เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
แว่นขยายเพลง k-popryeomook
วิเคราะห์ดนตรี เพลง NCT DREAM - 맛 (Hot Sauce)
  • เห้ย เห้ย เห้ยยยยยย!

    ในที่สุดวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง น้องดรีมมีอัลบั้มเต็มแล้ว! และนี่คือเพลงไตเติ้ลที่มีการปล่อยตัวอย่างออกมาเยอะมากจนตัวผู้เขียนรู้สึกว่าทายสไตล์เพลงและท่อนต่าง ๆ ไปได้ไม่น้อย หากแต่ว่าเมื่อได้มาฟังเพลงจริงเวอร์ชั่นเต็มก็ค้นพบว่าเห้ย เดาผิดไปหลายจุดเลย มีอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้ต้องร้องว้าว เซอร์ไพรส์ไม่หยุด ในขณะที่ความเป็น 'Dream' กลับยังคงอยู่ให้เราได้ยินและรู้สึกคุ้นเคย ในบทความนี้เลยจะมาขอแยกองค์ประกอบต่าง ๆ ของเพลง Hot Sauce เพลงสไตล์ละตินที่ฉีกความเป็นน้องคนเล็กแห่งจักรวาล NCT ให้ทุกท่านได้ร่วมเอ็นจอยและซึมซับความสมบูรณ์แบบของเพลงนี้ไปด้วยกัน




    (อย่าลืมเปิดเพลงฟังควบคู่ไปด้วยนะ)


    Composed by Martin Wave, Tinashe Sibanda, Pip, Soaky Siren, John Mitchell, Ninos Hanna & Yoo Young Jin

    Arranged by Martin Wave, Bantu, Yoo Young Jin & Dr.Chail
    Lyric by Mun Yeo Reum & Cho Yun Kyoung

    Bb Minor - 104 BPM


    • เปิดเพลงมาด้วยเสียงคล้ายสวดมนต์ (ที่ใครหลายคนเรียก) เสียงงึมงำที่จับเป็นคำไม่ได้มาพร้อมกับการไล่สเกลแบบ *Chromatic ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่มีใน (เกือบ) ทุกเพลงของ NCT Dream และแนวสเกลนี้เองก็กลายไปเป็น **Ostinato หลักที่เป็นตัวดำเนินเรื่องราวการร่ายมนต์ให้คนตกหลุม ราวกับซอสที่มีความอร่อยเผ็ดร้อนจนคนไม่สามารถหยุดลิ้มรสได้


    * Chromatic - การไล่โน้ตที่มีความห่างทีละครึ่งเสียง หากเทียบกับบนคีย์เปียโนก็คือการเล่นครบทุกคีย์ทั้งสีดำและขาวไล่เรียงกันไป
    ตัวอย่าง Chromatic Scale

    **Ostinato - แนวทำนอง หรือ เบส ที่ถูกบรรเลงซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ ในยุค Baroque ออสตินาโตที่เรียกว่า Figured Bass ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมากของเพลง

    เพลงของ NCT Dream มีการใช้วิธีการไล่เสียงแบบ Chromatic ที่มีความห่างของเสียงทีละครึ่งเสียงมาโดยตลอด และเป็นองค์ประกอบที่มีความโดดเด่นมาก ตั้งแต่เพลงเดบิวต์ Chewing Gum แล้วด้วยซ้ำ จนมาถึงอัลบั้มล่าสุดในเพลง Ridin' เองก็มีเช่นกัน หากแต่เป็นการใช้สเกลนี้ในช่วง range เสียงที่แคบ แต่ในเพลง Hot Sauce กลับมีการใช้สเกลนี้เริ่มต้นที่ตัวโน้ต F#4 ไล่ต่ำไปจนถึง D#3 มีความกว้างมากเกิน 1 Octave! ผู้เขียนมองว่านี่ถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการดนตรีของ NCT Dream ที่แนวดนตรีถูกขยายให้มีความยิ่งใหญ่มากขึ้น ควบคู่ไปกับวัยของศิลปินที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น

    ตัวอย่างเพลง NCT Dream - Chewing Gum ทุกท่อนที่ร้องว่า ซู ชู ชู ชู ชูวิงกัม เป็นการไล่เสียงแบบ Chromatic ทั้งหมด
    ตัวอย่างเพลง NCT Dream - We Go Up นาทีที่ 0:04 ตั้งแต่เริ่มต้นเพลงก็มีการใช้สเกล Chromatic ในแนวร้องของแจมิน


