บันทึกการเดินทางไปเที่ยวเกาะกูด 3 วัน 2 คืนครั้งแรกในชีวิต
นับตั้งแต่อายุ 11 ขวบเป็นต้นมา เราไม่ได้มีโอกาสเดินทางไปพักค้างคืนและเที่ยวทะเลอีกเลย
จนกระทั่งเมื่อ 2 เดือนที่แล้วที่เราได้ตัดสินใจเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนเพื่อนเก่าสมัยมัธยมฯ
ในกลุ่มซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อปีที่แล้วสำหรับการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกันโดยเฉพาะ
ช่างน่าเสียดายที่ปีที่แล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รุนแรงมาก ๆ
แผนการที่เราอุตส่าห์วาดฝันสวยงามเอาไว้ว่าจะไปเที่ยวทะเลด้วยกันจึงถูกล้มเลิกไป
แต่เมื่อเกลียวคลื่นเพรียกหา ฝนฟ้าเหมือนเป็นใจ และร่างกายต้องการทะเลอย่างรุนแรง
เราจึงได้ตัดสินใจออกปากชักชวนเพื่อนเก่าอีก 5 คนเหล่านั้นไปเที่ยวทะเลด้วยกันอีกครั้ง
และเมื่อทุกคนลงความเห็นว่าอยากไปเกาะกูด เราเองที่ไม่เคยไปที่นั่นจึงตกปากรับคำทันที
แน่นอนว่าช่วงแรก ๆ มีเพื่อนในกลุ่มได้ปฏิเสธที่จะไม่ไปเพราะตารางงานยังคงไม่แน่ไม่นอน
แต่เมื่อทริปเกาะกูดได้อุบัติขึ้นมาระหว่างวันหยุดยาวพิเศษ 5 วันที่นานทีปีหนจะมีสักครั้ง
มิตรสหายหลายคนที่บอกว่าทีแรกขอถอนตัวไม่ไปกลับเปลี่ยนใจที่จะขอร่วมทริปด้วยทันที
โชคดีนักที่เราตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะเดินทางไปเกาะกูดในช่วงฤดูฝน (Green season)
ราคาค่าเรือและค่าที่พักในช่วงฤดูมรสุมนั้นจึงถูกมากกว่าราคาปรกติหลายเท่าตัวนัก
ยิ่งตั้งใจขับรถยนต์ไปกันเองด้วยแล้ว ยิ่งถูกเข้าไปใหญ่เมื่อนำค่าใช้จ่ายในทริปมาหารกัน
และแล้ว ทัวร์สุดเหวี่ยงไม่ปุบปับท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ที่กลับมาระบาดใหม่อีกระลอกหนึ่งจึงถึงคราวอุบัติขึ้นมาจนได้
วันที่ 1
ราว ๆ ตี 4 นิด ๆ คือช่วงเวลาที่ล้อทั้งสี่ของรถยนต์ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารรวมคนขับจำนวน 6 คน
และสัมภาระเริ่มหมุนออกจากกรุงเทพมหานคร ก่อนจะตียาวและพักอีกครั้งเมื่อถึงจังหวัดระยอง
ตอนประมาณ 6 โมงครึ่ง ทุกคนล้วนแล้วแต่แต่งตัวสบาย ๆ เหมือนอยู่บ้าน จะมีก็แต่เจ้าของบทความ
ที่กำลังนั่งพิมพ์บรรทัดนี้อยู่เพื่อบันทึกเหตุการณ์เท่าที่จะทำได้ที่แต่งองค์ทรงเครื่องจัดเต็มอยู่คนเดียว
เมื่อถึงบริษัทเดินเรือที่เราได้ทำการจองที่นั่งไว้ คณะทัวร์ของเราจึงเข้าไปรายงานตัวท่ามกลางสายฝน
