เราใช้คุ๊กกี้บนเว็บไซต์ของเรา กรุณาอ่านและยอมรับ นโยบายความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้บริการเว็บไซต์ ไม่ยอมรับ
สามล้อถีบ คนไทยไม่พูดถึงWe Hello
สามล้อถีบ คนไทยไม่พูดถึง ตอน 1 : สามล้อถีบคันแรก
  •                             "คนถีบสามล้อ ปัจจุบันหาดูยากมาก วันนี้จึงบันทึกความเป็นมา

                                                ก่อนเลือนราง ไม่เห็นในประเทศไทย"  

    สามล้อถีบคันแรกในประเทศสยาม

    รถสามล้อถีบหรือเรียกเต็มคำว่า รถจักรยานสามล้อ เป็นพาหนะใช้แรงคนถีบขับเคลื่อน เริ่มปรากฏในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2476 สร้างขึ้นโดยคุณเลื่อนพงษ์โสภณ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช [1]

     

    “...ข้าพเจ้าได้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งขึ้นมาว่าข้าพเจ้าจะต้องทำสามล้อคือมีล้อหน้า 1 ล้อและล้อหลัง 2 ล้อ มีคนขับข้างหน้า 1 คนนั่งข้างหลัง 2 คน มันคงจะดีแน่ๆ…”[2]

     

    คำกล่าวข้างต้น เป็นความรู้สึกแรกจากบันทึกของคุณเลื่อน พงษ์โสภณ บันทึกของคุณเลื่อนเริ่มแรกได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างรถสามล้อถีบ ใช้ทั้งระยะเวลา  และความพยายามมาก เพราะการเริ่มต้นสร้างรถสามล้อถีบมีปัญหาตั้งแต่โครงสร้างของรถสามล้อถีบ ดังคำบันทึกว่า

     

    “...การทำคราวแรกสัดส่วนมันไม่ได้ความเลย ข้าพเจ้าพยายามแก้ไขเรื่อยๆ มันก็ทยอยดีขึ้นมาทีละเล็กน้อยแต่ในขณะนั้นยังไม่เคยเอารถออกแล่นต่อมาเมื่อเห็นรถพอใช้ได้แล้วมีสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าแก้ไม่ตกนั้นก็คือเมื่อถึงเวลาที่ข้าพเจ้าจะเลี้ยวรถไปทางซ้ายหรือทางขวาตาม ซี่ล้อที่ติดอยู่กับล้อนั้นถ้าเลี้ยวซ้ายซี่ล้อทางซ้ายจะหักทันที ถ้าเลี้ยวขวาซี่ล้อทางขวาก็จะหักทันทีไม่ใช่แค่เพียงซี่เดียว แต่หักหลายๆ ซี่เสียด้วย ตอนนี้ทำให้ข้าพเจ้าหมดปัญญา...”[3]

     

    คุณเลื่อนได้พยายามผลิตรถสามล้อถีบเพื่อให้ได้จดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ เริ่มแรกคุณเลื่อนผลิตอยู่ 3 รูปทรงก่อนออกมาเป็นรถสามล้อถีบ ที่เราเห็นกันในปัจจุบันรูปทรงแรก คือ รถสี่ล้อถีบข้างหน้า 2 ล้อ และมีรถพ่วงท้ายอีก2 ล้อ ทำคล้ายๆ แบบรถของอินโดจีน แต่ไม่ได้รับจดทะเบียน,รูปทรงที่สอง คือ รถสามล้อข้างหน้า 2 ล้อ ข้างหลัง 1 ล้อ เมื่อไปขอจดทะเบียน ก็ไม่ได้รับการจดทะเบียนเช่นเคย,จนความพยายามมาถึงครั้งที่ 3 เป็นรูปทรงสุดท้าย คุณเลื่อนได้ดัดแปลงให้รถเป็นข้างหน้า1 ล้อ และข้างหลัง 2 ล้อ เมื่อนำไปจดทะเบียนในกรุงเทพฯผลปรากฏว่าได้รับจดทะเบียนในที่สุด

     

    “..ในขั้นต้นข้าพเจ้าทำเป็นรถข้างหน้า 2 ล้อและมีรถพ่วงท้ายอีก 2 ล้อ ทำแบบอินโดจีนไปจดทะเบียนเขาไม่ให้ จึงเริ่มทำใหม่อีก 1คัน คือข้างหน้าเป็น 2 ล้อ ข้างหลังล้อเดียวไปขอจดทะเบียนเขาก็ไม่ให้อีกต่อมาจึงทำเป็นรถ 3 ล้อ คือข้างหน้าล้อเดียว และข้างหลัง 2ล้อไปขอจดทะเบียนเขาก็กลับบอกว่าให้ไปขอกับ หลวงอดุลเดชจรัสถ้าเขาให้ก็มาจดทะเบียนได้...”[4]

     