    • Intro ของเพลงนี้นอกจากจะสร้างความน่าสงสัยใคร่รู้ให้แก่ผู้ฟังจากเนื้อร้องที่ไม่สามารถเข้าใจได้กับกการไล่เสียงแบบ Chromatic แล้วนั้น แนวร้องแบบตะโกนก็เริ่มร้องมาในจังหวะที่ค่อนข้างแปลก ไม่ได้เริ่มต้นในช่วงจังหวะหนักสุดของห้อง เป็นการร้อง speaking-singing ในช่วงเสียงที่สูงมาก ไม่มีช่วงเสียงต่ำเลย ซึ่งมันสร้างความตื่นเต้น (ที่ก็แอบน่าอึดอัด) ให้แก่ผู้ฟังได้ตั้งแต่ไม่กี่วินาทีแรกของเพลง ..มีการใช้เสียงเครื่องกระทบ Percussion ที่เริ่มจากแค่เสียงเคาะของเครื่องดนตรีชิ้นเดียว ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนเครื่องมาในนาทีที่ 0:09 เป็นเสียงของกลุ่มกลอง snare (กลองแต๊ก) กับกลองใหญ่ที่เล่นในสไตล์แบบวงโยธวาทิตหรือวง Marching band ที่มีการแปรขบวน หลายคนอาจฟังแล้วนึกถึงภาพของกองกำลังทหารที่ตะโกนปลุกใจกันก่อนจะออกรบ

    ตัวอย่าง เสียงกลองในลักษณะการโชว์ Drum line ซึ่งถูกใส่ลงในเพลง Hot Sauce

    9


    • นอกจากนี้ท่อนอินโทรยังมี structure ที่ค่อข้างแปลก จากการที่มีจำนวนห้องเพลง 6 ห้อง โดยปกติมาตรฐานทั่วไปมักจะมีเพียง 4 หรือยาวถึง 8 ห้อง มันทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊ะ เหมือนอินโทรจะยาวเกินไปหน่อย หรือไม่ก็สั้นไปทำไม Verse เข้ามาก่อนที่ควรจะเป็น

    • ในตอนท้ายของอินโทร ก่อนเริ่มต้น Verse 1 ถูกนำมาด้วยเสียงรัวกลอง นาทีที่ 0:13 ที่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะใช้กลอง Bongo ซึ่งมีต้นกำเนิดจากคิวบา และถูกใช้เป็นอย่างมากในดนตรีละติน

    ตัวอย่าง เสียง Bongo



    • เข้าสู่ Verse แรกของเพลงในนาทีที่ 0:14 ด้วยแนวเบสโน้ต Bb อันโดดเด่นที่เล่นสลับกันกับเสียงเคาะ snare ใน rhythm แบบเดียวกับช่วง Intro ซึ่งเป็นจังหวะที่นำเสนอความเป็นดนตรีละติน มีจังหวะ Syncopation ที่คร่อมกันไปมาตลอด ในขณะเดียวกันนั้นแนว Chromatic ก็ยังคงอยู่หากแต่เป็นการสไลด์เสียง *Glissando แบบที่โน้ตแต่ละตัวเชื่อมต่อ ไม่แยกเป็นตัว ๆ เหมือนกับก่อนหน้านี้ มีการปรับแต่งเสียงให้เบลอ ไม่คมชัดมากเพื่อไม่เป็นการรบกวนแนวแร็พ แถมจังหวะ tempo ยังช้าลง โดยแต่ละโน้ตจะเปลี่ยนใน rhythm คล้ายกับเสียงกลองที่เป็นจังหวะคร่อม

    *Glissando - เทคนิครูดสายเพื่อให้เกิดเสียงสไลด์ขึ้นลง เพลงของ NCT Dream มีการใช้เทคนิคนี้เยอะมาก เช่น แนวเบสของเพลง Ridin' ในท่อน Chorus เพื่อสร้างเสียงคล้ายกับเสียงบิดเครื่องยนต์

    • แนวแร็พมีจังหวะที่ค่อนข้างน่าสนใจ คือไม่ได้เริ่มตั้งแต่จังหวะแรกของท่อน Verse แต่กลับมีลักษณะคล้าย pick up เข้าไปหาจังหวะที่ 3 และ 4 ในช่วงท้ายของห้อง นั่นทำให้คนฟังอาจจะยังไม่สามารถจับต้นชนปลายได้ว่าเพลงกำลังไปในทิศทางไหน ในช่วงท้ายของการแร็พเป็นการไล่เสียงต่ำลงคล้ายกับแนว Ostinato ถือเป็นการจบประโยคที่ชัดเจนมาก ก่อนที่จะเข้าสู่ครึ่งถัดไปของ Verse ที่แตกต่างและสร้างความตกใจให้กับผู้ที่ได้ฟัง ยังกับเล่น Roller Coaster เลย หรือว่าทั้งตัวดนตรีและนักร้องกำลังเล่นสนุกกับความรู้สึกของคนฟังอยู่นะ..