ก่อนจะขึ้นรถรับส่งเพื่อเดินทางไปยังท่าเรือแหลมศอก แล้วจึงขึ้นเรือเฟอร์รี่ที่มีของแถมแห่งความระทึก
เป็นกลิ่นอ้วกจากการเมาคลื่นของผู้โดยสารบางคนและกระจกที่ถูกยางล้อรถยนต์ที่ผูกไว้กับโป๊ะเรือ
ชนเข้าอย่างจังจนเกิดเป็นรอยร้าวซึ่งแตกเป็นเสี่ยง ๆ การเดินทางข้ามทะเลที่ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง
สิ้นสุดลงเมื่อถึงอ่าวสลัด ณ เกาะกูดเป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้น เมื่อเทียบกับการนั่งรถสองแถว
ขึ้นเขาลงเขาหลายลูกเพื่อไปยังที่พักแรม ก่อนจะเสียขวัญเพิ่มเมื่อพนักงานต้อนรับบอกว่า
แสงแดดไม่ออกเลยตั้งแต่วันที่ 9 ที่ผ่านมา ยังดีที่ห้องที่จองไว้เหม็นสี ชาวคณะทุกคนจึงได้ถูกย้ายมายัง
ห้องที่มีความกว้างและมีราคาแพงกว่าเดิม ทว่าไม่รู้เป็นบุญกรรมทำมาแต่ปางใด สุดท้ายเราและเพื่อน
กลับได้เห็นพระอาทิตย์ตก และนั่นทำให้เราโล่งใจว่าไม่ได้ทำให้ทุกคนเฟลเพราะมาทะเลแล้วเจอแต่ฝน
ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วจะไม่ได้เห็นซูเปอร์ฟูลมูนในคืนเดือนเพ็ญของวันอาสาฬหบูชาเพราะฝนถล่มก็ตามที
วันที่ 2
เพราะทุกคนอยากตื่นขึ้นมาให้ทันอาหารเช้าแต่ก็กลัวตื่นไม่ไหว เราจึงขอทำหน้าที่เป็นคนปลุกทุกคนตอน 8 โมงครึ่ง หลังจากการรับประทานอาหารเช้าจบลง เราจึงตัดสินใจไปเดินเล่นบนชายหาดด้วยกัน
ทว่าไม่ทันไรฝนกลับไล่ตกใส่เราให้กลับห้องพัก สาวสาวสาวกับหนุ่มหนุ่มหนุ่มจึงได้ตัดสินใจเข้ามา
พักผ่อนภายในห้องตัวเอง ก่อนจะฆ่าเวลาด้วยการเล่นเกมปาหี่ แล้วจึงออกไปตะลอนเที่ยวรอบเกาะ
ด้วยการเช่ารถจักรยานยนต์ และนั่นทำให้ทริปขนาดย่อของการเที่ยวรอบเกาะกูดได้เริ่มต้นขึ้น
อันดับแรกคือการแวะไปเติมน้ำมันให้เพียงพอสำหรับการท่องเที่ยว จากนั้นจึงเริ่มบุกตะลุยไป
ถนนหนทางแต่ละเส้นและก้าวย่างแต่ละก้าวที่ผ่านพ้นทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังขึ้นรถไฟเหาะ
ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเขาลงเขาหลายลูกติดต่อกัน มีทั้งทางชันน้อยไปจนถึงชันมาก รวมถึงทางโค้ง
ไหนจะอุปสรรคเป็นกระดูกชิ้นโตคือสายฝนที่ตกปรอย ๆ ลงมาเรื่อย ๆ และถนนที่ลื่นพอสมควร
สุดท้ายจึงไปจบที่อ่าวพร้าวซึ่งเป็นอ่าวที่อยู่ท้ายสุดของเกาะ รวมถึงการรับประทานอาหารกลางวัน
ณ คลองขนาดกลางที่สามารถพายเรือมาถึงทะเลได้ ทั้งยังแวะคาเฟ่เจ้าดังเพื่อพักดื่มน้ำเติมพลัง
ก่อนจะพากันกลับมาชมพระอาทิตย์ตกดินที่หาดตะเภาและเดินทางกลับที่พักท่ามกลางความมืด
วันที่ 3