    นำรถสามล้อไปจดทะเบียนที่กรุงเทพฯ  และทดสอบปั่นสามล้อด้วยตนเอง นายทะเบียนได้อนุมัติจดทะเบียนรถสามล้อถีบให้คุณเลื่อนเป็นจำนวน50 คันค่าจดทะเบียนประมาณ 3 บาท ”...คุณหลวงก็ลงมาบอกกับข้าพเจ้าได้แล้วอนุญาตให้ 50 คัน ให้มาจดทะเบียนที่กองทะเบียนได้ ข้าพเจ้าดีใจเป็นที่สุดแล้วบอกกับคุณหลวงว่าอีกสักเดือนหนึ่งจึงมาจดทะเบียน ส่วนทุนการสร้างรถสามล้อตกประมาณ80 บาทต่อคัน...”[5]

    เมื่อรถสามล้อถีบได้รับจดทะเบียนคุณเลื่อนนำรถสามล้อถีบ ให้ผู้คนในกรุงเทพฯได้เช่า
    ช่วงแรกผู้คนไม่คุ้นเคยกับรถสามล้อถีบ ทำให้ไม่มีใครมาเช่าและไม่มีใครกล้าขึ้นรถสามล้อ แต่คุณเลื่อน พยายามแก้ไข ให้สตางค์ เด็กๆ คนละ 5 สตางค์ มาขึ้นรถสามล้อถีบและขณะนั้นคุณเลื่อนได้บังเอิญเจอกับคุณลุงขี้เมา มาขอลองปั่นสามล้อถีบ พอปั่นไปได้สักระยะลุงขี้เมากลับติดใจรถสามล้อถีบ เที่ยวป่าวประกาศบอกใครต่อใครว่ารถสามล้อถีบคันนี้ดีมากทำให้ผู้คนเริ่มสนใจรถสามล้อถีบของคุณเลื่อน

     

    “...ข้าพเจ้าให้เงินเด็ก 4 คน เป็นเงินทั้งหมด 20 สตางค์แล้วพวกเด็กๆก็นั่งรถข้าพเจ้าทันทีส่วนอีกสองคนนั้นนั่งข้างบนไม่ได้ข้าพเจ้าก็ให้นั่งที่วางเท้า คือนั่งอยู่ข้างล่าง...ข้าพเจ้าก็พาเด็กเหล่านี้วิ่งไปตามตลาดรอบๆ บางลำพูเสีย 3-4รอบ เด็กบอกว่า เอ มันดีนี่ จึงขอข้าพเจ้าขึ้นต่อไปอีก…ขณะนั้นมีคนขี้เมาอยู่ 2คนได้มาถามข้าพเจ้าว่าถ้าจะขี่รถคันนี้จะคิดเท่าไหร่ข้าพเจ้าบอกว่าถ้าอยากจะขี่ไม่เอาอะไรเลย ให้ขี่ฟรีเมื่อแก่เห็นว่าขี่ฟรีเช่นนี้แล้ว แก่ก็ขึ้นรถ 2 คันทันที เนื่องจากแกเมามากเมื่อขึ้นนั่งรถแล้วก็ส่งเสียงอึกระทึก เที่ยวบอกใครต่อใครว่ารถนี้ดีมากแลเอะอะตลอดถนน...”[6]

     

    หลังจากนั้นไม่นานมีคนมาขอเช่ารถสามล้อถีบไปปั่นประมาณ 7 วัน ให้เงินไว้เสร็จเรียบร้อย
    แต่คุณเลื่อนมารู้อีกทีว่าคนเช่าไป เขาได้นำรถสามล้อถีบ เป็นแบบเพื่อนำไปต่อเป็นตัวถังเหมือนรถสามล้อถีบจากนั้น 6 เดือนต่อมาจำนวนรถสามล้อถีบ มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1พันคัน ทำให้คุณเลื่อน ตัดสินใจยกเลิกธุรกิจสามล้อ เพราะเงินทุนไม่เพียงพอไปสู้กับคนทำธุรกิจสามล้อ

     

    “...มีคนมาเช่าไปขับ ข้าพเจ้าก็ให้ไป เขาเอาไปตั้ง 7 วันเขาให้เงินไว้เสร็จที่ไหนได้เขาเอารถนี้ไปต่อตัวถังเหมือนอย่างข้าพเจ้า...ข้าพเจ้าจำได้ 20 คันกินเวลาหลายเดือน พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ มีรถสามล้อเกือบ 500 คัน เราจะไปห้ามเข้าก็ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายห้าม พอข้าพเจ้าทำรถได้ 33 คันมีรถสามล้อเพิ่มอีก 1,000 คันช่วงเวลาแค่ประมาณ 6 เดือนเศษ...”[7]

     


    [1] อภิโชคแซ่โค้ว. วิวัฒนาการยานพาหนะทางบกของไทย, กรุงเทพฯ : เอส.ที.พี.เวิร์ลมีเดีย, 2541, หน้า 44.

    [2] ทวีไทยบริบูรณ์.  จักรยานโบราณ,  กรุงเทพฯ : ไทยเทอรา เซรามิค จำกัด, 2542, หน้า 78-79.

    [3] เล่มเดียวกัน,  หน้า 78-79.

    [4] เล่มเดียวกัน,  หน้า 79 – 80.

    [5] เล่มเดียวกัน,  หน้า 79 – 80.

    [6] เล่มเดียวกัน,  หน้า 79 – 80.

    [7] เล่มเดียวกัน,  หน้า 80-81.

เข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็น

Log in