    • นาทีที่ 0:24 ดนตรีมีความหลากหลายมากขึ้น แนวเบสเปลี่ยนจากการเล่นโน้ต Bb ตัวเดียวเป็นการเล่นโน้ต Bb - Dd - C สลับไปมาในจังหวะเดียวกันกับช่วงก่อนหน้าโดยที่เนื้อเสียงมีลักษณะคล้ายกับเสียงของกีตาร์ไฟฟ้า ในขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มแนวกีตาร์โปร่งซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดเครื่องนึงที่ใช้ในการนำเสนอดนตรีละติน หากเรานึกถึงภาพยนตร์คาวบอย เม็กซิกัน ก็คงหนีไม่พ้นจะได้ยินเสียงการตีกีตาร์ เพลง Hot Sauce เองก็ไม่พลาดที่จะนำมาใส่ แม้จะเป็นเครื่อง Acoustic แต่ด้วยความที่เสียง Percussion ต่าง ๆ ยังคงไม่ได้หนาและหนักมากทำให้สามารถได้ยินเสียงกีตาร์ได้อย่างโดดเด่นชัดเจน ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน รู้สึกว่าเสียงกีตาร์โปร่งทำให้น้องดรีมดูโตขึ้น มีความเป็นผู้ใหญ่จากสไตล์ของเครือ่งดนตรีที่เปลี่ยนไป

    • ส่วนแนวร้องก็มีการใส่ทำนองที่มีโน้ตแค่เพียง 5 ตัววนสลับไปมา ยังคงเน้นให้ดนตรีค่อนข้าง simple เพื่อให้คนสามารถจำทำนองได้ง่าย คอร์ดของเพลงก็วนเวียนอยู่แค่เพียง i กับ V หรือก็คือคอร์ดหลักสองคอร์ด Bb Minor และ F7 เท่านั้นตามสไตล์เพลงป๊อปทั่วไป และแน่นอนว่าเพลงของน้องดรีมซึ่งไม่เน้นเสียงประสานที่ complex เข้าใจยากเช่นกัน.. ตอนช่วงท้ายของท่อน Verse แนวทำนองมีการไล่เสียงสูงขึ้นแตกต่างจากช่วงครึ่งแรกของ Verse เพื่อ build อารมณ์ส่งเข้าสู่ท่อน Pre-Chorus

    • ความละตินเด่นชัดมาแต่ไกลในท่อน Pre-Chorus เมื่อเครื่องดนตรีหลักที่ใช้ในการขับเคลื่อนคือกีตาร์โปร่งที่สลับไปเล่นแนวคล้ายกับเบสในท่อนก่อนหน้า แต่มีการปรับเปลี่ยนคอร์ดให้เป็นบักษณะที่ค่อย ๆ เป็นสเต็ปที่กว้างขึ้นกว่าเดิม Bb - C - Db - Ab จำนวนคอร์ดที่เพิ่มมากขึ้นนั้นก็เพื่อ build up เพลงให้มีความหลากหลาย มีความไพเราะตามประสาท่อน Pre-Chorus ซึ่งเน้นความเป็น melodic แต่ยังคงยึดอยู่แค่เพียง 4 คอร์ดซึ่งก็น่าสนใจนะ เพราะเหมือนจะเป็น Chord Progression หลักตามสไตล์ดนตรีสเปนหากแต่มีการปรับเปลี่ยนโน้ตบางตัว ทำให้คอร์ดเปลี่ยนไปและฟังทนสมัยมากขึ้น ไม่ได้ละตินจ๋าจนทิ้งความเป็น Korean pop และความสดใสของ NCT Dream เยี่ยมไปเลย

    • แม้ดนตรีและจังหวะต่าง ๆ จะคึกคักมาก Percussion บรรเลงละเอียดมากขึ้น แต่แนวร้องกลับมีความ lyrical เนิบ และสวยงาม มีแนวร้องที่สอดแทรกเข้ามาเหมือนเป็น conversation กัน มันทำให้ท่อนพรีคอรัสตรงนี้มีความสมบูรณ์แบบในตัวมันเอง พอเข้าสู่นาทีที่ 0:43 มีการกลับไปเริ่มต้นใหม่ในช่วงเสียงที่ต่ำและค่อย ๆ build ขึ้นอย่างเป็นขั้น มีเสียงแอดลิบในลักษณะตะโกนสอดแทรกให้เกิดความตื่นเต้น จนช่วงประโยคสุดท้ายที่กลับมาเริ่มไต่ระดับขึ้นใหม่ก็มีการเพิ่มแนวร้องประสานเสียงสูงคู่ 3 เข้าไปอีก บวกกับเสียง sound effect คล้ายเสียงลมที่มีการเร่ง dynamic ขึ้น นั่นทำให้ช่วงท้ายของ Pre-Chorus นั้นถูกเติมเต็มในทุกแง่มุม พาผู้ฟังไปถึงจุดพีคสุด!!.. ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับตาลปัตรในท่อน Chorus



