เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สามล้อถีบ คนไทยไม่พูดถึงWe Hello
สามล้อถีบ คนไทยไม่พูดถึง ตอน 2 : สามล้อถีบเคยครองกรุงเทพฯ
  • ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา รถสามล้อถีบ ได้รับความนิยมในกรุงเทพฯและแถบปริมณฑล ทำให้รถเจ๊กหรือรถลาก[1]ที่ได้รับความนิยมก่อนหน้ารถสามล้อถีบ เริ่มถูกลดบทบาทลง ทำให้ผู้ประกอบการรถลากเปลี่ยนมาทำธุรกิจอู่เช่ารถสามล้อถีบแทนนำรถลากมาดัดแปลง เป็นรถสามล้อถีบหรือบางกลุ่มลงทุนซื้อรถสามล้อถีบ ทำให้ในปี พ.ศ.2479  กระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎหมาย พ.ร.บ. ล้อเลื่อนขึ้น เพื่อให้รถสามล้อถีบมีมาตรฐานเหมือนๆกันทุกคัน

    ทางกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดรถสามล้อถีบ 2 ประเภท คือประเภทแบบรถบรรทุกสิ่งของ และประเภทรับส่งผู้โดยสาร ในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ล้อเลื่อน ปี พ.ศ. 2479 ดังกำหนดต่อไปนี้

    ตัวอย่างประเภทรับส่งผู้โดยสาร[2]

    1. ผู้ขับขี่นั่งอยู่ตอนหน้าผู้โดยสารนั่งตอนหลัง

    2. ตัวรถสำหรับผู้โดยสารมีรูปเป็นตัวถัง

    3. มีประทุนกันฝนและแดดสำหรับผู้โดยสาร

    4. ระยะห่างระหว่างล้อหลังต้องไม่น้อยกว่า1 เมตร และไม่เกินกว่า 1.10 เมตร

    5. มีน้ำหนักไม่เกิน 80 กิโลกรัม

    6.มีโคมไฟข้างหน้าไม่น้อยกว่า 1 ดวง โดยใช้กระจกสีขาวด้านหน้าสีแดงด้านหลังติดให้เห็น ส่วนกว้างของตัวถัง โดยให้เห็นแสงไฟทั้งจากข้างหน้าและข้างหลัง

    7. มีห้ามล้อที่ใช้การได้ดีไม่น้อยกว่า2 อัน

    หลังกระทรวงมหาดไทย ออกกฎหมาย พ.ร.บ.ล้อเลื่อนขึ้น ในปีเดียวกัน (พ.ศ. 2476) มีเหตุการณ์สำคัญอย่างคนทำอาชีพรถลากร้องเรียนรัฐบาลถึงความไม่เป็นธรรมระหว่างรถลากกับรถสามล้อปล่อยให้รถสามล้อมีอิสระในท้องถนน ส่งผลให้รถลากได้รับผลกระทบ นายจงฮี้ และกลุ่มเจ้าของรถลาก ทำหนังสือร้องเรียนมายังรัฐบาลให้เหตุผลว่า “จำกัดรถลากแค่ 3,000คัน มายาวนานมาถึง 40 ปีแต่รถสามล้อถีบกลับไม่ได้ถูกจำกัดเหมือนรถลาก ส่วนเรื่องภาษีรถลากต้องเสียภาษีให้กับรัฐปีละ 24 บาทโดยแบ่งเป็น 2 งวด งวดละ 12 บาท แต่รถสามล้อเสียภาษีแค่ 12 บาทต่อปี

     

    “รถลากถูกจำกัดแค่ 3,000 คันเท่านั้นเองและจำกัดมาเป็นเวลา40 ปีแล้ว แต่ในทางเดียวกันกระทรวงมหาดไทยกลับอนุญาตให้รถสามล้อตั้งเป็นอาชีพเพื่อแข่งขันกับรถลากโดยไม่จำกัดจำนวนส่วนในเรื่องของภาษี รถลากต้องเสียภาษีให้กับรัฐปีละ 24 บาทโดยแบ่งเป็น2 งวด งวดละ 12 บาทแต่ในทางกลับกันจักยานลามล้อ รัฐบาลรัฐบาลเรียกเก็บภาษีแค่ 12 บาทเท่านั้น โดยนายจงฮี้และกลุ่มเจ้าของรถลากเห็นว่ารถลากกับรถสามล้อเป็นอาชีพที่คล้ายๆ กันควรเก็บภาษีเหมือนๆกันหรือไม่ก็ขอเก็บเท่ารถสามล้อถีบ โดยการเขียนหนังสือไปให้รัฐบาลนี้ได้เขียนเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2479”[3]