ในโลกแห่งความฝัน วันสุดท้ายของทริปควรเป็นวันพักผ่อนที่เกิดความเครียดน้อยที่สุด
ทว่าในโลกแห่งความจริง วันสุดท้ายของทริปเกาะกูดกลับเป็นวันวินาศสันตะโรโดยแท้จริง
เริ่มตั้งแต่การเดินทางออกจากที่พักไปยังอ่าวสลัดพร้อมกับห่าฝนซึ่งตกหนักถึงหนักมาก
ก่อนจะพังพินาศกว่าเดิมเมื่อต้องประสบกับผู้โดยสารภายในเรือเฟอร์รี่ที่เยอะเกินกว่าปรกติ
จนไม่มีที่นั่งเพียงพอสำหรับเรากับเพื่อน สุดท้ายเลยต้องพากันเดินไปข้างนอกห้องแอร์และ
ได้รับการจัดที่นั่งให้อยู่บริเวณท้ายเรือซึ่งมีความเสี่ยงและอันตรายต่อชีวิตเป็นอย่างมาก
และนั่นทำให้กำหนดการที่ล้อรถยนต์ควรหมุนออกจากท่าเรือแหลมศอกถูกเลื่อนออกไป
แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย พาหนะสี่ล้อจึงพุ่งตรงกลับกรุงเทพมหานครทันทีทันใด
ก่อนจะแวะพักยังร้านอาหารเจ้าเก่าแก่ชื่อดังภายในตัวอำเภอเมืองของจังหวัดตราด
จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังจังหวัดนนทบุรีอันเป็นที่พำนักของชาวคณะและแยกย้ายกันกลับบ้าน
บทสรุป
เกาะกูด ตูดแฉะ แกะปู สามคำนี้คงเหมาะที่จะใช้นิยามทริปหฤหรรษ์ข้างต้นได้ชัดเจนที่สุด
เพราะถึงแม้ว่าทริปเกาะกูดจะทำให้ทุกคนรู้สึกลำบากในการเดินทางท่ามกลางสายฝน
ทั้ง ๆ ที่ทีแรกคิดว่ามาที่นี่คงต้องร้อนระอุมากแน่ ๆ กลายเป็นหนีร้อนมาพึ่งเย็นเสียอย่างนั้น
แถมบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังอันตรายร้ายแรงเกินกว่าจะขอเอาชีวิตที่ใช้มาไปเสี่ยงด้วย
ไหนจะมาเจอกับอาหารแต่ละมื้อที่พอไปวัดไปวาและไม่ได้ถูกปากจนอยากกินซ้ำอีกครั้ง
ทว่าค่าใช้จ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเกือบครึ่งหมื่นกลับไม่ได้ทำให้เรานึกเสียใจที่ได้ไปที่นี่กับเพื่อน
เพราะสิ่งที่ได้รับกลับมาเป็นสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนนั่นคือมิตรภาพ
บางคนที่ไม่เคยเจอกันได้มีโอกาสทำความรู้จัก บางคนรู้จักกันอยู่แล้วได้รู้จักกันมากขึ้นกว่าเดิม
ถ้าหากจะให้ขอบคุณเพื่อนร่วมทริปซักคนคงจะกล่าวคำขอบคุณเฉพาะรายบุคคลไม่ได้เด็ดขาด
เพราะสำหรับเราแล้ว ความสำคัญของการเดินทางไปกับกลุ่มเพื่อนไม่ใช่สิ่งที่ได้พานพบระหว่างทาง
หรือจุดหมายปลายทางที่กำลังจะได้พบพานในเวลาอันใกล้ ทว่ากลับเป็นเพื่อนร่วมทางต่างหาก
ที่ทำให้การเดินทางในครั้งนี้ควรค่าแก่การจดจำว่าครั้งหนึ่งเราเคยเดินทางไปยังเกาะกูด
...ด้วยกัน
พรชา จุลินทร (สบาย)
16 กรกฎาคม 2565
01.03 น.
เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น
Log in