    골라 ma' dish


    • เป็นการนำเข้าสู่ท่อน Chorus ที่ยิ่งกว่า Tokyo drift.. จากท่อนก่อนหน้าที่ค่อย ๆ ถูกเริ่ม build up มาตั้งแต่ต้นเพลงจนไปถึงจุดที่สูงที่สุด ท่อน Chorus กลับเริ่มต้นด้วยเสียงที่ต่ำอย่างน่าตกใจ เสียงพูดคำว่า 골라 ma' dish นั้นมีความต่ำถึงโน้ต F2 ซึ่งแตกต่างจากโน้ต Bb4 ตัวสุดท้ายของท่อน Pre-chorus มากกกกก range เสียงกว้างเกิน 2 Octaves ไหนจะบทสวดสเกล Chromatic อันแสนจะ mysterious จากช่วงต้นเพลงที่ถูกนำกลับมาชูให้โดดเด่น เบสหนักแน่นสลับกับกลองแต๊กกลับมาอีกครั้ง มีเสียง sound effect ที่ Glissando ไปมาเล็กน้อยสอดแทรกอยู่ และที่สำคัญที่สุดคือไร้ซึ่งคำร้องอื่นใด เห้ย บ้าไปแล้ว ท่อนคอรัสอะไรมันจะ minimal ได้ขนาดนี้! สิ่งเหล่านี้นั่นเองที่ทำให้คนหลายคนเกิดอาการช็อก ราวกับว่าปีนขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของยอดเขาแล้วกระโดดลงมาจากหน้าผาดำดิ่งสู่ห้วงลึกสุดของแม่น้ำฮอตซอสอันน่าพิศวง

    • ช่วงครึ่งหลังของคอรัส นาทีที่ 1:02 เสียงตะโกนที่ค่อนข้างสูงจากตอน Intro ถูกนำกลับมาอีกครั้ง นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มแนว Chromatic โดยใช้เสียง Synthesizer ที่มีลักษณะเนื้อเสียงแบบ Electronic สมัยใหม่ยังกับดนตรี EDM อย่างชัดเจน มีความคมชัด เสียดแทง และโดดเด่นมากเพื่อมาสู้กับเสียงตะโกนในท่อนนี้ ถ้าหากตั้งใจฟังจะยังคงได้ยินเสียงบทสวดงึมงำซ่อนอยู่ด้านล่างของแนวเสียงอันใหม่ด้วย โดยที่จังหวะของแนว Chromatic ในช่วงนี้จะกลับไปเหมือนในท่อน Verse ที่ช้าลงและเป็นจังหวะ Syncopated ..จะว่าไปก็คล้ายกับเพลง Kick Back ของ WayV ที่ดรอปก่อนแล้วค่อยจัดเต็มทีหลัง

    ตัวอย่างเพลง WayV - Kick Back นาทีที่ 1:08 ท่อน chorus ดนตรuดรอปลงจากท่อน Pre-Chorus ก่อนที่ดนตรีจะกลับมาหนักแน่นขึ้นในช่วงครึ่งหลังของท่อนฮุค



    • ดนตรีถูกดรอปหายไปทั้งหมดในห้องสุดท้ายของท่อนฮุคก่อนที่จะมีแนวเบสกับเสียงร้องฮู้ววว glissando ขึ้นเพื่อพาเข้าไปสู่ท่อน Verse 2 ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Verse 1 หากแต่แนวแร็พหลักในท่อนนี้มีการใช้ autotune ที่ทำให้เนื้อเสียงมีความเป็น Electronic มากกว่าช่วงแรกที่เสียงจะค่อนข้างสะอาดและใกล้เคียงเสียงพูดจริงมาก นอกจากนี้ยังมีแนวร้อง speaking-singing แนวตะโกนสอดแทรกเพิ่มขึ้นเยอะมาก (ตามสไตล์เพลงน้องดรีม) ตอนท้ายของช่วงนี้มีการดรอปเสียงเบสหายไปและใส่ effect คล้ายกับเสียง scratch แผ่นเพิ่มเป็นลุกเล่นให้เพลงมีความสนุก

    • ครึ่งหลังของ Verse 2 ที่คนน่าจะเข้าใจว่าคงจะเป็นช่วงที่มีทำนองมีตัวโน้ตที่ชัดเจนขึ้นเหมือนกับ Verse แรกนั้น กลับไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้ อ้าว ไหงกลายเป็นท่อนแร็พต่อ ทุกคนโดนหลอกกันอย่างถ้วนหน้า แต่นั่นก็ทำให้เพลงนี้ไม่รู้สึกว่าซ้ำจำเจ เดาทางได้หมด โดยที่ท่อนแร็พมีการเปลี่ยนจังหวะใหม่ ทั้งการเริ่มแร็พตั้งแต่ต้นห้อง มีความละเอียดและถี่มากขึ้น ไม่ค่อยมีช่วงเว้นว่างเหมือนก่อนหน้านี้ (โดยที่ก็ไม่ได้ใช้เสียงแอดลิบของคนอื่นมาเติมเต็ม)

    • อีกความน่าสนใจเล็ก ๆ คือการที่มีการดรอปเสียงเงียบไปช่วงสั้น ๆ ในนาทีที่ 1:25 ซึ่งแตกต่างจากช่วงที่ผ่านมาที่จะมีเสียงดนตรีลากค้างไว้ตลอด แถมการดรอปเสียงช่วงระหว่างกลางท่อนแบบนี้ยังทำให้อารมณ์ของเพลงเปลี่ยนได้ ความเงียบช่วงสั้น ๆ สามารถสร้างอิมแพคที่คนฟังหลายคนอาจไม่รู้ตัว