     

    ทาทีของรัฐบาลกลับเงียบเฉยปล่อยให้รถลากค่อยๆหมดความนิยม แถบในปี พ.ศ. 2481สมัยจอมพล ป. ได้ออกกฎหมายคุ้มครองอาชีพสำหรับคนไทย เช่นอาชีพหาบเร่, ขายอาหาร, ตัดผม, การค้าหมู,การจ้างงานในโรงฆ่าสัตว์ และปั่นรถสามล้อถีบ เป็นต้น[4]การออกกฎหมายครั้งนี้ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น และกลุ่มชาวนาต่างจังหวัดได้อพยพเข้ามาแสวงหาโชคชะตาในกรุงเทพฯมากขึ้น  ดังอาชีพปั่นรถสามล้อถีบเดิมทีรถสามล้อมีประมาณ 1,000 คัน(พ.ศ. 2476) ในปี พ.ศ. 2493 รถสามล้อถีบเพิ่มมากขึ้นถึง 13,000 คัน[5]ส่วนรถลากหรือรถเจ๊ก เริ่มทยอยหายจากกรุงเทพ
    จนมาถึงปี พ.ศ. 2496 รถลากถูกประกาศห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพฯทำให้การบริการ รับ-ส่ง ในกรุงเทพฯ เหลือแต่รถสามล้อถีบ ดังหลักฐานจากหนังสือพิมพ์ สยามนิกร ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496กล่าวว่า “จับรถลากและรถม้า”

     

    “...หลังจากรัฐบาลประกาศห้ามมิให้รถลากและรถมาเข็นเดินตามถนนในเขตพระนคร-ธนบุรีปรากฏว่าคณะนี้ยังมีรถลากบรรทุกของอยู่อีก เมื่อ 2กุมภาพันธ์นี้ ตำรวจระดมจับการใหญ่ รถลากถูกปรับ 10,12, และ15 บาท เป็นการที่จักรวรรดิตำรวจจำกุมรถลาก ชาวจีนยังคงรับจ้างบรรทุกของได้ 22 คันทุกคนถูกปรับคนละ 12 บาท ในท้องที่โรงพักกลางจับได้ 8คัน ปรับคนละ 50 บาท เขตโรงพักสามแยก 17คัน คันละ 10 บาท...”[6]


       ความนิยมรถสามล้อถีบสมัยในกรุงเทพฯ (ซ้าย) รถสามล้อบนถนนเจริญกรุง ประมาณปี พ.ศ. 2493, (ขวาล่าง)มีรถสามล้อกับรถลากและ(ขวาบน)รถสามล้อถีบบริเวณบนถนนเยาวราช
                                                 ที่มา :  http://blogazine.in.th/blogs/iskra/ post/3946noramio.com.s


    [1] รถลากหรือรถเจ๊กหมายถึง ยานพาหนะสำหรับให้ผู้โดยสารนั่ง มีล้อขนาดใหญ่ 2 ล้อลักษณะเหมือนเกวียน มีคนจีนเป็นผู้ลาก

    [2]  อภิโชค แซ่โค้ว. วิวัฒนาการยานพาหนะทางบกของไทย, กรุงเทพฯ : เอส.ที.พี.เวิร์ล มีเดีย, 2541, หน้า 46.

    [3] พรรณี บัวเล็ก.  กุลีลากรถกับประวัติศาสตร์แรงงานไทย,  กรุงเทพฯ : พันธกิจ, 2546, หน้า 190.

    [4] ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเคอร์.  เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ.เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม, 2546, หน้า 234.

    [5] เอนกนาวิกมูล.  เมืองไทย 2495-2519, กรุงเทพฯ : สายธาร, 2553, หน้า 44.

    [6] เล่มเดียวกัน.หน้า155.

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in