Brass ที่เข้ามาเสริมสร้างความสนุกและจะว่าแอบเปรี้ยวแซ่บเหมือนสไตล์เพลง Jazz ไปด้วยก็ได้ หากสังเกตจากภาพใน MV ก็จะเห็นได้ว่ามันไม่ใช่เพลงที่หวานแหววกุ๊กกิ๊กเพียงอย่างเดียว แต่ก็ยังซ่อนความขมและด้านมืดเอาไว้ด้วยเช่นกัน
อีกสิ่งที่ชอบมากคือการใช้ Ostinato เสียง Synthesizer น่ารัก ๆ ที่มีการเล่นแยกโน้ตทีละตัวไล่ขึ้นลงไปมา ในมุมมองของผู้เขียนเมื่อได้ฟังแล้วทำให้นึกถึงภาพของลูกอมเป็นเม็ดเล็ก ๆ และของหวานหลากสีสันที่ถูกวางเรียงต่อกันไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเสียงนี้เป็นดั่งตัวแทนของแคนดี้ที่อยู่ในเพลงตั้งแต่เริ่มต้นยันจบ เป็นการเล่าเรื่องผ่านบทเพลงที่เห็นภาพชัดเจนมาก
นอกจากนี้ยังมีการใช้เอฟเฟคลูกเล่นต่าง ๆ อีกเยอะแยะไม่ซ้ำกันเลยตลอดทั้งเพลง ซึ่งในปกติหากมีหลายสิ่งที่ไม่ซ้ำกันเลยเกิดขึ้นบ่อย ๆ มันอาจจะทำให้รู้สึกรำคาญได้ แต่ในเพลงนี้กลับมีการจัดสรร Dynamic ความดังเบาได้ดีมาก โดยเฉพาะในท่อนคอรัสที่เต็มไปด้วยสารพัดเสียง แต่กลับไม่รบกวนแนวทำนองหลัก แต่ในทางกลับกัน เสียงเหล่านี้ทำให้เพลงนี้น่าสนใจมากขึ้น ไม่น่าเบื่อเลย
ขอชื่นชมคนทำเพลงที่สามารถชูให้นักร้องโดดเด่นออกมาได้อย่างเต็มที่
ไปพร้อม ๆ กับการนำเสนอดนตรีที่มีความหลากหลาย
เก่งมาก ข้อน้อยขอซูฮก
เป็นเพลงที่ครบเครื่องสมบูรณ์ในทุกแง่มุม และผู้เขียนมั่นใจว่า Candy จะอยู่ในใจของผู้ฟังไปอีกนาน
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in