    SM เคยมีการทำเพลงออกมาที่มีลักษณะการผสมดนตรีละตินเอาไว้หลายครั้งแล้ว หนึ่งในเพลงที่มีความคล้ายคลึงกับเพลง Hot Sauce ในช่วงท่อน Pre-Chorus มากคือเพลง One More Time ของ Super Junior โดยหากลองฟังจะได้ยินสไตล์ของบีต การใช้กีตาร์ รวมไปถึง Chord Progression ที่เป็นเอกลักษณ์ของดนตรีประเภทนี้อย่างชัดเจน


    ตัวอย่างเพลง Super Junior X REIK - One More Time นาทีที่ 0:23


    • ท่อน Pre-Chorus รอบนี้แม้แนวทำนองร้องจะเหมือนกันแต่วิธีการร้องกลับแตกต่าง ในรอบแรก นาทีที่ 0:34 ประโยค 설탕이 발린 맛엔 คำว่า 탕 กับ 이 เป็นโน้ตตัว Gb ตัวเดียวกัน หากแต่มีการร้องที่บิดเสียงคำว่า 이 ให้เบาลง หลบ และเพี้ยนต่ำลงเล็กน้อย ส่วนใน Pre-Chorus รอบนี้นาทีที่ 1:32 찾게 될 걸 every day มีการร้องคำว่า 게 될 เป็นโน้ตตัวเดียวกัน เสียงเดียวกัน และแยกคำที่ชัดเจนมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะการออกเสียงคำที่แตกต่างกัน แต่ก็กลายเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าแตกต่างได้ นอกเหนือไปจากความหมายของเนื้อเพลง

    • พอมาถึงครึ่งหลังของ Pre-Chorus ในรอบนี้กลับไปได้เริ่มร้องแบบเดี่ยว ๆ แบบรอบแรกแล้ว แต่มีการร้องประสานเลย โดนที่แนวประสานไม่ได้มีการร้องโดยแสดงเนื้อเสียงที่ฟังคมชัดมากจนกลบแนวทำนองหลัก สิ่งที่เพิ่มเติมมาอีกอย่างคือแนว *Countermelody แทรกขึ้นมาในนาทีที่ 1:41 เป็นการร้องลากโน้ตเสียงสูงคล้ายแนวแอดลิบที่ช่วยเพิ่มความ lyrical ความไพเราะให้ท่อนนี้เข้าไปอีก (จะว่าแอบหลอนด้วยก็ได้นะ) แล้วพอเข้าสู่นาทีที่ 1:46 คราวนี้จัดเต็ม Baclground Vocals มาอย่างหนา มีเสียงประสานที่เติมในทุกช่องว่างของช่วงเสียง




    • เอาอีกแล้ว! ผู้เขียนคิดว่าจะได้ยินบทสวดท่อนฮุคในแบบเดิมอีกครั้ง แต่ไม่เลย เพลงของ NCT Dream ไม่เคยทำให้ผู้ฟังผิดหวัง แน่นอนว่าองค์ประกอบเดิมจากรอบก่อนยังอยู่คงเดิม แม้แต่คำว่า 골라 ma' dish ที่แม้จะถูกเปลี่ยนไปร้องในเสียงตัว Bb2 สูงขึ้นจากเดิม แต่กลับมีการเพิ่มแนว speaking-singing ที่เด่นขึ้นมาจนแทบจะทำให้เราหลงลืมสิ่งอื่นไปหมดเลย โดยแนวร้องนี้จะมีการเน้นตัวโน้ต Bb ซึ่งเป็นโน้ตหลักของเพลงนี้เยอะมาก เหมือนกับขุดหลุมฝังคนฟังให้จมลึกลงไปในเพลงนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก

    • แม้ครึ่งหลังของฮุคนี้จะยังเหมือนเดิมประมาณ 99% แต่อีก 1% ที่ไม่เหมือนคือการที่คำว่า 골라 ma' dish ที่เสียงดังชัดขึ้นมามากกว่าเป็นเสียงกระซิบ ได้ยินเป็นโน้ตตัว Bb อย่างชัดเจน ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้สึกเหมือนกำลังถูกสะกดจิตด้วยคำ ๆ นี้


    골라 ma' dish


    • Bridge ของเพลงนี้พลิกวงการดนตรีละตินอีกครั้งเมื่อเครื่องดนตรีทั้งหลายที่เคยมีมาก่อนหน้าหายไปเกือบหมด เหลือไว้แค่เบสกับเสียง snare ที่มีความคมและแหลมมากขึ้น แต่เสียง Harmony กลับกลายเป็น Synthesizer ที่มีเนื้อเสียงนุ่มนวล และคอร์ดที่ติดสไตล์แจ๊ส เปลี่ยนสีจากที่ค่อนข้างจะไปในทางดาร์คเพราะคีย์ Minor กลายเป็นสดใสมากขึ้น ดนตรีมีความเป็น Major ผสมผสานเข้ามา แต่ก็น่าแปลกที่ดนตรีท่อน Bridge ส่วนใหญ่มักจะเน้นเรื่องความไพเราะและเชื่อมต่อเพื่อเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ท่อนพีคที่สุดของเพลง แต่ Bridge ในเพลงนี้กลับมีช่วงที่เสียงดนตรีเงียบไป เกิดเป็นช่องว่างเยอะมาก

    • ด้วยจำนวนเครื่องดนตรีน้อยชิ้น ทำให้สามารถได้ยินแนวร้องได้ง่ายมาก ก่อนที่จะค่อย ๆ มีการเพิ่มแนวเสียงประสานและ Background Vocals เข้ามา ความน่าสนใจอยู่ที่นาทีที่ 2:19 ที่มีการเพิ่มแนวร้องเสียงต่ำลงไป 1 Octave ยาว ๆ ซึ่งตามหลักทฤษฎีดนตรีนั้น Parallel Octave ในลักษณะนี้จะไม่ค่อยถูกใช้บ่อยนัก ทำให้เพลงในช่วงนี้น่าสนใจและเป็นเสียงที่ไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก

    • นาทีที่ 2:24 ช่วงท้ายของ Bridge ที่โดยทั่วไปมักจะเน้นโชว์ความไพเราะ ความต่อเนื่องของไลน์ร้อง จำนวนโน้ตมักจะไม่เยอะมากและ simple เพื่อให้ผู้ฟังได้อิ่มเอมกับเสียงร้องอย่างเต็มที่ แต่เพลงนี้กลับแตกต่างอีกแล้ว! กลายเป้นมีการร้องที่กระแทกกระทั้น จังหวะถี่ เร็ว แยกคำอย่างชัดเจนจนแทบจะคล้ายการแร็พ ไม่ได้มีการไล่โน้ตสูงขึ้นอย่างที่ควรเป็น หรือแม้แต่คอร์ดของเพลงที่ก็ไม่ได้มีการ build up เลย มีเพียงแค่ sound effect ที่ไล่เสียงแหลมขึ้นเท่านั้น..

    • แต่ แต่ แต่!!! อยู่ดี ๆ ในตอนท้ายสุดก็มีการกระโดดไปร้องเสียงสูงแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ไม่มีการให้เราได้ตรียมตัวเตรียมใจก่อน โน้ตตัว Db ซึ่งเป็นตัว iii ของเพลงยิ่งทำให้เป็นแอดลิบที่แปลกไปอีก โดยปกติน่าจะเป็นตัว Bb หรือไม่ก็ F ซึ่งเป็นโน้ตที่สำคัญกว่า.. เสียงร้องลากยาว 1 ห้องไปพร้อมกับเสียงเบส Glissando ลง สวนทางเป็น Contrary Motion ทำให้เกิด range เสียงที่กว้าง ดนตรีขยายออกไปแบบสุดลูกหูลูกตาจนจับทางไม่ได้อีกครั้ง โอ๊ย มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เดาไม่ได้เลยว่าจะไปต่อท่อนต่อไปได้ยังไง




    • เพิ่มแค่ 1 ห้องมันไม่พอ ต้องเพิ่มอีก 1 extra เพื่อใช้สำหรับส่งไปยังท่อน Instru หรือ Dace break โดยท่อนนี้มีการใช้ Synthesizer สร้างเสียงที่เหมือนกับเสียงหวูดของเรือ บวกกับ sound effect เสียงเล็ก ๆ แหลมสูงที่ค่อนข้างแสบหู ไม่แค่นั้น ยังมีเสียงของเครื่องดนตรีที่ค่อนข้างใล้เคียงกับเสียงจริงของ Conga (กลองกีฬาสี) และ Bongo เรียกได้ว่า ไม่ทิ้งดนตรีสไตล์ละตินเลย มันสอดแทรกอยู่ทั่วไปหมดทุกท่อน

    • ท่อน Instru ของเพลงนี้ เอาอีกแล้วค่ะ เปลี่ยนไปจนแทบปรับตัวไม่ทัน ทั้งการใช้เสียงสังเคราะห์ที่มีความเป็นดนตรีสไตล์ EDM สูงมาก ไหนจะ Sound Effect ต่าง ๆ ที่คล้ายกับกำลังเล่นเกมส์ขับยานอวกาศ มีการใช้จังหวะ Dubstep มีเสียงที่มีความ Distorted จนหากฟังเสียงดังเกินไปอาจจะเกิดอาการแสบหูได้เลย แล้วไหนจะยังเบสโน้ตตัว Bb ดังลั่นประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของเพลงเพลงนี้ ที่จริงสไตล์ดนตรีก็ออกจะคล้ายพวกเพลงประกอบภาพยนตร์แอคชั่นฮีโร้ต่าง ๆ อยู่นะ การเน้นโน้ตตัว Tonic เยอะ ๆ โดยใช้ซาวด์หลายรูปแบบ โอ้โห นี่มันอะไรกันเนี่ย

    • นาทีที่ 2:39 มีการใส่เสียงกลุ่มเครื่องลมทองเหลือง (Brass) ที่ดังมาเป็นแผงยังกับพวกวง Jazz Big Band หลังจากนั้นมีเสียง Synthesizer ที่ค่อย ๆ ไล่เป็น Chromatic สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ อ้าว เห้ย! ไล่โน้ตลงมาทั้งเพลง ท่อนนี้ไล่ขึ้นบ้างแล้ว แล้วก็ยังมีกลอง Bongo อีก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกลับมีแนวแอดลิบที่นุ่มนวลไพเราะ กับเสียงพูด 골라 ma' dish กล่อมหูสะกดจิตเราอยู่ด้วย นับถือในความสามารถของผู้แต่งที่สามารถเอาทุกสิ่งเหล่านี้มารวมกันได้อย่างลงตัว


    อยากแนะนำให้หาหูฟังดี ๆ ใส่ หรือเปิดเพลงนี้จากลำโพง Stereo เนื่องจากจะสามารถได้ยินการแพนเสียงที่แตกต่าง ดนตรีที่ออกจากทั้งสอง Chanel ซ้ายขวาไม่เหมือนกัน ซึ่งคนทำเพลงตั้งใจใส่ลูกเล่นมาในช่วง Instru หรือ Dance break นี้เยอะมาก ๆ เสียงสลับไปมาตลอด ถ้ายังไงลองฟังด้วยอุปกรณ์ที่ดีแล้วคุณจะรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับดนตรียิ่งขึ้นไปอีก


    • 2:53 กลับเข้าสู่ท่อน Chorus แบบงง ๆ ซึ่งเป็นท่อนฮุคที่มีความคล้ายกับท่อนฮุครอบที่สอง แต่มีการเพิ่มแนวแอดลิบเพราะ ๆ ขึ้นมาเยอะมาก โดยเฉพาะตรงช่วง 2:57 ที่แทบจะกลายเป็น Countermelody เสริมขึ้นมา (สไตล์ยูยองจิน)

    • ช่วงท้ายของเพลงทุกอย่างถูกเพิ่ม volume ขึ้นมาแข่งกัน ราวกับว่าต้องการจะประกาศเป็นครั้งสุดท้ายถึงความเป็ดร้อนในตัวที่ถูกเก็บเอาไว้ไม่อยู่ ต้องปลดปล่อยออกมาให้หมด เสียงตะโกน range สูง ๆ ถูกใช้ในการปิดเพลงทำให้เพลงนี้มีความ hype ยันวินาทีสุดท้าย แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสียงร่ายมนตร์ 골라 ma' dish ในช่วงเสียงที่ต่ำมากไปด้วย โน้ตตัว F2 นี้เองที่อาจทำให้คนฟังหลายคนรู้สึกว่าฟังแล้วเพลงยังไม่จบดี เนื่องจากเพลงดันไม่ได้จบด้วยโน้ตตัว Bb ซึ่งเป็นโน้ตหลัก ดันไปจบเป็น Half Cadence ราวกับเป็นแค่เพียงจุดพักตรงกลางเพลงเท่านั้น..



    • - จบเพลง -




      โครงสร้างของเพลง Hot Sauce

      INTRO                          0:00-0:14

      VERSE 1                       0:14-0:33

      PRE-CHORUS              0:33-0:52

      CHORUS                      0:53-1:11

      VERSE 2                       1:11-1:30

      PRE-CHORUS              1:30-1:50

      CHORUS                      1:50-2:09

      BRIDGE                       2:10-2:31

      INSTRU                        2:31-2:52

      CHORUS                      2:52-3:12



      บทสรุป


      คุ้มค่าแห่งการรอคอยตลอดหลายปี กับบทเพลงไตเติ้ลประจำอัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกของ NCT Dream ที่อาจเรียกได้ว่าสร้างปรากฏการณ์ใหม่ของวงการ K-pop เลย ทั้งการใช้ Chromatic เป็นตัวดำเนินหลัก ไหนจะเสียงงึมงำพึมพำยังกับสวดมนตร์ และการกล่อมประสาทสะกดจิตเราด้วยคำเดิมซ้ำ ๆ ไปมา ส่วนตัวมองเลยว่าเพลงนี้เป็นเหมือนการร่ายเวทมนตร์ พาเราเข้าไปอยู่ในฝันที่มีขึ้นมีลงตลอดเวลา มีช่วงที่เราเหมือนกำลังจะตื่นและหลุดออกจากฝัน แต่เราก็ถูกร่ายมนตร์ใส่ซ้ำไปอีก หนีไปไหนไม่ได้เลย

      แม้การนำดนตรีละตินมาผสมอาจไม่ใช่สิ่งใหม่อะไร แต่คงไม่มีเพลงไหนที่ทำออกมาได้ฉีกแหวกแนวในเพลงเพลงเดียวกันเองมากขนาดนี้ กีตาร์โปร่งอยู่ดี ๆ EDM Dubstep มาไงกันนะใใ อีกความน่าสนใจกHคงจะเป็นเทรนด์ของวงการเพลง K-pop (หรืออาจจะแค่ใน SM) ในช่วงนี้ที่หลายเพลงจะมีการ build up อารมณ์ในท่อน Pre-Chorus ตามปกติ แต่พอเข้าสู่ท่อน Chorus ดนตรีกลับดรอปลงมา ตั้งแต่เพลง Monster ของ SuperM หรือแม้แต่เพลง Kick Back ของ WayV เองก็มีสไตล์นี้ ก่อนที่จะค่อย ๆ มีการเพิ่มความยิ่งใหญ่ของท่อนฮุคในช่วงครึ่งหลัง ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ การที่เพลงมีสไตล์แบบเดิม สามารถคาดเดาได้ มันแอบน่าเบื่อ ไม่มีอะไรให้เราได้ลุ้นได้ตื่นเต้น

      อีกประเด็น เชื่อว่าจะต้องมีหลายคนที่รู้สึกว่าเพลง Hot Sauce ช่างแตกต่างจากเพลงของน้องดรีมที่ผ่าน ๆ มา หากแต่ถ้าลองสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเพลงนี้ประกอบไปด้วย element ต่าง ๆ ที่นำเสนอความเป็นน้องดรีมมาโดยตลอดตั้งแต่เดบิวต์จนถึงทุกวันนี้ ทั้ง Chromaticism ที่ถูกขยาย, การเน้นแนวเบสกับร้องเป็นหลัก ไม่ค่อยมีเสียงประสานในช่วง range กลาง ๆ ทำให้เพลงค่อนข้างโปร่ง, แนวตะโกนแอดลิบสอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเพลง, การเน้นย้ำคอร์ดหลักของเพลง จำนวนคอร์ดที่ค่อนข้างน้อยและเน้นคอร์ดมาตรฐาน, การร้องโน้ตซ้ำหรือแพทเทิร์นซ้ำเพื่อให้จดจำง่าย, การใช้ Synthesizer เสียงสังเคราะห์ค่อนข้างเยอะ และแน่นอนว่าความสนุกสนานที่ยังคงมีให้ได้ยินตลอดแม้จะเป็นดนตรีสไตล์ละตินที่ให้ความรู้สึกเป็นผู้ใหญ่ มีความเซ็กซี่ เร่าร้อน เหมือนกับซอสพริกเผ็ด ๆ

      อย่างไรก็ดี เพลงนี้มีสิ่งใหม่เพิ่มเข้ามามากมายให้เราได้แปลกใจอยู่ตลอดทั้งเพลง ประทับใจในการไม่เคยทิ้งคอนเสปต์ความเป็น Neo Culture Technology ที่มักจะเป็นผู้นำเทรนด์ ทำสิ่งที่ผู้อื่นไม่ทำ นี่คือความน่าสนใจของดนตรีในจักรวาล NCT ที่ผู้เขียนอยากให้ทุกคนได้เปิดใจฟังรายละเอียดต่าง ๆ เหล่านี้ และ appreciate กลุ่มคนเบื้องหลังที่สร้างสรรค์งานศิลปะดี ๆ ออกมาให้พวกเราทุกคนได้ฟังกัน



      ดนตรีคือภาษาสากล
      หากคุณเปิดใจ คุณก็สามารถเข้าถึงได้
      เพลงของ NCT Dream คืออีกภาษาที่อยากให้ทุกคนได้ทดลองเรียนรู้

      ไม่ต่างกับการชิมอาหารใหม่ ๆ
      หากคุณได้ลิ้มลอง คุณอาจค้นพบว่า Hot Sauce อร่อยกว่าที่คาด




      อ่านจบแล้วอย่าลืมกดดู MV เพลง Hot Sauce อีกรอบด้วยนะ!



Views

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in
skeletonflowerw (@skeletonflowerw)
มาเป็นกำลังใจและขอบคุณมากๆ อีกครั้งนะคะ เห็นด้วยหลายอย่างเลย ชอบมากที่ได้ยินเสียงกีต้าร์ในะเพลงนี้ มันแบบรู้สึกว่าน้องเป็นหนุ่มขึ้นจริงๆ ฮุคอยากท่องแล้วเต้นไปด้วยมาก กะบริดจ์คือเราคาดหวังเลยพอเพลงออกมาเท่านั้นแหละ หลายคนจะคาดหวังบริดจ์ Sm แต่อันนี้แปลกใหม่ ไม่ผิดหวังเลย ชอบมากที่แนวดงตรีหลากหลายขนาดนี้ เพลงเดี๋ยวแต่โชว์ศักยภาพหลายด้านทั้งน้องๆ ทีมงาน ขอบคุณมากๆ นะคะ ?
ryeomook (@ryeomook)
@skeletonflowerw ขอบคุณมากเลยนะคะ ส่วนตัวก็คาดหวังหลายอย่างแล้วไม่เป็นตามที่หวัง แต่ไม่ได้ใช้คำว่าผิดหวังนะคะ แค่เดาไว้ไม่ถูก แต่มันทำให้รู้สึกตื่นเต้นตลอดการฟังเพลงเลยค่ะ กลับไปย้อนฟังกี่ครั้งก็ยังตั้งคำถามกับเพลงตลอด นี่แหละความน่าสนใจของเพลง